Skip to main content
sharethis

รศ.สุชาตา ชินะจิตร
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

----------------------------------------------------------------

ข่าวแผ่นดินไหวและคลื่นซึนามิที่สร้างผลกระทบให้กับประเทศในเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากมายมหาศาลอยู่ในขณะนี้ ทำให้ทุกฝ่ายต่างหันมามองหา "ระบบเตือนภัย" กันอย่างเป็นการด่วน ซึ่งระบบเตือนภัยที่ว่านี้จะมีอยู่ 2 ส่วนด้วยกัน

ส่วนแรก คือ การใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการพยากรณ์ และส่วนที่ 2 คือ การจัดการ ตั้งแต่การสื่อสารว่าจะเตือนภัยอย่างไร จนกระทั่งแผนปฏิบัติว่าใครทำอะไร ซึ่งในส่วนของเทคโนโลยีนั้นต้องใช้การวิจัยและพัฒนาเข้าช่วย และต้องสร้างขึ้นให้พร้อมใช้งานได้จริง

แต่งานส่วนนี้มักจะไม่ได้รับการพิจารณาและให้ความสำคัญ หากไม่มีเหตุพิบัติภัยเกิดขึ้น จนเมื่อเกิดพิบัติภัยขึ้นมาความสนใจจะไปลงที่ส่วนที่ 2 คือ การจัดการ จึงเกิดคำถามว่า "ทำไมไม่มีระบบเตือนแล้วก็ไปรุมกันที่การบรรเทาและฟื้นฟู" ด้วยเพราะเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของคนจำนวนมาก จนทำให้หลายฝ่ายหลงลืมระบบเตือนภัยในส่วนแรกไป

อย่างไรก็ตามการที่รัฐบาลได้แต่งตั้งอดีตอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา สมิทธ ธรรมสโรช เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีเข้ามาดูแลเรื่องนี้ทั้งระบบนับเป็นข้อดีที่ใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส แต่สิ่งหนึ่งที่อยากฝากเป็นข้อคิดไว้ก็คือว่า การตั้งคณะกรรมการที่จะเข้ามาดูแลระบบเตือนภัยนั้นควรจะมีการทบทวนดูว่ามีความรู้เกี่ยวกับระบบเตือนภัยและผู้รู้อยู่ที่ไหนอย่างไร ที่ควรจะได้รับเชิญมาปรึกษาหารือกันอย่างรอบครอบ และเกิดความร่วมมือในการสร้างระบบควบคู่กับการพัฒนาคนไปด้วย

ข้อมูลงานวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นฐานข้อมูลหนึ่งที่น่าจะนำมาใช้เป็นฐานของการสร้างความรู้เกี่ยวกับระบบเตือนภัยของประเทศได้เป็นอย่างดี ด้วยเหตุว่างานวิจัยด้านพิบัติภัยที่ สกว.ดำเนินการมานั้นเกิดขึ้นจากโจทย์วิจัยของท่านสมิทธ ธรรมสโรช เมื่อครั้งที่ท่านเป็นอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา

โครงการแรก คือ การพยากรณ์ความสูงของคลื่นในทะเลที่สามารถพยากรณ์ได้ล่วงหน้า 3-7 วัน (คลื่นที่เกิดจากพายุ) ซึ่งปัจจุบันมีการใช้ง่านอยู่ที่กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ และจากโปรแกรมนี้ได้พัฒนาต่อมาเป็นโปรแกรมพยากรณ์ตำแหน่งวัตถุลอยน้ำในทะเล สำหรับบอกตำแหน่งเรือล่มหรือเครื่องบินตกเพื่อที่จะได้ส่งความช่วยเหลือไปได้เร็วขึ้น เพราะรู้ว่าทิศทางของตำแหน่งในท้องทะเล ซึ่งโปรแกรมนี้ได้ถูกทดลองใช้ในการฝึกซ้อมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยประจำปีมาแล้ว 2 ครั้ง ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ

ในโครงการนี้ได้พิจารณาถึงเทคโนโลยีจากผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศงบประมาณน้อยกว่าการซื้อโปรแกรม อีกทั้งยังถึงมือผู้ปฏิบัติจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา , กรมอุทกศาสตร์, การสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) , และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่ง
ชาติ (กปอ.) ที่ในช่วงนั้นเข้ามาเป็นนักวิจัยร่วมจึงเป็นการพัฒนาบุคลากรไปพร้อมกัน

