Skip to main content
sharethis

"บัลลพ์กุล ทิพย์เนตร" นักศึกษาหนุ่มที่เรียนมาทางสายสัตวบาล จากคณะเกษตร ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อ 22 ปีก่อน ไม่เคยคิดฝันมาก่อนเลยว่า ไอเดียสนุก ๆ ของเขากับเพื่อน ๆ ในช่วงของการเป็นนักศึกษา ที่รวมตัวลงขันกันด้วยเงินเพียงไม่กี่บาทเปิดร้าน "ร้านนมเกษตร" ร้านขายนมวัวพร้อมดื่มใส่ถุง ใกล้ ๆ คณะที่เรียน จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาก้าวขึ้นมาสู่การเป็นเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมผลิตนม "เชียงใหม่เฟรชมิลค์" ได้ในทุกวันนี้ ซึ่งเขาบอกว่าเป็นการเริ่มต้นที่ไม่รู้ตัวจริง ๆ

ปี 2529 หลังจากเล่าเรียนจนจบ เขาได้เริ่มทำงานครั้งแรกกับองค์การส่งเสริมกิจการโคนม ที่ตั้งอยู่บนถนนห้วยแก้วใกล้ ๆ กับสวนสัตว์เชียงใหม่ หน้าที่รับผิดชอบของเขาจะดูแลฝ่ายผลิต สะสมประสบการณ์เรื่อยมาจนย่างเข้าสู่ปีที่ 7 จึงเกิดแนวคิดที่อยากจะมีกิจการเป็นของตัวเอง โดยใช้ประสบการณ์การทำงานที่สะสมไว้ บวกกับความรู้ที่เรียนมาทางด้านหลักสูตรวัวนม เขาจึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำ เพื่อทำฝันของตัวเองให้สำเร็จ

บัลลพ์กุล บอกว่า หลังจากตัดสินใจลาออกจากงานประจำแล้ว เขาและเพื่อน ๆ 3 - 4 คน ได้ลงหุ้นกันจำนวน 1,000,000 บาท ก่อตั้งโรงงานผลิตนมพาสเจอร์ไรส์เล็ก ๆ ภายใต้แบรนด์ "เชียงใหม่เฟรชมิลค์" ขนาดพื้นที่โรงงานประมาณ 4 X 8 เมตร ซึ่งเป็นการเริ่มต้นแบบค่อยเป็นค่อยไปและลองผิดลองถูก จึงทำให้กิจการระยะเริ่มต้น 2 ปีแรก ประสบภาวะขาดทุน วัตถุดิบที่ผลิตออกมาเหลือทิ้งจำนวนมาก ตลาดไม่มีรองรับ และบ่อยครั้งที่ไม่สามารถเก็บเงินจากลูกค้าได้

อานิสงส์โครงการ "นมโรงเรียน"
จุดประกาย "เชียงใหม่เฟรชมิลค์"

ในช่วงปี 2537 รัฐบาลมีนโยบายทำโครงการนมโรงเรียน เพื่อส่งเสริมให้เด็กนักเรียนทั่วประเทศดื่มนม ซึ่งนั่นเหมือนเป็นโชคดีครั้งใหญ่ของบัลลพ์กุล ที่เชียงใหม่เฟรชมิลค์ ส้มหล่นได้โควตานมโรงเรียนปีแรก 1,500,000 บาทต่อเทอม โดยรับผิดชอบโรงเรียนใน 3 เขตคือ อำเภอสันป่าตอง จอมทอง และฮอด ซึ่งนี่เองที่ทำให้ความท้อแท้ของเขาเริ่มค่อย ๆ เลือนหายไป และกลับมาฮึดสู้อีกครั้ง โดยเขาตัดสินใจขยายการลงทุนเพิ่มในช่วงปี 2537 - 2538 เพื่อกู้เงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินครั้งแรกจำนวน 2,000,000 บาท นำมาซื้อเครื่องจักร ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และขยายพื้นที่โรงงานให้กว้างขึ้นจากเดิม จากระบบการจัดสรรโควตานมโรงเรียน เปลี่ยนระบบมาเป็นการโอนอำนาจการจัดซื้อให้กับโรงเรียนดำเนินการเอง การค้าจึงเป็นเสรีมากขึ้น เรียกว่าใครเร็วกว่าก็ได้เปรียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมัยก่อนนั้น ในโซนภาคเหนือมีโรงงานนมไม่มากนัก จึงเป็นข้อได้เปรียบอย่างยิ่งของเชียงใหม่เฟรชมิลค์ ที่จะบุกตลาดนมโรงเรียนได้กว้างขึ้น โดยในระยะเวลาเพียง 3 ปี มีมาร์เก็ตแชร์เพิ่มขึ้นถึง 15 % ซึ่งเป็นการเริ่มเติบโตในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 แต่เขาสามารถจ่ายโบนัสให้กับพนักงานได้เป็นปีแรก หลังจากที่เปิดโรงงานมา 6 ปี

