Skip to main content
sharethis

ในการชี้แจงของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ว่าด้วยการอนุมัติรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 จังหวัดสระบุรี ต่อคณะอนุกรรมาธิการฐานทรัพยากร วันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมานั้น นอกจากจะมีการนำเสนอเรื่องรายละเอียดของการพิจารณาโครงการแล้ว ยังมีข้อซักถามมากมายที่นำไปสู่การสะท้อนปัญหาของการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้งระบบของประเทศไทย

ไม่ว่าเรื่องการประเมินผลกระทบที่ไม่ครอบคลุมมิติทางด้านสุขภาพและสังคม การขาดการประเมินในเชิงกลยุทธ์ที่จะจัดการวางแผนการใช้พื้นที่ทั้งหมด การแยกส่วนงานของหน่วยงานราชการ ระบบการติดตามตรวจสอบที่ยังไม่รัดกุม และที่สำคัญมากอีกประเด็นหนึ่งคือ การมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกในเกือบทุกโครงการ โดยคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้นำเสนอทางออกที่น่าสนใจไว้หลายประการ

ต่อจากตอนที่แล้ว

อนุกมธ. - เนื่องจากว่าพื้นที่แก่งคอย จ.สระบุรี มีโรงงานอุตสาหกรรมเยอะ มีมลภาวะอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ได้นำมลภาวะเดิมๆ เข้ามาในการประเมินผลกระทบด้วยหรือไม่

ชนินทร์ - เรื่องการประเมินก็ต้องเทียบจากระดับพื้นฐานที่มีอยู่ แล้วเทียบขึ้นไป แต่ถ้าอยู่ในจุดห่างไกลออกไปเขาคงไม่ได้นำมาใช้ในการประเมิน เพราะอันนี้เป็นการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมรายโครงการ มันไม่ใช่การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงกลยุทธ์ คือในระดับพื้นที่ทั้งหมด เขาเรียก SEA (strategy Environmental Assessment) ซึ่งเราเพิ่งเริ่มในเชียงราย ว่าอะไรควรจะตั้งอยู่ตรงไหน เพื่อให้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบาย

แต่นี่มันรายโครงการ ซึ่งล็อคพื้นที่ไปแล้วว่าต้องตั้งตรงนี้ ถ้าตั้งตรงนี้มาตรการในการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมมีอะไรบ้าง โจทย์มันเป็นอย่างนี้

อนุกมธ. - เท่าที่มีประสบการณ์จากที่อื่นๆ เขาจะมีข้อถกเถียงของชาวบ้านอยู่เยอะว่ามีจะมีผลกระทบอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ทางบริษัทก็จะบอกว่าไม่เกินค่ามาตรฐาน แต่มันก็คุยกันบนฐานรายโครงการ โดยไม่รวมของเดิมเข้ามา อันนี้เป็นเหตุผลหนึ่งด้วยหรือเปล่า ที่ทำให้เวลาดำเนินการไปแล้วเกิดผลกระทบ ส่วนหนึ่งอาจเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรการที่มีอยู่ แต่อีกส่วนหนึ่งอาจเพราะกรอบการทำงานในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมไม่ครอบคลุม และสุดท้าย ถ้ามันมีประเด็นสำคัญๆ ขึ้นมาใหม่ ซึ่งยังไม่ได้ถกเถียงในผู้เชี่ยวชาญอย่างเพียงพอ หรือมีข้อมูลใหม่ กระบวนการนี้มันสิ้นสุดแล้วหรือยัง หรือสามารถนำกลับเข้ามาพิจารณาใหม่ได้

ชนินทร์ - ถ้ามีข้อเท็จจริงอะไรที่มันปรากฏขึ้นมาแล้วพบว่ามีนัยสำคัญที่จะกระทบต่อการเห็นชอบรายงาน ทางคชก.สามารถที่จะให้เพิกถอนเป็นบางส่วนหรือเพิกถอนทั้งหมด แล้วแต่กรณี แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นกับข้อมูลที่มาใหม่แล้วเป็นนัยสำคัญ มันทำได้แต่ต้องชัดเจนมาก

