Skip to main content
sharethis

การแผ่อิทธิผลของโลกาภิวัฒน์ ตามฉันทานุมัติแห่งวอชิงตัน (Washington consensus) ใช้เครื่องมือที่สำคัญ สองอย่างได้แก่ หนึ่งกฎเกณฑ์ทางกฎหมาย ซึ่งก็คือบรรดาข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นข้อตกลงพหุภาคี (Multilateralism) หรือ ทวิภาคี (Bilateralism) อย่างที่รัฐบาลนายกฯ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นำประเทศเข้าเจรจาจัดตั้งข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ FTA (Free Trade Agreement) กับประเทศต่าง ๆ อยู่ในเวลานี้ เครื่องมืออย่างที่สองได้แก่การเข้าครอบงำโครงสร้างการผลิตและการตลาดของประเทศไว้ในมือ ผ่านโครงการแก้ปัญหาต่าง ๆ ของส่วนราชการอย่างแยบยล ส่วนมากจะวนเวียนอยู่กับสินค้าปัจจัยสี่ทีจำเป็นต่อการบริโภคของมนุษย์ ไม่พืชพันธุ์ธัญญาหาร ก็เป็นยารักษาโรค กระแสการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ได้ทิ้งร่องรอยความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการเมือง ที่ไม่พึงประสงค์เป็นมรดกตกทอดในทางการเมืองเอาไว้ ที่สำคัญได้แก่ วิธีการคอรับชั่นทางนโยบาย และ การตกเป็นทาสอาณานิคมทางปัญญาโดยไม่รู้สึกตัว

เมื่อกลุ่มทุนต่างชาติสามารถเชื่อมต่อกับนักการเมือง ขณะที่นักการเมืองเป็นผู้สนองนโยบายโดยให้ข้าราชการประจำเป็นคนตั้งเรื่อง ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีและไปจบตรงการแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือสร้างกฎหมายขึ้นมารองรับโดยสถาบันนิติบัญญัติ โดยอาศัยการที่พรรครัฐบาลที่คุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทน และขณะนี้ยังสามารถคุมเสียงไปไกลถึงวุฒิสภา สุดท้ายก็นำกฎเกณฑ์หรือกฎหมายที่เกิดขึ้นภายใต้ความสัมพันธ์ข้างต้นนี้ไปบังคับให้ประชาชนไทยตาดำ ๆ ต้องยึดถือปฏิบัติตาม โดยบางเรื่องนั้นเข้าล้วงลึกไปจนถึงชีวิตการกินอยู่ของประชาชนอย่าง นโยบายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา ที่ประเทศไทยกำลังเป็นลูกแกะถูกหมาป่าล่าเนื้อที่กำลังวิ่งไล่ต้อนอยู่ในเวลานี้ ภายใต้ร่มเงาข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ FTA โดยเฉพาะ ไทย-สหรัฐ ที่รัฐบาลนี้กำลังนำประเทศเข้าไปเจรจา ท่ามกลางข้อสงสัย และข้อกังขา ว่าในท้ายที่สุดเรากำลังขุดหลุมฝังตัวเองนำประเทศหลงกลเข้าสู่กับดักทางนโยบายจากโลกาภิวัฒน์ และตอบสนองต่อฉันทานุมัติแห่งวอชิงตัน หรือไม่ กรณีการยื่นเรื่องจดสิทธิบัตรในมะละกอจีเอ็มโอจากมหาวิทยาลัยคอร์แนล โดย Cornell Research Foundation, Inc., ซึ่งนำสารพันธุกรรมและมะละกอไปจากประเทศไทย เป็นสัญญานบอกเหตุให้คนไทยและรัฐบาลตลอดจนนักการเมืองผู้มีหน้าที่ในแต่ละส่วนได้ทราบว่า ความดีงามของประชาธิปไตยมิใช่อยู่ที่การยื้อแย่งกันเข้ามาใช้อำนาจปกครองประเทศ การได้อำนาจปกครองประเทศอาจจะเป็นเรื่องง่ายดายสำหรับคนบางคนหากมีเงินที่เพียงพอ แต่การบริหารประเทศที่จะสามารถนำประเทศให้รอดพ้นจากการถูกไล่ล่า และการรู้เท่าทัน การเปลี่ยนแปลงของโลกและโลกาภิวัฒน์ โดยยึดถือผลประโยชน์ในระยะยาวของคนส่วนใหญ่ในการดำเนินนโยบายสาธารณะ ผ่านกระบวนการบริหารที่โปร่งใสและการมีส่วนร่วมตัดสินใจได้ฉันทามติจากประชาชนต่างหาก ที่จะสามารถสร้างความอุ่นใจและหลักประกันในการดำรงชีวิตอย่างปรกติสุขได้ โดยไม่ต้องมาพะวงกับการเปลี่ยนแปลงและรุกไล่จากโลกาภิวัฒน์ และปัญหาอย่างการนำสารพันธุกรรมและมะละกอจากประเทศไทยไปจดสิทธิบัตรผูกขาดเป็นของตนเอง โดย Cornell Research Foundation, Inc., อย่างที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ซึ่งก็จะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างรู้เท่าทัน... ขณะเดียวกันกับการมีโยบายด้านทรัพย์สินทางปัญญา ในลักษณะที่ไม่ตามกระแสหรือแรงบีบคั้นจากตะวันตก โดยมีความเป็นตัวของตัวเองสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสังคมเศรษฐกิจไทยเป็นสรณะ

