Skip to main content
sharethis

กรุงเทพฯ- 22 ม.ค.48 วันนี้ ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก จัดโครงการรณรงค์เรื่อง "แจ๋ว" ตอนดูหนังดูละครย้อนดูตัวจริงเพื่อทำความรู้จักกับ แรงงานเด็กที่ทำงานในงานบ้านจากแง่มุมต่างๆ ช่วงหนึ่งของการอภิปรายมีการนำเสนอ "ภาพตัวแทน" ของแจ๋วจากสื่อต่างๆ ที่สร้างภาพให้แจ๋ว หรือผู้หญิง/ เด็ก ที่ทำงานบ้าน ให้เป็น แจ๋วสายลับ แจ๋วอีโรติค แจ๋วเด๋อด๋า ฯลฯ ซึ่งมีผลต่อทัศนคติของสังคมที่มีต่อแรงงานทำงานในบ้านในแง่ลบ

น.ส.เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็กนักวิจัยโครงการแรงงานเด็ก ภายใต้โครงการเด็ก เยาวชน และครอบครัว มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า แจ๋วที่สื่อนำเสนอมักเป็นแจ๋วหญิง และละเลย "แจ๋วเด็ก" ซึ่งเป็นรูปแบบการใช้แรงงานเด็กที่พบมากที่สุด รองจากแรงงานภาคเกษตรกรรม

สาเหตุที่เด็กเลือกเป็นแจ๋วเพราะการทำงานภาคอุตสาหกรรมนั้นมีข้อกำหนดเรื่องอายุ วุฒิการ ศึกษา ทำให้เด็กจำนวนหนึ่งที่จำเป็นต้องทำงานไม่สามารถเข้าไปทำงานในระบบได้ ประกอบกับแจ๋วเด็กเป็นที่นิยมของนายจ้างเพราะว่านอนสอนง่าย ค่าแรงต่ำ ไม่มีปากเสียงเมื่อเทียบกับแจ๋วผู้ใหญ่ ต้องทำงานในบ้านเรือนทุกอย่างจนแทบไม่มีวันหยุดพักผ่อน "ตื่นก่อน นอนทีหลัง" และพร้อมให้นายเรียกใช้เสมอ

แม้ว่าแจ๋วจะเป็นงานที่หนักสำหรับเด็ก แต่งานเหล่านี้ไม่เคยได้รับคุณค่าจากสังคมและนายจ้าง
ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากการเรียกชื่อแรงงานในบ้านว่า "คนรับใช้" ซึ่งเป็นคำที่แจ๋วไม่ชอบ

"จากการสำรวจของทางมูลนิธิฯ หลายคนยังคิดว่าการที่แจ๋วถูกละเมิดสิทธิหรือถูกกดขี่เป็นกรรมของแจ๋วเอง ซึ่งไม่ทำให้สถานภาพของแจ๋วดีขึ้น แจ๋วควรจะได้รับการยกระดับเป็นแรงงานที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรีและได้รับการคุ้มครองโดยเฉพาะอย่างยิ่งแจ๋วเด็ก ควรได้รับโอกาสในการพัฒนาตนเองเป็นพิเศษ เช่น นายจ้างควรส่งเสริมให้ได้รับการศึกษานอกโรงเรียน ให้มีวันหยุด และค่าจ้างแน่นอน เพื่อเด็กจะได้มีโอกาสเรียน หรือพัฒนาตัวเองตามความถนัดต่อไป ในเมื่อแจ๋วเด็กเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้บ้านคุณดีขึ้นก็น่าจะคิดว่าเขาเป็นเพื่อนคนหนึ่งที่อยู่ในบ้าน" น.ส.เข็มพร สรุป

"การทำร้ายแจ๋วที่รุนแรงมาก นอกจากการทำร้ายร่างกายอย่างที่เป็นข่าว ก็คือการทำร้ายจิตใจและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วยการใช้วาจาจิกหัว ดุด่าอย่างไร้เหตุผล และใช้แจ๋วเป็นที่รองรับอารมณ์ของเจ้านาย แจ๋วเองก็ต้องหวานอมขมกลืน" นางอาภร วงศ์สังข์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อดีตแจ๋วตั้งแต่ พ.ศ. 2504 กล่าว

น.ส.ภาวดี ข้อยุ่น จากมูลนิธิศุภนิมิตร อรัญประเทศ กล่าวว่า เรื่องแรงงานเด็กทำงานในบ้านน่าจะองค์กรต่างๆ น่าจะทำงานอย่างเป็นระบบ โดยใช้วิธีจ้างงานผ่านเครือข่ายแจ๋วในรูปบริษัท มีการอบรม กำหนดวันพักผ่อน กำหนดค่าแรงขั้นต่ำ และจัดหาที่พักให้ เพื่อหลีกเลี่ยงการอาศัยกับนาย จ้างที่บ้าน รวมทั้งกำหนดอายุขั้นต่ำของคนทำงานบ้าน เพื่อป้องกันเด็กไปในตัว

สำหรับนายจ้างเองก็ต้องทำตามระเบียบที่บริษัทกำหนดไว้ เพื่อสิทธิของแจ๋วด้วยขนาดแรงงานต่างด้าวยังมีการขึ้นทะเบียนเพื่อที่รัฐจะได้สามารถควบคุมและให้ความคุ้มครองแรงงานต่างด้าวขั้นพื้น ฐานได้ แต่ระบบแจ๋ว ไม่ว่าแจ๋วเด็กหรือแจ๋วหญิงกลับไม่มีการขึ้นทะเบียนไม่เคยมีใครรู้ตัวเลขที่ชัดและสถานการณ์ข้อเท็จจริงการล่วงละเมิดแรงงานในบ้านเป็นอย่างไร จึงอยากเสนอให้กระทรวง แรงงานได้พิจารณาขึ้นทะเบียนแรงงานเด็กในบ้าน เพื่อให้เขาได้รับการคุ้มครองจากรัฐ เช่นเดียว กับเด็กกลุ่มอื่น

นางอรทัย จุลสุวรรณรักษ์ ผู้จัดการโครงการองค์การพิทักษ์สตรีในประเทศไทย กล่าวว่า นอกจากแจ๋วไทยแล้ว ปัจจุบันยังมี "แจ๋วอินเตอร์" จากลาว และพม่าเข้ามาทำงานเป็นจำนวนมาก เนื่อง จากประเทศไทยมีความเจริญทางเศรษฐกิจมากกว่าการแก้ไขปัญหาในระยะยาว รัฐจะต้องให้ความร่วมมือและช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้าน อย่าให้มีช่อง ว่างทางเศรษฐกิจจนเกิดการไหลเข้าของแรงงาน

แต่ปัจจุบันแจ๋วไทยหายากขึ้นจำเป็นต้องหาแจ๋วต่างด้าวหรือแจ๋วอินเตอร์เข้ามาทดแทน เนื่องจากเด็กไทยได้รับการศึกษาสูงขึ้นและไม่อยากมาทำงานที่ไม่มีศักดิ์ศรี ไม่มีอนาคต จนเป็นอีกประเด็นที่ทำให้เกิดกระบวนการค้ามนุษย์ขึ้น.

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net