Skip to main content
sharethis

กระบี่ - 4 มี.ค.48 นายณัฐวุฒิ แก่นทอง กรรมการประสานงานองค์กรความร่วมมือผู้ประกอบการรายย่อยแรงงานและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นยักษ์ซึนามิเกาะพีพี เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางผู้ประกอบการและเจ้าของที่ดินบนเกาะพีพี จังหวัดกระบี่ ได้รับแจ้งว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 8 มีนาคม 2548 นี้ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รองนายกรัฐมนตรี จะนำมาตรการฟื้นฟู 6 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นยักษ์สึนามิเข้าพิจารณาในที่ประชุม สำหรับเกาพีพีจะมอบหมายให้องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) เข้ามาบริหารจัดการทั้งหมด

นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า สำหรับแผนฟื้นฟูของ อพท. เท่าที่ทราบเบื้องต้น จะเวนคืนที่ดินจากเจ้าของที่ดินทั้งหมด เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นสูง ให้บริการครบวงจร รับเฉพาะนักท่องเที่ยวระดับมหาเศรษฐี โดยจะสร้างรีสอร์ตหรูบนภูเขาของเกาะพีพีทั้ง 2 ลูก โดยร่วมทุนกับบุคคล หรือนิติบุคคลต่างๆ ส่วนพื้นที่ราบจะไม่มีการปลูกสร้างอาคารใดๆ พร้อมกับอพยพชาวบ้านบนเกาะพีพี ขึ้นไปอยู่บนที่สูงด้วย โดยอ้างว่าที่ราบบนเกาะเป็นพื้นที่เสี่ยงภัย

นายณัฐวุฒิ กล่าวต่อไปว่า แนวทางดังกล่าว เท่ากับเป็นการไล่ชาวบ้าน แรงงาน ผู้ประกอบการบนเกาะพีพีในขณะนี้ ออกจากเกาะพีพี เพราะถ้า อพท. ร่วมทุนกับเอกชนยักษ์ใหญ่รายใดรายหนึ่ง หรือหลายราย เนรมิตเกาะพีพีให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว รองรับคนชั้นสูง มีการให้บริการครบวงจร ก็เท่ากับปิดทางทำมาหากินของคนบนเกาะพีพีทั้งหมด

นายณัฐวิฒิ กล่าวอีกว่า เท่าที่ทราบโครงการนี้เกิดขึ้นเพราะมีกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่บางกลุ่ม ต้องการฮุบเกาะพีพีไปทำธุรกิจท่องเที่ยว โดยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธาราและหมู่เกาะพีพีเป็นจุดขาย

"คนเกาะพีพีสิ้นเนื้อประดาตัวจากคลื่นยักษ์ซึนามิแล้ว ยังไม่พอ เรายังจะสูญเสียพื้นที่ทำมาหากิน ให้กับกลุ่มทุนขนาดใหญ่จากภายนอกอีก ตอนแรกพวกเราคิดว่า จะถือโอกาสนี้ปรับปรุงเกาะพีพี จัดวางผังเมืองใหม่ กำหนดกติกาการอยู่ร่วมกัน เพื่อลดปัญหามลภาวะบนเกาะ แต่ก็มาเกิดปัญหานี้เสียก่อน" นายณัฐวุฒิ กล่าว

ขณะเดียวกัน นายพันคำ กิตติธรกุล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ ได้ออกแบบสอบถามเจ้าของที่ดิน ผู้ประกอบการ และแรงงานบนเกาะพีพีเกือบ 6,000 คนว่า ต้องการให้พัฒนาเกาะพีพีเป็นโรงแรมระดับ 5 ดาว โดยให้ต่างชาติเข้ามาบริหารจัดการหรือไม่ โดยยืนยันว่าตนไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว

ขณะที่นายอานนท์ พรหมนารท ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ได้มีหนังสือที่ กบ 0020.0/642 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2548 เชิญเจ้าของที่ดินบนเกาะพีพีดอนมาเสนอราคาที่ดินและทรัพย์สินกรณีที่มีการเวนคืนที่ดิน, แนวทางการแลกเปลี่ยนที่ดินกรณีมีความประสงค์ย้ายสถานที่ตั้งการประกอบกิจการ และหลักฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2548 ที่ผ่านมา องค์กรความร่วมมือผู้ประกอบการรายย่อยแรงงาน และชุมชนที่ประสบภัยเกาะพีพี ได้จัดประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นการจัดทำผังเมืองเกาะพีพี เพื่อเตรียมข้อมูลนำเสนอต่อกรมโยธาธิการและผังเมือง ที่โรงแรมเวียงทอง มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 200 คน

นายสัก กอแสงเรือง สมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่าห่วงใยหากมีการจัดการให้เกาะพีพีเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว เพราะขณะนี้มีร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งให้อำนาจกับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานเขตเศรษฐกิจพิเศษมากมายมหาศาล ร่างกฎหมายฉบับนี้ ยกเว้นกฎหมายอื่นๆ เปิดช่องให้ผู้บริหารเขตเศรษฐกิจทำอะไรก็ได้ นั่นหมายถึงว่า ถ้าร่างกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ย่อมส่งผลให้อนาคตของคนที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ลักษณะนี้ จะไม่มีความมั่นคงใดๆ ทั้งสิ้น

นางภารณี สวัสดิรักษ์ กรรมการบริหารสมาคมนักผังเมืองไทย กล่าวว่า การจัดรูปที่ดินเพื่อวางผังเมือง มีรายละเอียดที่ชาวบ้านจะต้องกลับไปพูดคุยกันอีกมาก ไม่ว่าจะเรื่องการถอยร่น แนวอาคาร ความสูง ระยะห่าง พื้นที่ว่าง ที่สำคัญต้องยอมรับว่าเกาะพีพีเป็นพื้นที่เสี่ยงภัย การจัดผังเมืองต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า จะอยู่บนพื้นที่ราบ อยู่ใกล้ชายฝั่งไม่ได้ ขึ้นกับว่าจะอยู่อย่างไร ใช้อาคารแบบไหน เส้นทางหนีภัยเป็นอย่างไร มีจุดหลบภัยหรือไม่

นายสุภิชัย ตั้งใจตรง รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม กล่าวว่า การขึ้นไปอยู่ที่สูงไม่ได้หมายความว่า จะมีความปลอดภัยเสมอไป อย่าลืมว่าพื้นที่สูงจะมีความเสี่ยงเรื่องแผ่นดินถล่มสูงมาก ขณะเดียวกันการอยู่บนพื้นที่ราบก็ไม่ได้หมายความว่า จะมีความปลอดภัยน้อยกว่าการอยู่บนพื้นที่สูง ขึ้นอยู่กับว่า มนุษย์จะอยู่กับธรรมชาติอย่างไรให้เหมาะสมสอดคล้องมากกว่า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net