กรณีการยื่นจดสิทธิบัตรมะละกอจีเอ็มโอที่ว่านี้ เริ่มจากความร่วมมือที่สวยหรูเพื่อการวิจัยแก้ปัญหาโรคไวรัสจุดด่างวงแหวนในมะละกอ ทางกรมวิชาการเกษตรจึงได้ส่ง ดร. นงลักษณ์ สรินทุ ไปร่วมเป็นผู้ร่วมวิจัยโดยนำสารพันธุกรรมและมะละกอไปจากประเทศไทย แต่ต่อมาในท้ายที่สุดคนที่ยื่นขอจดสิทธิบัตร ซึ่งจะกลับกลายมาเป็นผู้ทรงสิทธิบัตรมีอำนาจตามกฎหมายไปทั่วโลกกลับจำกัดเอาเฉพาะ Cornell Research Foundation, Inc., คือนักวิจัยไทยถูกกันออกไปไม่ให้ได้รับสิทธิในฐานะผู้ทรงสิทธิบัตรแต่ให้มีฐานะเพียงแค่นักวิจัยเท่านั้น และที่เจ็บแสบที่โดนนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคอร์แนลย้อนเกร็ดได้แก่ สารพันธุกรรมพื้นฐานที่ถูกนำไปจดสิทธิบัตรในครั้งนี้เป็นของประเทศไทยและถูกนำไปจากประเทศไทย ภายใต้หลักการรองรับจากอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity, 1992) อันเป็นกรอบกติกาสากลที่หากมีการเคลื่อนย้ายทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ หรือสารพันธุกรรมจากรัฐ ๆ หนึ่ง จะต้องมีการแจ้งล่วงหน้า และอยู่ภายใต้การควบคุมกำกับจากกฎหมายของรัฐเจ้าของสารพันธุกรรมที่ถูกเคลื่อนย้ายออกไป ประกอบกับต้องมีการทำสัญญาแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเท่าเทียม แต่การนำสารพันธุกรรมและมะละกอไปจากประเทศไทยหาได้ปฎิบัติถูกต้องครบถ้วนตามหลักการข้างต้นนี้ไม่ หากการจดสิทธิบัตรนี้รัฐบาลไทยวางเฉยไม่คัดค้านหรือทำอะไรเลยที่จะปกป้องทรัพยากรความหลากหลายของประเทศไทย จนสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐอนุมัติให้สิทธิบัตรนี้ต่อ Cornell Research Foundation, Inc., อาจอุปมาอุปไมยได้ว่า การนำทรัพย์สินของคนอื่นไปโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย (กฎหมายภายใน และ กฎหมายระหว่างประเทศ) ก็สามารถเป็นเจ้าของ ๆ นั้นได้ หากมีกฎหมายของอีกประเทศหนึ่งรับรอง
การไม่เอาใจใส่ปล่อยปะละเลยที่จะแก้ไขปัญหาการจดสิทธิบัตรมะละกอจีเอ็มโอ ตามคำขอสิทธิบัตรหมายเลข 20030172397 จากมหาวิทยาลัยคอร์แนล โดย Cornell Research Foundation, Inc., ในครั้งนี้จึงมีเดิมพันที่สูงมาก หากปล่อยให้ทำได้ จะมีหลักประกันอย่างไรต่อการเคลื่อนย้ายสารพันธุกรรมจากพืชพันธ์ธัญญาหารชนิดอื่นของไทย ทั้งที่เป็นพืชอาหารและพืชสมุนไพรที่สามารถพัฒนาเป็นยารักษาโรค ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นมามากต่อมากแล้วว่าจะทำไม่ได้ในแผ่นดินสหรัฐอีกต่อไป ตัวอย่างเช่นข้าวหอมมะลิ เมื่อบริษัทในสหรัฐอเมริกานำสารพันธุกรรมข้าวหอมมะลิไปจากไทยและนำไปขอจดสิทธิบัตรที่สหรัฐอเมริกา ประกอบกับการยื่นคำขอต่อองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกหรือ WIPO (World Intellectual Property Organization) ภายใต้สนธิสัญาความร่วมมือว่าด้วยสิทธิบัตรหรือ PCT (Patent Cooperation Treaty) ซึ่งสามารถครอบคลุมประเทศต่างได้อีกมากกว่า 40 ประเทศ อนาคตตลาดข้าวหอมมะลิและชาวนาที่ปลูกข้าวหอมมะลิในประเทศไทยจะเหลืออะไร เมือต้องถูกเผชิญกับข้อกล่าวอ้าง เรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ข้าวหอมมะลิที่วางขายอยู่ในตลาดต่างประเทศก็ต้องถูกถอดออกไปแถมยังต้องเผชิญกับการถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายที่ตามมาอีกไม่รู้จะเท่าไหร่ ที่น่าคนหัวลุกยังมีอีกเมื่อรัฐบาลนี้ได้มีมติคณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีในสนธิสัญญา ฯ PCT นี้อีกด้วย อันจะส่งผลให้ไทยจำต้องแก้ไขปรับปรุงกฎหมายสิทธิบัตรเหมือนอย่างประเทศสหรัฐ ที่สามารถให้สิทธิผูกขาดในสิ่งมีชีวิตได้ในท้ายที่สุด

