Skip to main content
sharethis

ผู้คนจำนวนไม่น้อย คงไม่เคยได้ยิน ไม่เคยรู้จัก "แผนพัฒนาเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย ไทย มาเลเซีย และอินโดเซีย (Indonesia - Malasia - Thailand : IMT - GT)" มาก่อน

ถึงกระนั้นในหมู่แวดวงคนที่เคยรู้จัก ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ลืมเลือนหน้าตาแผนพัฒนาฯ ฉบับนี้ไปนานแล้ว

ด้วยเพราะขณะที่การดำเนินการของทั้ง 3 ประเทศ ภายใต้แผนพัฒนาฯ ฉบับนี้ คืบหน้าอยู่เป็นระยะ เร็วบ้าง ช้าบ้าง ข่าวคราวความเคลื่อนไหวทั้งสิ้นทั้งมวล หาได้ปรากฏออกมา ให้เป็นที่รับรู้ของสาธารณะ รวมทั้งในหมู่เหล่านักธุรกิจในวงกว้างแต่อย่างใดไม่

พลันที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรจังหวัดตรัง เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 14 ธันวาคม 2547 ให้ความเห็นชอบกรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย ไทย มาเลเซีย และอินโดเซีย (Indonesia - Malasia - Thailand : IMT - GT) ขยายพื้นที่ครอบคลุมถึงจังหวัดนครศรีธรรมราช ตรัง และพัทลุง

อันเป็นไปตามที่สภาธุรกิจของทั้ง 3 ประเทศ ได้รายงานให้ที่ประชุมไตรภาคีแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย ในระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งที่ 11 ที่จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 24 - 26 สิงหาคม 2547 ทราบ โดยอินโดนีเซีย เสนอเพิ่มจังหวัดลัมปุง, บังกา, บัลตุง และเรียว (Lampung, Bangka Belitung and Kepulauan Riau) มาเลเซีย เสนอเพิ่มรัฐกลันตัน (Kelantan) ด้วยนั้น

บรรดาประชาชนคนไทย อันหมายรวมถึงสื่อมวลชนไทยโดยทั่วไปด้วย จึงไม่ได้ให้ความสนใจต่อข่าวชิ้นนี้เท่าที่ควร ขณะที่บางคนเพิ่งถึงบางอ้อว่า แผนพัฒนาฯ ฉบับนี้ยังมีชีวิตอยู่

แน่นอน หากเอ่ยชื่อเฉพาะ "แผนพัฒนาเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย" ย่อมจะเป็นที่รู้จักน้อยกว่า "โครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย - มาเลเซีย" ซึ่งเป็นแค่ส่วนหนึ่งของ "โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษปีนัง - สงขลา" หรือ "สะพานเศรษฐกิจปีนัง - สงขลา" ซึ่งเป็นโครงการหลักของแผนพัฒนาฯ ฉบับนี้

เมื่อโครงการฯ ขนาดใหญ่ ต้องใช้งบประมาณลงทุนสูงกว่า 40,000 ล้านบาท อย่าง "โครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย - มาเลเซีย" เป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวหนึ่งของ "แผนพัฒนาเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย ไทย มาเลเซีย และอินโดเซีย (Indonesia - Malasia - Thailand : IMT - GT)" ที่บัดนี้ขยายวงจากอาณาบริเวณ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กินพื้นที่ถึงภาคใต้ตอนกลางเช่นนี้

ใช่หรือไม่ว่า แผนพัฒนาฯ ฉบับนี้ ย่อมมีความสำคัญ ในระดับที่ควรจะต้องให้ความสนใจโครงการต่างๆ ภายใต้แผนพัฒนาฯ ฉบับนี้ อย่างเป็นพิเศษ

ด้วยเพราะยากอย่างยิ่งที่จะปฏิเสธได้ว่า โครงการเหล่านี้ ไม่ได้เป็นแหล่งรองรับผลประโยชน์ทางธุรกิจของบรรษัทขนาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในกาลอนาคต

อันหมายถึงว่า จะนำไปสู่การกำหนดนโยบาย และแผนการดำเนินการผลักดันโครงการชนิดเอาเป็นอาตาย โดยรัฐบาลแต่ละชุดในวันข้างหน้า

