Skip to main content
sharethis

ศูนย์ข่าวภาคเหนือ-4 ธ.ค.47 ที่ริมฝั่งน้ำแม่ปิง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ มีการจัดงานมหกรรมดอยหลวงเชียงดาว และการจัดเวทีเสวนา เรื่อง ดอยหลวงเชียงดาว มรดกเรา...มรดกโลก โดยมี ดร.อาคม ตุลาดิลก วุฒิสมาชิกจังหวัดเชียงใหม่ นางสุนี ไชยรส กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายเกริก อัครชิโนรส อาจารย์โฮงเฮียนสืบสานล้านนา นายรณฤทธิ์ ธนโกเศศ กลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน กรมศิลปากร เข้าร่วมการแลกเปลี่ยน โดยมีองค์กรหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน และประชาชนอำเภอเชียงดาว ร่วมรับฟังกว่า 3,000 คน

นายชาญชัย จันทร์เผือก ตัวแทนชาวบ้านอำเภอเชียงดาว กล่าวว่า คนที่คิดโครงการนี้คิดได้อย่างไร ที่จะสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นดอยหลวงเชียงดาว และถือว่าการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIAX ในขณะนี้ แสดงให้เห็นว่า รัฐไม่เคารพกฎหมายรัฐธรรมนูญ ทำให้ชาวบ้านเสียความรู้สึก ที่ไม่มีการสอบถามความคิดเห็นของชาวบ้านก่อน และขอเสนอให้มีการเปิดทำประชาพิจารณ์ให้คนในพื้นที่และคนทั่วไปได้แสดงความคิดเห็นและตัดสินใจในโครงการดังกล่าว

"ในส่วนตัว ตนไม่เห็นด้วย และขอสนับสนุนการคัดค้าน เพราะตนถือว่า ดอยหลวงเชียงดาว มีความสำคัญต่อคนทั้งประเทศ เพราะถือว่าเป็นต้นกำเนิดของสายน้ำปิง และรัฐน่าจะพัฒนาให้เป็นมรดกทางธรรมชาติ เพื่อใช้เป็นแหล่งศึกษาทางธรรมชาติ ให้นักเรียนนักศึกษาได้เป็นห้องเรียนธรรมชาติ ซึ่งหากสร้างกระเช้าไฟฟ้า เชื่อว่าจะได้ผลประโยชน์น้อยมาก และจะเกิดความสูญเสียมากกว่า" ดร.อาคม กล่าวดร.อาคม ตุลาดิลก วุฒิสมาชิกจังหวัดเชียงใหม่ กล่าว

อดีตนายอำเภอเชียงดาวกล่าวว่า ตนเคยเป็นนายอำเภอเชียงดาว จึงรู้ว่า เชียงดาวนั้นมีความสุขสงบ และมีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ และรับรู้ว่าชุมชนเชียงดาวนั้นมีความเข้มแข็ง แม้กระทั่งนายอานันท์ ปันยารชุน เคยมาที่เชียงดาว และได้แสดงความชื่นชมถึงเรื่องการจัดการป่า ซึ่งเป็นต้นกำเนิดแม่น้ำปิง และรับรู้ว่าชุมชนมีความเข้มแข็ง แต่สุดท้ายก็ยังได้รับผลกระทบกระเทือนจนได้ ชุมชนเกิดความสับสน เมื่อมีกระแสสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นดอยหลวงเชียงดาว

นายรณฤทธิ์ ธนโกเศศ จากกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน กรมศิลปากร เปิดเผยว่า ขณะนี้ทราบมาว่า โครงการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นดอยหลวงเชียงดาวยังเดินหน้าอยู่ โดยกระทรวงทรัพยากร
ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ว่าจ้างนักวิชาการต่างชาติ เข้าทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ซึ่งได้ศึกษาการออกแบบว่าจะสร้างกระเช้า แต่ไม่ได้มีการศึกษาเรื่องระบบนิเวศ เรื่องวัฒนธรรมความเชื่อ หรือการเข้าไปมีส่วนร่วมของประชาชน

"หลังจากที่ทางกรมศิลป์ ได้รับการร้องเรียนและได้รับเรื่องจากพี่น้องชุมชน เรากำลังรวบรวมข้อมูลทางด้านวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ แม้กระทั่งเมืองเก่า ที่เพิ่งไปสำรวจมา เพื่อนำไปประกอบว่า สมควรที่จะสร้างกระเช้าไฟฟ้าหรือไม่ จากนั้นทางกรมศิลปากร จะได้นัดกระทรวงทรัพยากร
ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาพูดคุยกันที่เชียงดาวกันอีกครั้งหนึ่ง เพื่อประชาชนได้รับทราบอีกครั้ง" นายรณฤทธิ์ กล่าว

ในขณะที่ นางสุนี ไชยรส กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้กล่าวว่า จากที่วันนี้ได้มีโอกาสเดินทางไปเยือนดอยหลวงเชียงดาว พบว่า ดอยหลวงเชียงดาวนั้นมีความหลากหลาย โดยมีนัยยะสำคัญระดับโลก เพราะในอนุสัญญาต่างๆ ทั่วโลกนั้น มีการพูดถึงเรื่องสิทธิในการจัดการดูแลอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศน์ ร่วมกัน เพราะฉะนั้น ดอยหลวงเชียงดาว ไม่ใช่เป็นของคนเชียงดาวเท่านั้น แต่คนเชียงดาว คนกรุงเทพฯ คนทั่วประเทศ และคนทั่วโลก ต่างมีสิทธิในการเข้ามาร่วมกันดูแลกันได้

"ที่สำคัญ 22 องค์กรชุมชนที่อยู่รอบๆ บริเวณดอยหลวงเชียงดาว จะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการดูแลและตัดสินใจ โครงการต่างๆ ของรัฐ จะต้องให้ความสำคัญกับคนท้องถิ่น ยิ่งขณะนี้ข่าวว่ารัฐกำลังเดินหน้าศึกษาโครงการสร้างกระเช้าไฟฟ้า ซึ่งตนเห็นว่า เป็นกระบวนการผิดขั้น
ตอน ข้ามขั้นตอน ทั้งที่ประชาชนท้องถิ่นจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วม ดังนั้น หากเขายังไม่ยอมหยุด ชาวบ้านต้องรีบลุกขึ้นมาใช้สิทธิขั้นพื้นฐาน" นางสุนี กล่าว

องอาจ เดชา
ศูนย์ข่าวภาคเหนือรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net