Skip to main content
sharethis

************
การประชุมถ่านหินโลกจะถูกจัดขึ้นที่จังหวัดลำปางในระหว่างวันที่ 23-25 มกราคมที่จะถึงนี้ โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นจ้าภาพ

องค์กรพัฒนาเอกชนก็จัดการเวทีคู่ขนานกันในช่วงเวลาดังกล่าวภายใต้ชื่อ "รวมพลคนไม่เอาถ่าน"

ระหว่างความหมายที่รัฐเรียกว่า "พลังงานสะอาด" "ทางเลือกใหม่ของพลังงาน" กับแง่มุมภาคประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบทางสังคม วัฒนธรรม และสุขภาพ...ประชาไทจะติดตามการประชุมดังกล่าวเพื่อนำเสนอสารระหว่างรัฐกับภาคประชาชนเกี่ยวกับถ่านหินในช่วงระยะเวลา 3 วันที่จะถึง

************

มีคนเคยกล่าวว่า ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติเดินทางเป็นวัฏจักร เหมือนขดสปริงที่หมุนวนเป็นเกลียวซ้อนต่อกันไปเรื่อยๆ หลายเหตุการณ์จึงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนประหนึ่งว่าเป็นการเล่นตลกของชะตากรรม และดูเสมือนว่า บนอดีตของชะตากรรมเหล่านั้น มนุษย์แทบจะไม่ได้เรียนรู้สิ่งใดเลย

อากาศหนาวของอำเภอเวียงแหงแผ่ตัวต้อนรับผู้มาเยือนยามปลายฤดู ช่วงเวลานั้น ที่ราบแอ่งกะทะแห่งนี้ยังคงหนาวเย็น โดยเฉพาะกับคนต่างถิ่นซึ่งข้ามภูมิประเทศมาจากลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในวันที่ไอหมอกหนาแน่นเช่นนี้ ทุกอย่างพร่ามัว ทำให้มองเห็นทัศนวิสัยรอบตัวได้ไม่ชัดเจนนัก บรรยากาศของเช้าวันนี้ คล้ายจะบอกกับเราว่า ภาพอนาคตของชาวเวียงแหงในยามนี้ก็ไม่ผิดกันสักเท่าใด ช่างอึมครึม ลางเลือน และไม่แน่นอน ไม่เหมือนดังเช่นอดีตอีกแล้ว เมื่อรู้ว่าจะมีโครงการเหมืองถ่านหินลิกไนต์เกิดขึ้นบนแผ่นดินเกิดของตนเอง

ภาพความเจ็บป่วยของชาวบ้านอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ล่องลอยอยู่ในความทรงจำของตัวแทนชาวบ้านเวียงแหงหลายคนที่ร่วมคณะไปทัศนศึกษาสภาพความเป็นอยู่ของชาวแม่เมาะภายหลังการมีเหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้า ความเจ็บป่วยเหล่านี้เริ่มคืบคลานอย่างเงียบๆ มาตั้งแต่ปลายปี 2535 เมื่อโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และฝุ่นถ่านหินออกสู่บรรยากาศเป็นจำนวนมาก ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และฝุ่นถ่านหินที่ปะปนอยู่ในอากาศเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจของมนุษย์ โดยเฉพาะ เมื่อซัลเฟอร์ไดออกไซด์จับตัวกับน้ำกลายเป็นกรดกำมะถันที่มีฤทธิ์กัดกร่อนรุนแรง และฝุ่นถ่านหินซึ่งมีขนาดเล็กมากไปเกาะตามอวัยวะต่างๆ ของระบบทางเดินหายใจ สำหรับภูมิประเทศที่อากาศถ่ายเทไม่ดีเช่นที่ราบหุบเขา อากาศพิษจะลอยวนเวียนไม่ไปไหน ยิ่งในช่วงปลายฤดูฝนและฤดูหนาวที่หมอกจัดอย่างเช้าวันนี้ด้วยแล้ว ที่ราบแอ่งกะทะจะมีสภาพเป็นตู้อบกลายๆ ที่ถูกรมไว้ด้วยละอองกรดกำมะถันและฝุ่นถ่านหิน ซึ่งสภาพเช่นนี้ สร้างความทุกข์ทรมานให้กับชาวแม่เมาะมาแล้วมากกว่าทศวรรษ

หนุ่มน้อยวัย 13 ปี ป่วยเป็นโรคปอดอักเสบมานาน 10 เศษ เช่นเดียวกับคนในครอบครัว และเพื่อนๆ ที่อาศัยอยู่รอบบริเวณเหมืองถ่านหินแม่เมาะ แพทย์วินิจฉัยว่า พวกเขามีอาการป่วยเนื่องจากผงฝุ่นนิวโมโคนิโอซิส และพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ที่หมู่ 6 ตำบลแม่เมาะ เด็กๆ เกือบทุกคนจึงต้องพกยาแก้แพ้ติดตัวเสมอ เพื่อบรรเทาอาการน้ำมูกไหลและเหนื่อยหอบง่าย ซึ่งยาชนิดนี้ไม่ได้ช่วยให้อาการเจ็บป่วยทุเลาลงอย่างใด แต่ยังดีกว่าไม่มี เพราะหากไม่มียา อาการหอบก็จะออกฤทธิ์รุนแรงจนถึงขั้นเจ้าตัวลุกขึ้นไม่ไหว

น้อยเนย อายุ 6 ปี กำลังรอคอยเข้ารับการผ่าตัดต่อมทอนซิลที่อักเสบและโตผิดปกติ หนูน้อยกำลังป่วยหนักเนื่องจากได้รับสารพิษมากเกินไป ปัจจุบันที่แม่เมาะ มีผู้ล้มตายด้วยโรคระบบทางเดินหายใจไปแล้วนับสิบนับร้อยราย และยังไม่รู้ว่าจะมีอีกกี่คนที่กำลังเรียงคิวรอการจากไปก่อนวัยอันควรด้วยลักษณะอาการแบบเดียวกันนี้

ป้าเอี้ยง วัย 54 ปี ป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจมานานเกือบ 10 ปี ตอนนี้แกไม่รู้สึกทรมานมากนัก หากอาการหอบกำเริบ เพราะแกจะได้รับอากาศจากถังออกซิเจนซึ่งตั้งอยู่ปลายเตียง ต่างกับเจ๊บ้านตรงข้ามที่ไม่ต้องทรมานอีกแล้ว เพราะแกเพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อวันก่อนขณะถูกพาส่งโรงพยาบาล ถังออกซิเจนใบนี้ ก่อนหน้าเคยอยู่กับคนในหมู่บ้านหลายคนก่อนจะมาอยู่กับแม่บุญ แล้วถึงมาอยู่กับลุงแก้ว จนกระทั่งลุงแก้วตายไปเมื่อปลายปี มันถึงถูกย้ายมาที่บ้านของป้าเอี้ยง ไม่มีใครรู้ว่าจากนี้ ใครจะเป็นผู้โชคดีรายต่อไปที่จะได้ถังบรรจุอากาศบริสุทธิ์ใบนี้ไปอยู่เป็นเพื่อนยามวาระสุดท้ายของชีวิต และตัวมันเองจะต้องเวียนรับใช้ดูใจคนในหมู่บ้านนี้ไปอีกนานสักเท่าใด

แม้ที่ผ่านมา จะไม่สามารถจินตนาการได้ตรงกันถึงภาพของหมู่บ้านหากมีเหมืองลิกไนต์เกิดขึ้น แต่การได้มาเห็นสภาพจริงของแม่เมาะครั้งนี้ อย่างน้อยก็ทำให้พวกเขาได้เห็นกับตาว่า ยังมีสิ่งอื่นนอกเหนือจากภาพฝันดีๆ ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เจ้าของโครงการเหมืองลิกไนต์เวียงแหงพร่ำเสนอ สิ่งที่พวกเขาได้พบเห็นมาในวันนั้น จึงเพียงพอจะเป็นหลักฐานยืนยันได้ถึงพิษภัยของเหมืองถ่านหิน และเพียงพอที่จะทำให้พวกเขาหวั่นวิตกถึงอนาคตของตนเองและลูกหลานว่า ต่อไปภายภาคหน้าหากเหมืองลิกไนต์เกิดขึ้นจริง ชาวเวียงแหงคงไม่พ้นที่จะต้องเผชิญชะตากรรมแบบเดียวกับชาวแม่เมาะเป็นแน่

ท้องฟ้าเหนือวัดศรีดอนไชย ตำบลแสนไห อำเภอเวียงแหง ปรากฏให้เห็นมากขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์ลอยขึ้นสูง ขณะที่แสงแดดเริ่มจัดและอากาศอุ่นขึ้นกว่าเดิม สายวันนี้ ชาวบ้านจากทั้ง 3 ตำบลของอำเภอเวียงแหง มารวมตัวกันคึกคักที่ลานวัดเพื่อเตรียมต้อนรับแขกต่างถิ่นอีกครั้ง หลังจากที่ได้พบปะกันไปบ้างแล้วในตอนค่ำของเมื่อวาน

