Skip to main content
sharethis

นราธิวาส/ยะลา/ปัตตานี-18 ม.ค.48 หอการค้า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้โอดเป็นเสียงเดียวกัน การลงทุนภายในไม่เกิด ภายนอกไม่กล้าเข้ามาลงทุน ผลพวงจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ย้ำรัฐบาลเร่งคลอดมาตรการช่วยเหลือก่อนเกิดปัญหาว่างงาน พร้อมแนะประกาศเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเหมือนจีน-เวียดนาม

จากการเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 และคนร้ายได้สร้างสถานการณ์ความรุนแรงมาอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี บั่นทอนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรงในพื้นที่ และขยายวงกลายเป็นปัจจัยลบทางเศรษฐกิจระดับประเทศไปในที่สุด

ในส่วนการลงทุนจากภายนอกก็ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ในขณะที่นักลงทุนในพื้นที่ก็เริ่มย้ายฐานหนี และปิดกิจการลง "สมาร์ทนิวส์" ในฐานะสื่อท้องถิ่น 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รวบรวมสรุปภาวะเศรษฐกิจในมุมมองของหอการค้า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนี้

ปธ.หอการค้าใต้เผยการลงทุนซบหนัก

นายศิริศักดิ์ หวังธรรมมั่ง ประธานหอการค้าเขต 18 สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และกรรมการผู้จัดการ บริษัทนิยมนาน ชอปปิ้งเซ็นเตอร์ จำกัด จังหวัดนราธิวาส เปิดเผยว่า ในรอบปีที่ผ่านมา การลงทุนทุกอย่างหยุดหมดเพื่อรอดูสถานการณ์ และหากในปี 2548 สถานการณ์ยังไม่คลี่คลายหรือไม่มีอะไรดีขึ้นการลงทุนโครงการใหม่คงไม่เกิดขึ้นแน่นอน

"ปัจจุบันนี้ธุรกิจต่างๆ ในพื้นที่ 3 จังหวัดต้องยอมรับว่าขาดทุนอยู่ แต่เราก็จะต้องประคับประคองธุรกิจเพื่อให้อยู่รอด เพราะหากปิดกิจการไปพนักงานต่างๆ จะประสบกับปัญหาการว่างงาน เมื่อเขาไม่มีรายได้ก็จะส่งผลเสียเกิดปัญหาสังคมตามมาอีกมากมายเท่ากับว่าเป็นการซ้ำเติมปัญหาที่มีอยู่ตอนนี้เข้าไปอีก ตอนนี้ทุกคนจึงต้องอดทนกันสุดๆ" นายศิริศักดิ์กล่าว

นายศิริศักดิ์ กล่าวต่อว่า จนบัดนี้ผู้ประกอบการและนักธุรกิจในพื้นที่ก็ยังเฝ้ารออยู่ หวังว่ามาตรการของรัฐจะเข้ามาช่วยคลี่คลาย โดยขอไปตั้งแต่ต้นปี 2547 แต่จนบัดนี้ก็ยังเงียบ ส่วนการดำเนินชีวิตในพื้นที่ของคนจังหวัดนราธิวาสนั้นยังเป็นปกติ ยกเว้นหากเป็นช่วงที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรง คนในพื้นที่ก็หวาดกลัว ขณะที่นักท่องเที่ยวตอนนี้แม้แต่นักท่องเที่ยวในประเทศไทยเองก็ยังไม่กล้าเข้ามาในพื้นที่ เพราะกลัวในเรื่องความไม่ปลอดภัย ประกอบกับหนังสือพิมพ์ ทีวีของประเทศเพื่อนบ้านก็ลงข่าวกันต่อเนื่องว่าในพื้นที่มีความไม่ปลอดภัย

หอการค้ารับธุรกิจเล็กย้ายหนี

ต่อข้อถามว่ามีนักธุรกิจย้ายหนีไปประกอบกิจการนอกพื้นที่เป็นจำนวนมากจริงหรือไม่ นายศิริศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการรายย่อยจึงจะไปทำธุรกิจที่อื่น นอกจากนี้ก็มีไปตั้งสาขาที่จังหวัดอื่น เช่น บริษัททัวร์ ก็ไปหานักท่องเที่ยวที่อื่น เพื่อหารายได้มาจุนเจือธุรกิจในพื้นที่ตรงนี้ให้อยู่รอด ส่วนธุรกิจขนาดกลางและใหญ่ก็จำเป็นต้องทนอยู่กันต่อไป

