Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 1 ก.พ.48 นายจักรภพ เพ็ญแข โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบวาระทราบจร เรื่อง ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยสภาผู้นำชุมชนแห่งชาติ พ.ศ.......โดยให้นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานกรรมการศึกษาและยกร่างฯ ไปดำเนินการแก้ไขตามข้อสังเกตของคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีคณะที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

ทั้งนี้ แนวคิดดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นในระหว่างการพบปะหารือกันของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและผู้นำชุมชน เมื่อเดือนกันยายนและตุลาคม 2547 นำโดยนายประยงค์ รณรงค์ เจ้าของรางวัลแมกไซไซ ปี 2547 โดยกลุ่มผู้นำชุมชนดังกล่าวเคยมีส่วนเสนอนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งที่แล้ว และหลังการหารือนายกรัฐมนตรีได้เสนอให้มีการสร้างกฎหมายรองรับอย่างเป็นรูปธรรม โดยให้นายประพัฒน์ เป็นประธานยกร่างฯ ร่วมกับกลุ่มผู้นำชุมชน 16 คน และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจากสำนักงานคณะกรรมาการกฤษฎีกา และสำนักนายกฯ อีก 4-5 คน

อย่างไรก็ตาม เนื้อหาสาระที่คณะกรรมาการกลั่นกรองฯ เสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงนั้น รวมถึงเรื่องอำนาจหน้าที่ของสภาผู้นำชุมชนฯ ด้วย กล่าวคือ การเสนอนโยบายและข้อเสนอแนะทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ต่อคณะรัฐมนตรี โดยสามารถเชิญบุคคล หรือหน่วยงานของรัฐมาให้ข้อมูลได้นั้น ควรกำหนดนิยามให้ชัดเจนว่าหมายความถึงประเด็นได้บ้าง เพราะเกรงว่าจะทำหน้าที่ตรวจสอบ สอบสวนดังกรณีของคณะกรรมาธิการ วุฒิสภา

นอกจากนี้กรณีที่สภาผู้นำชุมชนฯ เห็นว่ากรณีใดไม่เป็นไปตามนโยบายของประเทศ สภาผู้นำชุมชนฯ สามารถมีหนังสือแจ้งให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐดำเนินการแก้ไขได้นั้น คณะกรรมการกลั่นกรองฯ เห็นว่าโดยหลักการแล้วสภาผู้นำชุมชนฯ ไม่ควรเป็นผู้ปฎิบัติหรือดำเนินการใดๆ ด้วยตนเอง เพราะมีหน้าที่ให้คำเสนอแนะกับนายกรัฐมนตรี

โดยสมาชิกสภาผู้นำชุมชนฯ ควรมีวาระ 2 ปีแทนที่จะเป็น 3 ปีตามที่เสนอ อีกทั้งในบทเฉพาะกาลก็ควรแก้ไขกำหนดระยะเวลาในการทำงานของสมาชิกสภาผู้นำชุมชนชุดบทเฉพาะกาลที่จะทำหน้าที่สรรหาสมาชิกสภาผู้นำชุมชนฯ ชุดแรกเป็น 60 วัน หรือ 180 วัน แทนที่จะเป็น 2 ปี ตามที่ได้เสนอไว้ในร่างฯ เดิม

ที่ปรึกษาสภาผู้นำฯ ไม่ห่วงลดทอนอำนาจ

ด้านนายวิชิต นันทสุวรรณ จากมูลนิธิสถาบันพัฒนาทรัพยากรชุมชน ผู้ประสานงานและเป็นหนึ่งในสิบผู้ได้รับเสนอชื่อเป็นที่ปรึกษาของสภาผู้นำชุมชนฯ ให้ความเห็นว่า การกำหนดกรอบเวลาการทำงานของชุดเฉพาะกาลเพียง 180 วันจากที่กำหนดไว้ไม่เกิน 2 ปีเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะไม่น่าจะเพียงพอสำหรับการออกแบบระเบียบวิธีการสรรหาผู้นำชุมชนทั่วประเทศ จังหวัดละ 1-2 คน

ส่วนประเด็นการลดทอนอำนาจหน้าที่ของสภาผู้นำชุมชนนั้น นายวิชิต เห็นว่า ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลแต่อย่างใด เพราะผู้นำชุมชนที่ร่วมกันยกร่างทั้ง 16 คน ไม่ได้คาดหวังจะมีอำนาจมากมาย เพียงแต่ต้องการโอกาสในการมีส่วนร่วมนำเสนอและติดตามการดำเนินนโยบายแก่นายกรัฐมนตรีโดยตรง โดยไม่ต้องผ่านกลไกทั้งของภาครัฐ และภาคธุรกิจการเมืองเหมือนที่ผ่านมา การใส่อำนาจในการตรวจสอบต่างๆ ไปในร่างฯ นั้น เป็นความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจากภาครัฐ เพื่อให้ร่างฯ ดังกล่าวมีน้ำหนักมากขึ้น

เมื่อถามว่าร่างฯ ดังกล่าวจะทำให้กระบวนการเรียกร้องของประชาชนกลุ่มต่างๆ เปลี่ยนไป โดยต้องมาผ่านสภาผู้นำชุมชนฯ หรือไม่ นายวิชิตกล่าวว่า สิทธิเสรีภาพของประชาชนยังคงมีอยู่เช่นเดิม เพราะร่างฯ ดังกล่าวไม่ได้บังคับให้ประชาชนต้องนำเสนอหรือเรียกร้องเรื่องต่างๆ ต่อรัฐบาลผ่านสภาผู้นำชุมชนฯ

"สภานี้ก็ต้องพิสูจน์ตัวเองด้วย ว่าจะเป็นช่องทางของชุมชน เป็นกลไกในทางสังคมที่จะเป็นผู้ร่วมกำหนดทิศทางนโยบายของรัฐบาลได้เพียงไหน เพราะขณะนี้หลายฝ่ายก็มองว่าเรื่องนี้เป็นเพียงเครื่องมือในการหาเสียงของรัฐบาล" นายวิชิตกล่าว

มุทิตา เชื้อชั่ง
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net