อนุกมธ. - นอกจากเรื่องน้ำแล้วยังมีเรื่องอากาศ เพราะว่ามันมีปัญหาเรื่องโรคทางเดินหาย ใจเยอะ ซึ่งข้อมูลที่มีอยู่เช่นรายงานของผู้ป่วย ร.พ.แก่งคอยเมื่อปี 45 ก็พบว่า โรคระบบทาง เดินหายใจก็เยอะมาก ไม่ทราบว่าผู้เชี่ยวชาญได้เคลียร์ปัญหาตรงนี้จบหรือยัง

ชนินทร์ - ข้อมูลสุขภาพนี่ต้องระบุให้ชัดเจนว่าผู้ป่วยป่วยเป็นอะไร มีสาเหตุมาจากไหน เราก็เคยทำการศึกษาในแถบสระบุรีเหมือนกันว่าการป่วยไข้ต่างๆ ที่เกิด บางทีก็พบว่ามันไม่ใช่อย่างที่คาดกัน มันเป็นสาเหตุอื่น แต่ข้อมูลทางด้านผลกระทบด้านสุขภาพ ก็เป็นข้อมูลที่สำคัญ แต่ต้องระบุให้ได้ว่าเกิดจากมลพิษ หรือสาเหตุอื่นใด ถ้าไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนการตัดสินจะลำบาก ลักษณะโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่รอบโรงไฟฟ้า 4-5 กม. ก็คนละแบบกับโรงไฟฟ้า ลักษณะมลพิษก็แตกต่างกันไป

คือ ถ้าดูธรรมชาติของโรงไฟฟ้า ปัญหาก็คือน็อกซ์ มากกว่า มันอาจจะเกิดเรื่องของฝนกรดขึ้นมาได้ แต่เขาก็มีเทคโนโลยีที่จะลดน็อกซ์ให้ได้ตามมาตรฐานอยู่แล้ว ส่วนผลการตรวจวัดต่างๆ ปัจจุบันก็ยังมีค่าต่ำกว่ามาตรฐานอยู่ ทั้งหมดในบริเวณพื้นที่ศึกษา

อนุกมธ. - อีไอเอเสร็จแล้ว ขอเลยได้ไหม

ชนินทร์ - เพิ่งได้รับมาเมื่อไม่กี่วันนี้เหมือนกัน สำหรับฉบับสมบูรณ์ที่เขาทำรูปเล่มสวยงาม ขอตรวจสอบข้อมูลก่อนว่าที่เขาส่งมามันถูกต้องหรือไม่ เมื่อตรวจสอบเสร็จเอกสารนี้เราก็ต้องเก็บเอาไว้เผยแพร่อยู่แล้ว

อนุกมธ. - ถ้าในหน้าแล้งต้นทุนน้ำต่ำอยู่แล้ว ในเขื่อน และหากปล่อยน้ำไม่ได้ตามปริมาตร 1.8 ล้านคิว และปริมาณน้ำไม่เพียงพอ คำถามก็คือเกษตรกรจะทำอย่างไร และถ้าชลประ ทานทำตามที่บอกไว้คือให้ความสำคัญกับภาคเกษตรก่อนจริงๆ นั่นหมายความว่า โรงไฟฟ้านี้จะต้องปิดการดำเนินการในหน้าแล้ง ใช่หรือไม่

ประเด็นที่สอง ที่ชาวบ้านร้องเรียนมาเมื่อคราวที่แล้ว ก็คือ ผลกระทบรวม ที่ ณ เวลานี้มันแย่อยู่แล้ว ในความหมายที่แปลจากชาวบ้าน ในขณะเดียวกันเราบอกว่าเราประเมินในรายโครงการ สิ่งที่หน่วยงานวัดคือวัดที่ปล่อง วัดต่อหน่วยของอากาศที่ออกมา คำถามคือ ในรายงานของทีมมีการประเมินไหมว่าปริมาณทั้งหมดของน็อกซ์ที่ออกมาทั้งวันหรือตลอดเดือน ซึ่งหรือไม่ว่าเป็นเท่าไรจริงๆ

