Skip to main content
sharethis

ปัตตานี-20 ธ.ค.47 เปิดข้อมูลวิจัย1ทศวรรษไฟใต้ ระบุ ยุคทักษิณลามหนักโดยเฉพาะปี 47 เพิ่มขึ้น19 เท่าตัว เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา นักวิจัยฟันธงนโยบายรัฐมีส่วนทำให้เหตุการณ์บานปลายยิ่งขึ้น

"ข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี หรือหนึ่งทศวรรษตั้งแต่ปี 2536-2547 แสดงให้เห็นว่า เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในระดับหนึ่งตั้งแต่ปี 2540 ปีละ 80-100 กว่าครั้ง หรือโดยเฉลี่ยปีละ 65.6 ครั้งต่อปี แต่ในปี 2547 เพียงปีเดียวข้อมูลตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนพฤศจิกายนแสดงให้เห็นระดับความรุนแรงที่สูงถึง 1,253 ครั้งหรือ 19 เท่าของค่าเฉลี่ยปีก่อนหน้านั้น"

วันนี้(20ธ.ค.) ผศ.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี) แถลงถึงผลการ ศึกษาและวิจัยเรื่อง "หนึ่งปีหนึ่งทศวรรษความรุนแรงชายแดนใต้ : ปริศนาของปัญหาและทางออก"

นอกจากนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็ยังเป็นเรื่องของโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม เพราะนอกจากจะไม่มีการแก้ไขปัญหาเดิมให้ถูกจุดเท่าที่ควรจะเป็นแล้ว ปัญหาใหม่ก็ยังจะเกิดขึ้นอีก ท่ามกลางความสลับซับซ้อนของเหตุการณ์ และในความพยายามในการแก้ปัญหาของรัฐบาล แต่ยังหาทางออกไม่ได้ ผนวกกับการการกระทำที่เกิดจากความผิดพลาดครั้งแล้วครั้งเล่า

ผศ.ศรีสมภพ กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลคงจะต้องทบทวนเป็นประการแรกก็คือ เกิดอะไรขึ้นในรอบปี 2547 และสิ่งที่เกิดขึ้นมีความต่อเนื่องจากความรุนแรงที่เคยเกิดขึ้นอย่างไร ซึ่งความรุนแรงในที่นี้หมายถึงการก่อเหตุการณ์ความไม่สงบ เช่น การลอบวางเพลิง การลอบวางระเบิด และการยิง

ผศ.ศรีสมภพ ยังกล่าวด้วยว่า ประเด็นที่น่าคิดก็คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นมีความเข้มข้นอย่างมากหลังจากปี 2544 เมื่อดูข้อมูลรวม 11 ปีอีกครั้ง จะเห็นได้ว่าเหตุการณ์ 21.25 %เกิดขึ้นก่อนปี 2544 ส่วนอีก 78.74 % เป็นเหตุการณ์หลังปี 2544

เหตุผลที่ต้องนับเอาปี 2544 เป็นจุดเปลี่ยน เพราะในปีนี้เป็นปีเริ่มต้นเข้ารับตำแหน่งของรัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในตอนต้นปี นับเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายการบริหารที่สำคัญของประเทศไทยที่พรรคการเมืองเกิดขึ้นใหม่ที่ชื่อ "ไทยรักไทย" ซึ่งมีเสียงข้างมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ที่มีอำนาจในการบริหารประเทศ

แต่สิ่งที่เป็นผลกระทบต่อจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็คือ การยกเลิกศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และกองกำลังผสมพลเรือน ตำรวจ ทหารที่ 43 (พ.ต.ท.43) ในปี 2545 อย่างไรก็ตาม การประเมินเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในประเทศ หากวิเคราะห์จากการบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้ก็ยังไม่เป็นสิ่งที่ถูกต้องมากนัก

ผศ.ศรีสมภพ ระบุว่า จากการพิจารณาข้อมูลที่เกิดขึ้นในปี 2547 โดยดูจากอนุกรมเวลาในรอบเดือนตั้งแต่ม.ค.ถึงพ.ย. นับว่าเหตุการณ์ความรุนแรงในวันที่ 4 ม.ค.และมีระดับสูงขึ้นในเดือนถัดมา จนไต่ระดับสูงสุดในเดือนเม.ย. (279 ครั้ง)

