Skip to main content
sharethis

"ทุกคนมีโอกาสได้รับผลเฉลี่ยจากความรุนแรงในอาณาจักรของรัฐนั้นได้ ที่น่ากลัวก็คือความกลัวนั้นได้แผ่ซ่านไปในทุกที่ของรัฐ"

ดร. ธเนศ อาภรณ์ สุวรรณ ผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นนักวิชาการประวัติศาสตร์ที่เข้าร่วมในการเสวนา "รัฐ: อาณาจักรแห่งความกลัว" ประชาไทถอดความการเสวนาในส่วนของ ดร. ธเนศ เนื่องจากเป็นมุมมองทางด้านประวัติศาสตร์และรัฐศาสตร์ที่พยายามอธิบาย "ความกลัว" และ "ความรุนแรง" โดยกล่าวถึงกำเนิดรัฐที่เป็นลักษณะเฉพาะในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งนำไปสู่ความรุนแรงและความกลัวในที่สุด และประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน

ทุกผู้คนได้รับผลเฉลี่ยแห่งความกลัว
อาณาจักรแห่งความกลัวของรัฐนั้นมีความรุนแรงอยู่ด้วยอย่างแน่นอน ต่างกันที่ว่าความรุนแรงของรัฐนั้นมักจะมีพื้นที่หรือเป้าหมายแน่นอนพอจะคาดการณ์ได้ และหลีกเลี่ยงได้ แต่ความกลัวที่เกิดจากรัฐนั้นเกิดทุกที่ ไม่เว้น เกิดได้กับทุกคนแม้ขณะนี้สังคมจะเข้าใจว่า ผู้ที่ตกอยู่ภายใต้ความกลัวจากการใช้ความรุนแรงของรัฐมีเพียงประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งความจริงไม่ได้เป็นเป็นเช่นนั้น

ความน่ากลัวของรัฐที่น่ากลัวที่สุดก็คือ คนที่เป็นเหยื่อและผู้กระทำไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ตรงส่วนไหนของสถาบัน (รัฐ)นี้ เพราะฉะนั้นก็จะพบกรณีที่เราอ่านรายงานพบว่าผู้ที่กระทำความรุนแรงหรือกระทำให้เกิดความกลัวต่อกับผู้ที่เป็นเหยื่อนั้น คิดว่าตนเองทำสิ่งที่ถูกต้อง ชอบธรรม เชื่อว่าตนกระทำตามนโยบายของรัฐ หรือกระทำตามสิ่งที่ผู้กุมอำนาจรัฐต้องการ

การแก้ปัญหาหรือจัดการกับผู้กระทำความรุนแรงหรือสร้างความกลัวนั้นจึงไม่ง่าย เพราะว่าโดยตัวรัฐเองนั้นเป็นนามธรรมที่เลื่อนไหล รัฐเป็นสัญลักษณ์ของชาติซึ่งชาติก็คือจินตนาการที่เกิดขึ้นในยุคที่มีการสร้างรัฐสมัยใหม่ รัฐเป็นเครื่องมือในการปกป้องรัฐเพื่อรักษาเสถียรภาพของตัวเอง เราก็จะมีจินตนาการว่าชาติเราเก่าแก่ มีอารยธรรม ความดีงาม ทุกคนที่อยู่ในชาติก็จะรักชาติของตัวเองและพร้อมที่จะทำลายชาติอื่น ภายใต้คำขวัญว่า "พิทักษ์ชาติ" ฉะนั้นสงครามที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่แล้วและอาจจะต่อไปด้วยก็จะต้องอาศัยอุดมการณ์ชาตินิยม

อำนาจรัฐ อำนาจแห่งความกลัว
ดร. ธเนศ กล่าวว่า เมื่อไหร่ที่รัฐทำให้ประชาชนพลเมืองของตัวเองไม่กล้าพูดหรือแสวงหาความจริงเพราะกลัวจะได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นจับกุมคุมขัง ต่อต้าน ทำให้ต้องเซนเซอร์ตัวเอง และรัฐที่ประสบความสำเร็จในการทำให้ประชาชนเซนเซอร์ตัวเองได้เป็นความสำเร็จของรัฐอย่างสูง

และเมื่อคนหวาดกลัวและค่อย ๆ หมดบทบาท ไม่มีการตรวจสอบหรือการมีส่วนร่วมของประชาชน
อำนาจที่ไม่มีการควบคุมก็จะหมิ่นเหม่ต่อการเป็นอธรรม

กำเนิดรัฐ กำเนิดความกลัว

หลักการของประชาธิปไตยนั้นประกอบด้วยผลประโยชน์ 2 ส่วนคือ ส่วนของการรักษาผลประโยชน์ของรัฐโดยระบบตัวแทน กับการรักษาผลประโยชน์ของประชาชนคือการมีส่าวนร่วม หากรัฐสามารถผสานประโยชน์ทั้ง 2 ส่วนได้ได้ รัฐนั้นก็จะมีโอกาสสกัดการสร้างความกลัวในรัฐได้

โดยทั่วไปประวัติศาสตร์ของประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การกำเนิดรัฐใหม่จะมีจุดหมายที่การเป็นประชาธิปไตย บรรดารัฐชาติเหล่านี้ก็ต้องการรักษาผลประโยชน์ของรัฐ และหนทางของการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนกลับหดแคบลงเรื่อย ๆ บรรดาผลประโยชน์ที่ผู้กุมอำนาจรัฐกล่าวอ้างว่าเป็นของประชาชนนั้นแท้จริงแล้วกลับเป็นประโยชน์ของกลุ่มคนและพรรคพวกเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นนโยบายในด้านการเป็นตัวแทนของประชาชนจึงถูกบิดเบือน ไม่ประสบความสำเร็จ

หลังจากรัฐชาติพัฒนามาในรูปแบบนี้ ขาดการมีส่วนร่วม ขาดการเป็นตัวแทนที่แท้จริง สิ่งที่ค่อย ๆเกิดขึ้นก็คือการสร้างความรุนแรงซึ่งอาศัยเครื่องมือ ได้แก่ระบบกฎหมาย การตรวจสอบที่อิงอยู่กับกลไกของรัฐที่มุ่งแต่เรื่องการสร้างความมั่นคง และใช้ความรุนแรงในการกำจัดฝ่ายตรงข้าม และถูกตอบโต้ด้วยการล้มผู้กุมอำนาจรัฐ อันเป็นที่มาของการรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่า 15 ครั้งในรอบ 70 ปีของประชาธิปไตยไทย

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net