Skip to main content
sharethis

ไม่นานมานี้กลุ่มชาวบ้านจาก อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ได้เข้าร้องเรียนกับคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา เพื่อให้ช่วยตรวจสอบโครงการโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 ของบริษัทกัลฟ์ พาวเวอร์เจนเนอเรชั่น จำกัด ซึ่งกำลังจะสร้างโรงไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิต 1,468 เมกกะวัตต์ ในพื้นที่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี

ปัญหาหลักๆ ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาคือ การชี้แจงของบริษัทฯ เกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมยังไม่ชัดเจนเป็นที่พอใจ ในขณะที่มลภาวะในจังหวัดสระบุรีก็มีมากอยู่แล้วเป็นทุนเดิม ชาวบ้านจึงขอทราบการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA (Environmental Impact Assessment) ซึ่งขณะนั้นยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)

ในวันที่ 20 มกราคม 2548 คณะอนุกรรมาธิการฐานทรัพยากร ภายใต้กมธ.พัฒนาสังคมฯ ได้เชิญเจ้าหน้าที่จากสผ.เข้าชี้แจงข้อมูล ได้แก่ นายชนินทร์ ทองธรรมชาติ ผอ.สำนักวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม นางสาวปิยนันท์ โศภนคณาภรณ์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อม 8 ว. และนายวุทธินันท์ ศิริพงศ์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อม 5

"ประชาไท" ขอนำปากคำของเจ้าหน้าที่สผ. ที่ให้การต่อกมธ.พัฒนาสังคมมาเรียบเรียงนำเสนอต่อสาธารณะโดยแยกเป็น 2 ตอน

ชนินทร์ - ทางสำนักงานได้รับรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม เมื่อมิถุนายน 2547 และได้นำเสนอรายงานนี้ต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) พิจารณาโครงการด้านพลังงาน เป็นครั้งแรกเมื่อสิงหาคม 2547 ซึ่งในตอนนั้นมีประเด็นไม่ชัดเจน 9 ประเด็นหลัก ซึ่งทางคณะกรรมการ ยังมีมติไม่เห็นชอบกับรายงาน แล้วให้ไปทำการแก้ไขเพิ่มเติม

ต่อมาได้รับรายงานชี้แจงเพิ่มเติม แล้วก็นำเสนอต่อคชก.ชุดเดิม เมื่อเดือนตุลาคม 2547 เป็นครั้งที่ 2 ซึ่งก็ยังไม่เห็นชอบและให้กลับไปแก้ไขอีก จนเมื่อเดือนพฤจิกายน 2547 ทางสผ.ก็ได้รับรายงานชี้แจงจากทางบริษัท แล้วนำเสนอต่อคชก. ครั้งที่ 3 นี้ คชก.ก็มีมติเห็นชอบกับรายงาน โดยได้กำหนดมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่โครงการต้องยึดถือปฏิบัติด้วย

อนุกมธ. - สรุปว่าเห็นชอบอีไอเอแล้ว อนุมัติแล้ว ?

ชนินทร์ - เห็นชอบแล้ว ต่อไปก็จะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่อนุญาต หากว่าจะอนุญาตโครงการก็ต้องนำมาตรการที่อยู่ในรายงานไปเป็นเงื่อนไขในใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน แต่ถ้าไม่อนุญาตโครงการก็จบ รายงานจะไม่มีผลอะไร เพราะวัตถุประสงค์ของการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ก็คือ หากว่าหน่วยงานอนุญาตเห็นชอบแล้วต้องมีชุดมาตรการอะไรบ้าง

อนุกมธ. -9 ข้อนั้นมีอะไรบ้าง ในแต่ละครั้งได้แก้เป็นในส่วนไหนบ้าง

ปิยะนันท์ - ครั้งแรกที่ไม่ผ่านมีประเด็นที่ยังไม่ชัดเจนใน 9 ประเด็นหลัก คือ เรื่องเหตุผลในการเลือกใช้เทคโนโลยีในการผลิตไฟฟ้าตามที่เสนอในรายงาน, แหล่งที่มาของข้อมูลการระบายมูลสารทางอากาศ, กรณีใดบ้างที่จะมีการพิจารณาน้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงสำรอง, สภาพการใช้พื้นที่โครงการโดยรอบ, คุณภาพน้ำและข้อมูลในการเลือกจุดสูบน้ำและปล่อยน้ำทิ้ง, การประเมินผลกระทบต่อการใช้น้ำของประชาชนบริเวณท้ายน้ำ, การจัดการกากของเสีย, การประเมินผลกระทบคุณภาพอากาศ กรณีที่ใช้น้ำมันดีเซล, รวมถึงข้อมูลรายชื่อประเภทของอุตสาหกรรมที่ปล่อยมลพิษสู่บรรยากาศในรัศมี 5 กิโลเมตรโดยรอบโครงการ เพื่อนำมาใช้ในการประเมินผลกระทบ