นอกจากนี้ สกว.ยังมีงานวิจัยด้านอุทกภัยที่สามารถคำนวณปริมาณน้ำหลาก เพื่อเตือนภัยได้ว่าน้ำเหนือจะลงมาถึงกรุงเทพฯ มากน้อยเพียงใด และในเวลาเมื่อใด เพื่อทำให้วัดการผันน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งงานวิจัยนี้ได้นำไปใช้งานแล้วที่ศูนย์พยากรณ์น้ำท่วม กรมชลประทานแล้ว

ส่วนงานวิจัยที่เกี่ยวกับแผ่นดินถล่มนั้น สกว.ได้เริ่มทำวิจัยมาแล้ว 5-6 ปี เพื่อจัดทำข้อมูลพื้นที่เสี่ยง
ล่าสุดงานวิจัยด้านแผ่นดินไหวมีงานวิจัยตั้งแต่ระดับพื้นฐานที่พยายามทำความกระจ่างว่า รอยเลื่อนมีพลังอยู่ตรงไหน การถ่ายเทพลังงานและพฤติกรรมของแผ่นดินเมื่อเกิดแผ่นดินไหวจะเป็นอย่างไร พื้นที่ใด คือ พื้นที่เสี่ยงที่อาจเกิดผลกระทบจากแผ่นดินไหว เพื่อนำไปสู่เกณฑ์และมาตรฐานการออกแบบอาคารเพื่อรองรับแผ่นดินไหวต่อไป

งานวิจัยชิ้นนี้มีทั้งนักวิชาการร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมอุตุนิยมวิทยา (กองแผ่นดินไหว) กรมทรัพยากรธรณีรวมอยู่ด้วย กองแผ่นดินไหวได้เข้ามาร่วมเพื่อพัฒนาศูนย์ข้อมูลสถิติแผ่นดินไหว เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์เป็นความรู้ว่าอดีตศูนย์กลางของคลื่นประเภทและลักษณะของคลื่นสร้างความรุนแรงได้อย่างไร

การเชื่อมโยงข้อมูลเป็นเครือข่ายกับศูนย์แผ่นดินไหวและซึนามิสากลก็จะเป็นหนทางให้กรมอุตุนิยมวิทยาสามารถต่อยอดจากตรงนี้ได้

สารเคมีเป็นอุบัติภัยอีกชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยบ่อยครั้ง และฐานความรู้ด้านความปลอดภัยสารเคมีนั้น สกว.เองได้เริ่มดำเนินการไว้แล้วในการให้ความรู้กับประชาชนทั่วไปได้
และยังได้สร้างระบบข้อมูลเพื่อให้สามารถติดตามสารเคมีที่นำเข้ามาได้

โดยสิ่งที่ สกว.เข้าไปสนับสนุนจะมีลักษณะเหมือนกับงานอื่น ๆ คือ "การประสานนักวิจัยจากหลายหน่วยงาน" ให้เกิดการทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยผลลัพธ์หรือผลงานที่ได้จะเป็นของทุกหน่วยงานที่ทำวิจัยร่วมกัน

จะเห็นได้ว่างานวิจัยและพัฒนาเพื่อจัดการพิบัติภัยเหล่านี้ ต้องเป็นความร่วมมือระหว่างศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญหลายด้าน โดยมีเป้าหมายหนึ่งคือการทำให้ผู้ปฏิบัติได้ร่วมงานในฐานะนักวิจัยกับนักวิชาการเพื่อให้ได้ผลงานที่สามารถเข้าสู่ระบบปฏิบัติปกติได้พร้อม ๆ กับการสร้างบุคลากรผู้ปฏิบัติงานให้เข้มแข็งทางวิชาการเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งปัจจัยที่จะเกื้อหนุนให้เกิดงานวิจัยลักษณะนี้ คือ
การยอมรับเชิงนโยบายว่า เจ้าหน้าที่หน่วยราชการที่มาร่วมงานวิจัยต้องถือว่าเป็นผลงานที่จะสร้างประสิทธิภาพของหน่วยงานและความก้าวหน้าทางวิชาการของเจ้าหน้าที่ด้วย

ปัจจัยที่สองคืองบประมาณสนับสนุนการวิจัยที่ส่งมายังเจ้าภาพ คือ แหล่งทุน ผู้ประสานให้เกิดงานวิจัย พร้อมกับงบลงทุนในการจัดซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับหน่วยงานที่แหล่งทุนไม่สามารถจัดซื้อให้ได้ สุดท้าย คือ ต้องมีผู้ประสานในการพัฒนาโจทย์ให้ตรงตามปัญหาเชื่อมโยงนักวิจัยจากสถาบันอุดมศึกษากับผู้ปฏิบัติในหน่วยปฏิบัติ หากสามารถทำเช่นนี้ได้เชื่อว่าประเทศไทยคงไม่พบกับ "พิบัติภัย" เช่นนี้อีก

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net