"ถ้ามีโอกาสก็จะไปเช่นกัน หากรัฐบาลยังนิ่งเฉยก็ยิ่งแย่เพราะคงทนไม่ไหว ตอนนี้ในส่วนของนราธิวาสโรงแรมที่ปิดตัวไปแล้วก็มี 2 แห่ง คือ สุไหงโก - ลก 1 แห่งและในตัวเมือง 1 แห่ง" นายศิริศักดิ์กล่าว

ในส่วนของธุรกิจยางพาราซึ่งเป็นธุรกิจที่เป็นรายได้หลักของเกษตรกรส่วนใหญ่นั้น ประธานหอการค้าเขต18 กล่าวว่า ตอนนี้ประชาชนยังไม่กล้าออกไปกรีดยางในช่วงเช้าเหมือนเดิม ส่วนเจ้าของสวนก็ไม่กล้าเข้าไปในพื้นที่ปล่อยให้ลูกจ้างกรีดยางตามสะดวก ลูกจ้างบางคนเมื่อไปกรีดแล้วก็ไม่แบ่งให้กับนายจ้างเจ้าของสวน ขณะที่อาชีพประมงอยู่ในสภาวการณ์ย่ำแย่ เพราะนอกจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วน้ำมันยังมีราคาแพงอีกด้วย

"โดยรวมสถานการณ์ตลอดปี 2547 ถือว่ารุนแรงแต่ไม่ได้รุนแรงตลอดปี จึงอยากให้รัฐบาลเข้ามาส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยวให้คนไทยด้วยกันเองมาเที่ยวในพื้นที่บ้างเพื่อให้เศรษฐกิจมีการหมุนเวียนเม็ดเงิน เพราะทุกวันนี้ชาวบ้านเขามีรายได้น้อยลงมาก" นายศิริศักดิ์กล่าวปิดท้าย

ปธ.ยะลาเผยการลงทุนเดี้ยง

ด้านนายพจน์ ไพบูลย์เกษมสุทธิ ประธานหอการค้าจังหวัดยะลา เปิดเผยว่าในรอบปี 2547 ที่ผ่านมา การลงทุนในจังหวัดยะลาไม่มีนักลงทุนจากภายนอกเลย ขณะที่การลงทุนจากภายในก็เป็นเรื่องยาก เพราะธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากที่นี่มีปัญหาเรื่องความเสี่ยง ส่วนธุรกิจบริการ ท่อง
เที่ยว ตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงบัดนี้ยังไม่ดีขึ้นแต่อย่างใด

"หลังเหตุการณ์กรือเซะ และตากใบ สภาวะเศรษฐกิจกระทบอย่างหนัก ทั้งที่สถานการณ์หลายช่วงก็ทำท่าจะดีขึ้น ตอนนี้ท่องเที่ยวเป็นศูนย์เลย ส่วนการจับจ่ายใช้สอยก็น้อยลงเพราะประชาชนไม่ค่อยกล้าออกจากบ้านโดยเฉพาะช่วงที่เกิดเหตุการณ์เพราะกลัวการล้างแค้นจากญาติของผู้ก่อการร้าย" นายพจน์กล่าวพร้อมระบุว่าธุรกิจที่ย้ายออกจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็กเช่นกัน

สำหรับพฤติกรรมของประชาชนในยะลา ประธานหอการค้ายะลายอมรับว่าทุกคนมีความหวาดระแวงในเรื่องความปลอดภัย และมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เช่น การจัดงานแต่งงานก็จะจัดกันเฉพาะในช่วงกลางวัน หรืองานศพก็จะสวดกันประมาณ 5 โมงเย็นแล้วเสร็จไม่เกิน 6 โมงเย็น งานวัดที่เคยจัดกันกลางคืนก็เปลี่ยนมาจัดกลางวันแทน

