Skip to main content
sharethis

ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์
ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของนายกรัฐมนตรี

===============================

อาจเป็นเพราะยังไม่มีโอกาสได้ขยายความ หรือ เพราะใกล้ถึงวันเลือกตั้งครั้งใหม่ เรื่อง "สภาผู้นำชุมชนแห่งชาติ" จึงถูกมองว่าเป็นประเด็นหาเสียงทางการเมืองไป

ทั้งที่ ความเป็นจริง ภาคประชาชนต้องการมี "สภาผู้นำชุมชน" กันมานานแล้ว และได้มีการคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้กันมามากพอสมควร แม้ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ครบถ้วนทั้งหมด แต่ก็รอช้าไปกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว !

ย้อนไป เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2547 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายกรัฐมนตรีได้เป็นประธานในงานแสดงมุทิตาจิต แสดงความยินดีกับนายประยงค์ รณรงค์ ในโอกาสที่ได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาผู้นำชุมชน ประจำปี 2004 ข้อความสำคัญที่ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวกับผู้นำชุมชนในวันนั้น คือ " ต้องหาโอกาสพบปะกับผู้นำชุมชนให้บ่อยครั้งขึ้น เพื่อจะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เกี่ยวกับปัญหาของชุมชน ปัญหาของคนยากจน และผลของการดำเนินงานตามนโยบายรัฐ... "

ดังนั้น การเข้าพบนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2547 จึงเป็นการพบกันตามนัดเพื่อสานต่อความคิด หลังจากที่ผู้นำชุมชนได้จัดเวทีหารือกันอยู่หลายรอบเพื่อหาคำตอบว่า ทำไมนโยบายเกษตรและชนบทของรัฐบาลที่ผ่านมา จึงยังไม่ใช่ทางออกของการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องในชนบท ทั้งที่ นโยบายเหล่านี้ ก็มีจุดเริ่มต้นมาจากความคิดของผู้นำชุมชนแทบทั้งสิ้น แล้วก็ได้พบว่า นโยบายเหล่านี้ ได้ถูกแปรเปลี่ยนจนกลายพันธ์ไปในระหว่างทาง ! ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆนานา

ต้องยอมรับความเป็นจริงว่า 40 กว่าปีที่ผ่านมา ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชนบทไทย ล้วนเป็นผลมาจากการ "กลายพันธ์ของนโยบาย" แทบทั้งสิ้น

ด้านเศรษฐกิจ ผลกระทบของการพัฒนาประเทศ ที่เน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นเป้าหมายหลัก ส่งผลให้เศรษฐกิจของไทยขยายตัวในระดับสูงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับเป็นผลสำเร็จระดับหนึ่งของการพัฒนาประเทศ แต่การพัฒนาในลักษณะดังกล่าวได้ก่อให้เกิดปัญหาหลายอย่างตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการกระจายรายได้ ความเสื่อมโทรมของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงปัญหาทางสังคมวัฒนธรรม เป็นการพัฒนาที่สภาพัฒน์ฯ สรุปว่า "เศรษฐกิจดี สังคมมีปัญหา การพัฒนาไม่ยั่งยืน"

แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1 เกิดขึ้นในภาวะที่ชุมชนและเกษตรกรไม่พร้อมจะเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่โง่หรือล้าหลัง แต่ไม่รู้จะเปลี่ยนไปทำไม เพราะขณะนั้นชุมชนมีเศรษฐกิจพอเพียง ทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์ และระบบความสัมพันธ์แบบแบ่งปันกันทำให้คนดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่เดือดร้อน วิบูลย์ เข็มเฉลิม ผู้นำชุมชนจากฉะเชิงเทรา ระบุว่า "คนในภาคเกษตรไม่พร้อม ผมเองก็ไม่พร้อม ไม่สามารถรองรับวิถีชีวิตจากนโยบาย แต่ต้องทำตามสั่งเรื่อยมา อาศัยเทคโนโลยีในการแก้ปัญหา และเขาฝึกให้รู้จักขอ กระทั่งสุดท้ายใช้วิธีประท้วง ปิดถนนขายข้าว ขายมันฯ ขายยาง…."

ด้วยแนวคิดการพัฒนาแบบแบ่งงานกันทำตามความสามารถ เกษตรกรจึงได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนให้ทำการผลิตในระดับไร่นา ซึ่งเป็นขั้นตอนการผลิตที่เสี่ยงต่อการขาดทุน ส่วนการแปรรูปและธุรกิจ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่มีกำไรจากมูลค่าเพิ่มนั้น ภาคเอกชนจะได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนให้เข้ามาทำการพัฒนาเศรษฐกิจ ให้ความสำคัญเฉพาะเศรษฐกิจภาคเมือง เน้นการจ้างงาน รายได้ และการส่งออก และมองเศรษฐกิจภาคชุมชนเป็นเศรษฐกิจนอกระบบ ไม่มีความสำคัญต่อการเติบโตของประชาชาติ

