รายงานพิเศษ: เหนือยังอยู่ตามยถากรรมไม่พร้อมรับมือแผ่นดินไหว

ต้องไม่ลืมว่า แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ใต้ทะเลเหนือเกาะสุมาตราเช้าวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ที่ก่อให้เกิดคลื่นซินามินั้น ที่ภาคเหนือของไทยก็รู้สึกได้ถึงความสั่นสะเทือนเช่นกัน แต่จุดศูนย์กลางอยู่คนละแห่ง

ที่เหนือนั้นคือความแรงขนาด 6.4 ริกเตอร์ ศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศพม่า และตามมาด้วยวันที่ 30 ธันวาคม 2547 อีก 2 ครั้ง วัดแรงสั่นสะเทือนได้ 5.4 และ 5.6 ริกเตอร์ ตามลำดับ รู้สึกได้บนอาคารสูงในเมืองเชียงใหม่

"พลเมืองเหนือ"ตรวจสอบจากทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยา และผู้ปฏิบัติงานด้านการตรวจสอบแผ่นดินไหว รวมทั้งฝ่ายดูแลการก่อสร้างอาคารสูงในภาคเหนือโดยเฉพาะที่เชียงใหม่ สามารถระบุได้ว่าเรายังคงเผชิญกับภัยแผ่นดินไหวกันตามยถากรรม ทั้งที่ความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวในภาคเหนือนั้นยังคงมีสูงอยู่ แม้ความรุนแรงเท่าไม่มากเกิน 6 ริกเตอร แต่ไม่มีใครยืนยันว่า ความรุนแรงกว่านี้จะไม่เกิด และที่สำคัญเรากำลังตื่นตลึงกับเหตุการณ์ที่ใต้ และยังไม่ได้เตรียมการรับมือที่เหนือเท่าที่ควร

รอยเลื่อนมีพลังรอวันปะทุ

จังหวัดเชียงใหม่เลือกใช้ วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร เป็นสถานที่ประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศแด่ผู้ประสพภัยคลื่นยักษ์ถล่มใต้ เพราะที่นี่มีสัญลักษณ์ที่ย้ำเตือนว่าภาคเหนือได้เคยเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่มาแล้วเช่นกัน

ยอดพระเจดีย์หลวงที่สูงราว 86 เมตร หักโค่นลงมาเหลือเพียง 60 เมตร ในราวพ.ศ.2088 รัชสมัยของพระยามมหาเทวีจิริประภา ไม่มีใครทราบว่าศูนย์กลางแผ่นดินไหวนี้อยู่ที่ใด แต่คาดคะเนกันว่าคงไม่ห่างจากเชียงใหม่นัก

จากนั้นได้มีบันทึกแผ่นดินไหวต่อมาอีกเรื่อยๆ และหลังจากที่เชียงใหม่มีสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหว 1 ใน 10 ของเอเชียก็พบว่าโลกใบนี้สั่นสะเทือนและเกิดแผ่นดินไหวไม่เว้นวัน

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.สัมพันธ์ สิงหราชวราพรรณ ประธานสมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทยสาขาภาคเหนือและอาจารย์ประจำภาควิชาธรณี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่าประวัติการเกิดแผ่นดินไหวสังเกตได้ว่าแผ่นดินไหวที่มีขนาดใหญ่กว่า 6 ริกเตอร์นั้นเกิดนอกอาณาเขตประเทศไทย ได้แก่อินโดนีเซีย พม่า จีน และลาว

ขณะที่แผ่นดินไหวระยะใกล้ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมีขนาดสูงสุดไม่เกิน 6 ตามมาตราริกเตอร์เท่านั้น แต่ก็ไม่อาจวางใจได้ เพราะรอยเลื่อนในประเทศไทยมีศักยภาพที่จะทำให้เกิดแผ่นดินไหวที่ใหญ่กว่านั้นได้ในอนาคตแต่ไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าจะเกิดเมื่อไร

