Skip to main content
sharethis

(รศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เสนองานวิจัยในหัวข้อ ความจริงและการปฏิบัติต่อ "ความจริง" ของรัฐและประชาชนภายใต้วัฒนธรรม "มือที่สาม" (พ.ศ.2500-ปัจจุบัน) โดยนำเสนองานวิจัยดังกล่าวในเวทีการประชุมเรื่อง กระบวนการจัดการความจริง : การศึกษามิติและพลวัตรของความเปลี่ยนแปลงของ " ความจริง" ในสังคมไทย เมื่อวันที่ 11-12 กุมภาพันธ์ 2548 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
.....................................................................

รศ.ดร.อรรจักร์กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของงานวิจัยว่า เป็นเพราะอยากจะตอบตัวเอง อยากจะทำความเข้าใจว่าทำไมการอ้างมือที่สามจึงมีพลังทางการเมือง และทำให้การเคลื่อนไหวของชาวบ้านฝ่อไป รวมถึงการอ้างบางครั้ง ยังสามารถทำให้สังคมไทยทั้งหมดเพิกเฉยต่อความรุนแรงที่รัฐกระทำต่อชาวบ้านได้

จากการศึกษาพบว่า การอ้างถึงมือที่สามซึ่งอยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของชาวบ้านหรือประชาชนโดยอ้างว่าเป็นผู้กระทำการให้เกิดเรื่องที่ไม่น่ากระทำ เป็นเสมือนเครื่องมืออันทรงพลังของรัฐที่อธิบายให้กับสังคมไทยได้ว่า รัฐไม่ได้ก่อปัญหา รัฐไม่ได้เป็นตัวปัญหา หากแต่ความขัดแย้งนั้นเกิดขึ้นจากมือที่สามไปยุยง

"สิ่งสำคัญในกระบวนการมือที่สามนี้ คือ สิ่งที่ต้องตั้งคำถามและต้องตอบให้ได้ว่า ทำไมสังคมยอมรับการอธิบายแบบนี้" รศ.ดร.อรรถจักร์กล่าวและว่า การอธิบายแบบนี้มีมายาวนานมาก อาจจะก่อนปี พ.ศ. 2500 และการที่สังคมยอมรับการอธิบายแบบนี้ เป็นระบบหนึ่งของวัฒนธรรมที่อธิบายการจัดการของมือที่สาม

การที่สังคมยอมรับการอธิบายแบบนี้ เปิดโอกาสให้รัฐกระทำการต่างๆ ได้อย่างที่อยากกระทำ มิหนำซ้ำการที่สังคมเชื่อแบบนี้ ยังเปิดโอกาสให้รัฐกดการเคลื่อนไหวทั้งหมดให้หยุดลงไป สามารถทำลายผู้ที่ถูกป้ายสีจากรัฐว่าเป็นมือที่สามให้ย่อยยับลงได้

"มือที่สาม จึงเป็นปฏิบัติการที่จรรโลงอำนาจรัฐโดยที่รัฐไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย" รศ.ดร.อรรถจักร์กล่าว

"มือที่สาม" ยาแก้สารพัดโรค

รศ.ดร.อรรถจักร์กล่าวอีกว่า การอ้างถึงมือที่สาม ถือเป็นยาสารพัดโรคที่รักษาได้เห็นผลชะงัดมาก และยังเป็นยาที่สามารถสยบการเมืองไทยให้อยู่ใต้อำนาจรัฐตลอดมา อย่างน้อยที่สุดก็ตั้งแต่ 2500 ถึงปัจจุบัน การอธิบายเรื่องการอ้างถึงยาสารพัดโลกตามที่กล่าวมา น่าจะมีระบบวัฒนธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่มารองรับการอธิบาย เรียกว่าเป็นวัฒนธรรมมือที่สาม

"ตัวการใหญ่ที่ทำให้สังคมยอมรับการอ้างแบบนี้ของรัฐ คือ มรดกทางประวัติศาสตร์ มรดกทางอดีตซึ่งทาบทับอยู่ในสังคมไทยสูงมาก" รศ.ดร.อรรถจักร์กล่าว

มรดกทางประวัติศาสตร์ประการสำคัญที่สังคมไทยสืบทอดมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ยุครัตนโกสินทร์ จนถึงปัจจุบัน คือ ความคิดเรื่องรัฐและกษัตริย์ ซึ่งเป็นคำอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมที่ยังดำรงอยู่จนถึงทุกวันนี้ เป็นความคิดที่เน้นพันธะกิจของผู้ปกครอง คือ เชื่อว่าถ้าหากเป็นผู้ปกครองแล้ว ย่อมต้องทำหน้าที่ให้ผู้ใต้ปกครองได้รับผลดี ถ้าหากไม่ปฏิบัติตามภารกิจนี้ย่อมไม่สามารถอยู่ในอำนาจได้

