Skip to main content
sharethis

กล่าวได้ว่า ภายใต้ "แผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย - มาเลเซีย - ไทย" หรือ "Indonesia - Malaysia - Thailand Growth Triangle Development Project: IMT - GT" ได้ก่อเกิดโครงการฯ ขนาดใหญ่มากมายอย่างยิ่ง

โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน บริเวณแนว "สะพานเศรษฐกิจสงขลา - ปีนัง - เมดาน" ภายใต้การกำหนดประเด็นความร่วมมือ บนพื้นฐานการเชื่อมโยงศักยภาพการพัฒนา ในพื้นที่สะพานเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ภายในพื้นที่ "สะพานเศรษฐกิจสงขลา - ปีนัง - เมดาน" จะประกอบด้วย โครงข่ายถนน, ทางรถไฟ, การเชื่อมโยงทางทะเล, ทางอากาศ, ท่อก๊าซ, ท่อน้ำมัน, พลังงานไฟฟ้า, การพัฒนาอุตสาหกรรม, ด่านศุลกากร เป็นต้น โดยมีมาเลเซียเป็นประเทศนำ

คำถามก็คือว่า ขณะนี้มีโครงสร้างพื้นฐานอะไรแล้วบ้าง ที่กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ

เอาเฉพาะที่คนไทยคุ้นหูคุ้นตา ก็คือ "โครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย - มาเลเซีย" ที่ยืดเยื้อมานานหลายปี ซึ่งจะแล้วเสร็จปลายปี 2548

อันตามมาด้วย "โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าสงขลา" ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่มีกำหนดแล้วเสร็จจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบได้ ในปี 2551

ภายใต้การลงทุนด้วยเม็ดเงินมหึมาเช่นนี้ จึงมีโอกาสสูงยิ่งที่ "แผนแม่บทและแผนปฏิบัติการการพัฒนาเขตเศรษฐกิจปีนัง - สงขลา โดยใช้ประโยชน์จากก๊าซธรรมชาติ" ของสำนักงานเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ระบุให้จังหวัดสงขลาเป็นเมืองหลัก จังหวัดปัตตานีเป็นเมืองรอง จะปรากฏเป็นจริง
แผนแม่บทฯ ฉบับนี้ กำหนดให้พื้นที่อำเภอจะนะ อำเภอนาหม่อม อำเภอหาดใหญ่ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เป็นเขตอุตสาหกรรม โดยมีพื้นที่เชื่อมต่อกับเขตอุตสาหกรรมในรัฐเคดะห์ของมาเลเซีย

หมายความว่า บริเวณแนวท่อก๊าซ จะกลายเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมไปตลอดตั้งแต่อำเภอจะนะ ไปจนถึงรัฐเคดะห์

ส่วนจังหวัดปัตตานี แผนแม่บทฯ ฉบับนี้ กำหนดให้มีนิคมอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมยางและไม้ โดยเฉพาะ "นิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล" ที่กำหนดจะคลอด ในปี 2548 ถ้าเหตุการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้สงบลง

เนื่องจาก IMT - IT เป็นพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ครอบคลุมอาณาบริเวณกว้างขวาง จึงไม่แปลกที่รัฐบาลมาเลเซีย ซึ่งต้องการผุดท่อน้ำมันเชื่อมปีนัง - อ่าวไทยตลอดมา จะแอบลักไก่ลงนามอนุมัติ "โครงการท่อน้ำมัน Yen, Kedah - อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี" เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2541 รัฐบาลไทยรับทราบเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2541

โครงการฯ นี้ จะเป็นการร่วมทุนกันระหว่าง East West Bridge Corporation Sdn Bhd / Consortium กับบริษัทศรีอู่ทอง จำกัด

ข้อน่าสังเกต ก็คือ โครงการฯ นี้ ทางมาเลเซียเตรียมที่จะทำธุรกิจนำร่อง ดำเนินโครงการร่วมทุนระหว่างบริษัทจำกัดของมาเลเซียกับญี่ปุ่น โดยเปโตรนาสจะสนับสนุนทางด้านเทคโนโลยีกันแล้ว

ส่วนแหล่งทุนจะใช้บริการของ "กองทุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจโพ้นทะเล" หรือ OECF ที่มีญี่ปุ่นเป็นหัวเรือใหญ่

มาเลเซียพยายามนำโครงการฯ นี้ เข้าพิจารณาในที่ประชุมไตรภาคีระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งที่ 9 ระหว่างวันที่ 7 - 9 มิถุนายน 2544 ที่เมืองเมดาน ประเทศอินโดนีเซีย แต่ไทยขอสงวนสิทธิ

สำหรับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ที่นำเข้าพิจารณาในการประชุมไตรภาคีฯ หนล่าสุด ครั้งที่ 11 ที่จังหวัดปัตตานี เอาเฉพาะที่น่าสนใจ ประกอบด้วย…
"โครงการปรับปรุงถนนสายสตูล - วังประจัน - วังเกลียน - กัวลาปะลิส ไทยกับมาเลซีย" เห็นชอบดำเนินการร่วมกันแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จ ปี 2550