ทั้งนี้ เขตภาคเหนือของประเทศไทยครอบคลุมบริเวณที่สูงในภาคเหนือ แผ่นดินไหวในบริเวณนี้เกิดขึ้นตามแนวรอยเลื่อนที่ตัดผ่านจังหวัดเชียงใหม่และแพร่ บริเวณนี้มีรอยเลื่อนอยู่หลายแนว เช่นรอยเลื่อนแม่จัน รอยเลื่อนแม่ทา รอยเลื่อนเถิน และรอยเลื่อนแพร่ เคยมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นโดยขนาดรุนแรงที่สุดเท่าที่บันทึกไว้คือ 4.8 ริกเตอร์ศูนย์กลางที่อำเภอพร้าว

"รอยเลื่อนสะแกงผ่ากลางประเทศพม่า ส่วนประเทศเรารอบตัวมีหมด รอยเลื่อน เชียงแสนติดกับเชียงราย ใกล้ที่สุดคือรอยเลื่อนแม่ทา และรอยเลื่อนที่มองไม่เห็นมีมาก สถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวเชียงใหม่ตรวจจับได้ตลอดในความแรง 2 - 3 ริกเตอร์ แต่เราไม่รู้สึกเท่านั้น "

รศ.ดร.ปัญญา จารุศิริ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ว่าในหลายพื้นที่ของไทยมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหว โดยปัจจุบันมีรอยเลื่อนที่มีพลังอยู่ 10 รอยเลื่อนที่พาดผ่าน เช่น รอยเลื่อนแม่จัน จ.เชียงราย รอยเลื่อนลำปาง รอยเลื่อนแพร่ รอยเลื่อนเจดีย์ 3 องค์ รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน รอยเลื่อนแม่ปิง จ.ตาก รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี รอยเลื่อนระนอง รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย จ.ภูเก็ต และ จ.พังงา และรอยเลื่อนเพชรบูรณ์ โดยรอยเลื่อนที่น่ากังวลที่สุดอยู่ที่รอยเลื่อนแม่จัน

เพราะที่ผ่านมาพบว่ามีการเกิดแผ่นดินไหวบริเวณจังหวัดในภาคเหนือหลายครั้ง ระดับความแรงประมาณ 5 ริกเตอร์ แต่เนื่องจากไม่ได้เกิดใจกลางเมืองจึงยังไม่มีปัญหา และจากการศึกษาด้านธรณีวิทยา พบว่าในภาคเหนือเคยเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อ 2,000 ปีที่ผ่านมา และมีโอกาสเกิดขึ้นใน 2,000 ปีต่อจากนี้ แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นเมื่อไร

ตรวจวัดแผ่นดินไหว
ประชาชนต้องแจ้งก่อน

นางกรรณิกา บูรณพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ อธิบายขั้นตอนการทำงานของสถานีวัดแผ่นดินไหวแก่ "พลเมืองเหนือ"ว่า เชียงใหม่มีสถานีตรวจวัดแผนดินไหว 1 ใน 10 ของเอเชียที่มาติดตั้งได้กว่า 10 ปีที่บริเวณหลังวัดศรีโสดา ที่สามารถตรวจวัดความสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้ทั่วโลกและปรากฏมาเป็นกราฟ ซึ่งมีอยู่มากมาย การจะตรวจวัดบริเวณใด ก็จะพิจารณาเฉพาะกับที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย โดยระบบการทำงานนั้น เจ้าหน้าที่ของศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือซึ่งทำงานด้านแผ่นดินไหวอยู่ที่นี่เพียง 2 คน จะตรวจวัดความสั่นสะเทือนในแต่ละวันเวลา 07.00 และ 13.00 น.

นอกเหนือจากนั้นจะปฏิบัติการค้นหาจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว เมื่อได้รับแจ้งความสั่นสะเทือน
นั่นคือเมื่อประชาชนรู้สึกถึงแผ่นดินไหวแล้วโทรศัพท์แจ้งสถานี การค้นหาศูนย์กลางก็จะเริ่มต้น ณ เวลานั้น ว่าอยู่ที่ละติจูด ลองติจูดใด ความแรงเท่าใด และส่งข้อมูลเข้าสู่กรมอุตุนิยมวิทยา
ที่จะตรวจหาศูนย์กลางอีกครั้งจาก 3 สถานีเพื่อระบุศูนย์กลางที่ถูกต้องก่อนการออกประกาศโดยอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง

และเมื่อประกาศแล้วกรมที่เกี่ยวข้องจะต้องทำหน้าที่ต่อคือประชาสัมพันธ์ในสิ่งที่เกี่ยวเนื่องเช่นกรมทรัพยากรธรณีจะต้องพิจารณาหากฝนตกต่อเนื่อง 3 ชั่วโมงอาจเกิดดินถล่มได้หรือไม่ หรืออุตุประกาศว่าเกิดฝนตกหนักกรมชลประทานจะต้องรับลูกต่อประชาสัมพันธ์แจ้งพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมต่อประชาชนเป็นต้น

"แต่ละวันคลื่นที่ปรากฏเป็นกราฟจะมีมากมาย ดังนั้นจึงอยู่ที่ว่าเกิดการสั่นสะเทือนแล้วรู้สึกได้และประชาชนแจ้งมาเราจะเริ่มตรวจหา ดังนั้นประชาชนจะต้องช่วยกันแจ้งมาด้วย ซึ่งเหตุการณ์วันที่ 26 ธันวาคม 2547 นั้นก็เกิดแผ่นดินไหวรู้สึกได้ที่ภาคใต้ จากนั้นก็เกิดอีกที่ภาคเหนือราว 8.00 น. ซึ่งเป็นคนละรอยเลื่อนกัน สิ่งที่เกิดขึ้นกรมอุตุนิยมวิทยาถูกตำหนิซึ่งทำให้ข้าราชการเราเสียขวัญกันมาก ซึ่งขั้นตอนการปฏิบัติที่ควรจะต้องปรับปรุงเป็นเช่นใดนั้นกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการอยู่ ซึ่งที่ผ่านมาเรามีเอกสารประชาสัมพันธ์ตลอดว่าหากเกิดแผ่นดินไหวจะต้องปฏิบัติตัวเช่นไร เช่นออกนอกอาคารโดยเร็ว ห้ามใช้ลิฟต์ ถ้าขับรถอยู่ก็ให้จอดนิ่งๆ เป็นต้น"

อาคารสูงก่อนปี 40 เสี่ยง
ไม่ออกแบบรับแรงแผ่นดินไหว

นายวิรัช ตั้งมั่นถาวรสกุล วิศวกรวิชาชีพ 8 สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงใหม่ บอกกับ "พลเมืองเหนือ"ว่า ได้มีประกาศกฎกระทรวงเพิ่มเติม ฉบับที่ 49 (พ.ศ. 2540)
ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ว่าด้วยการกำหนดการรับน้ำหนักความต้านทาน และความคงทนของอาคารหรือ พื้นดินที่รองรับอาคารสำหรับการก่อสร้างอาคารในเขตที่อาจได้รับแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว

สาระสำคัญคือ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน และกาญจนบุรี อาคารที่สูงเกิน 15 เมตรและอาคารสาธารณะจะต้องออกแบบรับแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวด้วย

อาคารขนาดใหญ่และมีความสูงมากที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้ เช่น โรงมหรสพ หอประชุม โรงแรม โรงพยาบาล สถานศึกษา หอสมุด สนามกีฬากลางแจ้ง ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า สถานบริการ ท่าอากาศยาน อาคารจอดรถ สถานีรถ ศาสนสถาน อัฒจันทร์ หอศิลป์ พิพิธภัณฑสถาน วัตถุไวไฟ วัตถุมีพิษ และอาคารอื่นที่มีความสูงเกิน 15 เมตร

โดยกฎกระทรวงฉบับนี้ระบุว่าในการออกแบบโครงสร้างอาคารให้คำนึงถึงการจัดรูปแบบเรขาคณิต ให้มีเสถียรภาพต่อการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว การให้รายละเอียดปลีกย่อยบริเวณรอยต่อระหว่างปลายชิ้นส่วนโครงสร้างต่างๆ และการจัดให้โครงสร้างทั้งระบบมีความเหนียว เพื่อป้องกันการวิบัติแบบสิ้นเชิง ซึ่งการคำนวณออกแบบโครงสร้างอาคารแต่ละชิ้นส่วนให้ใช้ค่าหน่วยแรงของผลจากแผ่นดินไหว หรือผลจากแรงลมตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

