Skip to main content
sharethis

หลังสึนามิทำลายชุมชนที่เคยอยู่กันอย่างสงบเมื่อวันที่ 26 ธันวาคมที่ผ่านมา สถานการณ์ในหลายชุมชนกำลังคลี่คลายไปในทางที่ดี แต่ สำหรับชุมชนชาว "มอร์แกน" หรือ "ไทยใหม่" หลายชุมชนกำลังจะถูกคุกคามทั้งจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานราชการในจังหวัดและนายทุน จับมือกันยึดที่ดินซึ่งเคยเป็นชุมชนของพวกเขา ก่อนที่มหันตภัยคลื่นยักษ์จะมาถึง เมื่อคลื่นยักษ์ผ่านพ้นไปเดือนเศษชีวิตที่คิดว่าจะกลับมายังชุมชนเดิม สร้างเนื้อสร้างตัวกันใหม่ วันนี้อาจไม่เป็นอย่างที่คิดไว้เสียแล้ว

ณ ชุมชนทุ่งว้า เขตองค์การบริหารส่วนตำบลคึกคัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา หนึ่งในชุมชนมอร์แกนที่เคยอยู่กันเป็นชุมชนมาเกือบร้อยปี ชาวบ้านที่รอดชีวิตจากฝันร้ายเมื่อปลายปีที่แล้ว จำนวน 71 ครัวเรือน ประชากร 281 คน กำลังกังวลใจที่หน่วยงานปกครองท้องถิ่นและหน่วยงานรัฐในพื้นที่จะนำที่ดินจำนวน 24 ไร่ ของพวกเขาไปสร้างเป็นโรงพยาบาล ที่อ้างว่าได้รับงบประมาณจากรัฐบาลเยอรมัน พร้อมกับประกาศห้ามปลูกสิ่งก่อสร้างใดๆ ทั้งสิ้นในชุมชนของพวกเขาเอง

นายห้อง กล้าทะเล ชาวมอร์แกนจากบ้านทุ่งว้า บอกว่าจากการเกิดคลื่นยักษ์สึนามิ มีชาวมอร์แกนที่ชุมชนทุ่งว้าสังเวยชีวิตไป 41 คน บาดเจ็บ 50 กว่าคน ส่วนบ้านเรือนและทรัพย์สินถูกคลื่นยักษ์ซัดพังและสูญหายไม่เหลือแม้แต่เสาไว้ให้ดูต่างหน้า ชาวมอร์แกนอยู่ในชุมชนทุ่งว้ามาเกือบร้อยปีแล้ว แต่ไม่เคยได้เอกสารสิทธิ์ในที่ดินเลย มาตอนนี้จะเอาชุมชนของเราไปอีก โดยฉวยโอกาสช่วงที่พวกเรากำลังทุกข์หนักที่สุด

"จะให้เราไปจากชุมชนเราได้ยังไง สุสานบรรพบุรุษก็ยังฝังอยู่หลังชุมชน ก่อนตายพวกเขาก็สั่งเราว่าอย่าทิ้งกูไปนะ ถ้าหากจะไปก็ต้องไปด้วยกัน ถึงแม้เรื่องแบบนี้จะพิสูจน์ไม่ได้มองไม่เห็น แต่พวกเรารู้สึกตลอดเวลาว่าบรรพบุรุษของเรา ยังเฝ้ารอเราตลอดเวลา แล้วจะให้พวกเราไปอยู่ไหน"

เขา บอกว่า หลังจากมีหลายหน่วยงานได้เข้ามาสร้างบ้านพักชั่วคราวให้ชาวมอร์แกนจากบ้านทุ่งว้าที่บริเวณศูนย์พักชั่วคราวจุดที่ 3 ขององค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งว้าแล้ว ชาวชุมชนเกิดสังหรณ์ใจว่าจะไม่ได้กลับไปอยู่ชุมชนเดิมอีก

เพราะมีกระแสข่าวว่าทางราชการจะไม่ให้ชุมชนเข้าไปปลูกสิ่งก่อสร้างในที่ดินสาธารณะ พวกเราจึงต้องออกจากบ้านพักชั่วคราวกลับเข้ามายังชุมชนเดิม เพื่อเริ่มก่อสร้างบ้านพักถาวรในที่ดินเดิมของชุมชน โดยเริ่มจากการวัดที่ดินที่เคยครอบครองอยู่เดิม

หลังจากนั้นมีเพื่อนในภาคใต้ที่เห็นใจพวกเรามาร่วมกันก่อสร้างบ้านถาวรให้ เพราะหากไม่ทำเช่นนี้ก็ไม่มีหลักประกันว่าเราจะอยู่ในที่ดินเดิมได้หรือไม่

"ชาวมอร์แกนอยู่มาเกือบร้อยปี ไม่เคยสร้างความเดือดร้อนให้ใคร แต่กลับรักสงบ มาวันนี้กลับมีคนที่จะมารังแก ต่อจากนี้ไปก็ไม่รู้ว่าชีวิตของพวกเราจะสงบอีกหรือไม่ เพราะช่วงหลังมีกระแสข่าวว่า ถ้าใครต่อต้านจะมีการทำร้ายร่างกายจะมีการอุ้มบ้าง ซึ่งพวกเราเหนื่อยมาก นั่งคิดแล้วก็อยากจะร้องไห้ ว่าทำไมมันต้องเกิดกับพวกเรา"

