Skip to main content
sharethis

กรุงเทพฯ-31 ม.ค.48 กก.สันติวิธี เสนอตั้งสภาสมานฉันท์ เปิดโอกาสทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้

"เราต้องเยียวยาสิ่งที่ผิดพลาด ซึ่งจากประสบการณ์คือ ต้องใจกว้างและใจถึง ต้องทำในระดับสภาสมานฉันท์ โดยรวมทุกส่วนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาปรึกษาหารือ " นายพิชัย รัตนพล ประธานกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธี สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ระบุ

ในการเสวนา "ไฟใต้ ปัญหาและทางออก" ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันนี้ (31ม.ค.) ผู้เข้าร่วมเสวนาส่วนใหญ่ซึ่งเป็นนักวิชาการและผู้สนใจสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เห็นร่วมกันว่า ปัญหาความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกำลังขยายวง ไม่เฉพาะพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้
โดยเฉพาะทุกครั้งที่ใช้ความรุนแรงไม่ว่าทั้งจากฝ่ายรัฐหรือฝ่ายตรงข้าม ยิ่งเพิ่มอคติและความเกลียดชังมากยิ่งขึ้น

"สิ่งที่น่ากลัวคือ ความระแวงไม่ได้เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัด ทำให้เกิดความกลัวเนื่องจากความไม่รู้
ไม่รู้ซึ่งกันและกัน" นายสุกรี หวังปูต๊ะ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ วิทยาลัยอิสลามยะลา วิทยาเขตปัตตานี กล่าวเสริม

นายพิชัย ยังเห็นว่า หากจะแก้ปัญหาต้องเปลี่ยนแปลงอย่างถึงราก เปลี่ยนตั้งแต่วิธีการมองปัญหาว่า เหตุร้ายต่างๆ เป็นการท้าทายอำนาจรัฐ โดยใช้มิติทางวัฒนธรรม รวมถึงต้องให้ความสำคัญของคุณค่าวิถีชีวิตของการอยู่ร่วมกันของคนต่างวัฒนธรรม

"ที่สำคัญต้องเปลี่ยนความคิดว่า เรามีอำนาจ มีเงิน ในการเปลี่ยนแปลง โดยไม่เข้าใจมิติทางวัฒนธรรม ...ทั้งทำให้คนที่รู้สึกอึดอัดคับแค้น มีความสุขขึ้น ทำให้คนที่รู้สึกรุนแรง ใช้ความรุนแรงไม่มีความหมาย ทำให้คนทั่วไปพูดความจริงในบ้านเมือง" ประธานกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธี
สรุป

ปวศ.ปมเงื่อนของความเกลียดชัง

"ปัญหาคือ เมื่อ 100 กว่าปี ที่มีการคิดว่า จำเป็นต้องสร้างเอกภาพของไทย สร้างประวัติศาสตร์ชาติไทย ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่มีความหลากหลาย ทำให้เกิดการนิยามลักษณะของคนไทย ความเป็นไทยแท้ เป็นตัวแทนของความเป็นชาติ มีความเป็นหนึ่งเดียว ใครที่มีความคิดแปลกแยกจากตรงนี้ อาจจะถูกตั้งคำถามว่า เป็นคนไทยหรือเปล่า" รศ.สุเนตร ชุติธนานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุ

เขาเห็นว่า ที่มาของปัญหาของภาคใต้ มีความสัมพันธ์กับการสอนประวัติศาสตร์อย่างลึกซึ้ง เนื่องจากประวัติศาสตร์ไทยปัจจุบันเป็นประวัติศาสตร์สายเดี่ยวหรือทางเดียว ซึ่งสวนทางกับความหลากหลายในอดีต

และเมื่อนำความคิดชุดนี้ไปมองคนในพื้นที่3 จังหวัดภาคใต้ ก็จะเห็นว่า ไม่ใช่คนไทย ซึ่งบางส่วนก็เป็นความจริง เพราะพื้นเพของพื้นที่ไม่สามารถรวมส่วนกับความเป็นไทยที่ถูกสร้างขึ้น ทำให้ความเป็นตัวตนดังกล่าวไม่เกิดการยอมรับ

"ท้ายที่สุด เราอาจต้องกลับไปสอนประวัติศาสตร์ที่เปิดทางเลือกให้คนที่ไม่เข้านิยามคนไทย แต่อยู่มาหลายศตวรรษ มีที่อยู่ที่ยืนทางสังคม" รศ.สุเนตรกล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหาไฟใต้

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net