ช่องทางตลาดของนมโรงเรียน ดูเป็นลู่ทางที่สดใสมากของเชียงใหม่เฟรชมิลค์ กำลังการผลิตนมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ระยะปี 2540 - 2543 มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 20 ตันต่อวัน และเพิ่มขึ้นสูงสุดในปี 2544 ถึง 30 ตันต่อวัน เนื่องจากเขตการขายนมโรงเรียนของเชียงใหม่เฟรชมิลค์ขยายวงกว้างขึ้นจากภาคเหนือตอนบน สู่ภาคเหนือตอนล่าง ปัจจุบันมีโรงเรียนที่เป็นลูกค้าทั้งสิ้น 2,500 โรง จำนวนเด็กนักเรียนที่บริโภคนมประมาณ 300,000 คน

เขาบอกว่า การที่เชียงใหม่เฟรชมิลค์สามารถครองตลาดนมโรงเรียนมาได้จนถึงวันนี้ น่าจะมาจากความไว้วางใจของลูกค้า ที่เชื่อใจในคุณภาพของสินค้า เพราะนมพร้อมดื่มพาสเจอร์ไรส์ที่เขาทำนั้น ใช้น้ำนมดิบจากวัวนมในประเทศ ไม่มีการปลอมปนใด ๆ อีกเหตุผลหนึ่งน่าจะมาจากการเป็นเจ้าของธุรกิจที่เรียนมาทางด้านนี้โดยตรง ซึ่งปัจจุบันเขาและภรรยาเป็นหุ้นส่วนกันเพียงสองคนเท่านั้น ซึ่งเขาถือว่า ณ วันนี้ ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งเท่านั้น

ทุ่ม100 ล้านแตกไลน์นม UHT
สร้างแบรนด์ใหม่ "MILDDA"

บัลลพ์กุล เล่าต่อว่า การดำเนินธุรกิจตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลาดนมโรงเรียนที่เขาทำมาตลอดหลายปีดูเหมือนเริ่มคงที่และอยู่ตัว จึงเกิดแนวคิดว่า หากจะโตมากไปกว่านี้ จำเป็นต้องแตกไลน์ทำโรงงานผลิตนม UHT เพื่อขยายตลาดให้กว้างมากยิ่งขึ้น จึงตัดสินใจขยายการลงทุนครั้งใหญ่เมื่อปี 2545 ขยายโรงงานเพิ่มบนพื้นที่ 8 ไร่ มูลค่าลงทุนทั้งสิ้นกว่า 100 ล้านบาท และเริ่มเดินเครื่องผลิตนม UHT พร้อมดื่มเมื่อปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมีกำลังการผลิตทั้งนมพาสเจอร์ไรส์ 60 - 80 ตันต่อวันและยูเอชทีประมาณวันละ 60 - 80 ตัน เช่นกัน และอีกประมาณ 2 - 3 เดือนข้างหน้า สินค้าตัวใหม่ภายใต้แบรนด์ "MILDDA" (มายด์ด้า) นมพร้อมดื่ม UHT ก็จะเริ่มออกสู่ตลาด ซึ่งเขาอธิบายว่า ได้ศึกษา Market Size ของตลาดนม UHT ในประเทศแล้ว ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ และยังมีช่องว่างให้แทรกเข้าไปได้

แน่นอนว่า การยอมรับในผลิตภัณฑ์ใหม่อาจเป็นเรื่องยากที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบริโภคของคน แต่ปัจจุบันเข้าเชื่อว่าพฤติกรรมการอยากลองของใหม่เกิดขึ้นมาก โดยการสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าใหม่ "MILDDA" จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง โดยจะชูความเป็นสินค้าของท้องถิ่น เจ้าของเป็นคนท้องถิ่นและวัตถุดิบที่อยู่ภายในกล่องนมเล็ก ๆ เป็นน้ำพักน้ำแรงของเกษตรกรในภาคเหนือทั้งสิ้น ที่สำคัญคือการชูความซื่อสัตย์ในเรื่องคุณภาพการผลิตที่จะไม่มีส่วนผสมอื่นปลอมปนมากับน้ำนม