"โครงการปรับปรุงถนนสายนาทวี - บ้านประกอบ - ดูเรียนบุหยง - อลอร์สตาร์" ไทยกับมาเลเซียเห็นชอบดำเนินการร่วมกันแล้ว ช่วงบ้านประกอบ - ดูเรียนบุหยง คาดว่าจะแล้วเสร็จ ปี 2549 ส่วนช่วงนาทวี - บ้านประกอบ 34 กิโลเมตร อยู่ในระหว่างพิจารณาดำเนินการของกรมทางหลวง

"โครงการปรับปรุงถนนสายยะลา - เบตง - ปีนัง" ไทยกับมาเลเซียเห็นชอบดำเนินการร่วมกันแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จ ปี 2549

"โครงการท่าเรือพันธมิตร ระหว่างท่าเรือเบลาวัน - ปีนัง - สตูล" ไทยอยู่ในระหว่างการพิจารณา คาดว่าในส่วนของจังหวัดสตูล จะก่อสร้างท่าเรือรองรับที่ปากบารา

ส่วนโครงการทางด้านโทรคมนาคมนั้น ที่ประชุมไตรภาคี ครั้งที่ 11 ที่ปัตตานี ได้ให้เห็นชอบ "โครงการ Smart School" , "โครงการ IMT - GT Portal Development" และ" โครงการ Common Calling Card"

นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่ง ของโครงการฯ ที่กำลังดำเนินงานกันอย่างขะมักเขม้น มีความคืบหน้าอยู่เป็นระยะ ขณะที่บางโครงการฯ ที่ผ่านการพิจารณา ถึงขั้นได้รับอนุมัติไปแล้ว แต่ยังค้างเติ่งไปไม่ถึงไหน ก็มีปรากฏให้เห็น อย่างเช่น …

โครงการก่อสร้าง บำรุงรักษา และดำเนินการสถานีโทรทัศน์เอกชนในพื้นที่ IMT - GT โดยใช้ลังกาวี เป็นศูนย์กลาง ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมไตรภาคีฯ ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2537 ที่เมืองเมดาน ประเทศอินโดนีเซีย

อันเป็นโครงการร่วมทุนระหว่าง P.T. Medanmas Andalas ของอินโดนีเซีย Medanmas Sdn Bhd ของมาเลเซีย และ "กลุ่มชินวัตร" กิจการในครอบครัวของ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรีของไทย

โครงการฯ นี้ ใบอนุญาตออกอากาศได้รับอนุมัติแล้ว อยู่ในระหว่างการลงทุน มีเป้าหมายจะเริ่มดำเนินการกลางปี 2544 แต่จนถึงบัดนี้ กลับไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ ออกมาให้สาธารณชนได้รับรู้
ต่างกับโครงการสร้างเครือข่ายไฟเบอร์ออฟติก ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมไตรภาคีฯ ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2537 ที่เมืองเมดาน ประเทศอินโดนีเซีย มาด้วยกัน

โครงการนี้ Time Telekom Sdn Bhd ของมาเลเซีย กับ Jasmine Telecommunication Limited ของไทย ดำเนินการแล้วเสร็จไปนานแล้ว

เช่นเดียวกับ โครงการ ICD : Haulage and Forwrding ผ่านด่านสะเดาและบูกิตกายูฮิตัมไปยังปีนัง ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมไตรภาคีฯ ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2537 ที่เมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย

อันเป็นโครงการฯ ของกลุ่มทุนมาเลเซีย ที่ว่ากันว่าเป็นของลูกชาย "นายแพทย์มหาธีร์ โมฮัมหมัด" นายกรัฐมนตรีมาเลเซียในขณะนั้น อันประกอบด้วย Sterapex Sdn BHd, RNG Niaga Sdn Bhd (ถอนหุ้นแล้ว), Konsortium Perpakalan Bhd ร่วมทุนกับบริษัทสะเดา ไอซีดี จำกัด ที่มี "นางมาลี วะนะสุข" เป็นหัวเรือใหญ่

อันเป็น "นางมาลี วะนะสุข" ผู้มีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษา "นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา" รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ซึ่งมีอดีตเคยเป็น "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม"

จะเห็นได้ว่า หากดูรายละเอียดพื้นที่และโครงการที่จะต้องพัฒนา ภายใต้ IMT - GT แล้ว

ความสำคัญของ IMT - GT ย่อมอยู่ตรงแนว "สะพานเศรษฐกิจปีนัง - สงขลา" ที่ขยับขยายเป็น "สะพานเศรษฐกิจสงขลา - ปีนัง - เมดาน" ซึ่งกำหนดให้จังหวัดสงขลากับรัฐเคดะห์เป็นเขตอุตสาหกรรม เป็นหัวหอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในพื้นที่ความร่วมมืออันกว้างใหญ่ไพศาลนี้

จึงไม่แปลกอันใด ที่ "ท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย - มาเลเซีย" จะสำคัญยิ่งกว่าคนจะนะ สำคัญถึงขั้นสามารถบดขยี้ ผู้คนที่ออกมาคัดค้าน โครงการฯ นี้ ให้แหลกเป็นจุณมหาจุณได้เลย

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net