เป็นการพัฒนาที่เน้นให้อุตสาหกรรมและบริการนำภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ และได้พัฒนาความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างระหว่างชุมชนกับระบบมหภาคที่แน่นอนไว้ คือ ชุมชนต้องขึ้นต่อและพึ่งพาอุตสาหกรรมและบริการในทุกด้าน ทุกชีวิตในชุมชนจึงขึ้นต่อและพึ่งพาระบบ พึ่งพาของกินของใช้จากระบบตลาด พึ่งพาเงินลงทุนจากระบบระบบธนาคาร พึ่งพาการรักษาพยาบาลของระบบโรงพยาบาลเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย พึ่งพาระบบการศึกษาในการแสวงหาความรู้ พึ่งพาอาชีพและรายได้จากระบบอุตสาหกรรม

และเมื่อพบปัญหาที่เกิดจากการบีบกดของระบบ ก็หันไปเรียกร้องและพึ่งความช่วยเหลือจากรัฐ เพราะไม่อยู่ในฐานะที่จะพึ่งตนเองในการแก้ปัญหาได้ เป็นมูลเหตุสำคัญของความอ่อนแอของเศรษฐกิจและสังคมชุมชน

ด้านสังคม ความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างดังกล่าว คือ ความไม่เป็นธรรมทางสังคมประการหนึ่ง ที่พบเห็นมาตลอดจากประสบการณ์ 3 ปีที่ทำงานร่วมกับคณะรัฐบาล กล่าวคือ ในการประชุมคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการทุกคณะในทุกระดับ ได้มีโอกาสรับฟังความคิดเห็นจากผู้แทนฝ่ายต่าง ๆ ที่เข้าร่วมในคณะกรรมการและอนุกรรมการ ทั้งผู้แทนจากสภาหอการค้าไทย ผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรม ผู้แทนจากสมาคมธนาคารไทย ผู้แทนหน่วยงานทั้งราชการและรัฐวิสาหกิจ

รวมถึงผู้แทนจากสถาบันการศึกษา นักวิชาการ กลุ่มวิชาชีพและผู้ประกอบการรายย่อย แต่ไม่เคยพบและมีโอกาสฟังความคิดเห็นจากผู้แทนของชุมชนหรือกลุ่มประชาชนฐานรากของประเทศ โอกาสเดียวเท่านั้นที่ได้รับฟังความคิดเห็นจากผู้แทนของชุมชน คือ ข้างถนน หรือเมื่อลงปฏิบัติราชการในพื้นที่ชนบทหรือชุมชนเมือง

ความรู้สึกหนึ่งที่สะสมมาตลอด 3 ปี คือ ประชาชนในชุมชนและคนยากจน เสมือนหนึ่งถูกกันออกไปให้อยู่ริมขอบของสังคม ไม่มีที่ว่างในโครงสร้างของรัฐและของสังคมให้กับพวกเขาเหล่านั้น แม้ว่าจะไม่มีใครมีเจตนากีดกันก็ตาม พวกเขาจึงต้องหาที่ยืนของตนเอง หาวิธีการแสดงออกของตนเอง เพื่อสื่อสารให้รัฐและสังคมรับรู้ว่าพวกเขากำลังเผชิญหน้ากับปัญหาอะไร พวกเขามีความคิดเห็นอย่างไร

นับวันช่องว่างระหว่างชุมชนและประชาชนฐานรากกับรัฐและคนกลุ่มอื่น ๆ ในสังคม ยิ่งถ่างกว้างมากขึ้น ๆ จนความรู้สึกเห็นอกเห็นใจที่เคยมีให้กับคนยากจนเมื่อพวกเขาแสดงออกด้วยวิธีการของตนเองเพื่อสะท้อนปัญหาที่เผชิญอยู่ ให้สังคมได้รับรู้ เลือนหายไป และแทนที่ด้วยความรำคาญ รังเกียจ จนถึงขั้นมองพวกเขาว่าเป็นตัวปัญหา เป็นความแปลกแยกระหว่างประชาชนที่อยู่ร่วมในสังคมเดียวกัน ที่จะนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางสังคม ความรุนแรง และสุดท้ายคือความอ่อนแอของสังคมและรัฐ

ผู้นำชุมชนทั้งหลาย จึงได้ข้อสรุปว่า ถึงเวลาต้องมี "สภาผู้นำชุมชนแห่งชาติ" เป็นองค์กรอิสระที่มีบทบาทให้คำปรึกษาโดยตรงต่อนายกรัฐมนตรี ในนโยบายที่เกี่ยวข้องกับประชาชนฐานรากของสังคม