อันเห็นตัวอย่างได้ชัด จากการผลักดัน "โครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย - มาเลเซีย" ที่นอกจากจะไม่สนใจไยดีต่อเสียงร่ำร้องของคนในพื้นที่แล้ว ยังกระทำย่ำยีชาวบ้านที่ออกมาคัดค้านโครงการฯ ชนิดไม่ปรานีปราศรัย

ส่งผลให้ผู้คนในพื้นที่ประสบชะตากรรม ด้วยรูปแบบที่แตกต่างหลากหลาย
หลายคนได้รับบาดเจ็บจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ในนามของการคุ้มครองโครงการฯ ของรัฐ ให้ดำเนินการต่อไปให้ได้

หลายคนต้องติดคุกติดตะราง ซึ่งจนถึงวันนี้ หลายคนเหล่านั้น ยังคงตกเป็นจำเลยในศาลสถิตยุติธรรม ด้วยสารพัดข้อหา อันเป็นผลพวงจากการออกมาคัดค้านโครงการฯ ที่ดำเนินการภายใต้แผนพัฒนาฯ ฉบับนี้

การดำรงอยู่และเดินหน้า ถึงขั้นขยายพื้นที่ของ "แผนพัฒนาเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย ไทย มาเลเซีย และอินโดเซีย (Indonesia - Malasia - Thailand : IMT - GT)" จึงมีผลอย่างยิ่ง ต่อคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ลามเลียมาถึงคนในพื้นที่ภาคใต้ตอนกลางแล้ว ณ บัดนี้

"แผนพัฒนาเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย ไทย มาเลเซีย และอินโดเซีย (Indonesia - Malasia - Thailand : IMT - GT)" มาจากความริเริ่ม "นายแพทย์มหาธีร์ โมฮัมหมัด" สมัยยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เมื่อต้นปี 2536

เป็นต้นปี 2536 ที่ "นายชวน หลีกภัย" เพิ่งก้าวขึ้นรับตำแหน่ง "นายกรัฐมนตรี" ซึ่งจะต้องออกเยี่ยมเยือนพบปะผู้นำในกลุ่มประเทศอาเซียน ตามธรรมเนียมปฏิบัติของกลุ่มประเทศย่านนี้ คราวนั้น "ชวน หลีกภัย" เลือกเดินทางไปเยือนมาเลเซีย เป็นประเทศแรก

"นายแพทย์มหาธีร์ โมฮัมหมัด" ได้ถือโอกาสในการพบปะกันครั้งนั้น หยิบยกเรื่องราวขึ้นมาหารือ 2 เรื่อง

หนึ่ง ประเด็นการพัฒนาพื้นที่ชายแดน 3 ประเทศร่วมกัน ซึ่งต่อมาพัฒนามาเป็นความร่วมมือ ภายใต้ "แผนพัฒนาเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย ไทย มาเลเซีย และอินโดเซีย (Indonesia - Malasia - Thailand : IMT - GT)" จนถึงปัจจุบัน

สอง ประเด็นการจัดการก๊าซในอ่าวไทยบริเวณพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ซึ่งเป็นพื้นที่พัฒนาร่วมไทย - มาเลเซีย (Malasia - Thailand Joint Development Area : JDA) บัดนี้ ก๊าซจากแหล่งนี้บางส่วน ถูกนำขึ้นมาใช้ใน "โครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย - มาเลเซีย" ภายใต้ "แผนพัฒนาเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย ไทย มาเลเซีย และอินโดเซีย (Indonesia - Malasia - Thailand : IMT - GT)"

คราวนั้น "นายชวน หลีกภัย" รับอาสาจะช่วยมาเลเซีย เจรจาดึงอินโดนีเซียเข้ามาร่วมแผนความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจ 3 ประเทศนี้ อีกทางหนึ่งด้วย

อันนำมาสู่การให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาฯ ฉบับนี้ ร่วมกันของทั้ง 3 ประเทศ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ในเวลาต่อมา

แน่นอน รัฐบาลทั้ง 3 ประเทศ ได้ร่วมกันดำเนินการตามแผนพัฒนาฯ ฉบับนี้มาอย่างต่อเนื่อง ดังปรากฏความคืบหน้ามาเป็นระยะ จนบัดนี้กว่า 10 ปีล่วงแล้ว

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net