ส่วนข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการพัฒนาโครงการจากเทศบาลตำบลแก่งคอย ข้อวิตกกังวลและข้อเสนอแนะของเครือข่ายอนุรักษ์แม่น้ำป่าสัก เป็นประเด็นที่ทางเจ้าของโครงการและบริษัทที่ปรึกษาได้จัดทำเพิ่มเติมเข้ามา

อย่างไรก็ตาม ครั้งที่ 2 คชก.ก็ยังมีมติไม่เห็นชอบ ให้เพิ่มเติมข้อมูลเข้ามา ในประเด็นย่อยอีกหลายประเด็น จนเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม มีการชี้แจงข้อมูลเข้ามา และคชก.ก็มีมติเห็นชอบในรายงาน

อนุกมธ. - ชาวบ้านได้รับทราบหรือไม่ว่า 9 ข้อนั้นที่ผ่านการพิจารณาของคชก.ไปด้วยเหตุผลอะไร โดยเฉพาะประเด็นปริมาณน้ำที่จะนำมาใช้ผลิตไฟฟ้า เพราะปริมาณน้ำในแม่น้ำป่าสักมีจำกัด อีกประเด็นคือ ชาวบ้านมีความวิตกกังวลเรื่องมลภาวะทางอากาศที่ปัจจุบันมีมากอยู่แล้ว การตรวจสอบของคชก.ได้ลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงจากชาวบ้านบ้างหรือไม่

ชนินทร์ - ทางบริษัทได้ชี้แจงไปในรายงาน ในเรื่องของปริมาณน้ำในแม่น้ำป่าสัก ว่าปริมาณน้ำที่ใช้ในแม่น้ำป่าสักคิดเป็นสัดส่วน 1.5 เปอร์เซ็นต์ แล้วโครงการนี้ได้รับอนุมัติในหลักการจากกรมชลประทานให้ใช้น้ำในแม่น้ำป่าสักได้ 54,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และนอกจากนี้โรงไฟฟ้ายังมีบ่อเตรียมเก็บสำรองไว้อีก 1.3 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถสำรองน้ำไว้ใช้ได้อีก 30 วัน เพราะ
ฉะนั้น เรื่องผลกระทบอยู่ในระดับต่ำแล้ว เพราะมีการสำรองน้ำไว้ตั้งเดือนหนึ่ง

ส่วนในเรื่องของมลพิษ โรงไฟฟ้าแก่งคอยใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิง เป็นพลังงานที่สะอาดที่สุดเท่าที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน

เมื่อเทียบกับถ่านหินและน้ำมัน มลสารที่ออกมาจากโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่จะเป็นน็อกซ์เสียมากกว่า แต่ปัญหาส่วนใหญ่ในสระบุรีมากจากฝุ่นละออง ซึ่งเกิดจากการทำเหมือง อย่างหน้าพระลานก็มีการแก้ไขกันไปแล้ว โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการไป

ส่วนเรื่องของน๊อกซ์ ทางโรงงานได้ใช้เทคโนโลยีที่ลดน็อกซ์ออกมา จากข้อมูลของเทคโนโลยีที่ใช้ก็จะต่ำกว่ามาตรฐาน คือ ไม่เกิดนมาตรฐานที่ควบคุมไว้ตามราชการ เมื่อดำเนินการได้ตามมาตรฐาน ผลกระทบก็อยู่ในระดับต่ำ

อนุกมธ.ฯ - มีหลายประเด็นที่ชาวบ้านเขาร้องเรียน คือหนึ่งประเด็นเรื่องน้ำ ชาวบ้านบอกว่ามีการใช้น้ำต่อวันที่สูงอยู่แล้ว ช่วงหน้าแล้งจะมีน้ำน้อย ในขณะที่โรงไฟฟ้าจะมีกำลังสปีดในช่วงของช่วงแล้งหนักกว่าเดิม น้ำจะพอหรือไม่

นอกจากนี้ไม่แน่ใจว่าบริษัททีมฯ ได้นำชาวบ้านเข้าร่วมกระบวนการศึกษาอีไอเอด้วยหรือไม่ เพราะสิ่งที่ชาวบ้านร้องก็คือเป็นการหลอกให้มีการประชุมแล้วก็เซ็นชื่อไป

ประเด็นที่สาม เป็นเรื่องของการอนุญาตของชลประทานอย่างเดียว อันนั้นคือพ.ร.บ.ชลประทาน 2484 แต่ถ้าดูการบริหารการจัดการน้ำในปัจจุบัน อำนาจทั้งหมดน่าจะไปอยู่ที่คณะกรรมการลุ่มน้ำ ผมไม่แน่ใจว่าได้ขอความเห็นจากคณะกรรมการลุ่มน้ำ โดยเฉพาะลุ่มน้ำป่าสักด้วยหรือไม่

