Skip to main content
sharethis

ประชาไท 27 ,ม.ค.48 นายเกรียงไกร โฆวัฒนา รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า จากการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยความร่วมมือในภูมิภาค ที่ จ.ภูเก็ต เกี่ยวกับการจัดการเพื่อเตือนภัยล่วงหน้าในกรณีคลื่นยักษ์นั้น แต่ละประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติครั้งนี้ ต่างเสนอให้ประเทศตนเป็นศูนย์กลางเตือนภัยแข่งกับประเทศไทย โดยแต่ละประเทศต่างยื่นข้อเสนอและเครื่องมือที่ใช้เตือนภัยเพื่อแสดงถึงความพร้อมของตน

นายเกรียงไกรกล่าวต่อว่า ตัวแทนที่เข้าร่วมประชุมมาจากกลุ่มประเทศประสบภัยพิบัติในเอเชียใต้ โดยมีเจ้าหน้าที่จากประเทศต่างๆ เข้าร่วมถึง 44 ประเทศ เช่น อินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ประเทศจากสหภาพยุโรป แอฟริกา และสหรัฐอเมริกา รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศ ทั้งสหประชาชาติ ยูเนสโก องค์กรไอทีไอซีหรือศูนย์แจ้งข้อมูลสึนามินานาชาติ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่เข้าประชุมกว่า 50 คน และได้มีการลงปฏิญญาร่วมรับรองการประชุมอีกด้วย

นายเกียงไกรกล่าวอีกว่า การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกลั่นกรองข้อเสนอของแต่ละประเทศถึงแนวทางการจัดตั้งศูนย์ระบบเตือนภัยล่วงหน้าจากคลื่นสึนามิ และพิจารณาข้อเสนอของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติครั้งนี้ซึ่งต้องการจัดตั้งศูนย์เตือนภัยนานาชาติในประเทศนั้น ๆ เอง

นายเกรียงไกร กล่าวว่าหากได้ข้อสรุปร่วมกันในระดับนานาชาติ ประเทศไทยจะจัดตั้งศูนย์เตือนภัยให้ดี และครอบคลุมมากขึ้นในระดับภูมิภาค แต่ถ้าไม่ได้ข้อสรุปประเทศไทยจะตั้งศูนย์เตือนภัยเองในระดับชาติแทน เพื่อให้คนไทยและต่างชาติ มีความมั่นใจในระบบความปลอดภัย

นายเกรียงไกรกลายในตอนท้ายว่าหลังจากการประชุมทางคณะสมาชิกประเทศอาเซียนยังได้ลงพื้นที่จังหวัดพังงา เพื่อสำรวจบริเวณเขาหลักซึ่งเป็นพื้นที่ประสบภัยอีกด้วย

ศิริรัตน์ อนันต์รัตน์
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net