ตั้งแต่บ่ายแก่ๆ ที่คณะเครือข่ายนักธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม นักวิชาการ และผู้สื่อข่าว เดินทางมาถึง คณะผู้จัดงานได้พาตระเวนชมพื้นที่หลายแห่งที่คาดว่าจะถูกใช้เพื่อการทำเหมือง ในอดีต พื้นที่นี้เป็นเพียงดินแดนห่างไกลความเจริญ แต่ต่อมาได้รับความสนใจมากขึ้นเมื่อกรมทรัพยากรธรณีสำรวจพบถ่านหินคุณภาพดีในปี 2526 ต่อมา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเข้ามาสำรวจซ้ำอีกในปี 2530 แต่ไม่ได้ให้ความสนใจมากพอที่จะลงทุนเพราะรู้ว่าไม่คุ้ม

จนกระทั่ง วิกฤตเศรษฐกิจของประเทศครั้งล่าสุดส่งผลให้เชื้อเพลิงนำเข้ามีราคาแพง โครงการเหมืองลิกไนต์เวียงแหงจึงถูกหยิบขึ้นมาปัดฝุ่นอีกครั้งในปี 2541 และได้รับมติคณะรัฐมนตรีให้เข้าใช้ประโยชน์พื้นที่ได้ในปี 2544 ซึ่งครั้งนี้เป็นไปเพื่อเตรียมขุดถ่านหินป้อนให้กับโรงไฟฟ้าแม่เมาะ

ตามเส้นทางที่คณะผู้จัดนำตระเวนชม คือพื้นที่ที่จะถูกเปลี่ยนสภาพไปเป็นส่วนหนึ่งของเหมือง พื้นที่ราบเชิงเขาตลอดแนวฝั่งลำน้ำแม่แตงกว่า 1,500 ไร่ บริเวณบ้านปางป๋อ ตำบลแสนไห เป็นไร่หอมและกระเทียมซึ่งชาวเวียงแหงภูมิใจในรสชาติว่าไม่เป็นรองใคร ต่อไปจะเป็นบริเวณที่มีการเปิดหน้าเหมือง เหนือขึ้นไปตามลำน้ำแม่แตง ที่บ้านห้วยไคร้ ตำบลเปียงหลวง ต่อไปจะมีโครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่คอยแย่งน้ำจากเกษตรกรมากักไว้ใช้สำหรับทำเหมือง และเช่นกัน เมื่อล่องลงมาทางใต้ที่หมู่บ้านชาวปกากะญอ บ้านแม่แพม ตำบลเมืองแหง ก็จะพบพื้นที่ป่ากว่า 3,000 ไร่ ถูกกลายสภาพเป็นสวนพริกและสวนส้มของนายทุนต่างถิ่นรายใหญ่เรียบร้อย รอเพียงวันที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะควักกระเป๋าจ่ายเงินชดเชยราคาสูงให้แก่ตนเอง หากมีการนำดินจำนวนมหาศาลจากการทำเหมืองมาทิ้งที่นี่ตามที่ว่าไว้ในแผนจริงๆ

หมอกขาวที่คลอเคลียแอ่งกระทะเวียงแหงมาตั้งแต่เช้า ถึงตอนนี้ละลายไปจนเกือบจะไม่หลงเหลืออยู่แล้วเมื่อแสงอาทิตย์แผดกล้ามากขึ้น สายวันนี้ หลังจากชาวบ้านและชาวเมืองเดินทางมาพร้อมเพรียงกันที่ลานวัด เวที "ร่วมกำหนดอนาคตตนเอง" ของชาวเวียงแหงก็เริ่มต้นขึ้นในอีกไม่กี่อึดใจถัดมา

"ที่ผ่านมา มีกลุ่มคนบางคน องค์กรบางกลุ่ม มักอ้างเสียงประชาชนผ่านสื่อมวลชน นำข้อมูลไปอ้างว่าเป็นเสียงประชาชนในพื้นที่ซึ่งอยู่ในอำเภอเวียงแหงร้อยละ 80 ที่ต้องการให้เกิดการเปิดเหมือง บางครั้งก็เกิดการคลาดเคลื่อนในข้อเท็จจริงบางเรื่อง ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลด้านใดด้านหนึ่ง" ความรู้สึกไม่พอใจต่อความพยายามปั้นสุญญากาศให้เป็นความชอบธรรมเพื่อการเปิดเหมือง ถูกระบายผ่านตัวแทนชาวบ้านบนเวทีอย่างต่อเนื่อง เพราะรับไม่ได้กับการที่ผู้บริหารระดับสูงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พูดต่อคนไทยทั้งประเทศผ่านรายการโทรทัศน์ช่องหนึ่งว่า ชาวเวียงแหงประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์เห็นด้วย และอยากให้มีการเปิดเหมืองลิกไนต์