ชนินทร์ - การใช้น้ำกรมชลประทานก็ทำหนังสือมาแล้ว เป็นหน้าที่ของชลประทาน เพราะมันมีผลกระทบจริงๆ มันก็ต้องจัดลำดับตามหลักการ ซึ่งในกรณีนี้โรงไฟฟ้าก็ต้องมีมาตรการอาจจะต้องลดกำลังการผลิตลงหรืออะไรก็แล้วแต่ ส่วนเรื่องของมลพิษตามมาตรฐานของทางราชการต้องยึดว่ามันเป็นตัวเลข เป็นสิ่งที่เรามีอยู่ ถ้าไม่เกินค่ามาตรฐาน ก็แสดงว่าผลกระทบที่จะเกิดกับสุขภาพอนามัยมันก็คงอยู่ในระดับต่ำ

เรื่องของความรู้สึกมันก็ต้องเทียบกับสิ่งที่มันเป็นตัวเลขที่ตรวจวัดได้ด้วย และเรื่องผลกระทบรวมคงต้องดูหลายโครงการรวมกันว่าผลกระทบเรื่องฝุ่นมาจากไหนอย่างไร คงต้องแก้ไปทีละอัน จะให้โครงการนี้มารับภาระของทั้งหมดก็ไม่ยุติธรรม

อย่างไรก็ตาม ในรายงานบอกว่ากรณีซัลเฟอร์ไดออกไซด์ระบาย 3.72 กรัมต่อวินาที ไนโตรเจนไดออกไซด์ 24.63 มีอัตราการระบายมลสารหมด

อนุกมธ.- ถ้ามองภาพรวมของจังหวัดสระบุรี มันมีผลกระทบมานานแล้ว โดยเฉพาะด้านอากาศที่มีผลกระทบต่อชุมชนที่อยู่ในละแวกนั้น

ถ้าเราขับรถผ่านไป 30-40 ปีที่ผ่านมาจะเห็นชัดเจนในความแตกต่าง จึงเป็นห่วงความรูสึกของชาวบ้าน เหมือนกับว่าเอาแต่สิ่งไม่ดีมาลงไว้ตรงนั้น มันหมายถึงสุขภาพจิตด้วย ความหวาดผวาตื่นกลัว ซึ่งอันนี้มันคิดเป็นตัวเลขทางวิชาการไม่ได้ ไม่อยู่ในหลักการของการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม

อีกประเด็นหนึ่ง โรงไฟฟ้านี้รู้สึกหนีไปจากประจวบคีรีขันธ์ ถ้ามันเป็นอย่างนี้ชาวบ้านจะตื่นกลัวใหญ่ ตรงนั้นเขาไม่รับแล้วจะเอามาไว้ตรงนี้ แต่ถ้าไม่ใช่ก็ไม่เป็นไร ประเด็นนี้ผ่านไป

ปิยนันท์ - ขออนุญาตให้ข้อมูลนิดหนึ่งว่า โครงการโรงไฟฟ้าที่บ่อนอกเป็นของบริษัทกัลฟ์ พาวเวอร์เจนเนอเรชั่น แต่ว่าใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งมีปัญหามลพิษในเรื่องซัลเฟอร์ไดออกไซด์เป็นสำคัญ ขณะที่โครงการนี้ใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิง แต่พอดีเป็นชื่อเจ้าของเดียวกัน อาจจะทำให้ชุมชนเข้าใจผิดว่าย้ายมาจากตรงนั้น แต่ความจริงที่บ่อนอกเขาชะลอโครงการไป

อนุกมธ. -ตอนนี้มีข้อที่ชมรมอนุรักษ์แก่งคอยสงสัยมาอีกในเรื่องที่ตั้ง ที่บอกว่าใกล้ตลาดและชุมชนมากเกินไป คือประมาณ 2 กม.เศษ อันนี้จริงหรือเปล่า และจริงๆ ต้องห่างถึง 5 กม. หรือไม่

