Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

----------------------------------------------------

หากเรามองย้อนกลับไปดูถึงที่มาและจุดเริ่มต้นของแนวคิด การจัดการป่าของประเทศไทย ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เราจะพบว่า การจัดการป่าไม้ในเมืองไทย มีเพียง 2 แนวทางหลัก คือการจัดการป่าเพื่อเศรษฐกิจ กับการจัดการป่าเพื่อการอนุรักษ์

การจัดการป่าเพื่อเศรษฐกิจ
แนวทางการจัดการป่าเพื่อเศรษฐกิจในยุคนั้น ได้ส่งผลเป็นอย่างมากต่อพื้นที่ป่าในเมืองไทย เนื่อง จากเป็นแนวคิดการสัมปทานป่าไม้ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากประเทศอังกฤษ ที่เข้ามาทำไม้ในแถบประเทศอินเดียและพม่าในสมัยยุคล่าอาณานิคม โดยรัฐได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ.2407

ต่อมา ส่วนกลางได้เข้ามารวบ รวมอำนาจในการจัดการ และได้ตั้ง "กรมป่าไม้" ขึ้นในปี พ.ศ.2439 เพื่อดูแลกิจการและผลประโยชน์เรื่องการทำไม้ โดยมี มร.เอช สะเลด ชาวอังกฤษ เป็นอธิบดีป่าไม้คนแรกของประเทศ

การสัมปทานป่ากินระยะเวลามายาวนาน จนถึงปี พ.ศ.2532 จึงได้มีการประกาศปิดป่า ถือเป็นการสิ้นสุดการทำไม้อย่างเป็นทางการ ซึ่งดำเนินการมากว่า 132 ปี พร้อมกับพื้นที่ป่าไม้ที่เคยมีอยู่มากกว่า 70% ของประเทศ ลดเหลือเพียง 28%

หลังการปิดสัมปทานป่า มีการสำรวจพบว่า พื้นที่ป่าที่ถูกสัมปทานทั่วประเทศมีถึง 230,000 ตารางกิโลเมตร หรือจำนวน 143 ล้านไร่ และอัตราการสูญเสียพื้นที่ป่าถึง 80% ในปี 2533

การจัดการป่าเพื่อการอนุรักษ์
ในส่วนของการอนุรักษ์ป่าในประเทศไทยนั้น ได้เกิดขึ้นหลังการทำไม้ผ่านไปไม่น้อยกว่า 64 ปี แนวคิดนี้ได้รับแนวคิดอิทธิพลมาจากประเทศตะวันตก เงื่อนไขหลัก ที่ทำให้กรมป่าไม้ หันมาสนใจเรื่องการอนุรักษ์ เกิดจากการลดลงของพื้นที่ป่า ซึ่งเป็นผลมาจากการทำไม้ทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย

กฎหมายอนุรักษ์ฉบับแรกเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2503 โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อการรักษาผืนป่าให้มีความเป็นธรรมชาติมากที่สุด โดยไม่ยอมรับเรื่อง "คนกับป่า" ในขณะที่ในผืนป่าทั่วไปของเมืองไทยนั้น ล้วนมีผู้คน ชุมชนท้องถิ่นอาศัยอยู่กันมาก่อนแล้ว

การประกาศเขตป่าอนุรักษ์ ในระยะที่ผ่านมา ไม่มีการกันเขตชุมชนออกจากเขตป่าแต่อย่างใด นับตั้งแต่มีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศ เมื่อปี พ.ศ.2505

นับตั้งแต่นั้น มาตราการการอนุรักษ์ดังกล่าว ได้นำไปสู่การกีดกันชุมชนท้องถิ่นออกจากทรัพยากร มีการเข้าไปตั้งหน่วยงานใกล้ชุมชน เพื่อควบคุมการใช้ประโยชน์ รวมไปถึงการอพยพคนออกจากเขตป่า และเปิดช่องให้นายทุนเอกชนเข้าไปเช่าพื้นที่เพื่อทำประโยชน์ทางธุรกิจ จนก่อให้เกิดความขัดแย้งทั้งระหว่างชาวบ้านกับรัฐ และชาวบ้านกับนายทุนมาโดยตลอด

ยิ่งในเขตพื้นที่ภาคเหนือ เกือบทั้งหมดนั้นมีชาวบ้านชุมชนอาศัยอยู่ ได้กลายเป็นเขตป่าอนุรักษ์ อย่างกรณี จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีพื้นที่รวม 7,952,787 ไร่ ได้กลายเป็นเขตอนุรักษ์ตามกฎหมาย และเขตอนุรักษ์ตาม มติ ครม. ถึง 6,144,800 ไร่ หรือ 89.5% ของพื้นที่จังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่ อำเภอปาย อำเภอปางมะผ้า ล้วนตกอยู่ในเขตอนุรักษ์ทั้งสิ้น ซึ่งการประกาศเขตอนุรักษ์ดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดปัญหาการซ้อนทับกับพื้นที่ชุมชนดั้งเดิม

ปัจจุบัน พื้นที่ป่าที่เหลืออยู่จริงในประเทศไทย ประมาณ 81 ล้านไร่ ตามมติ ครม.วันที่ 10,17 มีนาคม 2535 ได้ประกาศให้เป็นเขตอนุรักษ์ จำนวน 55.99 ล้านไร่ เขตอุทยานฯ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ อีกจำนวน 15 ล้านไร่ โดยกำหนดให้อยู่ในชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1A ชั้น 1B และชั้น 2 ทั้งหมดประมาณ 70 ล้านไร่ ซึ่งมีการวิเคราะห์กันว่า ตัวเลขนั้นเกินจากจำนวนพื้นที่ป่าที่เหลืออยู่จริง

การขยายพื้นที่อนุรักษ์ต่างๆ ได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้ชุมชนจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในเขตป่า กลายเป็นผู้ผิดกฎหมายในถิ่นฐานของตนเอง

การยืนยันของรัฐ ที่ไม่ยอมให้ชุมอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เห็นได้ว่า แนวคิดและการปฏิบัติเพื่อการอนุรักษ์ป่าของประเทศไทยในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา เมื่อนำมาใช้โดยขาดการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมในประเทศไทย ซึ่งเป็นป่าเขตร้อนที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง อีกทั้งยังมีชุมชนที่พึ่งพาอาศัยและพื้นที่ทำกินอยู่กับป่ามานาน จึงกลายเป็นประเด็นของปัญหาป่าไม้ที่เป็นอยู่ในห้วงขณะนี้
……………………………………..

ภู เชียงดาว
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net