Skip to main content
sharethis

เชียงใหม่-21 ม.ค.48 นักกฎหมายมช. เสนอรัฐจัดการปัญหาการอยู่อาศัยของชาวเลหลังภัยพิบัติซึนามิ โดยคำนึงถึงวิถีชีวิตและความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก ระบุการใช้กม.ป้องกันภัยฯ เป็นการเลือกปฏิบัติ ทั้งยังสวนกระแสพื้นที่ปลอดภัยที่รัฐประกาศออกไปก่อนหน้านี้

"รัฐควรแก้ปัญหาด้วยวิธีการโคแมนเนจเมนท์ ใช้แนวคิดผังเมืองแบบเมืองน่าอยู่โดยพิจารณาร่วมกันกับทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดการพื้นที่อาศัยที่เหมาะสม โดยคำนึงทั้งในแง่ความปลอดภัย วิถีชีวิตของประชาชน" นายไพสิฐ พาณิชย์กุล อาจารย์ประจำภาควิชานิติศาสตร์ คณะสังคม ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้สัมภาษณ์ "ประชาไท"

ไม่กี่วันก่อนหน้านี้ กองอำนวยการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ออกประกาศโดยอ้างตาม พรบ.ป้องกับภัยฝ่ายพลเรือน พ.ศ. 2522 โดยเฉพาะที่เกาะลันตา มีประกาศห้ามชาวเกาะลันตาที่บ้านเรือนเสียหายจากเหตุการณ์คลื่นซึนามิเข้าไปสร้างบ้านในที่อยู่เดิม โดยทางรัฐจะจัดสร้างบ้านถาวรในที่อาศัยใหม่ ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นายไพสิฐกล่าวว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าว เพื่อมิให้ประชาชนเข้าไปอยู่อาศัยในพื้นที่ที่ พิจารณาจากข้อเท็จจริงแล้วว่า เป็นพื้นที่ที่อันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน แต่กรณีของพื้นที่ที่ประสบภัยจากคลื่นยักษ์ซึนามิปรากฏว่า ช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลประกาศมาโดยตลอดว่า มีความปลอดภัยเพียงพอที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวพักผ่อนได้

"หากจะประกาศห้ามจริง ก็คงต้องประกาศพื้นที่อ่าวไทยทั้ง 2 ฝั่งด้วยเพราะเคยเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติมาเหมือนกัน หรือกรณีที่ อ.ท่าแซะ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นพื้นที่พายุไต้ฝุ่นเคลื่อนผ่าน ทำไมไม่ประกาศ" นักกฎหมายของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งข้อสังเกต

นายไพสิฐกล่าวว่า สำหรับปัญหาเรื่องเอกสารสิทธิ์ หรือประชาชนเข้าไปอยู่อาศัยในที่ดินสาธารณะ ที่ดินป่าสงวนหรือเขตอุทยานแห่งชาตินั้น เป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อน เพราะบางพื้นที่ชาวบ้านตั้งถิ่นฐานมาก่อนประกาศเขต หากจะแก้ปัญหาดังกล่าวคงต้องใช้วิธีการจัดการร่วม(โคแมนเนจเมนท์) โดยยึดหลักการอยู่ร่วมกันอย่างปรกติสุข

เพราะหากรัฐคิดเพียงจะย้ายคนออกจากพื้นที่โดยไม่ได้คำนึงถึงประชาชน โดยเฉพาะปัญหาที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่อพยพโยกย้าย รวมทั้งกรณีที่ชาวบ้านจะต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต อาชีพ ซึ่งสร้างผลกระทบกับชุมชนแน่นอน

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net