Skip to main content
sharethis

เวทีเสวนา "พุทธศาสนาในยุคโลกาภิวัตน์" ที่จังหวัดเชียงใหม่โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ยังไม่ได้มาตรการชัดเจนที่จะกำหนดเป็นแนวทางให้ปฏิบัติ เชิญผู้รู้มาให้แง่คิดเรื่องความหมายของสถาปัตยกรรมของล้านนาว่ามีความหมายลึกซึ้งเกี่ยวโยงกับพุทธศาสนา แต่บทสรุปยังไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินการเช่นไร ขณะที่ข้อแนะนำของคณะกรรมการที่กระทรวงวัฒนธรรมตั้งขึ้นก็ยังไม่มาถึงเชียงใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงาน บรรยากาศการเสวนาเรื่อง "พุทธศิลป์กับสถาปัตยกรรมล้านนาในยุคกระแสโลกาภิวัตน์" ที่วัดโลกโมฬี อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2547 มีพระสงฆ์ผู้ใหญ่เข้ารับฟังเป็นจำนวนมาก และผู้สนใจอีกร่วม 100 คน โดยบรรยากาศช่วงต้นเป็นได้ด้วยดี

พระพุทธพจนวราภรณ์ เจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงในฐานะที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 4 , 5 , 6 , 7 ธรรมยุต กล่าวต่อที่ประชุมว่า อยากเตือนสติให้นึกถึงการพัฒนาในอนาคตข้างหน้าว่า หัวใจของการพัฒนาคือไม่หลงของเก่าไม่มัวเมาของใหม่ และการจะดำเนินการสิ่งใดให้นึกถึงแม่น้ำที่ไม่เคยขาดสาย มีการไหลที่ต่อเนื่อง และหากหยุดนิ่งจะเป็นน้ำเน่า

นายปริญญา ปานทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า กระแสโลกาภิวัตน์ก่อให้เกิดการแข่งขันรุนแรงและในการแข่งขันด้านธุรกิจภาคบริการ ย่อมแข่งขันการสร้างความประทับใจและนำพุทธศิลป์ที่งดงามมาประกอบ ดังนั้นสิ่งที่จะนำมาซึ่งการดำเนินงาน สิ่งใดคือความรู้ ทั้งนี้องค์ประกอบต่าง ๆ ภายในวัดล้วนแต่มีความหมายแฝงว่าคือเขตศักดิ์สิทธิ์ มิใช่เป็นแค่เพียงวัตถุ ดังนั้นสิ่งเหล่านี้คือจารีตที่ไม่ได้มีกฎหมายไว้ ควรศึกษาให้รู้ชัด และจังหวัดจึงได้เชิญผู้รู้มาพูดคุยและหาแนวทางดำเนินการต่อเรื่องนี้ต่อไป

หลังจากนั้น วิทยากรได้ขึ้นบรรยายให้ความรู้ถึงความสำคัญของสถาปัตยกรรมท้องถิ่นที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนา โดยนายปฐม พัวพันธุ์สกุล อดีตอาจารย์สถาปัตยกรรมไทย คณะวิจิตศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ยกกรณีของอุโบสถสองสงฆ์ วัดพระสิงห์ และวิหารวัดปราสาทเป็นตัวอย่างว่า มีการสร้างเกี่ยวโยงกับคติเกี่ยวกับจักรวาล และเห็นว่าการนำสถาปัตยกรรมและศิลปะที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาไปใช้ประโยชน์ผู้ที่นำไปใช้ควรจะต้องมีพื้นฐานความรู้ที่ถูกต้องลึกซึ้งเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น เพราะทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีความหมายในเชิงสัญลักษณ์และความเชื่อกำกับอยู่ ดังนั้นตนเห็นว่า สิ่งที่ผู้ที่จะออกแบบก่อสร้างสถาปัตยกรรมต่อไปควรจะมีความรู้ ผนวกกับจินตนาการ มิใช่มีเพียงจินตนาการแต่ไม่มีความรู้ก็จะเสียหาย รวมทั้งจะต้องตีความสิ่งที่จะทำในการทำงานผสมผสานกับการนำไปใช้ประโยชน์และจินตภาพเพื่อที่จะนำไปสู่การได้มาซึ่งรูปแบบของสถาปัตยกรรมที่ถูกต้องและเหมาะสมกับการใช้งานแต่ละประเภท และที่สำคัญจะต้องมีคุณธรรมด้วย

ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ นายปฐมกล่าวเสียดายที่สถาบันการศึกษาต่างๆ สามารถผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพทางด้านนี้ออกมาเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อใช้งานกลับทำได้เพียงแค่การลอกเลียน แบบความงามมาใช้อย่างขาดความเหมาะสม

นายชวลิต สัยเจริญ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การออกแบบสถาปัตยกรรมแต่ละอย่างต่างมีฐานันดรศักดิ์ที่เป็นสิ่งบ่งบอกระดับความสำคัญของสิ่งก่อสร้างแต่ละอย่าง ตั้งแต่ในระดับที่ไม่มีความสำคัญไปจนถึงระดับที่มีความสำคัญสูงสุด ตั้งแต่เล้าหมู เล้าไก่ ไปจนถึงวัง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่สามารถเข้าใจได้โดยสำนึกปกติ

