Skip to main content
sharethis

เรื่องการจัดการภายในของครม. ไม่จำเป็นต้องออก พ.ร.ฎ.
ประเด็น คือ พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้กำหนดองค์ประชุมของ ครม. 1 ใน 3 กำหนดขึ้นโดยกฎหมายอะไร ซึ่งถ้าจะกำหนด จะต้องถูกกำหนดโดยกฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่าพระราชกฤษฎีกา

เหตุผลหลัก 2 ประการที่อ้างในบันทึกหลักการและเหตุผลของกฎหมายฉบับนี้ คือ เพื่อลดภาระของเรื่องที่ ครม.จะต้องพิจารณา และสำหรับกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ที่ไม่สามารถประชุม ครม.เต็มรูปแบบหรือตามที่กฎหมายกำหนดได้

ทั้ง 2 ประเด็นที่กล่าวมา เป็นเรื่องการจัดการภายในของ ครม. ไม่จำเป็นต้องกำหนดเป็นกฎหมายระดับพระราชกฤษฎีกา ซึ่งเดิมมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีรองรับการกำหนดเรื่องที่จะเสนอต่อ ครม.อยู่แล้ว

เรื่ององค์ประชุม ครม. กฎหมายฉบับนี้ตราโดยอ้างอำนาจรัฐธรรมนูญ และอ้างมาตรา 3/1 ของระเบียบ พรบ.ระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ซึ่งเนื้อความไม่เกี่ยวกับเรื่ององค์ประชุมของครม. แต่เป็นเรื่องของส่วนราชการ ประเด็นจึงอยู่ที่การอ้างแหล่งที่มาของอำนาจในการตราพระราชกฤษฎีกา

พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ไม่ทำให้เรื่องสัพเพเหระต่างๆ ที่จะเข้าสู่ ครม.ลดลง
กรณีที่กฎหมายให้อำนาจ ครม.ในการพิจารณาเรื่องต่างๆ หากดูในมาตรา 4 ของพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องต้องเสนอต่อ ครม. ในวงเล็บ 1 ที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและไม่ต้องเสนอต่อ ครม. ซึ่งหากไม่ไปแก้กฎหมายที่มีอยู่ก่อนเหล่านั้น เรื่องต่างๆ จะยังคงต้องนำเสนอต่อ ครม.อยู่

ประเด็นเรื่องสัพเพเหระต่างๆ ที่จะเข้าสู่ ครม.จะมาโดยอะไร ก็จะยังคงเข้ามาโดยวงเล็บ 12 เรื่องที่นายกฯ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลนำเสนอหรือมีคำสั่งให้นำเสนอ ครม. และวงเล็บ 13 เรื่องที่ ครม.มีมติให้นำเสนอ ครม. เมื่อเป็นเช่นนี้ มาตรา 4 ในพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ จะไปเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของ ครม.จริงหรือไม่

ในมาตรา 7 เรื่องการมอบหมายอำนาจเป็นการทั่วไป จะหมายความว่า ครม.สามารถมอบหมายให้รัฐมนตรีคนหนึ่งคนพิจารณา เสร็จแล้วถือว่าเป็นมติ ครม. หรือมีสถานะเทียบเท่ามติ ครม.เลยได้หรือไม่

มาตรา 7 เป็นการทำลายความเป็นองค์กรกลุ่มของครม.
การที่พระราชบัญญัติซึ่งเป็นกฎหมายองค์กรกลุ่ม มอบอำนาจให้แก่องค์กรเดี่ยว คือรัฐมนตรี 1 คน โดยอาศัยพระราชกฤษฎีกา คำถามคือ สิ่งนี้ถูกต้องหรือไม่ ไม่เช่นนั้น ในมาตรา 7 เท่ากับเป็นการทำลายความเป็นองค์กรกลุ่ม กรณีนี้ กฎหมายก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมอบอำนาจให้ ครม. ก่อน แต่ให้อำนาจแก่รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งได้เลย ซึ่งเมื่อไปดูในขั้นตอนการพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกาที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ในข้อสังเกตพูดไว้ชัดเจนว่า มาตรานี้เป็นเรื่องการมอบอำนาจ ไม่ใช่การมอบหมายธรรมดา

ในมาตรา 8 การกำหนดเรื่ององค์ประชุมให้ถือว่าครบองค์ประชุมเมื่อมีผู้ร่วมประชุมครบ 1 ใน 3

จากบันทึกข้อสังเกตในขั้นพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ประชุมพูดไว้ชัดเจนว่า การนับองค์ประชุมในกรณีปกติทั่วไปใช้ธรรมเนียมปฏิบัติกึ่งหนึ่ง หรือไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง

องค์กรที่มีความสำคัญ หรือองค์กรที่ทำงานระดับชาติ องค์กรเช่นนี้องค์ประชุมควรจะมากหรือน้อย โดยเฉพาะการประชุมของ ครม.หากมีการตัดเรื่องสัพเพเหระออก เหลือแต่เรื่องสำคัญๆ ที่จะต้องพิจารณา การลดองค์ประชุมลงเหลือเพียง 1 ใน 3 คือ 12 คน จาก ครม.ทั้งคณะซึ่งมี 36 คน ในการลงมติที่ประชุม 12 คน คะแนนเสียงข้างมาก คือ 7 เสียง มติเช่นนี้จะนำไปสู่ประสิทธิภาพอย่างแท้จริงในการบริหารประเทศจริงหรือ หรือนำไปสู่การเพิ่มอำนาจมากขึ้น

ในมาตรา 8 วรรค 2 ที่ระบุถึงกรณีฉุกเฉินจำเป็น ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง องค์ประชุม ครม.อาจลดลงเหลือเพียง 2 คน เช่นนี้แล้ว สถานะความเป็นองค์กรกลุ่มของ ครม.จะอยู่ตรงไหน บางกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนถือได้ว่าเป็นข้อยกเว้น แต่กรณีนี้ การลดลงของจำนวนผู้ตัดสินใจ สิ่งที่ได้คือความรวดเร็ว แต่ความรวดเร็วกับประสิทธิภาพเป็นสิ่งที่คู่กันเสมอไปจริงหรือไม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net