Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 21 ธ.ค.47 "แผนแม่บทนี้ เป็นแผนแม่บดที่บดทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นการทำลายอย่างสร้างสรรค์ และสำหรับผมมันไม่ใช่การเผชิญหน้าระหว่างรัฐกับวัฒนธรรมชุมชน แต่เป็นปัญหาทุนนิยมปกติ และการอนุรักษ์ที่อ้างถึงนั้นก็เป็นการสร้างของใหม่ในนามของของเก่า ทำมาหากินกับประวัติศาตร์" นายพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวในงานเสวนา "กรุงเทพยศล่มแล้ว...เหลียวหลัง แลหน้า นโยบายอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์

อย่างไรก็ตาม นายพิชญ์กล่าวว่า เขาต่อต้านทุนนิยม โดยไม่ได้ต่อต้านเรื่องเศรษฐกิจ แต่ต้องเป็นเศรษฐกิจที่ควบคุมได้โดยชุมชนหรือมาตรฐานทางศีลธรรม ดังนั้น น่าจะมีการนำเสนอแผนพัฒนาเศรษฐกิจกรุงเทพฯ ชั้นใน ที่มาจากคนในชุมชน เพื่อเป็นแนวทางจัดการตนเอง โดยไม่ต้องรอเวลาปรับตัวให้อยู่รอดท่ามกลางกระแสการท่องเที่ยวด้วยการขายของที่ระลึกเท่านั้น

"ถ้าแผนแม่บทฯ สำเร็จ มันจะกลายเป็นอนุสาวรีย์ขนาดใหญ่ ซึ่งสร้างความชอบธรรมให้ทุนการท่องเที่ยว กลายเป็นสัญลักษณ์เมืองหลวงของการท่องเที่ยว ให้เห็นว่ามันเป็นไปได้ กลบเกลื่อนปัญหาชีวิตคนไปหมด" นายพิชญ์กล่าว

ส่วนรากเหง้าของปัญหาที่ทำให้รัฐมุ่งพัฒนาพื้นที่โดยมองไม่เห็นคนในชุมชนนั้น นายพิชญ์กล่าวว่า เป็นเพราะวิชาผังเมืองเข้ามาในยุครัฐข้าราชการ การวางแผนต่างๆ จึงคิดแบบราชการที่มองภาพรวมโดยคิดแทนประชาชน และมีรากฐานความคิดที่การจัดการพื้นที่ที่ให้ความสำคัญผู้คนเป็นเพียงตัวแปรตาม

รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม จากมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ตั้งข้อสังเกตว่า หน้าที่ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ คือการรักษาทรัพย์สินของสถาบัน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะอาคาร แต่รวมถึงประวัติศาสตร์ต่างๆ รวมทั้งต้องเอื้ออาทรต่อคนเล็กๆ แต่น่าประหลาดที่สำนักงานทรัพย์สินฯ กลับเข้ามาร่วมกับสภาพัฒน์ และกรุงเทพมหานคร ทะลวงกรุงรัตนโกสินทร์

"คำถามคือจะเอาคนในชุมชนดั้งเดิมไปไว้ที่ไหน และคนมีส่วนร่วมตัดสินใจไหม รัฐเอาโครงสร้างมหึมามาครอบทับโดยมุ่งเน้นแต่การหาเงินจาการท่องเที่ยว ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในกรุงเทพฯ แต่กำลังจะเป็นทั่วราชอาณาจักร หัวใจของมันก็คือการแย่งชิงทรัพยากร โดยรัฐบาลทำอย่างนี้มาตลอดตั้งแต่สมัยสฤษดิ์" รศ.ศรีศักรกล่าว

ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ จากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวถึงแนวคิดการเปลี่ยนถนนราชดำเนินให้คล้ายคลึงถนนฌอง เอลิเซ่ ของปารีสว่า การพัฒนาของกรุงเทพฯ และปารีส มีความเหมือนกันตรงที่เป็นการพัฒนาแบบแยกส่วน มุ่งเน้นตึกรามบ้านช่อง โดยไม่มีการพัฒนาโครงสร้างทางการเมืองมารองรับการจัดการเมืองขนาดใหญ่

"ชาตินี้มันเป็นชาติที่ก็อปปี้อย่างเดียว เรารู้จักถนนฌอง เซลิเซ่ของปารีสในฐานะนักท่องเที่ยวก็ลอกเขามา โดยไม่เคยรู้เลยว่าเบื้องหลังตึกสวยงามคือคราบน้ำตาของคนทุกข์ยากที่ต้องถูกไล่ที่ และประวัติศาสตร์ของปารีสไม่เคยบอกว่าเอาคนเหล่านี้ไปไว้ไหน" ศ.ดร.นิธิกล่าว

นายชาตรี ประกิตนนทการ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า ในแผนแม่บทฯ ปรากฏพื้นที่สีเขียวจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นทฤษฎีที่ถูกทำให้เชื่อว่าจะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ทั้งที่สังคมแต่ละแห่งมีวัฒนธรรมการใช้พื้นที่โล่งแตกต่างกัน จึงควรมีการวิจัยลักษณะเฉพาะของเราเอง แล้วปรับให้เหมาะสม

"ส่วนเรื่องคุณค่าทางประวัติศาสตร์นั้น แผนแม่บทฯ ก็เน้นเฉพาะประวัติศาตร์ของเจ้านาย โดยจะคงสถาปัตยกรรมไว้ให้สิ้นสุดแค่ร.5 ไม่แน่ใจว่าเพื่อเชิดชูหรือเอามาขาย มันทำให้ประวัติศาสตร์ส่วนอื่นๆ ถูกลืม แม้แต่ประวัติศาสตร์ของคณะราษฎรก็ถูกกดทับ และกำลังถูกทำให้ลืม" นายชาตรีกล่าว

มุทิตา เชื้อชั่ง
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net