แล้วดูจากรายงานที่ส่งมามิถุนายน ไม่ถึง 6 เดือนยังเห็นผ่าน รีบอย่างนี้ มีเรื่องการเมืองหรือเปล่า โรงโม่ขนาดเล็กบางทีใช้เวลาพิจารณาตั้ง 2 ปี

ชนินทร์ - เรื่องน้ำอย่างที่เรียนว่าสัดส่วนมันเปอร์เซ็นต์กว่าสองเปอร์เซ็นต์แล้วมีปริมาณน้ำสำรองได้อีก 30 วัน ดูแล้วมันน้อยมากเทียบกับทั้งหมด เขาก็สูบจากบ่อเขามาก แต่ถ้าปั๊มโดยตรงอาจจะมีปัญหา

ส่วนเรื่องเวทีสาธารณะต่างๆ คงไม่ทราบว่าใครจะจ้างมาหรือไม่จ้างมา แต่หลักการของการพิจารณารายงาน ถามว่าที่คณะกรรมการต้องการทราบจริงๆ ว่าเมื่อจัดเวทีสาธารณะไปแล้ว อะไรคือสิ่งที่เขาห่วงกังวลต่างๆ เพื่อจะได้นำไปสู่การจัดทำมาตรการป้องกันลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ส่วนใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับโครงการมันเป็นแค่ข้อมูลเสริม และเป็นเรื่องที่หน่วยงานอนุญาตต้องนำไปพิจารณาต่อว่าจะอนุญาตหรือไม่

ส่วนในเรื่องของน้ำอีกอย่างคือ น้ำจากกระบวนการหล่อเย็นต่างๆ อันนี้เขาจะมีการลดอุณหภูมิอยู่ในบ่อพักน้ำก่อนจะระบายลงสู่แม่น้ำป่าสัก ซึ่งก็เป็นประเด็นที่คณะกรรมการเขาถามอยู่ บ่อกักน้ำ 1 วันกว่าก็เพียงพอที่จะลดอุณหภูมิให้ไม่เกินมาตรฐานของแหล่งน้ำผิวดิน

ในเรื่องที่เครือข่ายห่วงกังวลในเรื่องสัญญาถ้าหากแก๊สจะหมด อะไรต่อมิอะไร ทางโครงการได้ทำสัญญาซื้อขายแก๊สจากปตท.ระยะยาว ตลอดอายุเดินเครื่องโรงไฟฟ้า ซึ่งภาระในการจัดหารแก๊สมาป้อนโรงไฟฟ้าก็เป็นภาระของปตท. ซึ่งโครงการได้ออกแบบมาให้ใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิงหลัก และใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงสำรอง

เท่าที่ผ่านมา ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดมันไม่ใช่ปัญหาเรื่องของมาตรการ แต่เป็นปัญหาเรื่องของการไม่ทำตามมาตรการในรายงาน ร้อยทั้งร้อยที่เราพบ คือมีมาตรการให้ไปดำเนินการ ซึ่งก็อยู่ในเงื่อนไขของการให้ใบอนุญาตด้วย แต่ที่เราพบก็คือโครงการจะทำไม่ครบถ้วน สิ่งที่สผ.ทำก็คือต้องแจ้งหน่วยงานอนุญาตว่าไม่ได้ดำเนินการข้อไหน แล้วบอกให้เขาช่วยกำกับดูแล

เพราะสผ.ไม่มีอำนาจอะไรเลย เพียงแต่ว่าความคาดหวังของสังคมเข้าใจว่าสผ.คงจะทำได้มาก
กว่านี้คือไม่เห็นชอบหรือเห็นชอบโครงการ แต่มันทำไม่ได้ เราได้แค่รายงาน เป็นแค่ตัวกระดาษคือ ในอดีตที่รายงานเห็นชอบไปแล้วแต่หน่วยงานที่อนุญาตไม่อนุญาตก็เยอะ เช่น ด้านเหมืองแร่

ส่วนเรื่องกรรมการลุ่มน้ำ เราไม่ได้สอบถาม เพราะก็เพิ่งแต่งตั้งด้วย ส่วนของการขอเราจะดูเรื่องเอกสารต่างๆ มากกว่า ซึ่งกรมชลประทานเขาอนุมัติในส่วนนี้แล้ว

โดยโครงการชลประทานสระบุรีได้เสนอเรื่องการขออนุมัติในหลักการต่อสำนักชลประทานที่ 10 แล้ว เห็นชอบในหลักการเบื้องต้น หากในช่วงใดปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์อยู่ในเกณฑ์ต่ำ ระบายลงสู่แม่น้ำป่าสักในปริมาณน้อย และไม่เพียงพอต่อการใช้น้ำด้านท้ายเขื่อน บริษัทต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำของสำนักชลประทานที่ 10 เพื่อมุ่งเน้นประโยชน์เพื่อการเกษตรเป็นหลัก เพราะฉะนั้น อำนาจอยู่ในมือชลประทานอยู่แล้ว

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net