ภายใต้มุมมองแบบนี้คนไทยจึงเชื่อว่ารัฐหวังดีเสมอ และประชาชนพึงเชื่อฟังรัฐเสมอ การเคลื่อนไหวที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐ จะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีมือที่สาม

นอกจากนี้ระบบคิดที่หนุนเสริมวัฒนธรรมมือที่สามที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ความคิดเรื่องการแบ่งงานกันทำ แต่ละคนจะไม่ก้าวก่ายงานหรือสถานะของแต่ละคน ผู้ปกครองเป็นหัว ข้าราชการเป็นแขนขา ประชาชนเป็นเส้นผม ความคิดทำนองนี้ยังดำเนินมาจนถึงทุกวันนี้ และน่าสนใจว่าการอธิบายแบบนี้ฝังอยู่ในมหาวิทยาลัยหลายๆ แห่งอย่างลึกซึ้งอีกด้วย

การกลืนเข้าเป็นชาติ โดยรัฐก็เช่นกัน รัฐนึกว่าตัวเองเป็นตัวแทนของชาติ กระบวนการนี้ทำให้ผู้ปกครองสูงเด่นขึ้น บนฐานวิธีคิดแบบนี้จึงทำให้การเคลื่อนไหวอะไรก็ตามจะต้องเกิด เพราะมีเงื่อนไขอื่นๆ ประกอบ เช่น ผู้ปกครองต้องทำดีกับประชาชน แต่ถ้าหากมีความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐ กับผู้ปกครอง ถือเป็นความขัดแย้งที่ผิดปกติจากคนที่ไม่หวังดี หรือ มือที่สาม

"ผมพบว่ารากฐานแบบนี้ดำรงอยู่ในสังคมไทยเรื่อยมา โดยผ่านแบบเรียน ผ่านสื่อ ผ่านสโลแกนการเลือกตั้งคนดี ผ่านการบอกว่าสังคมไทยต้องให้คนดีปกครอง ผ่านการสื่อสารทางสังคมทุกรูปแบบ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ทุกคนสามารถหยิบฉวยเอามือที่สามมาเป็นเครื่องมือในการยืนยันการเคลื่อนไหวใดๆ ที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐได้อย่างชัดเจน" รศ.ดร.อรรถจักร์กล่าว

ความเปลี่ยนแปลงในการใช้มือที่สาม

การเปลี่ยนแปลงในตัวของคนที่ถูกอ้างว่าเป็นมือที่สามจาก พ.ศ. 2500 ถึงปัจจุบันมีอย่างน้อยสามกลุ่ม

กลุ่มแรกที่ถูกทำเป็นมือที่สาม คือ กลุ่มคอมมิวนิสต์ ตั้งแต่แรกที่พรรคคอมมิวนิสต์(พคท.)ไม่มีการเคลื่อนไหว เพราะราว พ.ศ. 2500 พคท.ยังเป็นเพียงหน่ออ่อนเล็กๆ ในสังคมไทย แต่ถูกทำให้เป็นมือที่สามเพื่อสร้างปฏิบัติการของรัฐให้ไปทำอะไรอีกมากมาย

กลุ่มที่สองคือ นักศึกษาที่เป็นคอมมิวนิสต์ ช่วงนี้เกิดขึ้นหลังพ.ศ. 2516 เป็นต้นมา กลุ่มที่สาม คือเอ็นจีโอและผู้ประสงค์ประโยชน์ส่วนตัว โดยรัฐใช้คนเหล่านี้เป็นมือที่สาม และสามารถทำให้สังคมยอมรับข้ออ้างนี้ ซึ่งเป็นผลให้รัฐสามารถใช้อำนาจในการบดขยี้ได้เลย

"เริ่มต้นจากบดขยี้คอมมิวนิสต์เรื่อยมาถึงนักศึกษา จนถึงการบดขยี้เอ็นจีโอ" รศ.ดร.อรรจักร์กล่าว

ในช่วงแรกๆ การอ้างคอมมิวนิสต์เป็นมือที่สามนั้น มีการไล่จับครูมากมาย ซึ่งบางส่วนอาจเป็นสมาชิก พคท. แต่คนจำนวนมากที่ถูกจับไปไม่ได้เกี่ยวข้องแต่อย่างใด การใช้ " มือที่สาม" จึงเป็นเครื่องมือที่สามารถใช้ได้โดยไม่มีใครกล้าร้องแรกแหกกระเชอขึ้นมาเลย

