Skip to main content
sharethis

โรงพยาบาลรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง ตั้งห่างออกมาจากตัวอำเภอออกมา อยู่โดดเดี่ยวล้อมรอบด้วยสวนยางไม่มีบ้านคนในละแวกใกล้เคียงเลย ดูแลประชากรจำนวน 9 ตำบล 71 หมู่บ้าน รวมประชากรประมาณ 64,000 คน เกือบทั้งหมดนับถือศาสนาอิสลาม ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนยาง มีสถานีอนามัยในพื้นที่จำนวน 15 แห่ง ณ.เดือนกุมภาพันธ์ 2548 โรงพยาบาลรือเสาะมีบุคลากรทั้งสิ้น 121 คน เป็นแพทย์ 5 คน ทันตแพทย์ 2 คน เภสัชกร 4 คน และพยาบาล 42 คน

นพ. อดุลย์ เร็งมา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรือเสาะ ได้นำเสนอบทเรียนที่เป็นประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ดังนี้

ที่ รพ.รือเสาะ นั้นมีเหตุการณ์ไม่สงบเกิดขึ้น 2 ครั้ง โดยครั้งแรกนั้นมีผู้ก่อการร้ายยิงปืนจากถนนเข้ามาในโรงพยาบาลบริเวณป้อมยาม ปรากฏว่า ยามของโรงพยาบาลนั้นถูกยิงบาดเจ็บ หลังจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงก็ตัดสินใจนำกำลังเข้ามาดูแลความปลอดภัยในโรงพยาบาล นำกระสอบทรายมากั้นเสริมที่ป้อมยามจนเป็นเหมือนบังเกอร์ ฝ่ายความมั่นคงได้อนุมัติให้มีปืนกรณีอยู่เวรยามได้

เหตุการณ์ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2547 มีการนำศพชาวบ้านศพหนึ่งที่ถูกยิงเสียชีวิตห่างจากโรงพยาบาลประมาณ 3 กิโลเมตรมาชันสูตรที่โรงพยาบาล อีกครึ่งชั่วโมงถัดมาขณะที่ตำรวจกำลังถอยรถตำรวจเพื่อไปล้างคราบเลือดจากศพนั้น ก็มีการยิงปืนมาจากสวนยางข้างโรงพยาบาล ยิงถูกหลังคาป้อมยามและต้นสนที่ป้อมยามหักเป็นแถว เป็นการยิงแนวระนาบ จึงสั่งให้ปิดไฟ และทุกคนหมอบ

ตอนเช้าตรวจดู พบว่าเป็นกระสุนปืน M16 นับได้ 25 นัด ที่นี่ไม่มีการขู่แบบกะพ้อ แต่ลงมือเลย ผลจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้เจ้าหน้าที่ขอย้ายกันระนาว โชคดีไม่โดนคนไม่มีผู้บาดเจ็บ แต่โดนจิตใจของเจ้าหน้าที่ทุกคนจนขวัญกระเจิง

องค์กรแพทย์ไร้พรมแดนได้เคยเข้ามาเยี่ยมดูสถานการณ์และโรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่ เขาตั้งข้อสังเกตว่า หลักการทางการแพทย์แล้ว เราเป็นกลาง เราจะดูแลรักษาพยาบาลทุกคนให้ดีที่สุด ไม่สนใจว่าเป็นฝ่ายไหน เขาจึงแนะนำว่า ใครก็ตามที่เข้าเขตรักษาพยาบาลของโรงพยาบาล ต้องตรวจและปลดอาวุธทั้งหมด โดยไม่เข้าข้างใครทั้งนั้น นี่คือหลักการที่เป็นสากล

แต่สำหรับในกรณีความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้นั้น เราคงต้องลองคุยกันดู เพราะเราเป็นข้าราชการ จึงถูกเหมารวมไปแล้วว่าคือฝ่ายอำนาจรัฐที่อยู่ตรงข้ามกับกลุ่มผู้ก่อการไปแล้ว ซึ่งต่างจากองค์กรแพทย์ไร้พรม
แดน ที่เป็นคนกลางๆจริงที่เข้าไปจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่สู้รบของอีก 2 ฝ่ายที่ตนไม่เกี่ยวข้อง

ดังนั้นโรงพยาบาลคงต้องตัดสินใจเองว่า โรงพยาบาลจะเป็นเขตปลอดอาวุธ มีบังเกอร์หรือป้อมยามข้างหน้าได้ แต่เข้าไปแล้ว ห้ามมีอาวุธปืน และมีป้ายบอกว่าเป็นเขตปลอดอาวุธ หรือว่าในบางพื้นที่ ถ้ามีทหาร/ตำรวจเข้ามาอยู่ด้วย เจ้าหน้าที่จะรู้สึกอุ่นใจและปลอดภัยมากขึ้น แต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นแต่ละทุกฝ่ายในโรงพยาบาลคงต้องหารือกันให้ชัด ผู้อำนวยการอย่าตัดสินใจเองตามลำพัง

แต่สำหรับกรณีของโรงพยาบาลรือเสาะนั้น ทางกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุข จังหวัดชายแดนใต้ ( กอ.
สสส.จชต.) มีความเห็นว่า สำหรับที่ตั้งของโรงพยาบาลรือเสาะนั้น มีความโดดเดี่ยวสูงมาก และเสี่ยงต่อการก่อการร้ายอย่างยิ่ง ดังนั้นทาง กอ.สสส.จชต.จึงได้ส่งกำลังทหารเข้ามาควบคุมพื้นที่ทั้งในและรอบโรงพยาบาลทั้งหมด มีการตั้งฐานปืนกลและบังเกอร์ในพื้นที่โรงพยาบาล ซึ่งโรงพยาบาลไม่มีสิทธิเลือกว่าจะรับหรือไม่รับ ฝ่ายทหารได้ตัดสินใจส่งกำลังมาประจำเพื่อความมั่นคงโดยไม่มีสิทธิปฏิเสธ

ช่วงแรก ๆ ที่มีทหารมาอยู่ก็มีคนคัดค้าน แต่เราพบว่าทหารมาอยู่นั้นในที่สุดทำให้เรารู้สึกดี เขาตรวจตราละเอียดมากทุกซอกทุกมุม หากเปรียบเทียบระหว่างตำรวจและทหารแล้ว ความเข้มแข็งและวินัยของทหารดีกว่ามาก ตำรวจมาเฝ้าก็เหมือนมาดูทีวี แต่ทหารไม่ใช่ เขาอยู่ที่หน้าบังเกอร์สายตามองส่ายไปมาอย่างระแวดระวัง ในปัจจุบันนั้นการมีทหารตั้งฐานในโรงพยาบาลนั้น ทำให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลนั้นมีความอุ่นใจขึ้น เป็นบวกมากกว่าลบ นับเป็นตัวอย่างที่ชัดที่สุดที่มีหน่วยกำลังไปตั้งฐานคุ้มกันโรงพยาบาล

นพ.อดุลย์ เร็งมา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรือเสาะ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net