สภาผู้นำชุมชนแห่งชาติ จึงไม่ใช่องค์กรที่เกิดขึ้นโดยไม่มีที่มา แต่เป็นพัฒนาการทางสังคม ซึ่งเป็นก้าวแรกของการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เพื่อให้ผู้นำชุมชนได้มีที่ยืนอย่างมีสถานะและมีศักดิ์ศรีในโครงสร้างส่วนบนของอำนาจรัฐ

แนวคิดเรื่อง สภาผู้นำชุมชนแห่งชาติ ที่เกิดขึ้น จะเป็นทั้งกระบวนการและระบบของชุมชนในการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย ลดช่องว่างที่เกิดจากโครงสร้างความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นธรรมระหว่างชุมชนกับคนกลุ่มอื่น ๆ เป็นช่องทางหรือโอกาสในการเป็นส่วนหนึ่งที่เท่าเทียมกับคนกลุ่มอื่น ๆ ในสังคม

สภาผู้นำชุมชนแห่งชาติคือการเข้าร่วมกับสังคมและรัฐอย่างเป็น ระบบ ไม่ใช่เป็นบางครั้งบางคราวหรือในบางโอกาส ไม่ใช่ช่องทางของกลุ่มผลประโยชน์ หรือผู้นำชุมชนคนหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นผู้นำชุมชนที่ได้รับการยอมรับจากสังคมโดยรวม และจากทั่วประเทศ

สมาชิกสภาผู้นำชุมชนไม่ได้มาจากการแต่งตั้ง และการเลือกตั้ง แต่สมาชิกสภาผู้นำชุมชนแห่งชาติมาจากผู้นำชุมชนที่ผ่านกระบวนการการยอมรับของสังคม ซึ่งจะต้องมีการออกแบบ กระบวนการ ได้มาของสมาชิกสภามารองรับการปฏิบัติ

การเข้าร่วมในระดับนโยบายรัฐของสภาผู้นำชุมชน ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์เฉพาะตนหรือเฉพาะกลุ่ม แต่เป็นการประมวลสภาพความเป็นจริงของชุมชนทั้งศักยภาพและปัญหา ประมวลประสบการณ์และองค์ความรู้ของชุมชน ตกผลึกเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้กับนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐบาลโดยตรง และช่วยประคับประคองการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ให้สามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้

การสนับสนุนให้เกิดสภาผู้นำชุมชนแห่งชาติ และให้มีบทบาทในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับความร่วมมือและช่วยเหลือของทุกฝ่าย เพราะตลอดพัฒนาการของสังคมไทย ชุมชนไม่เคยมีโอกาสและไม่มีประสบการณ์ในการแสดงบทบาทระดับนโยบาย หรือในโครงสร้างหลัก และผลกระทบจากการพัฒนาประเทศ ที่ทำให้ผู้นำของชุมชนไม่ได้มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจในระดับที่พึ่งตนเองได้เหมือนกับผู้แทนกลุ่มอื่น ๆ ทั้ง กลุ่มวิชาชีพ ธุรกิจ อุตสาหกรรม และบริการ

จึงเป็นภาระของรัฐที่ต้องอุ้มชูให้สภาผู้นำชุมชนแห่งชาติสามารถแสดงบทบาทของตนเองได้เต็มกำลังสติปัญญาและความสามารถ มีบทบาทเคียงบ่าเคียงไหล่กับคนไทยกลุ่มอื่น ๆ อย่างเป็นอิสระ

เป็นการอุ้มชูที่ไม่ได้หมายถึงรัฐมีงบประมาณการดำเนินงานให้เพียงอย่างเดียว แต่เน้นการช่วยเหลือให้บุคลากรในสังคม ข้อมูลข่าวสารและความรู้ ที่สภาผู้นำชุมชนแห่งชาติคัดเลือกและต้องการ ให้เข้ามาสนับสนุนการทำงานของสภาฯ ในทุกเรื่องและทุกด้าน

สภาผู้นำชุมชนแห่งชาติ ที่ได้รับการสนับสนุนในทิศทางเช่นนี้ จะเป็นกระบวนการทางสังคมของชุมชนที่ช่วยให้ชุมชนและประชาชนฐานรากเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศอย่างมีศักดิ์ศรี เป็นเรื่องง่ายมากหากสังคมนำเป้าหมายทางการเมืองเข้ามาปะปนกับการเกิดของสภาฯ แล้วกีดกันพวกเขาออกไปอยู่ที่ริมขอบของสังคม ไม่ให้มีปากมีเสียงเหมือนที่ผ่านมา

ผู้นำชุมชนหลายท่านให้ความเห็นไว้ว่า "ชุมชนอ่อนแอลงทุกวัน ถ้าเป็นคนก็แทบจะยืนไม่อยู่ เราต้องการให้ทุกฝ่ายช่วยกันพยุงให้ชุมชนลุกยืนขึ้น และก้าวเดินไปข้างหน้าพร้อม ๆ กัน แม้ว่าท้ายที่สุดแล้วเราต้องเดินด้วยขาของเราเอง"

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net