ในกรณีของคอมมิวนิสต์ ช่วง พ.ศ.2500 ต้นๆ ผู้ถูกป้ายสีไม่มีโอกาสที่จะตอบโต้ เพราะสื่อปิด การเมืองช่วงนั้นก็เป็นการเมืองปิด การสื่อสารไหลจากส่วนกลางเพียงอย่างเดียว ทำให้คนที่โดนจับไม่มีโอกาสตอบโต้ได้เลย

ต่อมาช่วงก่อนปีพ.ศ. 2516 นักศึกษาเริ่มถูกมองว่าเป็นมือที่สาม และนักศึกษาเองก็พยายามสร้างการอธิบายตัวเองขึ้นมาโดยพยายามบอกจะอธิบายตัวเองว่า ไม่ใช่มือที่สาม หรือมิเช่นนั้นก็พยายามอธิบายความเป็นมือที่สามในความหมายใหม่ ซึ่งมีหลักฐานปรากฏในหนังสือหลายเล่มอธิบายว่าถ้าเห็นใจคนจน ต่อสู้เพื่อคนจน จะเป็นซ้ายก็ยอมเป็น ซึ่งเป็นการอธิบายตำแหน่งของตัวเองขึ้นมาอีกแบบ

รวมทั้งมีการเริ่มพูดถึงกองหน้าประชาชนขึ้นมา คือ ยอมรับความเป็นมือที่สาม แต่เป็นมือที่สามที่ไม่ใช่แบบที่รัฐทำ ยอมรับว่าการเป็นมือที่สามว่าทำเพื่อประโยชน์สุขของคนยากจนทั้งหลาย

"เราจะพบว่าขบวนการอธิบายตรงนี้เข้มข้นมากหลังปี พ.ศ. 2516 เรื่อยมาจนกระทั่งมาถึงปีพ.ศ2518 จนกระทั้งปี พ.ศ. 2518 -2519 กระบวนการนักศึกษาไม่อธิบายอีกแล้ว ไม่สนใจว่าใครจะว่าเป็นมือที่สาม นักศึกษาพร้อมเข้าป่า ขบวนการตอบโต้ตรงนี้สังคมบางกลุ่มอาจจะรับได้ แต่สังคมทั่วไปไม่ยอมรับ "รศ.ดร.อรรถจักร์กล่าว

รศ.ดร.อรรถจักร์กล่าวต่อว่า กลไกอำนาจรัฐเริ่มค่อยๆ ขยับทำลายการต่อสู้ด้วยการเรียกร้องแบบเดิม คือ การแบ่งงานกันทำ สิ่งที่เรียกร้องตอนนั้นคือ การให้นักศึกษากลับเข้าสู่ห้องเรียน กลับมาทำหน้าที่นักเรียน ซึ่งก็เริ่มได้ผล เพราะการเรียกร้องดังกล่าวทำให้กองหน้าของประชาชนไม่ค่อยมีพลัง จนกระทั่งถึง 6 ตุลา มือที่สามก็หยุดไปช่วงหนึ่ง เพราะบรรยากาศตอนนั้นไม่เปิดให้มือที่สามโผล่อีกทั้งรัฐยังกุมอำนาจเบ็ดเสร็จอีกด้วย

หลังจากปี 2520 เป็นต้นมา การเมืองเปิดมาขึ้น เริ่มมีคนกลุ่มใหม่ออกไปทำงานบางอย่างขึ้นมา และเริ่มมีกระบวนการของประชาชนขึ้น เริ่มมีความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับรัฐขึ้นมา แล้วรัฐก็ใช้วิธีการเดิมคือ เอ็นจีโอเป็นมือที่สาม ทำให้คำว่าเอ็นจีโอมีความหมายแพร่หลายในแง่ลบมาก

"เอ็นจีโอ คงเห็นว่าถ้าหากปล่อยให้วัฒนธรรมมือที่สามทำงานแบบนี้ ตัวเขาก็ทำงานลำบาก สิ่งที่เขาพยายามทำ คือ พยายามจะสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เช่น พยายามที่จะสร้าง สถาปนาการเมืองภาคประชาชนขึ้น เพื่อเปลี่ยนการเคลื่อนไหวของชาวบ้านให้เป็นการเคลื่อนไหวภายใต้พื้นที่ทางการเมืองใหม่ในระบอบประชาธิปไตย" รศ.ดร.อรรถจักร์กล่าว