ด้วยความไม่พอใจข้อมูลที่ถูกนำเสนออกไป ผู้นำชาวบ้านกลุ่มหนึ่งจึงตัดสินใจทำแบบสำรวจขึ้นมาเพื่อสำรวจความต้องการที่แท้จริงของชาวเวียงแหง ผลที่ได้คือ ประชาชนชาวเวียงแหงใน 3 อำเภอ มีผู้เห็นด้วยกับการมีเหมืองลิกไนต์เพียง 0.96 เปอร์เซ็นต์ ที่เห็นว่ามีหรือไม่มีก็ได้ 4.36 เปอร์เซ็นต์ และที่ไม่เห็นด้วย มีมากถึง 94.66 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนั่นก็ชัดเจนเพียงพอที่จะอธิบายได้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น

"…ผมว่า การพัฒนานี้ เราย่อมมี การพัฒนานั้น ถ้าเป็นการยัดเยียด ไม่ใช่การสมยอมของพี่น้อง ผมถือว่าผิดในสิทธิของประชาชน..."

"...การพัฒนาทุกอย่างที่จะเข้าสู่อำเภอเวียงแหง ขอหื้อผ่านประชาชนผู้มีสิทธิมีเสียง ผู้ที่อยู่ในพื้นที่อย่างแท้จริง บ่ใช่ว่ามานั่งเทียนเขียน และคาดคะเน จะหื้อความเสียหายกับพี่น้องประชาชน..."

สายลมยามบ่าย ยังคงพาความเย็นจากป่าดิบเขาเข้าสู่ห้องโดยสารรถยนต์เป็นระยะๆ ที่ด้านนอกริมสองข้างทาง มีบ้าน มีป่า มีไร่นา มีต้นไม้ใหญ่ และมีป้ายโฆษณาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ยืนบอกเล่าบุญคุณและเรื่องราวความดีสารพัดที่ได้อุปถัมภ์ไว้กับชาวเวียงแหง ติดตั้งอยู่ตามหน้าสถานที่สำคัญต่างๆ เหมือนจะตอกย้ำให้เข้าไปอยู่ในจิตสำนึกของชาวบ้านและผู้คนที่สัญจรไปมา ไม่เว้นแม้แต่พระบรมธาตุแสนไห ที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวเวียงแหง

สายวันนี้ ขณะที่ชาวเวียงแหงกำลังรวมตัวกันคัดค้านเหมืองลิกไนต์อยู่ที่บ้าน ตัวแทนชาวแม่เมาะบางส่วนเดินทางไปที่กรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องรัฐบาลให้ย้ายตนเองและชุมชนออกจากแม่เมาะตามที่ได้รับปากไว้ ในขณะที่คนกลุ่มหนึ่งกำลังปกป้องสิทธิของตนที่จะมีชีวิตที่เรียบง่าย คนอีกกลุ่มกำลังเตรียมอาวุธที่เรียกว่าผลประโยชน์ส่วนรวมเข้าปล้นชิง เพื่อที่จะนำมาให้คนอีกกลุ่มหนึ่งได้จับจ่ายมาปรนเปรอความสุขของตัวเองโดยไม่ยี่หระต่อสิ่งใด

การเดินทางมาบนเส้นทางของอำเภอเวียงแหงครั้งนี้ แม้ภูมิประเทศจะลาดชัน ถนนจะคดโค้ง และยากสำหรับคนที่ไม่เคยมา แต่คงไม่อาจเทียบได้กับความยากของเส้นทางที่ชาวบ้านเวียงแหงกำลังเดินอยู่ในขณะนี้ มันทั้งยาวไกล เสี่ยงอันตราย เคี้ยวคดวกวนซับซ้อนซ่อนเงื่อน และมีปลายทางที่ไม่อาจคาดเดา ที่สำคัญ มันเป็นเส้นทางที่พวกเขาไม่ได้เลือก และไม่ต้องการที่จะเลือก แต่มันกลับวิ่งเข้ามาและพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตพวกเขาทั้งหมดได้ทั้งชีวิต

ขณะที่รถยนต์กำลังแล่นลงทางลาดชันของภูเขา ข้างทางด้านหนึ่งเป็นเหวลึก และเบื้องหน้าเป็นโค้งหักศอก มาช่วยกันลุ้นทีเถอะครับว่า โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นที่แม่เมาะ จะวนมาเกิดซ้ำที่เวียงแหงอีกหรือเปล่า

* บทความนี้ตีพิมพ์ในจดหมายข่าวสิทธิชุมชนศึกษา ฉบับที่ 4 เดือนเมษายน-กรกฎาคม 2547
ซึ่งเป็นสื่อเผยแพร่ของชุดโครงการวิจัยสิทธิชุมชนศึกษา ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
บัณฑิต เอื้อวัฒนานุกูล
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net