ชนินทร์ - หลักเกณฑ์ในเรื่องที่ตั้งโครงการต่างๆ ไม่มีหลักเกณฑ์เซ็ทเป็นมาตรฐานตายตัวว่าต้องเท่าไรอย่างไร แต่ในเรื่องของการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ส่วนใหญ่ใช้ในรัศมี 5 กม.จากที่ตั้งโครงการ เพื่อจะดูขอบเขตในเชิงผลกระทบ แต่ไม่ได้หมายความว่าห้ามตั้งห่าง 2 กม. หรือ 5 กม.

อนุกมธ. - ขออนุญาตถาม 3 เรื่อง 1.เกี่ยวกับผลกระทบทางสุขภาพ ที่ทางผอ.บอกว่า สำคัญก็คือข้อมูลที่แท้จริง เช่น เรื่องคนป่วย ป่วยเพราะอะไร ตรงนี้คำตอบเองก็ยังไม่ชัด เนื่องจากไม่เห็นรายงานอีไอเอ เลยไม่ทราบว่าในตัวรายงานได้พูดถึงไหม มีการศึกษาหรือไม่ว่าปัจจุบันประชาชนบริเวณนั้นมีปัญหาสุขภาพจะสาเหตุอะไร เท่าไร เพราะถ้าบอกประชาชนห่วงใยไปเอง ในแง่ของคนทำการศึกษาซึ่งมีงบประมาณในการทำการศึกษา เขาศึกษาตรงนี้ไหม

เกี่ยวเนื่องกันก็คือว่า เวลาพูดถึงผลกระทบด้านสุขภาพ ดูเหมือนผู้ทำการประเมินผลกระทบจะใช้มาตรฐานเป็นตัวอ้างอิง ซึ่งจริงๆ แล้ว ตัวมาตรฐานเองก็เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการป้องกันผลกระทบด้านสุขภาพ เราตั้งสมมติฐานว่า ถ้ามลพิษออกมาไม่เกิดมาตรฐานที่ทางการไทยกำหนดก็จะไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพ อันนี้เป็นสมมติฐาน ในความเป็นจริงเราทราบไหมว่ามันมีหรือไม่มี

ความเป็นไปได้อันหนึ่งที่น่าจะทำ คือ ในมาตรการที่เสนอเข้าไปว่าต้องทำอะไรบ้างเมื่อเราเห็นชอบกับEIA มาตรการที่น่าจะมีด้วยก็คือดูแลเรื่องสุขภาพประชาชน แทนที่จะดูแค่ต้นทางว่าเกินมาตรฐานหรือเปล่า เพราะมันอยู่บนฐานของสมมติฐานอันใหญ่ๆ ว่าถ้าอยู่ในมาตรฐานแล้วจะไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ต้องดูปลายทางด้วย

ประเด็นที่สอง คือ การมีส่วนร่วมของประชาชน จริงๆ แล้วในอีไอเอก็ควรมีกระบวนการมีส่วนร่วมด้วย ในรายงานซึ่งเราไม่เห็น มีการบันทึกความเห็นประชาชนในการประชุมประชาชนไหม

ประเด็นที่สาม เรื่องขั้นตอน ตอนนี้สผ.เห็นชอบไปแล้ว ไม่ทราบว่าหน่วยงานอนุญาตได้อนุมัติไปหรือยัง และอนุกรรมาธิการชุดนี้เอง ควรเรียนเชิญหน่วยงานอนุญาตมาพูดคุยด้วยไหม เพราะหน้าที่เขาตัดตอนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนที่เขาจะอนุมัติ

ชนินทร์ - ในมาตรการมันจะมีแผนปฏิบัติด้านสาธารณสุขและอาชีวอนามัย คือต้องทราบว่าโครงการนี้ยังไม่ได้เกิด ยังไม่ได้ขอสร้างเลย มาตรการต่างๆ ที่เขาต้องไปทำมีการวางไว้หมดแล้วทั้งในระยะก่อนและระหว่างดำเนินการ