นอกจากการเมืองภาคประชาชนซึ่งเปลี่ยนความหมายของพลเมืองแล้ว ยังมีความพยายามเปลี่ยนบทบาทการเคลื่อนไหวของชาวบ้านกับเอ็นจีโอด้วย เช่น กรณีสมัชชาชนคนจนเห็นได้ชัดว่าพยายามจะปรับเอ็นจีโอเป็นเพียงแค่กองเลขาฯ หรือพี่เลี้ยง ในขณะที่ให้พ่อครัวใหญ่หรือตัวแทนชาวบ้านเป็นคนตัดสิน ซึ่งเป็นการพยายามบอกว่าเอ็นจีโอเป็นเพียงผู้ช่วยของชาวบ้าน เพื่อลดภาพของมือที่สามลง แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ

รศ.ดร.อรรถจักร์กล่าวต่อว่า ขบวนการแปะป้ายมือที่สาม ได้ผลในแง่สามารถจรรโลงอำนาจรัฐโดยที่ไม่แยแส และไม่ต้องมีความรับผิดชอบ อีกทั้งยังเป็นการกระทำที่ได้ผลมากที่สุดเท่าที่ผ่านมา เพราะหากพิจารณาเคลื่อนไหวของภาคประชาชนต่างๆ จะเห็นว่าแทบเคลื่อนไหวไม่ออก เนื่องจากสังคมเริ่มยอมรับสิ่งที่รัฐป้ายสีสร้างมือที่สามขึ้น

ความเปลี่ยนแปลงในการใช้มือที่สาม

หลังจากเริ่มมีการเปลี่ยนตำแหน่งแห่งที่ของมือที่สามแล้ว กระแสการพูดถึงมือที่สามก็ลดลง สิ่งสำคัญของการเปลี่ยนกรอบ คือ การเมืองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการเมืองระบบกึ่งปิดกึ่งเปิดที่จำเป็นจะต้องเปลี่ยนบทบาทผู้ปกครองจากเดิมที่ผู้ปกครองลอยได้ เป็นการพิสูจน์งานของผู้ปกครอง

ขณะเดียวกันได้เกิดการเมืองภาคประชาชนขึ้น ทำให้การใช้วัฒนธรรมมือที่สามมีพลังน้อยลง เพราะเงื่อนไขของระบอบการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับพ.ศ.2540 ได้ทำให้รัฐบาลเข้มแข้งมากขึ้น และการที่จะทำให้พรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลมีความเข้มแข็ง จำเป็นต้องสร้างการรับรู้ในสังคมว่าใครเคลื่อนไหวอยู่ในตำแหน่งใด ในสถานการณ์อย่างไร ไม่ว่าการรับรู้นั้นจะจริงหรือถูกสร้างขึ้นมาก็ตาม ทำให้การการอ้างอิง "มือที่สาม" กลับเป็นการลดทอนภาพพจน์ของรัฐบาลที่เข้มแข็งลงไป

ดังนั้น จึงเห็นได้ว่ารัฐบาลปัจจุบันเลือกระบุถึงมือที่สองอย่างชัดเจนว่าใครเป็นคนสร้างความขัดแย้ง และการเคลื่อนไหวอันเป็นปฏิปักษ์ เช่น การใช้คำว่า "ขาประจำ" "โจรกระจอก" "โจรก่อการร้าย" โดยอ้างถึงมือที่สามน้อยลง ทำให้รัฐบดขยี้ได้ง่าย

"กรณีกรือเซะ หรือกรณีของปักษ์ใต้ รัฐไม่ได้พูดถึงมือที่สาม แต่ชี้เป้าว่าใครคือตัวปัญหา และจะบดขยี้ ซึ่งกระบวนการตรงนี้แม้จะเปลี่ยนความคิดเรื่องมือที่สามไป แต่ไม่ได้เป็นเครื่องชี้วัดว่าระบอบการเมืองของประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย เพียงแต่เป็นเครื่องมือที่ชี้ว่า อำนาจรัฐบนรากฐานวัฒนธรรมเดิมบดขยี้มือที่สองได้ง่ายขึ้น ชอบธรรมและกว้างขวางมากขึ้น" รศ.ดร.อรรถจักร์กล่าว

ท้ายที่สุด รศ.ดร.อรรถจักรสรุปว่า การเสื่อมสลายของวัฒนธรรมมือที่สาม จะนำไปสู่การแบ่งประเทศไทยออกเป็นสองกลุ่มชัดๆ คือ กลุ่มที่เป็นกลุ่มกระทำตามอย่างที่รัฐบาลกำหนด และกลุ่มที่ขัดขวางรัฐบาล ซึ่งไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม กลุ่มที่ขัดขวางก็จะถูกทำลายลงได้ง่ายขึ้น

ศิริรัตน์ อนันต์รัตน์
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net