Skip to main content
sharethis

รายงานพิเศษ
สุธิดา สุวรรณกันธา

จังหวัดภาคเหนือตอนบนได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน พะเยา เชียงราย แพร่ และน่าน เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพ เป็นพื้นที่เกษตรและเกษตรแปรรูป จึงกำหนดให้กลุ่มจังหวัดนี้ตอบสนองต่อยุทธศาสตร์การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สำหรับจังหวัดลำพูน มียุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงและการเกษตร โดยกำหนดพื้นที่ด้านตะวันออกของแม่น้ำกวงเป็นเขตอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำพูน และเขตอุตสาหกรรมสหพัฒน์ ส่วนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำกวง ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัด กำหนดให้เป็นเขตเกษตรกรรม นอกจากนี้ ในอนาคตยังมียุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ โดยการพัฒนาแม่น้ำลี้และการผันน้ำจากลุ่มแม่น้ำปิงโดยระบบท่อ (Water Grid) ทำให้มีศักยภาพสูงในด้านการเกษตร

สำหรับนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำพูน มีพื้นที่รวม 1,788 ไร่ ปัจจุบันพื้นที่ไม่เพียงพที่จะรองรับการขยายการลงทุนของนักลงทุน ประกอบกับจังหวัดลำพูนได้ดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์จังหวัดให้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาภาคเหนือตอนบนเป็นศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมของ
อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยจังหวัดลำพูนจังหวัดลำพูนมียุทธศาสตร์ในการขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเพิ่มอีกประมาณ 2,000 ไร่

สอดคล้องกับแผนการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศในระยะ 2 ปีนับจากนี้ (2548 - 2549) ของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มีบัญชาให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เตรียมแผนจัดตั้งโดยเร็วที่สุด เพื่อรองรับการขยายตัวของการลงทุนอุตสาหกรรมทั้งจากทุนต่างประเทศและในประเทศ ซึ่งในพื้นที่ภาคเหนืออยู่ในเป้าหมายที่ต้องเร่งดำเนินการขยายนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่

การขยายเขตนิคมอุตสาหกรรมลำพูนแห่งใหม่ (แห่งที่ 2) ภายใต้ชื่อ "นิคมอุตสาหกรรมหริภุญชัย ลำพูน" มีเป้าหมายสำคัญเพื่อรองรับการลงทุนและการผลิตเพื่อการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับสูงและสะอาดของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งมีข้อได้เปรียบด้านทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ แรงงานและที่ดินเพื่อการเกษตร จึงมีศักยภาพอย่างยิ่งในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านการ
เกษตรและเกษตรแปรรูป โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์เกษตรมูลค่าสูง เกษตรอินทรีย์ ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ อาหารเสริมสุขภาพ เครื่องสำอาง สมุนไพร และชุดตรวจสอบสุขภาพต่าง ๆ ซึ่งสามารถรองรับการลงทุนทั้งหารผลิตเพื่อส่งออก เนื่องจากความสมบูรณ์ด้านวัตถุดิบจากการเกษตร หรืออีกด้านหนึ่งอาจนำเข้าวัตถุดิบเพื่อผลิตส่งขายในตลาดประเทศในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ที่มีประชากรมากกว่า 200 ล้านคน

โดยเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2547 ที่ผ่านมา กนอ. ได้ลงนามร่วมดำเนินงานกับเอกชนเพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมหริภุญชัย จังหวัดลำพูน บนเนื้อที่ 1,097 ไร่ บริเวณตำบลบ้านกลางและตำบลศรีบัวบาน อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน บนถนนทางหลวงหมายเลข 11 สายเชียงใหม่-ลำปางหน้ากว้างติดถนน 800 เมตร ห่างจากนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำพูน ประมาณ 4 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท บริษัทที่ดำเนินการร่วมกับ กนอ.คือ บริษัท เทวี สปา แอนด์ ลองสเตย์ รีสอร์ท จำกัด ซึ่งบริษัทดังกล่าวเคยเสนอขายที่ดินให้ กนอ. เพื่อพิจารณาจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ (ส่วนขยาย) ต่อมาได้เปลี่ยนรูปแบบขอร่วมดำเนินงานกับ กนอ.