แฉรัฐไม่ช่วยแล้วยังซ้ำเติม

ส่วนมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาลนั้น ประธานหอการค้ายะลากล่าวว่า จนบัดนี้ก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้าเช่นเรื่องภาษีที่เคยได้ขอไป ทางสรรพากรเองก็มีการตั้งเป้าการเก็บภาษีและยังมีการเรียกผู้ประกอบการไปพบ แม้ว่ารัฐบาลมีนโยบายผ่อนปรน แต่ในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่ก็ยังทำเหมือนเดิม ในส่วนของร้านค้าปลีกก็แย่ เพราะต้องเปิดช้าและปิดเร็วขึ้นทำให้รายได้น้อยลง และต้องเดินทางมาซื้อในเมือง เพราะเซลล์ไม่กล้าลงพื้นที่ ด้านการปล่อยสินเชื่อก็มีระยะสั้นลง และส่วนใหญ่ต้องการเงินสด เพื่อลดความเสี่ยง

นายพจน์กล่าวว่า ในส่วนของการค้าชายแดนทางด้านเบตง ที่ผ่านมาทุกคนก็ไม่ค่อยได้ยินข่าวว่ามีเหตุการณ์อะไรตรงนั้น สภาพเศรษฐกิจทางเบตงจึงน่าจะดีกว่าทางหาดใหญ่ หรือสุไหงโก - ลก

หวังดีขึ้นหลังเลือกตั้งใหญ่

นายพจน์ กล่าวอย่างมีความหวังต่อไปว่า หลังจากเลือกตั้งใหญ่ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ผ่านไปแล้วสถานการณ์ก็น่าจะดีขึ้น มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐน่าจะชัดเจนขึ้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กำลังมีการคุยกับทางสภาอุตสาหกรรมจังหวัด หอการค้า สมาคมท่องเที่ยว 3 - 4 จังหวัด เพื่อรวบรวมรายชื่อเสนอ พล.อ.สิริชัย ธัญญสิริ รองผบ.สส.และผอ.กอ.สสส.จชต.ให้ช่วยผลักดันและเรียกร้องมาตรการเรื่องภาษี การช่วยเหลือผู้ประกอบการ และผู้ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ดังกล่าวทั้งผู้ที่เสียชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งคาดว่ารวบรวมรายชื่อแล้วเสร็จในอีก 3-4 วัน

หอการค้าปัตตานีแนะให้สิทธิพิเศษนักลงทุน

ด้านนายดำรงค์ ชัยวรานนท์ ประธานหอการค้าจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า ผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในส่วนของจังหวัดปัตตานีมีโรงงานปิดไปแล้ว 2 แห่ง หนึ่งในนั้นย้ายฐานไปกรุงเทพมหานคร ส่วนผู้ประกอบการในพื้นที่ขณะนี้ก็กำลังรอสิทธิประโยชน์จากภาครัฐ ซึ่งทางหอการค้าในพื้นที่ได้นำเสนอไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยเฉพาะการให้สิทธิพิเศษการลงทุนที่แตกต่างจากพื้นที่อื่น ซึ่งเชื่อว่าจะมีนักลงทุนเข้ามาเอง

"หากนักลงทุนสามารถผลิตสินค้า โดยมีวัตถุดิบรองรับ และต้นทุนการผลิตถูก เขาต้องมาแน่นอน เช่น ในประเทศเวียดนาม จีน เขามีการประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษ นักลงทุนก็แห่กันเข้าไป ทั้งที่พื้นที่ดังกล่าวก็เคยเป็นพื้นที่อันตรายมาก่อน การดึงนักลงทุนเข้าพื้นที่จึงต้องให้สิทธิพิเศษแก่เขา ซึ่งที่ผ่านมาทุกประเทศต่างก็ใช้แผนนี้กันทั้งนั้น โดยเฉพาะสิทธิพิเศษด้านการลงทุนซึ่งในขณะนี้ยังไม่เอื้อเท่าที่ควร ถ้ามาลงทุนที่นี่แล้วไม่แตกต่างจากเชียงใหม่ ผมว่านักลงทุนเขาไปลงทุนเชียงใหม่ดีกว่า" นายดำรงค์กล่าว

นายดำรงค์ กล่าวด้วยว่า ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ติดต่อกันเมื่อต้นปีจนถึงขณะนี้เป็นระยะเวลา 1 ปีเต็มเศรษฐกิจลดการเติบโตลง 50% ส่วนธุรกิจท่องเที่ยวตกลง 95 % ส่วนธุรกิจกลางคืนหายไป 70% โรงแรมเงียบสนิท ตอนนี้คนปัตตานีอ้วนท้วนสมบูรณ์ขึ้นเพราะไม่กล้าออกจากบ้าน รัฐจึงควรจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์กรือเซะที่เกิดที่ปัตตานี

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net