ในส่วนของแผนปฏิบัติการด้านสาธารณสุขและอาชีวอนามัย ในเรื่องของการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม สถิติอุบัติเหตุ ความเจ็บป่วย สุขภาพอนามัยของชุมชนใกล้เคียง สถานีตรวจวัดและพื้นที่โครงการและชุมชนใกล้เคียง เราบอกวิธีการตรวจวัดไว้ให้หมด

แผนปฏิบัติการด้านสังคมก็มี ในเรื่องการจะต้องมีการเสริมสร้างความเข้าใจต่อชุมชน โดยให้มีหน่วยประชาสัมพันธ์ต่างๆ ลดความวิตกกังวลในการพัฒนาโครงการ และเปิดเผยข้อมูลข่าวสารกับชุมชนอยู่เสมอ

ปัญหาเรื้อรังว่าด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน

อนุกมธ. - ขอถาม 2 ประเด็น ประเด็นแรก คนร้องเรียนมาเป็นถึงนายกเทศมนตรี จึงสงสัยว่าองค์กรท้องถิ่นระดับเทศบาลและอบต.ได้ร่วมขนาดไหน มีการบันทึกอะไรของเขาบ้างหรือไม่ ประเด็นที่สอง พื้นที่ตั้งของโครงการเป็นทรัพย์สินสาธารณะหรือไม่ ถ้าเป็นอย่างนั้นมันจะเป็นที่ราคาถูก มันนำไปสู่ความขัดแย้งอะไรหรือไม่ อีไอเอมีการแจ้งเรื่องเหล่านี้หรือไม่

ปิยนันท์ - พื้นที่ตั้งโครงการเป็นพื้นที่ที่เจ้าของโครงการได้ซื้อมา ไม่ได้เป็นพื้นที่สาธารณะ

อนุกมธ. - เมื่อสักครู่ยังไม่ได้ตอบ ไม่ทราบว่าในรายงานมีการบันทึกความคิดเห็นประชาชนหรือไม่

ปิยนันท์ - ในรายงานมีเอกสารแสดงการลงทะเบียนของประชาคมหมู่บ้านแต่ละพื้นที่ในแต่ละช่วงว่ามีผู้เข้าร่วมทั้งหมดเท่าไรในการจัดแต่ละครั้ง ในรายงานมีแต่รายนามผู้ที่มีส่วนร่วมในการประชุมชี้แจงโครงการ แล้วก็เป็นลิสต์ผู้เข้าร่วมประชุมในแต่ละครั้ง ซึ่งจัดด้วยกันหลายครั้ง

อนุกมธ. - ได้บอกไหมว่าผู้เข้าร่วมประชุมมีอาชีพอะไร เป็นกลุ่มไหน อย่างไร

ปิยนันท์ - มีชื่อ อาชีพ หน่วยงาน ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์

อนุกมธ. - แต่ไม่มีความเห็นของเขา มีแต่รายชื่อคน แต่ไม่มีความเห็นของเขา อันนี้เป็นประเด็นสำคัญ เพราะการบันทึกมีเป้าประสงค์เพื่อความโปร่งใส ให้เจ้าตัวทราบว่า เขาพูดอย่างนั้น ใช่หรือไม่ใช่ มันจะได้มีหลักฐานในการโต้แย้งในภายหลังได้หากไม่ใช่ จึงขออนุญาตฝากเพื่อหารือกับทางสผ.ด้วยว่า ในการทำอีไอเอ เป็นไปได้ไหมที่สผ.เองจะมีกติกาว่าไม่ดูเฉพาะรายชื่อ แต่จะดูบันทึกด้วย อย่างน้อยมันเป็นขั้นตอนหนึ่งในการตรวจสอบความโปร่งใส และทำให้คุณภาพของอีไอเอชัดเจนยิ่งขึ้น