แหล่งข่าวจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวกับ "พลเมืองเหนือ" ว่า สำหรับการดำเนินการนิคมอุตสาหกรรมหริภุญชัย ลำพูน ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการก่อสร้าง การทำตลาด คาดว่าจะเปิดดำเนินการเต็มระบบภายใน 1 - 2 ปีนี้

สำหรับเงินลงทุนเพื่อพัฒนาโครงการรวมทั้งสิ้นประมาณ 1,106.12 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าที่ดิน 329.10 ล้านบาท ค่าพัฒนาสาธารณูปโภค 733.02 ล้านบาท ค่าบริหารจัดการ (ค่าร่วมดำเนินงานและค่าการตลาด) 44 ล้านบาท ซึ่งเงินทุน (ค่าที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทฯ) จำนวน 329.10 ล้านบาท (30%) เงินกู้จากธนาคารกรุงศรีอยุธยา 777.02 ล้านบาท (70%) โดยได้กำหนดจำนวนพื้นที่เพื่อขายทั้งสิ้นประมาณ 731.42 ไร่ แบ่งการขายออกเป็น 5 ปี แบ่งเป็นปีละ 30:20:20:20:10 ราคาขาย 1.8 ล้านบาท/ไร่ อัตราค่าน้ำประปา 12 บาท/ลบ.ม. ปรับเพิ่ม 10% ทุกๆ 3 ปี อัตราค่าบำบัดน้ำเสีย 9 บาท/ลบ.ม. ปรับเพิ่ม 10% ทุกๆ 3 ปี และอัตราค่าบำรุงรักษา 7,200 บาท/ปี ปรับเพิ่ม 10% ทุกๆ 3 ปี ซึ่งทั้งหมดจะเป็นส่วนของรายรับที่จะได้รับ ทั้งนี้ในส่วนของการดำเนินการ การบริหารการตลาดนั้น ทางภาคเอกชนคือบริษัทเทวี สปา แอนด์ ลองสเตย์ รีสอร์ท จำกัด จะเป็นผู้รับผิดชอบ
นอกจากนี้การดำเนินโครงการนิคมฯแห่งใหม่ที่ลำพูนครั้งนี้ ผู้ดำเนินโครงการมีแผนการตลาดโดยจะเดินทางไป Roadshow เพื่อหาผู้ร่วมธุรกิจเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Partners) และผู้ลงทุนหลัก มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายคือนักลงทุนประเทศญี่ปุ่น ประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวีย ได้แก่ สวีเดน เดนมาร์ค ฟินแลนด์ นอร์เวย์ ประเทศกลุ่มยุโรป ได้แก่ สวิสเซอร์แลนด์ ฮอลอลนด์ และเยอรมัน ประเทศกลุ่มอเมริกาเหนือ ได้แก่ แคนาดา สหรัฐอเมริกา เป็นต้น ซึ่งพบว่านักลงทุนในกลุ่มประเทศเหล่านี้ ให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับสูงหรือนิคมฯไฮเทค ที่ไม่มีมลภาวะ

อุตฯ อาหาร-เครื่องสำอาง ตบเท้าลงทุน

ทั้งนี้ กลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่แสดงความจำนงที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่นิคมอุสาหกรรมหริภุญชัย จังหวัดลำพูน ประกอบด้วย 2 กลุ่มอุตสาหกรรมคือ 1.อุตสาหกรรมอาหาร จำนวน 12 ราย พื้นที่รวมประมาณ 200 ไร่ ได้แก่ kawasho Food (Thailand) Kenmin Food (Thailand) Nippon Flour Mills (Thailand) Siam Food Supply Nisshin-STC Flour Milling Nissin Food (Thailand) Snacky Thai Snow Brand Siam Thai Yamazaki Ucc Ueshima Coffee (Thailand) United Kyoei Food ita Food Factory 2.กลุ่มเครื่องสำอางและเคมีภัณฑ์ จำนวน 6 ราย พื้นที่รวมประมาณ 100 ไร่ ได้แก่ Bakelite Shoji (Thailand) Dailchi Pharmaceutical (Thailand) Kao Industrial (Thailand) Kawasumi Laboratories (Thailand) Lion Corporation (Thailand) Thai Maeji Pharmaceutical เป็นต้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net