ดังนั้นการที่สถาปนิกจะนำสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นไปใช้ในการออกแบบจึงจำเป็นยิ่งที่จะต้องเข้าใจและมีความรู้ในเรื่องสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอย่างลึกซึ้งว่าในการจะออกแบบสิ่งก่อสร้างนั้นจะสร้างอะไร ต้องคำนึงถึงความเชื่ออะไรบ้าง เพื่อให้สามารถออกแบบและใช้งานได้อย่างเหมาะสมและมีคุณค่า

นายวีระพันธ์ ชินวัตร สถาปนิกและผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการมรดกทางวัฒนธรรม กล่าวว่าการนำสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาและล้านนาไปใช้ในการออกแบบสถานที่ต่างๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปีแล้ว โดยที่ไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นถกเถียงกัน เรื่องที่เกิดขึ้นตนจึงมองว่าไม่มีผู้ใดที่เป็นฝ่ายผิดหรือถูก เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีข้อกำหนดที่ชัดเจนเกี่ยวกับการนำสถาปัตยกรรมเหล่านี้ไปใช้งานว่ามีขอบเขตอย่างไร

ดังนั้นการแก้ไขปัญหาควรให้เกิดการสมดุล ควรกำหนดแนวทางเป็นข้อตกลงที่ชัดเจนร่วมกันว่าในการนำสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นไปใช้งานนั้นสามารถทำได้มากน้อยเพียงใด เช่นการกำหนดว่าสิ่งใดสามารถทำได้ สิ่งใดไม่สมควรทำ และสิ่งใดที่ห้ามทำ เมื่อกำหนดเป็นแนวทางมาแล้วจะต้องดูแลไม่ให้เกิดกิจกรรมที่ส่งผลกระทบหลังจากมีแนวทางปฏิบัตินั้นแล้ว

ทั้งนี้ตนเองก็ไม่เห็นด้วยกับการที่มีการนำสถาปัตยกรรมและศิลปะที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาไปใช้ในเชิงพาณิชย์ แต่จะต้องตีเหตุการณ์ให้ชัดว่าเป็นการลบหลู่ศาสนาจริงหรือ เพราะการตีความว่าลบหลู่นั้นเป็นเรื่องใหญ่ระดับชาติ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ตนเห็นว่าอยู่ในระดับทำให้เกิดความเสื่อมถอยลงทางความเชื่อและความศรัทธามากกว่า

นายณรงค์ นิยมไทย สื่อมวลชนด้านวิทยุกล่าวว่า ควรหาแนวทางดำเนินการต่อเรื่องนี้ให้ชัดเจนได้หรือไม่ ตนเห็นว่าหากรอให้ออกเป็นกฎหมายล่าช้า จังหวัดควรจะได้เข้ามามีบทบาทให้จริงจัง ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ควรใช้อำนาจของผู้ว่าฯ เสนอให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ออกข้อบัญญัติของจังหวัดขึ้นมากำกับดูแลโดยเร็ว

ด้านนายมนตรี วงษ์เกษม กรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่า ที่ประชุมวันนี้น่าจะมีความชัดเจนถึงแนวทางว่าสิ่งใดทำได้ หรือทำไม่ได้ เพราะหลายคนที่มาวันนี้ต่างเตรียมที่จะมาเสนอถึงทางออกและถามถึงสิ่งที่ยังไม่ใช้เจนเพื่อให้ได้เป็นมาตรฐายการดำเนินการ แต่ยังไม่บรรลุข้อนี้

ขณะที่นายจุมพล ชุติมา ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ แสดงความเห็นว่า อยากให้กรณีที่เกิดขึ้นมีความประนีประนอม เสนอแนวทางแก้ไข และให้มีทางออกของปัญหา เพราะตนเห็นว่าผู้ประกอบการคงมองถึงความงาม และชื่นชมโดยอาจไม่เข้าใจถึงความเชื่อหรือคติบางประการซึ่งก็ควรทำให้เกิดความเข้าใจกันเสีย ทั้งนี้เห็นว่าเป็นหน้าที่ของสถาปนิกและมัทนากรที่ควรจะมีความรู้และแนะนำผู้ประกอบการให้ทำในสิ่งที่เหมาะสม ซึ่งหากผู้ประกอบการยังดึงดันที่จะทำในสิ่งที่เหมาะก็อยู่ที่จิตสำนึกของสถาปนิกนั้นด้วย

สุดท้ายการสัมมนาครั้งนี้ก็ยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนในเวทีว่าควรหรือไม่ควรทำสิ่งใดในออกแบบที่เกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นหรือสถาปัตยกรรมทางพุทธศาสนาได้บ้าง ทั้งนี้ นายจำลอง กิติศรี ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่าจะต้องนำข้อมูลที่ได้จากการสัมมนาครั้งนี้ไปเสนอต่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติต่อไป

ทั้งนี้นายจำลองกล่าวว่า ข้อพิจารณาที่คณะกรรมการซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมได้แต่งตั้งขึ้นและระบุว่าได้สรุปเป็นความเห็นข้อแนะนำแล้วนั้น ยังไม่ได้รับแจ้งมาก ขณะที่การประชุมวันนี้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ก็ไม่ได้เข้ามาร่วมแต่อย่างใด

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net