Skip to main content
sharethis

หลังเหตุการณ์" ซูนามิ" ถล่มพื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน บ้านน้ำเค็ม ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ก็เป็นอีกที่หนึ่งซึ่งไม่ต่างจากที่อื่นๆ ที่เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินขึ้นมากมาย

หมู่บ้านชาวประมงริมชายหาดซึ่งก่อนเกิดเหตุมีผู้อาศัยอยู่หลายพันคน แต่หลังจากเกิดเหตุ ชุมชนน้ำเค็มอันตรธานไปจนแทบไม่เหลืออะไรที่บ่งบอกว่า ครั้งหนึ่งที่นี่เคยเป็นชุมชนมาก่อน นอกจากศพผู้เสียชีวิตที่เจ้าหน้าที่เข้าไปเก็บกู้นับพันศพ

ปัญหาที่สำคัญของบ้านน้ำเค็มคือ เจ้าหน้าที่กู้ภัย ของรัฐและเอกชนเข้าปฏิบัติการในพื้นที่ได้ก็ต่อเมื่อเกือบสายเกินแก้เสียแล้ว

"ผมทำงานซ่อมเครื่องเรือในทะเล เครื่องมือก็หาย เครื่องเรือที่ซื้อไว้ขายก็ไปกับน้ำหมด ตอนนั้นเพื่อนโทรฯมาบอก ในขณะที่เรากำลังเถียงกันอยู่ว่าทำไมน้ำแห้งผิดปกติ ที่บ้านน้ำเค็มมีคนประมาณ 2,000 หลังคาเรือน เหลือรอดมาได้ไม่ถึง 50 หลังคาเรือน คนที่ตายมีนับไม่ถ้วน" ช่างเล็กกล่าว

"ช่างเล็ก" วัลลภ เกียรติอำไพ อายุ 50 ปี บอกว่า ข้างในยังมีศพอีกเยอะเพราะกู้ยาก เนื่องจากมีโคลนมาก โดยมากศพที่เอาขึ้นมาทีหลังเป็นศพสดๆ เขาเพิ่งตายเพราะเขาทนความหิวไม่ไหว ติดอยู่หลายวัน บางคนอยู่ในทะเลห่างไป 20-30 ไมล์ยังไม่ตาย เจ้าหน้าที่เขาทำงานลำบากเพราะ ไม่มีเครื่องมือ

ช่างเล็กเปิดใจว่า ตนต้องทำใจเสียก่อนเรื่องจะอยู่ที่บ้านน้ำเค็มต่อหรือไม่ แต่ถ้ามีคนกลับมาอยู่เยอะเหมือนเดิมก็อาจจะกลับ เพราะที่นี่เหมือนสุสานมีคนเสียชีวิตรวมๆ เป็นหมื่นคน

"วันแรกๆไม่มีเครื่องมือกู้ภัยเลยเลย มาพร้อมเอาวันที่สามที่มีเจ้าหน้าที่เป็นคนต่างชาติเข้ามาช่วยกู้ ทั้งที่หากเจ้าหน้าที่ออกหาคนในวันแรกๆ อาจมีคนรอดชีวิตได้หลายคน อย่างเช่นกรณีที่ออกข่าวว่าพบเด็กรอด" ช่างเล็กกล่าว

ธาลินี เชาวนกิจ อายุ 38 ปี แม่ค้าขายผลไม้ในตลาดสดน้ำเค็ม อ.ตะกั่วป่ากล่าวว่า หมู่บ้าน
น้ำเค็มเป็นทางผ่าน เป็นหมู่บ้านที่ดูจากข้างนอกเหมือนเป็นหมู่บ้านเล็กๆ แต่ข้างในมีคนอยู่กว่า 3,000 กว่าคน เจ้าหน้าที่กู้ภัยจึงไปช่วยที่อื่นหมด

"ศพที่เริ่มกู้ได้เริ่มเก็บวันที่สาม เพราะกู้ยาก ไม่มีเครื่องมือเก็บกู้ ในบ้านน้ำเค็มตายไปเยอะเพราะเป็นที่ราบ เป็นหมู่บ้านทั้งนั้นโดยเฉพาะหมู่บ้านชาวประมง ศพตกค้างมีเยอะมาก "นางธาลินีกล่าว

ลุงชม อิสรธะ อายุ 74 ปี ทำอาชีพประมง และทำขนมขาย เล่าว่า คลื่นเอาชีวิตลูกสาวของแก ไป จนถึงบัดนี้ยังหาศพไม่เจอ