สรุปได้ว่า ณ เวลานี้รัฐบาลกำลังนำอนาคตและชะตากรรมของคนไทยเข้าสู่เงื่อนปมทางนโยบายที่จะถลำล้ำลึก ผูกมัดตนเองในเงื่อนไขนโยบายทางด้านทรัพย์สินทางปัญญาโดยไม่จำเป็นหลายเรื่อง เงื่อนปมที่เห็นเด่นชัดตอนนี้คือ หนึ่ง. ทิศทางการแก้ปัญหาการจดสิทธิบัตรมะละกอจีเอ็มโอ จากมหาวิทยาลัยคอร์แนล สอง. การนำประเทศเข้าไปเป็นภาคีในสนธิสัญญา PCT และ สาม. การเจรจาจัดตั้งข้อตกลง FTA โดยเฉพาะกับ สหรัญอเมริกา ที่ถูกบีบให้รับสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิตและเข้าเป็นภาคีในสนธิสัญญา PCT

เงื่อนปมต่าง ๆ เหล่านี้จำต้องแก้ไขด้วยความรู้ และแนวนโยบายการพัฒนาประเทศที่วางอยู่กับความยั่งยืนในทุก ๆ ด้าน หากทิศทางการแก้ปัญหาที่เน้นด้วยการนำเงินไปต่อเงินโดยหวังจากการลงทุนด้านทรัพย์สินทางปัญญาจากตะวันตก นั่นแหล่ะคือ การขุดหลุมฝังตัวเองในความหมายที่บทความนี้อยากจะให้คนไทยทุกคนได้คิดและช่วยกันแก้ไข

ตีพิมพ์ครั้งแรกใน The City Journal on 26th, November 2004

เจริญ คัมภีรภาพ
คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net