ส่วนการคำนวณออกแบบโครงสร้างอาคารที่มีรูปทรงไม่สม่ำเสมอ หรือโครงสร้างอาคารอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาคารตามที่กำหนด ผู้คำนวณแบบต้องเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ตั้งแต่ประเภทสามัญวิศวกรขึ้นไป

ด้านการออกแบบโครงสร้างอาคารที่มีลักษณะเป็นตึก บ้าน เรือน โรง หรือสิ่งก่อสร้างขึ้นอย่างอื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ให้ผู้ออกแบบอาคารคำนวณให้อาคารสามารถรับแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวได้

ซึ่งหลังจากเกิดเหตุการณ์สินามิถล่มชายทะเลอันดามัน ขณะนี้กรมโยธาธิการและผังเมืองกำลังอยู่ระหว่างการทบทวนอาคารที่มีความสูง 1 - 2 ชั้นรวมไปถึงอาคารที่พักอาศัย รวมถึงการเข้าตรวจสอบความมั่นคงของอาคารที่อยู่ในพื้นที่รอยตะเข็บที่เป็นรอยแยกของเปลือกโลกแถบทะเลอันดามันทั้งหมดด้วย

นายวิรัชให้ความเห็นว่า ก่อนหน้าที่กฎกระทรวงฉบับนี้จะประกาศขึ้น จังหวัดเชียงใหม่และหลายจังหวัดในภาคเหนือได้มีการก่อสร้างอาคารสูงไปมากแล้ว โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจบูมสมัยอดีตนายกชาติชาย ชุณหะวัณ ที่ไม่ได้ออกแบบรองรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวไว้ โดยเฉพาะในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ แต่ความรุนแรงของแผ่นดินไหวในภาคเหนือมีรายงานจากกรมอุตุนิยม
วิทยาว่าไม่เกินกว่า 6-7 ริกเตอร์ ซึ่งผลกระทบอาจมีไม่มากนัก อาคารเก่าที่มีอยู่อาจรับแรง
สั่นสะเทือนได้อยู่

สังเกตจากการเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงครั้งหลังการเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ของเชียงใหม่ อาคารที่เชียงใหม่ก็กระทบคือเกิดรอยร้าว แต่มีเสียหายชนิดต้องรื้อเหมือนโรงพยาบาลอำเภอพานยังไม่มี (
เหตุแผ่นดินไหวครั้งนั้นเกิดเมื่อวันที่ 12 ก.ค.2538 ความรุนแรง 7.2 ริกเตอร์ ส่งผลให้สนามบินจังหวัด เชียงรายร้าว และลูกแก้วบนพระธาตุดอยสุเทพ ตกลงมาแตก

นายวิรัชกล่าวด้วยว่า เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะต้องตรวจสอบอาคารที่เข้าข่ายว่าจะต้องออกแบบโครงสร้างรับแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว ก่อนการรับรองแบบของวิศวกร แต่ยอมรับว่าในขึ้นตอนของการก่อสร้างยังต้องอาศัยจิตสำนึกของเจ้าของอาคารและผู้รับเหมาอยู่มาก เพราะเมื่อถึงขั้นตอนการเสริมเหล็ก การเสริมเหล็กปลอกเพิ่มในรอยรัด ช่วงต่อของเสาอาคารและระยะห่างที่จะต้องถี่กว่าปกตินั้น ก็ส่งผลให้ต้นทุนค่าก่อสร้างสูงขึ้นราว 10 %

แม้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะปลอบใจว่า ความรุนแรงของแผ่นดินไหวในจังหวัดภาคเหนือยังไม่เคยมีสูงเกิน 6 ริกเตอร์ แต่ก็ไม่มีใครยืนยันได้แผ่นดินที่จะไหวรุนแรงกว่านี้หรือไม่ เหมือนกับที่เราเคยมั่นใจว่า ซึนามิไม่เกิดที่ทะเลไทย แต่มันก็ได้เกิดขึ้นมาแล้ว และที่ร้ายกว่านั้นคือเมื่อเกิดแล้ว พื้นที่ภาคเหนือยังไม่มีการเตรียมการรองรับหรือให้ข้อมูลกับประชาชนชาวเหนือมากเท่าที่ควรจะเป็น

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท