Skip to main content
sharethis

ผลงานจีไอเอส
ที่มา ผศ.สมบัติ อยู่เมือง ภาควิชาธรณีวิทยา จุฬาฯ www.gisthai.org
================================= ประชาไท-21 ม.ค.48 "สิ่งที่เราเห็นไม่ใช่การพยากรณ์ หรือการทำนายแต่มันคือวิทยา ศาสตร์ ทุกอย่างไม่จำเป็นต้องรู้หมดแต่ทำอย่างไรให้รู้ภาพรวมและนำไปใช้งานได้"
ผศ.สมบัติ อยู่เมือง ภาควิชาธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวในงานสัมมนา การประยุกต์ใช้ GIS และข้อมูล Remote Sensing เพื่อการประเมินผลกระทบสภาพทางกายภาพและธรณีวิทยาในพื้นที่ประสบธรณีพิบัติภัย จากการเกิดคลื่นยักษ์ (tsunami) ซึ่งจัดโดยภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

สิ่งที่ทีมงานของพวกเราทำนั้นเริ่มทำตั้งแต่วันที่ 26 ธ.ค.47 คือวันที่เกิดเหตุ และตอนนี้ทางเรามีการประสานงานร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรธรณีวิทยา เราทำข้อมูลในช่วง2-3 สัปดาห์หลังจากเกิดเหตุการณ์ และให้ข้อมูลบางส่วนกับภาครัฐ เพื่อไปบริหารที่ภูเก็ต เราส่งภาพแผนที่เพื่อจะได้เห็นภาพที่เกิดขึ้น

ผมอยากให้มองว่าภูมิศาสตร์ วิทยาศาสตร์ โลกศาสตร์ เป็นเรื่องเดียวกัน เรื่องนี้ไม่มีขอบเขต อย่างภูมิศาสตร์ไม่ใช่แค่แผนที่ แผ่นหนึ่งแล้วมาระบายสี เขียนชื่อแม่น้ำ แต่ภูมิศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์

รู้จัก GIS และ RS?

ผมจะพูดเรื่อง GIS กับ RS คำว่า GIS ย่อมาจาก Geographic Information System หรือ ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ คือกระบวนการทำงานเกี่ยวกับข้อมูลในเชิงพื้นที่ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ที่ใช้กำหนดข้อมูลและสารสนเทศ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับตำแหน่งในเชิงพื้นที่ เป็นระบบข้อมูลข่าวสารที่เก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ แต่สามารถแปลความหมายเชื่อมโยงกับสภาพภูมิศาสตร์อื่นๆ ในรูปข้อมูลเชิงพื้นที่และข้อมูลเชิงบรรยาย ซึ่งสามารถอ้างอิงตำแหน่งที่อยู่จริงบนโลกได้

ส่วน Remote Sensing เรียกย่อๆว่า RS ก็คือ ข้อมูลจากการสำรวจระยะไกล โดยเครื่องมือวัด ไม่มีการสัมผัสกับสิ่งที่ต้องการตรวจวัดโดยตรง การสำรวจโดยใช้วิธีนี้เป็นการเก็บข้อมูลที่ได้ข้อมูลจำนวนมาก ในบริเวณกว้างกว่าการสำรวจภาคสนาม

การนำข้อมูลมาช่วยในด้านการประเมิน เพื่อให้เห็นรูปร่างหน้าตา เห็นจินตนาการได้ชัดเจนขึ้น เพราะหากลองหลับตานึกภาพคลื่นยักษ์ว่าถล่มตรงไหนในภาคใต้ ทุกคนจินตนาการไม่เท่ากัน ความรู้สึกของแต่ละคนมีข้อมูลในสมองไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นความตระหนกตกใจจะไม่เท่ากัน

ยกตัวอย่าง เช่น เพื่อนบ้านที่อยู่ตรงข้ามบ้านผม เขาถามว่าไประยองปลอดภัยไหม จะพาลูกไปเที่ยวทะเล หมายความว่ายังไงครับ หมายความว่า สังคมไม่เข้าใจอะไรเลยว่า ซูนามิ เกิดขึ้นมาอย่างไรและเกี่ยวกับอะไรบ้าง คนนึกไม่ออกว่าจะไปถามอะไรใคร ไม่เข้าใจในเชิงความรู้ การสื่อสารในระบบมีปัญหา การให้ความรู้ในเชิงวิทยาศาสตร์ต่อบ้านเรามันมีปัญหา กลายเป็นว่าหนังสือพิมพ์ ทีวีนำเราไปหมดแล้ว

และไม่ใช่มีเพียงคนเดียวที่ถามเราแบบนี้นะ เพื่อนผมที่เป็นนายพลยังถามว่า แถวๆหัวหิน ประจวบจะโดนหรือเปล่า นี่คือสิ่งที่ตอบอะไรเราบางอย่างในเชิงความรู้ ซูนามิไม่ไกลตัวเราเลย มันใกล้มาก เราต้องเข้าใจว่าจะอยู่กับมันอย่างไรที่มีโอกาสรอดมากว่าคนอื่นหรือช่วยคนอื่นได้