"ตอนนี้ผมกำลังหาวิธีสร้างแบรด์น คอนเซ็ปต์คือความเป็นท้องถิ่นภาคเหนือ เบื้องต้นคงทดลองตลาดกระจายไปในเขตภาคเหนือ ผมจะไม่ทำตลาดเพียงผู้เดียว ผมจะเอาคนเลี้ยงวัวมาทำตลาดด้วย คนขายคือคนเลี้ยง คนเลี้ยงคือคนขาย ผมมีสมาชิกเกษตรกรที่ผลิตน้ำนมดิบให้ 243 ฟาร์ม นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการแทรกเข้าไปอยู่ในตลาด ส่วนทีมการตลาดของเราเองก็มีความพร้อมที่จะบุกไปในทุกที่อยู่แล้ว เบื้องต้นคงลุยในเขตภาคเหนือทั้งหมดก่อน ผมตั้งเป้าว่าผลิตภัณฑ์นม UHT ตัวใหม่นี้จะเติบโตปีละประมาณ 90 ล้านบาท และผมหวังว่าในระยะ 5 ปีชื่อ MILDDA จะเป็นที่รู้จักมากขึ้น"

ลุยไม่หยุด..มุ่งโกอินเตอร์
ตั้งเป้าบุกตลาดอินโดจีน

บัลลพ์กุล บอกว่า การลงทุนครั้งใหญ่ของเชียงใหม่เฟรชมิลค์ครั้งนี้ เป้าหมายสูงสุดของเขาก็คือ การขยายตลาดไปยังกลุ่มอินโดจีน ได้แก่ เวียดนาม พม่า ลาว และจีนตอนใต้ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาเขาใช้เวลาลงพื้นที่สำรวจตลาดในประเทศกลุ่มนี้ ซึ่งพบว่าเป็นตลาดที่มีอนาคตมาก โดยกลางปี 2548 เขาจะเริ่มเข็นผลิตภัณฑ์นม UHT "MILDDA" ไปจำหน่ายที่ลาวและเวียดนาม ซึ่งมีตลาดรองรับอยู่แล้ว โดยเฉพาะเวียดนามเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงมาก โดยจะเริ่มต้นทำตลาดในจุดภาคกลางของเวียดนาม ที่มีประชากรประมาณ 10 ล้านคน โดยเส้นทางการขนส่งสินค้าจะใช้เส้นทางรถยนต์เข้าจังหวัดมุกดาหาร ผ่านลาว และทะลุไปยังเวียดนามได้
สำหรับตลาดพม่านั้น จะทำในลักษณะบาร์เตอร์เทรด เป็นการนำสินค้าไปแลกสินค้า คือนมแลกข้าวโพด ซึ่งประเทศพม่าเป็นแหล่งปลูกข้าวโพดที่สำคัญและมีจำนวนมาก โดยจะนำข้าวโพดจากพม่ามาส่งขายให้กับโรงงานผลิตอาหารสัตว์ในเมืองไทย ซึ่งเป็นอีกธุรกิจที่เขาทำคือเป็นเทรดเดอร์ขายวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ เบื้องต้นตั้งเป้าส่งนม UHT ไปต่อเดือนประมาณ 150,000 กล่อง มูลค่ารวมประมาณ 1,000,000 บาท ซึ่งมูลค่าของข้าวโพดที่แลกกลับมาก็จะมีมูลค่าเท่ากัน การขนส่งจะใช้เส้นทางเดินเรือขนส่งจากระนองเข้าสู่เมืองย่างกุ้ง ใช้เวลาประมาณ 2 วัน และระยะต่อไปก็จะบุกตลาดจีนตอนใต้ที่เมืองคุณหมิง ซึ่งอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมเรื่องทีมการตลาด

"ผมอยากให้ผมเป็นที่พึ่งเกษตรกร เราเติบโตมาจากนมโรงเรียน นมโรงเรียนคือหม้อข้าวหลักของเรา และผมก็ดีใจมากที่ได้ช่วยเหลือเกษตรกรกว่า 1,000 ครอบครัว ที่ขายนมให้กับเรา ทำอะไรก็ตามต้องซื่อสัตย์อย่างเดียวจึงจะประสบความสำเร็จ"

ทั้งหมดคือเส้นทางการเติบโตของ "เชียงใหม่เฟรชมิลค์" โรงงานอุตสาหกรรมผลิตนมพร้อมดื่มพาสเจอร์ไรส์และ UHT แบรนด์ของคนท้องถิ่น ที่มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 13 ปี วันนี้เชียงใหม่เฟรชมิลค์กับโครงการนมโรงเรียน คงจะเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออก เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้เชียงใหม่เฟรชมิลค์เติบใหญ่มาได้ถึงทุกวันนี้ และกำลังต่อยอดผงาดออกสู่ต่างประเทศในเร็ววันนี้ เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจที่เกิดจากฝีมือของคนท้องถิ่นเมืองเชียงใหม่อย่างแท้จริง.

******************

สุธิดา สุวรรณกันธา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net