ปิยนันท์ - ในการทำอีไอเอ ของบริษัทที่ปรึกษาและเจ้าของโครงการ เขาก็จะมีการสอบถามความคิดเห็น ทัศนคติ หรือความวิตกกังวลของชุมชนในพื้นที่ ซึ่งก็มีการสรุปว่าเขาวิตกกังวลเรื่องอะไร จะเป็นเรื่องมลภาวะทางอากาศ เสียง ฝุ่น และน้ำทิ้ง ซึ่งก็มีการนำมาประเมินผลกระทบ และนำมาพิจารณาเสนอมาตรการลดผลกระทบในส่วนที่เกี่ยวข้องด้วยแล้ว

แต่ที่แนบรายชื่ออันนี้เพื่อให้เห็นว่ามีผู้เข้าร่วมประชุม มีการจัดรับฟังความคิดเห็นของชุมชนในพื้นที่อยู่หลายครั้ง รวมทั้งที่จัดครั้งใหญ่ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 2,000 คน อันนั้นเราก็มีการลงไปสังเกตการณ์ด้วย ซึงก็มีคำถามจากชมรมเครือข่ายพวกนี้ในประเด็นที่อยู่ในรายงานนี้ด้วยแล้ว

อนุกมธ. - เรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน เท่าที่อ่านของต่างประเทศ ที่เจริญกว่าเรา รายงานที่นำเสนอเขาจะมีการเผยแพร่ให้ประชาชนในพื้นที่ได้อ่าน ไม่ใช่เฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเท่านั้น เช่น เขาเอาไปไว้ที่ห้องสมุด หรือประกาศทางเว็บไซต์ ทางหนังสือพิมพ์ และสามารถติดต่อไปได้ เป็นการเปิดกว้างให้สาธารณชนได้รับทราบโครงการอย่างทั่วถึง

ชนินทร์ - ตัวรายงานก็เพิ่งได้มา แล้วจะดำเนินการให้ ขอตรวจสอบความครบถ้วนก่อน ประเด็นข้อมูลสุขภาพ ก็มีอยู่ในรายงาน ข้อมูลของรพ.แก่งคอยก็มี และมีการวิเคราะห์ตรงนี้ออกมา ส่วนในเรื่องขั้นตอนรายงานในพ.ร.บ.เรื่องของอีไอเอ ไม่ได้ระบุลงไปว่าต้องนำรายงานไปรับฟังความคิดเห็น

ตอนนี้ทางสผ.อยู่ในระหว่างการพิจารณาอยู่ เผอิญมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีอันใหม่ ที่จะมาแทนประชาพิจารณ์ ซึ่งเข้าใจว่าผ่านครม.แล้ว ในนั้นถ้าจำไม่ผิดได้ระบุวิธีการรับฟังความคิดเห็นไว้ 12 วิธี

ในนั้นบอกว่า โครงการที่มีผลกระทบประชาชนต้องมีการรับฟังความคิดเห็น แล้วทำเอกสารสรุปแปะไว้ตามสถานที่ราชการ หากใครไม่เห็นด้วยให้คัดค้านภายใน 15 วัน และถ้าใครคัดค้านก็ต้องรับฟังความคิดเห็นอย่างเป็นทางการ ใครเป็นประธานบอกไว้หมด มีขั้นตอนไว้หมด โดยผู้ร้องเรียนต้องเป็นกรรมการในนั้นด้วย อันนี้เป็นร่าง ฯ ไม่แน่ใจว่าอาจอยู่ที่กฤษฎีกาหรือเปล่า เพราะไม่ได้ตาม

อนุกมธ. - ผ่านขั้นตอนนี้แล้วจะไปสู่ขั้นตอนไหน

ชนินทร์ - กรมโรงงานอุตสาหกรรม ต้องออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานสำหรับโรงไฟฟ้า และกรมธุรกิจพลังงานที่จะดูเรื่องของสัมปทานไฟฟ้า กระทรวงพลังงาน

