Skip to main content
sharethis

ดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นมะเร็งร้ายที่เกาะกินประเทศไทยมานาน และนับวันยิ่งเลวร้ายลงเรื่อยๆ แทนที่จะดีขึ้นบ้างตามการพัฒนาของการศึกษาและการพัฒนาประชาธิปไตย ผลร้ายของการคอร์รัปชั่นตกแก่ทุกด้านของสังคมไทย ขัดขวางการพัฒนาการเมือง ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการแพงขึ้นโดยใช่เหตุ ทำลายเยื่อใยทางศีลธรรมของสังคม บ่อนเซาะกระบวนการยุติธรรมจนหาหลักเกณฑ์ในการดำเนินชีวิตไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้นในระยะหลัง การคอร์รัปชั่นยังขยายจากการ "ขโมย" ในรูปแบบต่างๆ มาสู่การ "รังแก" คนอ่อนแอไปทั่วหน้า เช่นการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินแย่งเอาที่ดินสาธารณประโยชน์ หรือแม้แต่ที่ดินกรรมสิทธิ์เอกชนไปให้แก่ผู้ติดสินบนเจ้าพนักงาน หรือช่วยโจรปล้นสดมภ์ประชาชน เช่นหลอกขายบ้านจัดสรรบนที่ดินสาธารณะให้ลูกค้า

คอร์รัปชั่นจึงไม่ใช่เรื่องที่จะถือว่าธุระไม่ใช่ เป็นเรื่องของคนชั่วที่เราไม่เกี่ยวไม่ได้อีกต่อไปแล้ว สังคมไทยต้องร่วมมือกันในการทำให้การคอร์รัปชั่นในบ้านเมืองของเราลดลง จนถึงยุติลงไปให้ได้ การเลือกตั้งก็เป็นโอกาสหนึ่งที่เราจะตั้งเงื่อนไขแก่ผู้สมัคร อันจะนำไปสู่การตรวจสอบควบคุมการคอร์รัปชั่นในบ้านเมือง เราไม่ควรปล่อยให้นักการเมืองสร้างเงื่อนไขเอาเอง แล้วอ้างว่าจะทำให้การคอร์รัปชั่นลดลง เพราะนักการเมืองเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้ประโยชน์จากการคอร์รัปชั่นอย่างมหาศาล จึงยากที่จะเห็นพวกเขาเอาจริงเอาจังกับคอร์รัปชั่น

มีเงื่อนไข ๓ อย่างในระบบบริหารรัฐกิจของไทยที่ทำให้เกิดการคอร์รัปชั่นขึ้นคือ

๑. การปล่อยให้อำนาจวินิจฉัยตกเป็นของตำแหน่ง ผู้ที่ดำรงตำแหน่งนับตั้งแต่ชั้นผู้น้อยระดับตำรวจจราจร ขึ้นไปถึงอธิบดี ปลัดกระทรวงและรัฐมนตรีใช้อำนาจวินิจฉัยนี้ในการหาผลประโยชน์ใส่ตัวได้ง่ายมาก ในขณะเดียวกันเราก็ไปกำหนดให้การทำอะไรก็ตาม ต้องผ่านการวินิจฉัยเพื่ออนุมัติของราชการไปเสียทุกอย่าง แม้แต่จะเปลี่ยนชื่อตนเอง ก็มีระเบียบกำหนดว่านายทะเบียนมีอำนาจจะยับยั้งได้ ทั้งๆ ที่ควรเป็นเรื่องที่เจ้าของชื่อเพียงแต่ไปแจ้งให้นายทะเบียนทราบเท่านั้น

ฉะนั้นมาตรการอันแรกที่จะบรรเทาการคอร์รัปชั่นของวงราชการลงคือการลดอำนาจวินิจฉัยที่ไม่จำเป็นลงเสียให้หมด

อำนาจวินิจฉัยที่ราชการและการเมืองมีนั้นยังใช้กันอย่างไม่เป็นกระบวนการ และไม่เปิดเผยหรือโปร่งใสนัก ขึ้นอยู่กับความเห็นส่วนตัวของผู้มีอำนาจวินิจฉัย แทนที่จะมีการกำหนดเงื่อนไขที่ชัดเจนแน่นอนว่า ผู้ขออนุมัติมีสิทธิ์ได้รับการอนุมัติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากสามารถทำตามเงื่อนไขของการขออนุมัติได้ครบถ้วน

ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้การวินิจฉัยเข้ามาช่วยตัดสิน ก็ควรทำให้การวินิจฉัยเป็นกระบวนการที่สามารถตรวจสอบและพิสูจน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ผู้ขออนุมัติสามารถร้องอุทธรณ์การวินิจฉัยได้

กระบวนการใช้อำนาจวินิจฉัยอีกหลายอย่างควรทำโดยเปิดกว้างให้คนนอกราชการเข้ามามีส่วนร่วม ในหลายกรณีคนนอกเช่นชุมชนมีข้อมูลดีกว่าราชการเสียอีก และมีระบบตรวจสอบกันเองจนทำให้ใช้อำนาจวินิจฉัยไปในทางฉ้อฉลได้ยาก เช่นการพิสูจน์สัญชาติของชนส่วนน้อย คนในชุมชนรู้จักคนที่ขอสัญชาติอย่างดีกว่าราชการแน่ อีกทั้งยากที่คนทั้งชุมชนจะ "ขาย" บัตรประจำตัวให้คนต่างด้าว ดังการใช้อำนาจวินิจฉัยอย่างปิดลับคนเดียวของนายอำเภอหรือกำนัน