ลุงชมกล่าวพร้อมชี้ไปที่ซากปรักหักพังว่า เดิมเป็นบ้านที่ลุงและลูกๆ 3 คนอาศัยอยู่ด้วยกัน ในบ้านมีลูกชายสองคนกับลูกสาวคนหนึ่งซึ่งหายไปในสายน้ำ

"เห็นคนวิ่งกันเต็มถนน ลุงเลยร้องถามว่ามีอะไรกัน เขาบอกว่ามีคลื่นยักษ์มา เลยจูงลูกสาวจากบ้าน พากันวิ่งหนีจะไปขึ้นสามล้อเครื่องของลูกชาย แต่น้ำซัดมาแล้ว ไม่รู้จะทำยังไง ลูกชายคนเล็กจูงมือพี่สาวจะหนีไปขึ้นเรือใกล้บ้าน เรือเก่าๆ รั่วๆ แต่ก็พอขึ้นได้ ตอนกำลังลงเรือน้ำทะเลซัดมาจากทะเลและจากคลองทั้งสองทาง ลูกสาวถูกน้ำซัดและโดนดูดหายเข้าไปใต้เรือนอีกหลังไปต่อหน้าต่อตา" ลุงชมเล่าด้วยเสียงสั่นเครือ

ลุงชมเล่าว่าตนเองว่ายน้ำไป แต่ว่ายไม่ได้มากเพราะขยะเต็มไปหมด แต่ขณะที่ว่ายน้ำหนีกระ แสน้ำเบาลงจึงรอดชีวิตมาได้ และในขณะนี้ยังทำใจไม่ได้เพราะมันโหดร้ายเกินไป การสื่อสารทางนี้แย่มาก ทั้งที่ทางภูเก็ตทราบเรื่องก่อนหนึ่งชั่วโมง หากมีการสื่อสารที่ดีมีการแจ้งให้คนอพยพออก ไปอย่างเร่งด่วน คงเกิดการเสียชีวิตน้อยลงกว่านี้

ลุงชมกล่าวถึงลูกสาวที่จมหายไปว่า ขณะนี้ไม่มีหวังจะได้เจอลูกสาวตัวขณะยังมีชีวิตอีกแล้ว แต่ยังคาดหวังว่าจะได้เจอศพบ้าง อีกทั้งตนยังได้เก็บดีเอ็นเอไว้แล้ว หากเจอศพจะได้นำมาตรวจสอบได้

"ที่นี่เริ่มมาหาศพจริงๆ วันจันทร์ มีคนหาน้อยมากเพราะเป็นชาวบ้านที่อยู่ที่นี่ กว่าเจ้าหน้าที่ข้างนอกจะมาก็เป็นวันที่สามแล้ว เขาไปช่วยที่อื่นก่อน" ลุงชมกล่าว

อรพันธ์ สุขบุญทอง อายุ 14 ปี นักเรียนโรงเรียนบ้านน้ำเค็มบอกว่า ตอนนี้ยังคงกลัวอยู่ และจะไม่กลับไปอยู่ที่เดิมอีกแล้ว เพื่อนที่เคยเรียนด้วยกันเสียชีวิตไปแล้วหลายคน

อรพันธ์กล่าวว่า ที่บ้านคุยกันว่า จะไม่กลับมาที่นี่อีกแล้ว มันน่ากลัวเกินไป คนที่บ้านข้างๆตายไปเยอะราวๆ ร้อยกว่าคน ถ้านับทั้งหมดบ้านน้ำเค็มตามที่ตนทราบเสียชีวิตไปเป็นพันกว่าคน

"พ่อบอกว่า ที่พ่อต้องไปช่วยเก็บศพเพราะเจ้าหน้าที่มาช่วยที่บ้านบางน้ำเค็มช้ามาก พ่อเก็บศพคนที่เพิ่งตายใหม่ๆได้ด้วย หากเจ้าหน้าที่มาช่วยกู้ภัยได้เร็วเขาก็คงไม่ตาย" ด.ญ.อรพันธ์กล่าว

อุดม อนันตกูล อายุ 50 ปี ชาวบ้านน้ำเค็มอีกคนหนึ่งที่รอดชีวิตมาได้กล่าวว่า รู้สึกสลดมากและไม่มีวันลืมเหตุการณ์นี้ได้ ส่วนในหมู่บ้านน้ำเค็ม ตนคิดว่าไม่ร้าง แต่ต้องใช้เวลานานในการฟื้นคืนให้ได้อย่างเดิม

ศิริรัตน์ อนันต์รัตน์
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net