อนุกมธ. -หากจะเสนอในเชิงนโยบายว่าถ้าอย่างนั้นเราจะต้องมีกระบวนการในการป้องกันไม่ให้ผลกระทบต่อสุขภาพของคนเพิ่มมากขึ้นจากโครงการนี้ต้องทำอย่างไร

ชนินทร์ - ข้อเสนอเชิงนโยบายที่เหมาะสม พูดตรงๆ เลย กระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องกำหนดเลยว่าพื้นที่ไหนควรเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมใจแต่ละโซนของจังหวัดต่างๆ ชุมชนอยู่ตรงไหน ต้องกำหนดในลักษณะนั้น เพราะอีไอเอมันเป็นเชิงโครงการแล้ว

ที่ผ่านมาเราอยู่ตรงปลายเหตุ คือเขาจะเอาตรงนี้แล้วจะมีผลกระทบอะไร ถ้ากระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายว่าต่อไปโรงงานห้ามตั้งเดี่ยว ให้ไปรวมอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมดทุกขนาด ทุกประเภท หรืออยู่ในเขตประกอบการอุตสาหกรรมตามมาตรา 30 ของพ.ร.บ.โรงงาน ถ้าอยู่ในนี้ใบอนุญาตประกอบการก็ไม่ต้องมีด้วย เพราะถือเป็นโซนอุตสาหกรรม อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัวไม่ใช่ของสำนักงาน

อนุกมธ. - อันนี้คงไม่ใช่ปัญหาของสผ.อย่างเดียว แต่เป็นปัญหาทั้งระบบ เรามักจะพิจารณาอะไรต่างๆ บนความไม่รู้เสียเยอะ เช่น เราตอบได้ไหมว่ามลภาวะในอากาศที่ไม่เกี่ยวกับโรงงานนี้มีซัลเฟอร์ไดออกไซด์เท่าไร มีน็อกซ์เท่าไร มีฝุ่นเท่าไร และปริมาณนั้นสัมพันธ์อย่างไรกับผู้ป่วย 30,000 รายต่อปี

ชนินทร์ - ตรงนี้ถ้าลิงค์กันได้ มันจะไปได้อีกไกล ว่าโรคทางเดินหายใจมันมาจากอะไร มันมีหลายอย่างที่เราตอบไม่ได้

อนุกกมธ.ฯ - เนื่องจากมันมีความไม่ชัดเจน ความไม่รู้เต็มไปหมด ดังนั้น การที่เราพิจารณาโครงการเพิ่มลงไปบนความไม่รู้ นึกถึงในความคิดของชาวบ้าน มันทำให้ความเสี่ยงต่างๆ เพิ่มขึ้น ทีนี้ปัญหาเนื่องจากราชการก็ระบุไม่ได้ ผลักภาระให้ชาวบ้านชาวบ้านก็ยิ่งทำไม่ได้ใหญ่เลย ในขั้นต่อไปทางสผ.เองก็ต้องหาทางร่วมมือกับสธ. ที่จะทำข้อมูลทั้งระบบในแต่ละพื้นที่ ทำให้เรามีข้อมูลที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ไม่เช่นนั้นเราจะพิจารณาบนความไม่รู้ ทำให้ปัญหามันเกิด และเราก็มีส่วนในการให้เกิดปัญหา

ชนินทร์ - ขอบคุณมาก แต่ขอบอกหลักการของอีไอเอก่อนว่ามันเกิดขึ้นบนพื้นฐานของมาตรการป้องกัน ถ้าเรายังเคลือบแคลงสงสัยอยู่ต้องมีมาตรการป้องกัน ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องวางมาตรการป้องกันต่างๆ ไว้เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่ถ้าเรารู้ละเอียดแล้ว มาตรการป้องกันต่างๆ ก็คงต้องหายไป

นี่คือการคาดการณ์เพราะโครงการยังไม่ได้ตั้ง จึงต้องใส่มาตรการเยอะแยะไปหมด บางทีก็เป็นภาระของเจ้าของโครงการด้วย และทำให้ต้นทุนสูงขึ้น

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net