ไม่น่าแปลกใจแต่อย่างไรที่ท่ามกลางการใช้อำนาจวินิจฉัยที่มากเกินไป ไม่เป็นกระบวนการและไม่โปร่งใสเช่นนี้ ข้าราชการไทย ทั้งฝ่ายประจำและการเมือง จึงได้ชื่อเป็นหนึ่งในผู้คอร์รัปชั่นสูงสุดระดับโลก ถึงเอาข้าราชการฟินแลนด์มาก็จะฉ้อฉลทุจริตอย่างนี้ และถึงเพิ่มเงินเดือนเท่าไรก็ไม่ช่วยให้การคอร์รัปชั่นลดลง เพราะการคอร์รัปชั่นเป็นส่วนหนึ่งของระบบมากกว่าของบุคคล

๒. ประเทศไทยเป็นอีกประเทศหนึ่งที่เปิดเผยข่าวสารของราชการน้อยมาก แม้มีกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ ที่ให้สิทธิแก่ประชาชนในการขอข้อมูลข่าวสารได้ แต่กระบวนการล่าช้าและแม้การที่จะต้องร้องขอผ่านกรรมการเช่นนี้ก็แสดงอยู่แล้วว่า หน่วยราชการไม่พร้อมจะเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของตนเองแก่สาธารณชน

เงื่อนไขสำคัญที่สุดของการบรรเทาปัญหาคอร์รัปชั่นคือการทำให้ระบบบริหารโปร่งใส นั่นก็คืออาจถูกตรวจสอบได้ตลอดเวลา มีข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่แก่สาธารณชนไว้ควบคุมให้ราชการต้องรับผิดต่อการกระทำของตนเอง ไม่ใช่ปล่อยให้ราชการเป็นฝ่ายชี้แจงโดยประชาชนขาดข้อมูลในการตรวจสอบคำชี้แจงนั้นๆ

การประมูลโครงการต่างๆ อย่างเปิดเผย เช่นการประมูลผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ซึ่งรัฐบาลชุดปัจจุบันเคยสัญญาว่าจะบังคับให้ทุกหน่วยราชการต้องปฏิบัติ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ป้องกันการทุจริต และเป็นตัวอย่างของการบริหารอย่างโปร่งใส แต่รัฐบาลได้เลิกผลักดันนโยบายนี้อย่างเอาจริงเอาจังไปเสียแล้ว

๓. จากประสบการณ์ของประเทศอื่นๆ ในเอเชียที่ประสบความสำเร็จในการปราบคอร์รัป�ชั่น เราจะพบว่าเงื่อนไขสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการจับกุมดำเนินคดีกับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และนักการเมืองที่ทุจริตอย่างจริงจัง การจับกุมลงโทษข้าราชการชั้นผู้น้อยที่ทุจริตไม่ช่วยยับยั้งการคอร์รัปชั่นได้ ในประเทศไทย แม้มีการตั้งปปป.และปปช.ขึ้น แต่สถิติการจับกุมและดำเนินคดีกับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และนักการเมืองที่ทุจริตยังน้อยมาก ร้ายไปกว่านั้นข้าราชการที่มีคดีมัวหมองหลายคนยังกลับได้รับการยอมรับโดยพรรคการเมือง นำมาเป็นที่ปรึกษาบ้าง ทำงานบางด้านช่วยนายกรัฐมนตรีเป็นพิเศษบ้าง และหลายคนเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองโดยไม่มีพรรคการเมืองใดรังเกียจ

ตราบเท่าที่รัฐบาลยังไม่เอาจริงเอาจังกับการทุจริตของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และนักการเมืองในสังกัดของตนเอง ก็ยากที่จะทำให้การคอร์รัปชั่นในประเทศไทยหมดไป

เราใคร่เรียกร้องให้ประชาชนตั้งคำถามกับผู้สมัครเกี่ยวกับการปราบปรามคอร์รัปชั่นว่า พวกเขามีความคิดเห็นอย่างไร เพื่อจะคัดนักตีฝีปากออกไปจากนักการเมืองที่ได้ใคร่ครวญเรื่องนี้มาอย่างจริงจัง เราควรถามเขาว่าเขาจะจัดการสามปัญหานี้คืออำนาจวินิจฉัยที่ล้นเกิน ไม่มีกระบวนการและไม่โปร่งใสอย่างไร เขาจะจัดการเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารของราชการอย่างไร เขาจะจัดการกับการจับกุมดำเนินคดีกับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และนักการเมืองที่ทุจริตให้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพได้อย่างไร ในฐานะสมาชิกของพรรคการเมือง เขาจะดำเนินการอย่างไรให้พรรคการเมืองของเขารับเอาความคิดของเขาเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายปราบปรามการคอร์รัปชั่นของพรรค

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net