Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 2 ก.พ.48 วุฒิฯ เปิดเวที "ชำแหละ" ร่างกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ สรุป "รับไม่ได้" ละเมิดรัฐธรรมนูญ รับใช้ต่างชาติ นักวิชาการเทียบ "รัฐประหารเงียบ" แนะแก้ต้นเหตุเผด็จการรัฐสภา

"ที่ประชุมตกลงกันว่า ต้องหยุดร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ก่อนถึงสภา เพราะร่างกฎหมายฉบับนี้ละเมิดต่อหลักการรัฐธรรมนูญ ละเมิดหลักการสิทธิเสรีภาพของประชาชน สิทธิมนุษยชน ละเมิดนิติรัฐ ละเมิดอำนาจอธิปไตย รวบอำนาจเบ็ดเสร็จ และเป็นภัยต่อกระบวนการการปฏิรูปการเมืองอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน" นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา กล่าวสรุปในเวทีสัมมนาเรื่อง "ชำแหละ! ร่างพระราช
บัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ...."

ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า ร่างฯ ดัง
กล่าวเป็นการเขียนกฎหมายที่มีนัยซ่อนเร้นมากมาย และขัดกับหลักประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิง เพราะอำนาจต่างๆ ของรัฐสภาไม่ว่าเรื่องของเสรีภาพ ภาษี โทษทางอาญา ไม่สามารถโอนถ่ายไปอยู่ในขอบเขตอำนาจของเขตเศรษฐกิจพิเศษได้

พร้อมกันนี้ได้เชื่อมโดยร่างกฎหมายดังกล่าวว่า ใกล้เคียงกับการรวมศูนย์อำนาจของพรรคนาซีในประเทศเยอรมัน ยุคที่ฮิตเลอร์ใช้บันไดของประชาธิปไตยมอบอำนาจให้ตนเองอย่างเบ็ดเสร็จ (อ่านรายละเอียดในข่าวประกอบ)

นายสัก กอแสงเรือง ส.ว.กทม. กล่าวว่า กฎหมายนี้ขัดกับหลักรัฐธรรมนูญทั้งหมด โดยนำข้อยก เว้นของรัฐธรรมนูญมาเป็นหลักของกฎหมาย มีการยกเว้นกฎหมายต่างๆ มากมายในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น กฎหมายที่ดิน กฎหมายผังเมือง กฎหมายสิ่งแวดล้อม ทั้งที่แต่เดิมกฎหมายต่างๆ กว่าจะผ่านออกมาได้ต้องผ่านการกลั่นกรองจากรัฐสภาอย่างรอบคอบเป็นเวลาหลายสิบปี

นอกจากนี้โอนอำนาจของเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ ไปว่าที่ผู้ว่าการเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้งอำนาจในทางตุลาการด้วย เนื่องจากหากเกิดข้อขัดแย้งใดๆ กับหน่วยงานท้องถิ่น ต้องให้ผู้ว่าการฯ เป็นผู้วินิจฉัยและถือเป็นที่สุด

"ที่น่าแปลกประหลาดคือ กฎหมายฉบับนี้ มาตราหนึ่งระบุว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษไม่เป็นหน่วยงานในกำกับรัฐ มีฐานะเป็นองค์กรมหาชน อีกมาตราหนึ่งบอกว่าเป็นนิติบุคคลที่ไม่อยู่ในกฎหมายอะไรทั้งสิ้น นั่นคือเป็นองค์กรมหาชนที่อยู่เหนือกฎหมาย เท่ากับเป็นรัฐอิสระ" นายสักกล่าว

ระบุขัดหลักกระจายอำนาจรุนแรง
ดร.อรทัย ก๊กผล จากคณะรัฐศาสตร์ มธ. กล่าวว่า กฎหมายนี้เปลี่ยนระบบการบริหารราชการและสวนทางกับหลักกระจายอำนาจ เพราะประชาชนไม่มีส่วนร่วมทั้งในกระบวนการตัดสินใจ หรือในขั้นตอนการดำเนินการ ตลอดจนไม่มีกลไกการตรวจสอบจากภาคประชาชน

ขณะที่ในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ถูกลดทอนอำนาจโดยอัตโนมัติ เพราะอำนาจในการอนุมัติอนุญาตต่างๆ ขึ้นตรงต่อผู้ว่าการเขตเศรษฐกิจพิเศษ อีกทั้งยุทธศาสตร์ของจังหวัดก็ต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยรายได้ส่วนใหญ่จะกลับสู่ท้องถิ่นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น อย่างไรก็ตาม กฎหมายนี้ก็ไม่ได้ยกเลิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ให้ดำเนินแข่งกันไปกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือปล่อยให้แห้งตายไปเอง

นายเจริญ คัมภีรภาพ คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า กฎหมายนี้เดินตามฉันทานุมัติวอชิงตัน เพราะการลดระเบียบ ให้สิทธิพิเศษต่างๆ ไม่ว่าด้านภาษี ที่ดิน แรงงาน ล้วนเป็นข้อเรียกร้องของกลุ่มทุน และเป็นแนวคิดที่กำลังถูกผลักดันให้เป็นจริงในการเจรจาเอฟทีเอของอเมริกาและญี่ปุ่น "มันเป็นการรัฐประหารเงียบ ที่เล่นแร่แปรธาตุยกเลิกอำนาจส่วนราชการ และเป็นเทคนิคในทางกฎหมายแบบเดิมๆ ที่ต้องการหลีกเลี่ยงไม่ให้รัฐสภาตรวจสอบ"

ถามหา "ความโปร่งใส"
นอกจากนี้นายบัณฑูรยังตั้งคำถามถึงความโปร่งใสในกระบวนการจัดทำร่างกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากรัฐบาลได้ว่าจ้างบริษัทของนายมีชัย ฤชุพันธ์ จัดทำการวิจัยต้นแบบร่างกฎหมายนี้ และหลังจากครม.เห็นชอบก็ได้ส่งร่างฯ นี้ไปให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการพิจารณา ซึ่งมี่นายมีชัย และผู้ร่วมคณะวิจัยคนหนึ่งอยู่ในกระบวนการพิจารณาด้วย ซึ่งตามหลักธรรมาภิบาล ไม่สม
ควรให้คนวิจัยกับคนตรวจสอบเป็นคนเดียวกัน
พระกิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ กล่าวว่า ผู้นำกำลังใช้เครื่องมือของบ้านเมือง และช่องว่างทางกฎหมายมาตอบสนองกิเลสตัณหาของตนเอง ถึงที่สุด แม้กฎหมายนี้จะไม่ผ่าน แต่ก็เป็นรอยด่างทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ เพราะเป็นการชี้ช่องอกุศลให้คนจำนวนมากเห็นว่าพ่อค้าคนกลางสามารถทำอะไรก็ได้ ปรับเปลี่ยนรัฐอย่างไรก็ได้ ที่สำคัญจะกระทบต่อวิธีคิดเรื่องจริยธรรม คุณธรรมของสังคมไทยและเยาวชนไทย

ขณะที่ดร.พิชญ์ พงสวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เสนอว่าควรมองเรื่องนี้ให้พ้นไปจากเรื่องชาตินิยม เพราะกฎหมายนี้กระทบต่อ "ความเป็นมนุษย์" เพราะกฎหมายดังกล่าวจะฉวยใช้แรงงานราคาถูกจำนวนมากบริเวณชายแดน (อ่านรายละเอียดในข่าวประกอบ)

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net