อาศัยจังหวะก๊าซปะทะถ่านหิน เสนอพีดีพีทางเลือก

ประชาไท -- 23 ม.ค. 48 "ผมเชื่อว่าฝ่ายก๊าซคงมีแรงไม่เบาในการพิทักษ์ประโยชน์ของเขา แต่การต่อสู้กันระหว่างก๊าซกับถ่านหินเป็นเรื่องดีที่เราสามารถสอดแทรกเป็นทางเลือกขึ้นมาได้ ทำให้เราสามารถสร้างแผนทางเลือกมากกว่าที่จะบอกว่ารัฐเป็นฝ่ายผิดอย่างที่ผ่านมา" เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวอย่างเชื่อมั่นภายหลังเปิดเผยว่าขณะนี้ กำลังเตรียมข้อมูลสำหรับการเสนอแผนพัฒนาพลังงาน (พีดีพี) ฉบับทางเลือกให้กับรัฐบาลชุดใหม่

เดชรัต อธิบายว่า ตนได้ทำการศึกษาเรื่องพีดีพีทางเลือกและในเดือนหน้าจะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับองค์กรต่าง ๆ ที่รวมตัวกันในนามเครือข่ายพลังงานยั่งยืนประเทศไทย และคาดหวังว่าจะได้จัดเวทีชาวบ้านตามพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์พลังงานทางเลือก เพื่อพัฒนาขึ้นเป็นแผนพีดีพีทางเลือกฉบับประชาชน

ทั้งนี้การศึกษาแผนพีดีพีทางเลือกที่ผ่านมา เป็นการศึกษาภายใต้ส่วนแผนงานวิจัยและพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)

"การพยากรณ์ความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงเกินจริงทุกปี" เดชรัต กล่าวถึงสาเหตุของการต้องจัดทำพีดีพีทางเลือก โดยอธิบายเพิ่มเติมว่า แผนพีดีพีล่าสุด เป็นแผนที่ใช้พลังงานก๊าซ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยต้องพึ่งพาพลังงานก๊าซกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ในอนาคตในขณะเดียวกันก็มีการเปิดทางไว้ให้ถ่านหินว่า หากพลังงานก๊าซมีราคาสูงขึ้นก็สามารถเปลี่ยนมาใช้ถ่านหินแทนได้

ทั้งนี้ จากแผนพีดีพีที่ผ่านมา ผลประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจก๊าซมีจำนวนมหาศาล และทำให้เกิดแนวโน้มที่ฝ่ายถ่านหินจะพยายามแบ่งเฉลี่ยผลประโยชน์

"เฉพาะกำไร 150,000 ล้านบาท จึงมีความพยายามที่จะแบ่งปันกำไร เพื่อให้เปลี่ยนไปใช้ถ่านหินกว่า 50 เปอร์เซ็นต์"

เดชรัตอธิบายว่ากำไรของกลุ่มธุรกิจด้านพลังงานนั้นเป็นภาระของผู้บริโภค "ค่าลงทุน+กำไร 20% =ค่าไฟที่เราต้องจ่าย"

สำหรับหลักการในการจัดทำพีดีพีทางเอกนั้น เดชรัต กล่าวว่าประกอบด้วยหลัก 4 ประการคือ

ปรับปรุงการพยากรณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งใช้เป็นฐานในการวางแผนพลังงานของประเทศเสียใหม่ โดยปรับลง เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยไม่เคยถึง 6.5 อย่างที่แผนพีดีพีกล่าวอ้าง ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยเกิบโตสูงที่สุดเพียง 5.6 ถ้าปรับลดการคำนวณความต้องการพลังงานไฟฟ้าจะลดการผลิตไฟฟ้าได้ถึงประมาณ 4000 เมกะวัตต์ทันที

มาตรการประหยัดพลังงานก็เป็นอีกมาตรการหนึ่งซึ่งต้องรวมอยู่ในแผนพีดีพี เพราะจะช่วยลดการใช้ไฟลงได้ ทำให้ลดทอนการลงทุนในการสร้างแหล่งผลิตไฟฟ้าเพิ่ม

พลังงานทางเลือกซึ่งรัฐบาลไม่เคยให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง ก็ต้องบรรจุอยู่ในแผนพีดีพีอย่างชัดเจน ในสัดส่วนที่เหมาะสมด้วย เพราะขณะนี้สังคมไทยมีศักยภาพในการผลิตพลังงานทางเลือกพอสมควร โดย เดชรัตน์กล่าวว่าพลังงานทางเลือกที่มีศักยภาพสูงของไทยได้แก่ พลังงานชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งรัฐบาลควรส่งเสริมอย่างเต็มที่ ในขณะที่พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานน้ำก็อาศัยเทคโนโลยีระดับที่ประเทศ
ไทยสามารถทำได้เลย

หลักประการสุดท้ายคือการปรับปรุงโรงไฟฟ้าเก่าช่วยทดแทนการสร้างใหม่ได้ประมาณ 4,200 เมกกะวัตต์

เดชรัต อธิบายพร้อมกล่าวว่า แผนพีดีพีฉบับทางเลือกเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องยอมรับและอย่าแบ่งแยกพีดีพีทางเลือกออกจากแผนพีดีพีของรัฐเพราะถ่านหินนั้นไม่ใช่ทางเลือกที่แท้จริง

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท