Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

อาจกล่าวได้ว่า ในบรรดากลุ่มผู้ประสบภัยจากคลื่นยักษ์สึนามิครั้งนี้ ประชาชนชาวพม่า เป็นกลุ่มคนที่เผชิญความสูญเสีย ทั้งบุคคลอันเป็นที่รัก และทรัพย์สิน ไม่น้อยไปกว่าชนชาติอื่นๆ ที่ประสบภัยในภูมิภาคนี้ แต่ทว่า เสียงคร่ำครวญร่ำไห้ของผู้ประสบภัยเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศพม่าบ้านเกิด หรือผู้เป็นแรงงานอพยพในประเทศไทยกลับแผ่วเบาจนแทบไม่มีใครได้ยิน

คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ ความเงียบดังกล่าวเกิดจากความสงบสุขอย่างแท้จริง หรือเกิดจากการถูกปกปิดไม่ให้เสียงเหล่านั้นเล็ดลอดออกมา เพราะคนพม่า ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศของตนเอง หรือประเทศไทยล้วนไม่มีโอกาสได้บอกเล่าเรื่องราวของตนเองสู่โลกภายนอกอย่างเสรี ชะตากรรมคนพม่าจากคลื่นยักษ์สึนามิ จึงเป็นแค่เพียงเสียงเพรียกที่ไม่มีใครได้ยิน

เสียงตะโกนที่เงียบงัน หากพิจารณาพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นยักษ์สึนามิตั้งแต่ประเทศไทยไปจนถึงประเทศพม่าจะพบว่า ตัวเลขความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยกับประเทศพม่าแตกต่างกันอย่างลิบลับ ขณะที่ประเทศไทยมีพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย 6 จังหวัด มีผู้เสียชีวิตและสูญหายรวมกันนับหมื่นคน แต่ตัวเลขที่ทางการพม่าออกมาเปิดเผยต่อโลกภายนอกกลับพบผู้เสียชีวิตเพียง 53 คน และสูญหายเพียง 21 คน ส่วนผู้ไร้ที่อยู่อาศัยมีประมาณ 3 หมื่นคน

ตัวเลขดังกล่าวก่อให้เกิดข้อกังขาที่ว่า เพราะเหตุใดตัวเลขของผู้เสียชีวิตในประเทศพม่า ซึ่งมีชายฝั่งทะเลอันดามันเป็นแนวยาวต่อจากประเทศไทยและมีเกาะเล็กเกาะน้อยหลายสิบเกาะจึงมีผู้เสียชีวิตและสูญหายรวมกันไม่ถึงหนึ่งร้อยคน ขณะที่สื่ออื่นๆ ซึ่งพยายามติดตามสอบถามข้อมูลจากประชาชนในพื้นที่ อย่างเช่น สถานีวิทยุเสียงประชาธิปไตยแห่งพม่าได้เปิดเผยข้อมูลที่แตกต่างกันว่า เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีประชาชนอาศัยอยู่จำนวนมาก โดยภาคอิระวดีพบผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 400 คน เฉพาะที่อยู่บนเกาะลำปีมีผู้เสียชีวิต 200 คน

เจ้าของเรือที่รอดชีวิตในภาคอิระวดีกล่าวว่า มีเรือประมงนับร้อยลำที่หายไปหลังจากเกิดเหตุคลื่นยักษ์ นอกจากนี้ บ่อนคาสิโนบนเกาะตะเทจูน ซึ่งมีนักเล่นพนันทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เดินทางไปเล่นเป็นประจำได้รับความเสียหายมากเช่นเดียวกัน แต่จนถึงขณะนี้รัฐบาลพม่ายังไม่มีการเปิดเผยผู้เสียชีวิตจากเกาะดังกล่าวแต่อย่างใด

แม้ว่าหลังเกิดเหตุการณ์ ตัวแทนจากองค์กรนานาชาติซึ่งทำงานอยู่ในประเทศพม่าอย่างกาชาดสากลจะออกมายืนยันว่า ได้เดินทางไปสำรวจพื้นที่ที่เสียหายด้วยตนเองและพบว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตที่รัฐบาลพม่ารายงานเป็นความจริง แต่หลายคนก็ยังตั้งข้อสังเกตว่า พื้นที่ดังกล่าวอาจเป็นเพียงพื้นที่เสียหายที่รัฐบาลพม่า "ต้องการ" ให้เห็นเท่านั้น เพราะตั้งแต่เกิดเหตุจนถึงขณะนี้ โลกภายนอกยังไม่มีโอกาสได้เห็นภาพถ่าย กล้องวีดีโอ หรือเสียงจากประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวออกมากล่าวถึงภัยพิบัติครั้งนี้เลย

ยิ่งรัฐบาลพม่าออกมาประกาศว่า "ไม่ต้องการความช่วยเหลือจากต่างประเทศ" โอกาสที่คนภายนอกจะได้เข้าไปเห็นความทุกข์ของประชาชนพม่าจึงถูกตัดขาดอย่างสิ้นเชิง เสียงของผู้ประสบภัยในพม่าจึงกลายเป็นเสียงเงียบกริบซึ่งถูกปกปิดเอาไว้ไม่ให้เล็ดลอดออกมาสู่โลกภายนอก

ชะตากรรมที่ถูกลืม เมื่อหันมามองชะตากรรมแรงงานพม่าใน 6 จังหวัดภาคใต้ของไทยจะพบสถานการณ์ที่ดูเหมือนไม่ต่างกัน เพราะถึงแม้ว่าสื่อของประเทศไทยจะมีเสรีภาพมากกว่าประเทศพม่า แต่เสียงของผู้ประสบภัยชาวพม่าที่อยู่ในเมืองไทยก็ยังเป็นเสียงเงียบเช่นกัน เพราะเราแทบไม่มีโอกาสได้ยินเสียงแรงงานชาวพม่าบอกเล่าถึงความสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักเลยแม้แต่น้อย เสียงที่คนไทยส่วนใหญ่ได้รับฟังเกี่ยวกับแรงงานพม่ามักเป็นเสียงของคนอื่นที่ตีตราบาปให้พวกเขาและเธอทุกคนเป็น "ผู้ร้าย" มิใช่ "ผู้ประสบภัย"

หากพิจารณาตัวเลขแรงงานต่างด้าวที่จดทะเบียนอยู่ใน 6 จังหวัดภาคใต้ที่ประสบภัยสึนามิ จะพบว่ามีจำนวนมากกว่า 60,000 คน เฉพาะในจังหวัดพังงา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดมีจำนวนมากกว่า 30,000 คน ตัวเลขนี้ยังไม่นับรวมผู้ที่ไม่ได้จดทะเบียน ซึ่งคาดว่ามีอีกไม่น้อยกว่าหมื่นคน

ปรานม สมวงศ์ ตัวแทนกลุ่มสึนามิแอคชั่นกรุ๊ป หรือ TAG (Tsunami Action Group) และมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์หรือ MAP ซึ่งเก็บข้อมูลและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแรงงานพม่าในจังหวัดพังงาเปิดเผยว่า

"จุดที่พบความสูญเสียแรงงานพม่ามากที่สุด คือ หมู่บ้านน้ำเค็ม เนื่องจากช่วงเวลาเกิดเหตุคลื่นยักษ์เป็นช่วงที่แรงงานพม่านอนหลับอยู่ในเรือหลังจากเพิ่งกลับเข้าฝั่งในตอนเช้า โดยเรือประมงขนาดใหญ่หนึ่งลำจะมีแรงงานพม่า 30 - 40 คน เฉพาะชายฝั่งทะเลบ้านน้ำเค็มมีเรือขนาดใหญ่เสียหายอย่างน้อย 25 ลำ จึงคาดว่ามีผู้เสียชีวิตแน่นอนบนเรือเหล่านี้อย่างน้อยหนึ่งพันคน นอกจากนี้ ยังมีแรงงานหญิงและเยาวชนพม่าซึ่งทำงานภาค บริการอยู่ตามร้านค้าและร้านอาหารไม่ต่ำกว่า 50 ร้านในหมู่บ้านน้ำเค็มเสียชีวิตและสูญหายอีกเป็นจำนวนมาก"

แรงงานพม่าที่รอดชีวิตเล่าถึงวินาทีเกิดคลื่นยักษ์ว่า เวลานั้นมีเสียงตะโกนบอกให้หนีขึ้นไปบนภูเขา แต่แรงงานที่มีบัตรอนุญาตทำงานบางคนไม่ยอมวิ่งหนี เพราะเข้าใจว่าตำรวจมาจับแรงงานที่ไม่มีบัตร ทำให้บางคนวิ่งหนีไม่ทันและเสียชีวิตลง

หลังคลื่นสงบ พวกเขาและเธอจึงพากันลงมาจากภูเขา เริ่มตระเวนหาบุคคลอันเป็นที่รักตามชายฝั่งและซากปรักหักพัง บางคนได้พบศพลูกเมียตนเอง แต่ไม่มีเงินสำหรับประกอบพิธีทางศาสนาจึงปล่อยให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยนำศพไปที่วัดและเผารวมกับศพไร้ญาติอื่นๆ เมื่อเวลาผ่านไปหลายวัน การติดตามหาร่างบุคคลอันเป็นที่รักเริ่มยากมากขึ้น เพราะศพเริ่มกลายสภาพเน่าเปื่อย โอกาสที่แรงงานเหล่านี้จะนำประวัติการทำฟันหรือขอตรวจดีเอ็นเอเป็นเรื่องที่ไกลเกินฝัน ด้วยเหตุนี้ ศพของแรงงานพม่าที่ญาติสามารถพิสูจน์ศพได้จึงมีจำนวนน้อยไม่ถึงหนึ่งร้อยศพ ขณะที่แรงงานพม่าที่คาดว่าเสียชีวิตและสูญหายจากเหตุการณ์ครั้งนี้มีจำนวนไม่ต่ำกว่าห้าพันคน

หลังยุติการตามหาร่างไร้วิญญาณของผู้เป็นที่รัก แรงงานพม่าที่รอดชีวิตต้องหันกลับมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ในสภาพหมดตัว ไร้ที่อยู่อาศัย บัตรแรงงานที่เคยจดทะเบียนไว้ได้สูญหายไปกับคลื่นยักษ์ ทำให้พวกเขาและเธอตกอยู่ในสภาพแรงงานเถื่อน ต้องมีชีวิตหลบๆ ซ่อนๆ ไม่กล้าเปิดเผยตัวเองเพื่อขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ และเมื่อแรงงานพม่าบางคนเข้าร่วมก่ออาชญากรรมลักทรัพย์ แรงงานพม่าที่เหลืออยู่อีกหลายหมื่นคนก็ได้ถูกประทับตราบาปให้เป็น "ผู้ร้าย" ของสังคมไทยไปโดยปริยาย ผู้ร้ายหรือเหยื่อบริสุทธิ์?

"แฉโจรพม่ายกทัพ บุกเขาหลักงัดโรงแรม-รีสอร์ต" นี่เป็นหนึ่งในพาดหัวข่าวบนหนังสือพิมพ์ไทยที่นำเสนอภาพแรงงานพม่าเป็น "ผู้ร้าย" เพียงด้านเดียว โดยมิได้คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาของแรงงานพม่าอีกจำนวนมากมายที่ไม่ได้เป็น ผู้ร้าย แต่เป็น "ผู้ประสบภัย" จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ผลกระทบจากการนำเสนอภาพดังกล่าวได้ทำให้แรงงานพม่าทั้งหมดตกเป็นจำเลยของสังคมโดยที่ยังไม่ได้กระทำความผิด และกลายเป็นผู้ไม่มีสิทธิครอบครองทรัพย์สมบัติใดๆ ที่พวกเขาแลกมาด้วยหยาดเหงื่อแรงงานราคาถูกเลย

มิซอ (นามสมมติ) เจ้าหน้าที่ชาวพม่าในทีมช่วยเหลือผู้ประสบภัยเล่าเรื่องราวอีกแง่มุมหนึ่งของแรงงานพม่าที่วิ่งหนีคลื่นยักษ์ขึ้นไปหลบบนภูเขาแถวคุระบุรีให้ฟังว่า

"ตอนคลื่นยักษ์ซัดเข้าฝั่ง แรงงานพม่าจำนวนนับพันคนพากันวิ่งขึ้นเขา หลังคลื่นสงบก็พากันเดินลงมาจากภูเขา เจอเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยตรวจจับแรงงานต่างด้าวดักอยู่ด้านล่าง แรงงานส่วนใหญ่บัตรอนุญาตทำงานหายไปกับคลื่น เจ้าหน้าที่ก็จับกุมในฐานะแรงงานเถื่อน ถ้าใครมีทรัพย์สินมีค่าติดตัวจะถูกยึดและตั้งข้อหาว่าลักทรัพย์ เช่น บางคนใส่นาฬิกาข้อมืออยู่ตั้งแต่ก่อนคลื่นมาก็ถูกบังคับให้ถอดออก บางคนมีเงินติดตัวอยู่ห้าร้อยบาทก็ถูกยึดไป แม้ว่าแรงงานจะพยายามยืนยันว่านี่เป็นทรัพย์สินของเขา แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่รับฟัง จับเข้าคุกโดยไม่เปิดโอกาสให้พิสูจน์ข้อเท็จจริงหรือสู้คดีเลย"

การเลือกเผยแพร่เฉพาะผู้ร้ายที่เป็นแรงงานพม่าดังกล่าวทำให้อคติในหมู่คนไทยที่มีต่อคนพม่ามาเนิ่นนานได้รับการตอกย้ำอีกครั้ง และอคตินี้ได้ทำให้ "น้ำใจ" ของคนไทยซึ่งเคยมีให้คนทุกชนชาติมีข้อยกเว้นสำหรับคนพม่า

ปรานม กล่าวถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นกับผู้ประสบภัยชาวพม่าว่า "การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่เป็นแรงงานพม่าจะต่างจากคนไทย คือ บางพื้นที่มีการบริจาคสิ่งของโดยไม่แบ่งแยกว่าเป็นชนชาติไหน แต่บางพื้นที่ เจ้าหน้าที่บางคนเลือกปฏิบัติ เช่น แรงงานบางคนมีประสบการณ์ว่า วันแรกไปรับของ คนแจกของเห็นเค้าพูดภาษาไทยได้ก็แจกของให้ แต่วันถัดมา เค้าบังเอิญหันไปพูดภาษาพม่ากับเพื่อนแรงงาน พอคนแจกของรู้ว่าเป็นแรงงานพม่า เค้าก็ถูกไล่ออกจากแถว ทำให้วันถัดมา เค้าต้องคอยสังเกตว่า คนไหนที่ใจดี แจกของให้ทุกชนชาติ คนไหนเลือกปฏิบัติ แรงงานพม่าที่พูดภาษาไทยไม่ได้ก็จะไม่กล้าไปเข้าคิวรับอาหารหรือสิ่งของช่วยเหลือ แต่จะส่งตัวแทนที่พูดภาษาไทยได้ไปรับ แล้วนำมาแบ่งกัน"

นอกจากปัญหาการเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การเผยแพร่ภาพแรงงานพม่าเป็น "ผู้ร้าย" ยังนำไปสู่การกวาดล้าง จับกุม และส่งกลับอย่างเข้มงวด แรงงานที่ยังต้องการทำงานต่อในเมืองไทยจึงต้องมีชีวิตอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ และเจ้าหน้าที่ติดต่อให้ความช่วยเหลือลำบากมากยิ่งขึ้น

ขณะที่แรงงานที่ต้องการกลับบ้านโดยสมัครใจไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือได้อย่างปลอดภัย ดังเช่น กรณีเจ้าหน้าที่จากมูลนิธิศุภนิมิต (World Vision) ซึ่งตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ และเป็นตัวกลางประสานการส่งแรงงานข้ามชาติที่สมัครใจกลับบ้าน แต่เจ้าหน้าที่กลับถูกขัดขวางและข่มขู่จากนายจ้างที่ยังต้องการแรงงานเหล่านั้น จนทำให้กระบวนการส่งตัวกลับอย่างสมัครใจหยุดชะงัก กระแสความเกลียดชังและความไม่เข้าใจดังกล่าวทำให้ปัญหาแรงงานพม่าที่ประสบภัยจากสึนามิกลายเป็นปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งหากไม่เร่งแก้ไขเรื่องความเข้าใจของคนไทยต่อแรงงานพม่า แรงงานพม่าที่ไม่ได้กระทำความผิดใดๆ ก็จะกลายเป็น "เหยื่อบริสุทธิ์" ของสังคมไทยต่อไป

บนถนนที่เต็มไปด้วยซากปรักหักพังของหมู่บ้านทับละมู เอเอ (นามสมมติ) หญิงพม่าวัย 27 ปีกำลังนั่งร้องไห้พร้อมกับลูกน้อยอายุ 4 เดือนอยู่บนตัก หลังจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์ผ่านไปสองวัน เธอจึงพาลูกน้อยลงจากเขา เพราะเธอไม่มีน้ำนมให้ลูกกินเนื่องจากร่างกายของเธอขาดอาหารมาหลายวัน เมื่อลงมาถึงหมู่บ้านเดิม เธอตกใจกับสภาพบ้านเรือนที่กลายเป็นซากปรักหักพัง จนไม่รู้จะเดินไปทางไหนและกลัวว่าจะไม่ได้พบหน้าสามีของเธอ ที่ออกเรือไปกลางทะเลตั้งแต่เดือนที่แล้วอีกครั้ง

นางจึงนั่งร้องไห้อยู่ข้างถนนจนกระทั่ง มะขิ่น (นามสมมติ) แรงงานหญิงพม่าผ่านมาเห็นและสงสารจึงพาไปพักอยู่ด้วยกัน แต่ด้วยนางมะขิ่นเองก็ยากจน จึงไม่มีเงินมากพอที่จะซื้อนมผงให้เด็กกิน นางจึงให้เงินไปซื้อนมข้นหวาน ทำให้เด็กเกิดอาการท้องเสียอย่างรุนแรง ระหว่างนั้นทีมงานของมิซอซึ่งติดตามช่วยเหลือแรงงานพม่าเดินทางไปพบสองแม่ลูกพอดี จึงมอบเงินให้พาลูกไปหาหมอจนกระทั่งเด็กมีอาการดีขึ้น และท้ายที่สุด สามีของนางก็กลับจากทะเลและออกตามหาเมียและลูกจนเจอ ครอบครัวนี้จึงได้อยู่พร้อมหน้ากันอีกครั้ง

ไม่ไกลกันนัก ครอบครัวแรงงานสี่ครอบครัวซึ่งมีสมาชิกครอบครัวละสี่คนได้โบกรถจากหมู่บ้านทับละมูมาลงที่ปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งในจังหวัดพังงา ทั้งสิบกว่าชีวิตนั่งร้องไห้อยู่แถวปั๊มน้ำมันดังกล่าวเพราะไม่รู้จะไม่ไหน และหวาดกลัวว่า หากอยู่พื้นที่เดิมต่อไปจะถูกจับ นายจ้างไทยคนหนึ่งผ่านมาเห็นเข้าจึงสงสาร แล้วตัดสินใจช่วยเหลือครอบครัวหนึ่งให้พักและทำงานอยู่แถวแพปลา มีรายได้วันละหนึ่งร้อยบาท

แม้ความช่วยเหลือข้างต้นจะไม่สามารถครอบคลุมไปถึงทุกครอบครัวของแรงงานพม่าที่ประสบภัย แต่อาจกล่าวได้ว่า ความช่วยเหลือดังกล่าวเป็นเสมือนแสงสว่างในความมืดที่ส่องลงมากลางโลกอันมืดมิดของแรงงานพม่า หยาดน้ำใจของแรงงานพม่าด้วยกันและคนไทยหลายคนได้ทำให้ชีวิตแรงงานหลายครอบครัวได้เห็นทางสำหรับก้าวเดินต่อไปข้างหน้าอีกครั้ง

มิซอ เจ้าหน้าที่ชาวพม่าคนเดิมกล่าวถึงความตั้งใจของแรงงานพม่าส่วนใหญ่ว่า "ตอนนี้มีแรงงานหลายคนออกเรือไปหาปลากับนายจ้างแล้ว บางคนบอกว่าตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ยังไม่อยากกลับไปบ้านตอนนี้ เพราะเงินที่หามาได้สูญหายไปหมดแล้ว ตั้งใจว่าจะทำงานเก็บเงินอีกสักสามเดือน แล้วค่อยกลับไปพักฟื้นจิตใจที่บ้าน"

จนถึงขณะนี้ สิ่งที่องค์กรช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิเรียกร้องจากภาครัฐให้มีการจัดการอย่างเร่งด่วน คือ ความช่วยเหลือด้านโภชนาการในกลุ่มแม่และเด็ก ส่วนสิ่งที่ต้องการผลักดันให้ภาครัฐดำเนินการในระยะยาว คือ จัดทำฐานข้อมูลว่าแรงงานที่ได้รับผลกระทบมีจำนวนเท่าไหร่ เพื่อช่วยในการวางแผนจัดการเรื่องแรงงานข้ามชาติต่อไป เพราะเมื่อเหตุการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ ประเทศไทยยังคงต้องการแรงงานเหล่านี้ต่อไปอย่างแน่นอน

สิ่งสุดท้ายที่หลายคนหวังไว้คือ รัฐบาลไทยควรเป็นผู้นำในการสร้างความเข้าใจร่วมกันเรื่องคนย้ายถิ่น ลดการตอกย้ำอคติทางชาติพันธุ์ต่อคนพม่า เพื่อไม่ให้แรงงานเหล่านี้ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีสิทธิมีเสียงกลายเป็นผู้ร้ายของสังคมได้ง่าย ดังเช่นสิ่งที่ อ่องเมียวมิ้นท์ ตัวแทนจากองค์กรศึกษาสิทธิมนุษยชนพม่าได้ฝากข้อความมาถึงคนไทยทุกคนว่า

"สิ่งที่เราต้องการความช่วยเหลือจากคนไทยอันดับแรกไม่ใช่เงินทองหรืออาหาร แต่เราต้องการทัศนคติที่ดีจากคนไทย อยากให้มองคนพม่าในฐานะเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง เพราะถ้าเราสามารถเปลี่ยนความคิดนี้ได้ ความช่วยเหลืออื่นๆ ก็จะตามมา

ธันวา สิริเมธี
ที่มา : เสียงสาละวินโพสต์ ฉบับที่ 20 (1 มกราคม - 15 กุมภาพันธ์ 2548)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net