GIS คือฐานวิชาการในข้อเท็จจริง

GIS เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราทำงานได้อย่างเป็นระบบ ให้เราเห็นภาพข้อมูลที่มีการเปรียบเทียบการวิเคราะห์ การสังเคราะห์ การทำทางเลือกในหลายๆแบบ เพื่อให้นำไปสู่การจัดการที่เป็นรูปธรรม ไม่ใช่มานั่งเถียงกันบนโต๊ะแล้วก็ไม่มีอะไรอยู่ในมือเพราะอย่างนั้นไม่เป็นวิทยาศาสตร์

ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นวิทยาศาสตร์ เราควรต้องพูดคุยกันด้วยข้อมูลและหลักฐานทุกอย่าง การประมวลผลโดยเชิงสถิติและโอกาสความเป็นไปได้ อย่าให้ใครนำเราในเชิงโหราศาสตร์ เราต้องมีองค์ความรู้ในแต่ละด้านประกอบ ในเรื่องคลื่นซูนามิที่เกิดขึ้นมีคนทำงานก่อนเราเสมอ เราอ้างอิงกับเขาได้ เราศึกษาทฤษฎี ศึกษาตำราได้

สิ่งที่เราต้องศึกษาต่อเรื่องนี้ เช่น อย่างเรื่องแผ่นดินที่เกิดผลกระทบกับซูนามิจะทำอย่างไร เกิดกับอะไรบ้าง ปัจจัยที่เกี่ยวข้องมีอะไรบ้าง

สิ่งที่สำคัญมากสำหรับการทำ GIS คือเรามีข้อมูล เรามีคนที่มีความสามารถในเชิงเทคนิคและคนที่มีความสามารถในการเลือกวิธีการวิเคราะห์วิจัยที่ดี ที่ต้องอ้างอิงวิชาการ เพราะความสุ่มเสียงหากนำไปใช้ประโยชน์อาจจะเสียหายมากกว่าการไม่ได้ทำอะไรเลยก็ได้

ขั้นตอนในการทำงานสำคัญมากเพราะต้องมีคนที่มีองค์ความรู้ สิ่งแรกที่เราจะพูดถึงคือเชิงพื้นที่ มี การจัดการชายฝั่งเชิงบูรณาการ เรากำลังเล่นกับชายฝั่งทั้งหมด ต้องดูว่าตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง ถ้าเราไม่มีครูใหญ่ ไม่ดูตำราสากลเราไม่สามารถตรัสรู้เป็นพหูสูตรได้ คนที่ทำก่อนเราในอดีตมีมากมาย

องค์ความรู้พื้นฐานที่สำคัญมาก เราต้องเข้าใจก่อน ประเด็นเรื่องความเสี่ยงโอกาสในการเกิด การจัดการทางด้านสากลทำอย่างไร ต้องพยายามทำให้เป็นวิทยาศาสตร์ ส่วนการจัดการความเสี่ยง กิจกรรมหลักๆในการจัดการพิบัติภัย ลดโอกาสในการเกิดความเสียหาย เราสู้กับซูนามิไม่ได้ เราสู้กับแผ่นดินไหวไม่ได้ เราสู้กับน้ำท่วมไม่ได้ แต่เราอยู่กับมันให้มีความเสียหายน้อยที่สุดได้อย่างไร

ผมใช้คำว่า " ลด" หรือ " บรรเทา" เพราะคำว่า " ป้องกัน" ในคำพูดสามารถทำได้ แต่ไม่ใช่ทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นควรจะใช้ลด หรือบรรเทาซึ่งเป็นคำที่ใช้ในสากลส่วนใหญ่น่าจะเหมาะสมกว่า

สิ่งที่เป็นหัวใจก็คือ ตัวกลาง คือฐานขององค์ความรู้ที่ทำให้คุยกันรู้เรื่อง คือข้อมูลเชิงพื้นที่ซึ่งสำคัญมากเพราะหลังจากดูข้อมูลแล้ว จะเป็นเรื่องกระบวนการว่าจริงๆ ควรทำอย่างไรในการจัดการพิบัติภัย

ผมไม่ทราบว่า ติดกระดิ่งรอบอ่าวแล้วพอไหม ติดทุ่นรอบประเทศไทยแล้วนอนอยู่ที่บ้านพอไหม โดยเฉพาะรูปธรรมที่กำลังคิดทำอยู่ในระดับประเทศชาติควรเป็นอย่างไร เราต้องพูดและทำความเข้าใจข้อมูลให้ตรงกันเสียก่อน

GIS ไม่ใช่เทวดา
องค์ความรู้ในเชิงวิชาการ GIS และ Remote จึงเป็น เครื่องมือที่ทำให้เราเดินไปอย่างเป็นระบบ เป็นตัวเป็นตน วัดได้ประมวลผลได้ วิเคราะห์ได้ ติดตามได้ แล้วเอามาสู่การปฏิบัติจริงได้
เช่น ภูมิศาสตร์เชิงระบบ คือการจัดทำแผนที่การประเมินผล การจะลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจะทำอย่างไร การทำทุกอย่างให้เป็นรูปธรรมต้องอาศัยข้อมูลภูมิศาสตร์เชิงระบบ

ผมคิดว่าการทำแผนที่ต้องอาศัยศิลปศาสตร์ วิทยาศาสตร์และศีลธรรม เพราะถ้าผมใช้สีไม่ดีแผนที่ออกมาก็ดูไม่รู้เรื่อง จะเลือกโทนสีอย่างไร จัดภาพให้องค์ประกอบที่สมบูรณ์ คำอธิบายก็ต้องเข้าใจง่าย ต้องใช้วิธีการทางเทคนิคและศิลปะในการทำแผนที่ และในที่สุด แผนที่ที่ได้ก็คือตัวหนังสือที่สามารถจะเก็บข้อสนเทศไว้ทุกอย่าง เพราะถ้าไม่มีแผนที่จะอธิบายได้ยากมาก รูปหนึ่งรูปจะอธิบายได้ดีกว่าใช้คำ 1,000 คำเลย

จากความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการระบบภูมิศาสตร์สู่ระบบคอมพิวเตอร์ หัวใจของ GIS ไม่ใช่แค่แผนที่ที่เป็นโครงเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีคำอธิบายในแผนที่ นั่นคือฐานข้อมูลซึ่งนำมาสู่ GIS วิเคราะห์ สังเคราะห์ จำแนกได้ และมีความหมายมากกว่าแผนที่ธรรมดา

เรากำลังจัดทำระบบการลดความเสี่ยงจากผลกระทบทั้งคลื่นยักษ์และคลื่นไม่ยักษ์ เราให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เก็บข้อมูล ความหมายของข้อมูลกับการศึกษามีความสำคัญมาก ทำอย่างไรให้การศึกษาของเราออกไปเป็นระบบ ข้อมูลที่ให้ต่อสาธารณะควรเป็นข้อมูลวิทยาศาสตร์ที่สามารถทำความเข้าใจได้ สาธารณชนจำเป็นต้องเข้าใจในเชิงวิชาการและธรรมชาติว่ามีความเชื่อมโยงกันอย่างไร

ผมคิดว่าการจัดการปัญหาต้องวิเคราะห์ความเสี่ยงในพื้นที่และประสานเชื่อมโยงกันเพื่อนำไปสู่การประเมิน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ แล้วทุ่มงบประมาณลงไปซ่อมแซม ฟื้นฟู โดยไม่รู้ว่าทำแล้วจะส่งผลอย่างไร จะได้รับผลกระทบอีกไหม พื้นที่ที่เทงบลงไปมี อัตราความเสี่ยงมากแค่ไหน เป็นการฟื้นฟูโดยไม่มีข้อมูลของพื้นที่มาประกอบซึ่งไม่ใช่การฟื้นฟูที่ยั่งยืน

ปัจจุบันผมคิดว่า เรากำลังถูกยกระดับในด้านความเสี่ยงเทียบเท่ากับญี่ปุ่น กับเกาะสุมาตรา ทั้งที่เราไม่มีเสี่ยงขนาดนั้น แต่ไปใช้คำพูดที่ทำให้เราเสี่ยงมากเพื่อจะให้มีงานทำ ผมถือว่าเป็นนักวิชาการที่แย่มาก ใช้วิกฤตเป็นโอกาสในทางที่ไม่ดี เพราะการพูดอะไรต้องมีข้อมูลให้รอบคอบเพื่อหาทางรับมือได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

หากถามนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกว่า ตอนนี้ประเทศไทยควรจะทำอะไร เขาบอกเสียงเดียวกันคือ ต้องรีบเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลกับองค์การที่ดูแล ซึนามิทั่วโลก ว่าหากเกิดเหตุการณ์แล้วจะทำอย่างไร การเชื่อมโยงเครือข่ายจะทำให้ได้ข้อมูลทันต่อสถานการณ์

ผมคิดว่า คนที่เก่งที่สุดในการทำงานไม่ใช่คนที่รู้ทุกเรื่อง แต่ต้องเป็นคนที่รู้ว่าสามารถเลือกใครมาช่วยงานแล้วทำให้งานทุกอย่างเสร็จสิ้นอย่างสมบูรณ์ สร้างเครือข่ายจัดข้อมูลที่ดี ปัญหาของเราคือ ถึงเรามีข้อมูลเราก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ไม่รู้จะวิเคราะห์อย่างไร ไม่รู้จะบริหารอย่างไรและต้องให้องค์ความรู้ต่อสาธารณะในทุกๆระดับ นี่เป็นสิ่งที่จำเป็นในการเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การทำงานในตอนนี้ให้ทันการ นี่เป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนต้องช่วยกันคิดต่อไป

…………………………………………………………………
เอกสารประกอบ ผศ.สมบัติ อยู่เมือง
ประวัติการศึกษา
วิทยาศาสตร์บัณฑิตสาขาธรณีวิทยา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาธรณีวิทยา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปัจจุบัน ศึกษาปริญญาเอก ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ตำแหน่งด้านการบริหาร
รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รองผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กรรมการภูมิศาสตร์สนเทศแห่งชาติ
กรรมการสำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา
กรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์

ศิริรัตน์ อนันต์รัตน์
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net