การเกิดกรณีปราบปรามที่มัสยิดกรือเซะ จ.ปัตตานีในวันที่ 28 เม.ย. น่าจะเป็นตัวชี้ขีดสูงสุดของความรุนแรงและน่าสังเกตด้วยว่า หลังจากนั้นระดับของการก่อเหตุการณ์ความไม่สงบลดลงอย่างเด่นชัด เช่นเดือนพ.ค.เกิดเหตุ 66 ครั้ง เดือนมิ.ย. 77 ครั้ง จนกระทั่งเดือนก.ย.เกิดเหตุ 57 ครั้ง

ในช่วงเดือนตุลาคมเป็นระยะเวลาการเข้าสู่เดือนถือศีลอดของชาวมุสลิมทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย แต่กราฟของเหตุการณ์กลับพุ่งขึ้นสูงอีกครั้งในเดือนต.ค. (117 ครั้ง) แม้ความถี่ของเหตุการณ์จะไม่สูงเท่าเดือนเมษายน แต่ก็นับได้ว่ามีระดับที่สูงใกล้เคียงกับเดือนม.ค.และเดือนก.พ.และที่สำคัญคือในวันที่ 25 ตุลาคม ได้เกิดเหตุโศกนาฏกรรมที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส จนกลายเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก

"ความเข้มข้นของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในปี 2547 ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก และจากการประมวลข้อมูลเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งปีจากวันที่ 1 ม.ค.จนถึงวันที่ 10 พ.ย. 47 มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวมทั้งสิ้น 1,097 คน และในจำนวนนี้เป็นผู้บาดเจ็บ 524 คนหรือ 48 %มีผู้เสียชีวิตจำนวน 573 คนหรือ 52%" ผศ.ดร.ศรีสมภพ ระบุ

รองคณบดีฝ่ายวิจัยกล่าวเพิ่มว่า สิ่งที่ได้มาจากการศึกษานอกจากจะเป็นเรื่องทัศนะคติในเรื่องเหตุการณ์ความไม่สงบที่มองว่าความขัดแย้งในเรื่องส่วนตัวและการฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์แล้วที่น่าสนใจยิ่งกว่าก็คือ ความแตกต่างในทัศนะของคน 2 กลุ่ม คือ คนไทยพุทธและมุสลิม

ดังนั้น หากกล่าวโดยภาพรวมแล้ว มีข้อสังเกตว่าประชาชนส่วนใหญ่ทั้งชาวไทยพุทธ คริสต์ อิสลาม ยอมรับว่าในปัจจุบันความรู้สึกไม่ไว้วางใจระหว่างชาวไทยพุทธ คริสต์ อิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ลดลงมากกว่าก่อน นอกจากนี้ประชาชนทั้ง 3 กลุ่มต่างก็เห็นว่าในจังหวัดชายแดนภาคใต้ประชาชนทั้งไทยพุทธและอิสลามก็มีความเท่าเทียมกัน

"แม้ว่าการก่อเหตุความรุนแรงจะมีจุดเริ่มต้นและมีตัวขับเคลื่อนอยู่ที่กลุ่มนอกอำนาจรัฐตั้งสมมุติฐานที่น่าคิดว่าด้วยก็คือการกระทำดังกล่าว แต่ในอีกด้านหนึ่งที่เป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ซึ่งมีปฏิสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับมาตรการทางการเมืองและการทหารที่รัฐดำเนินการเพื่อแก้ปัญหานี้ด้วย

และประเด็นที่รัฐบาลจะต้องระมัดระวังในขณะนี้ก็คือแรงเหวี่ยง ของความรุนแรง เพราะนอกจากจะเกิดจากผู้ก่อการร้ายแล้ว ยังเป็นผลมาจากการกระทำของรัฐเอง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อชุมชนและกลุ่มต่างๆ ในสังคม แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปในปี 2548 เรายังไม่สามารถคาดคะเนหรือทำนายได้อย่างชัดเจน

แต่อย่างน้อยที่สุดสถานการณ์น่าจะอยู่ในสภาพเช่นนี้ต่อไปนานพอสมควร อีกทั้งประเด็นปัญหาทางนโยบายความมั่นคงของจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะต้องเป็นวาระนโยบายที่ฝ่ายการเมืองและทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net