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาได้มีเจ้าหน้าที่จากองค์การบริหารส่วนตำบลคึกคักนำคัตเอาท์ขนาดใหญ่ มาปักไว้ในชุมชนทุ่งว้าโดยมีข้อความระบุว่า "สถานที่ก่อสร้างโรงพยาบาลงบประมาณของรัฐบาลเยอรมัน(บริจาค)" และมีคัตเอาท์อีกแผ่นหนึ่งระบุ "พื้นที่ชายหาดและพื้นที่สาธารณะบริเวณนี้ห้ามผู้ใดบุกรุกเข้าไปปลูกสร้างทุกชนิด และจะมีตำรวจ อาสาสมัครมาตรวจ หากฝ่าฝืนจะจับกุมดำเนินคดีอย่างเฉียบขาด" ลงชื่อว่า "กองอำนวยการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนแห่งราชอาณาจักร"

ชาวมอร์แกนบ้านทุ่งว้า อีกคนหนึ่ง บอกว่า ชาวบ้านต้องการความชัดเจนในที่ดินและอยากจะอยู่ที่เดิมที่บรรพบุรุษเคยสร้างไว้ และอยากให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาให้ด้วย ซึ่งหากต่างประเทศอยากจะช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ

พวกเราคิดว่าการที่หน่วยงานท้องถิ่นได้นำเงินบริจาคของรัฐบาลเยอรมันมาสร้างโรงพยาบาลโดยใช้ที่ดินที่เคยเป็นชุมชนของพวกเรานั้น เราคิดว่ามันจะเป็นการซ้ำเติมความทุกข์ลำบากของพวกเราให้หนักขึ้น แต่ก็เชื่อว่ารัฐบาลเยอรมันคงไม่รู้กับเรื่องที่เกิดขึ้น

ชาวมอร์แกนก็อยากจะฝากไปบอกกับรัฐบาลเยอรมันว่า อยากให้มาตรวจสอบการใช้เงินบริจาคของตนเองด้วย
ว่าเงินเหล่านี้ได้ทับถมความทุกข์ของชาวบ้านที่ด้อยโอกาสในสังคมอยู่แล้วให้หนักขึ้นไปอีกหรือไม่ "เราไม่ได้คัดค้านการก่อสร้างโรงพยาบาล เราเห็นด้วย แต่ทำไมต้องมาเอาที่ดินของเราไปด้วย นี่มันหนักกว่าความเสียหายจากสึนามินะ"

สำหรับชาวมอร์แกนนั้นเป็นหนึ่งในกลุ่มชนพื้นที่เมืองที่เรียกว่า "ชาวเล" นอกจากมอร์ชาวมอร์แกนแล้ว ยังมีชาวเลอีก 2 กลุ่ม คือ มอเกล็น และอูรักลาโว้ย ซึ่งนักวิชาการระบุว่า ชาวเลนั้นเป็นชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมของมลายู

แต่ถูกรุนรานจากชนกลุ่มอื่นก็เลยพากันอพยพลงเรือหนีไปอยู่ตามเกาะต่าง ๆ เฉพาะในไทยมีชาวเลอาศัยอยู่บริเวณจังหวัดระนอง หมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลัน เกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี ชายฝั่งของอำเภอตะกั่วป่า อำเภอท้ายเหมือง

ในจังหวัดพังงา และเกาะสิเหล่ หาดราไวย์ แหลมหลา บ้านเหนือ บ้านสะปำ จังหวัดภูเก็ต ชาวเลมีอาชีพหลัก คือ
การจับปลาน้ำตื้น เชื่อเรื่องภูตผีวิญญาณและโชคลางโดยเฉพาะความเชื่อเกี่ยวกับบรรพบุรุษ

อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณทรงพระราชทานนามสกุลให้กับชาวเลด้วย เช่น กล้าทะเล หาญทะเล นาวารักษ์ สมุทรวารีย์ เป็นต้น ทำให้ชาวเล หรือไทยใหม่ เป็นคนไทยที่ถูกต้องตามกฎหมาย

และด้วยเหตุที่พวกเขาไม่ค่อยสนใจหรือขาดความเข้าใจเกี่ยวกับการถือครองที่ดินตามกฎหมาย ทำให้ที่ดินส่วนใหญ่ของไทยใหม่ที่สร้างบ้านปักฐานอยู่เป็นที่ดินริมฝั่งทะเลที่เป็นที่ดินสาธารณะบ้าง หรือมีการออกเอกสิทธิให้กับนายทุนทับที่ดินที่ชุมชนอาศัยมาก่อนบ้าง ทำให้สภาพของชาวเล กลายเป็นผู้บุกรุกไปโดยปริยาย

นี่เป็นอีกหนึ่งชะตากรรมหลังสึนามิพัดผ่านไป ไม่ได้มีเฉพาะที่บ้านทุ่งว้า เพราะชุมชนหลายแห่งกำลังถูกกดดันให้ออกจากชุมชนเดิมของพวกเขา เพียงเพื่อข้ออ้างว่าต้องการจัดระเบียบ แต่ต้องยอมรับว่า สิ่งที่สร้างปัญหามาโดยตลอดนั้นไม่ได้มาจากชุมชนเลย แต่กลับเป็นนายทุนต่างหาก

สุภาพร นิมานนท์
สำนักข่าวประชาธรรม
77/1 ม.5 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
โทร.053-810779,09-759-9705
Email : newspnn@hotmail.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net