วิบากกรรม "ส้มเขียวหวาน" เมืองแพร่

เกษตรกรผู้ปลูกส้มเขียวหวานในจังหวัดแพร่ ประสบปัญหาอย่างหนักติดต่อกันเกือบ 10ปีที่ผ่านมา ปัญหาใหญ่คือโรคส้มรุมเร้าที่มิอาจแก้ไขได้ ผลส้มที่ติดดกเมื่อใกล้เก็บผลส้มปัญหาส้มร่วงหล่นก็เกิดขึ้นแม้เกษตรกรจะบำรุงรักษา

อย่างไรก็ตาม ปัญหาส้มร่วงเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากสวนส้มที่ อ.ลอง และ อ.วังชิ้นอยู่ใกล้กับ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ทำให้มีข้อสงสัยกันว่าส้มอาจร่วงหล่นเพราะสารพิษที่มาจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะหรือไม่

แต่นักวิชาการที่ลงมาสำรวจเพื่อหาทางช่วยเหลือต่างให้ความเห็นว่าเกิดจากการใช้สารเคมีและปุ๋ยต่อเนื่องหลาย 10 ปีทำให้สภาพดินเสื่อม และลำต้นส้มที่มาจากกิ่งตอนเป็นส้มที่สะสมโรคอย่างต่อเนื่อง ในที่สุดทางออกของนักวิชาการทั้ง ม.เกษตรศาสตร์และกรมวิชาการ ต่างมีแนวทางในการแก้ปัญหาด้วยการใช้พันธุ์ส้มใหม่เข้าไปเปลี่ยนจึงเป็นที่มาของพันธุ์ส้มปลอดโรค

โดยการนำตาส้มเขียวหวานมาจากห้องควบคุมทางวิทยาศาสตร์และใช้ต้นตอส้มที่มาจากประเทศตะวันตกที่มีความทนทานและต้านเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคเน่าคอดิน

เมื่อเกษตรกรนำมาปลูกได้ราว 2 ปี ส้มเริ่มให้ผลผลิต แต่ปัญหาส้มร่วงก็ยังเกิดขึ้นไม่แตกต่างไปจากพันธุ์ส้มอมโรคของเกษตรกรในที่สุดกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกส้มใน อ.วังชิ้น และ อ.ลอง ที่มุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาส้มของตนเอง ได้รวมตัวกันราว 70 รายหันมาตัดต้นส้มออกเหลือเพียงร้อยละ 30

จากนั้นหยุดใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมีโดยเด็ดขาด หันมาคิดแนวทางการหารายได้ใหม่ด้วยการปลูกพืชชนิดอื่นและหาตลาดที่ยั่งยืน

เกษตรกรกลุ่มนี้เลือกปลูกพริกพันธุ์หัวเรือ ปลอดสารพิษเพื่อป้อนตลาดในประเทศญี่ปุ่นในส่วนของส้มที่เหลืออยู่เปลี่ยนแนวความคิดหันมาใช้ระบบชีวภาพในการปรับปรุงบำรุงดินและสร้างชีวิตใหม่ให้กับส้มเขียวหวาน

ทางออกที่ชาวบ้านทำนั้นทางราชการไม่กล้าคิดและไม่กล้าตัดสินใจมีเพียงเกษตรกรกลุ่มนี้เท่านั้นดำเนินอยู่โดยลำพัง ในที่สุดส้มของกลุ่มส้มชีวศาสตร์ มีผลผลิตที่ดีน่าพอใจและเป็นผลไม้ปลอดสารพิษอีกด้วย ทุกปีผลผลิตส้มเขียวหวานจะออกขายได้ในช่วงต้นปีและกลางปี

ปีนี้สภาพปัญหาของชาวบ้านเปลี่ยนไป ส้มเขียวหวานทุกแปลงของเกษตรกรจะเป็นแปลงที่พัฒนาตามระบบวิชาการที่ทางราชการเข้ามาช่วย แปลงที่ดูแลอย่างดีของกลุ่มชีวศาสตร์ และ แปลงที่ถูกปล่อยปะละเลย รวมใน อ.ลอง จำสวน 9,870 ไร่ อ.วังชิ้น จำนวน 18,000 ไร่ รวม 27,870 ไร่
กลายเป็นไร่ส้มที่อัศจรรย์ พากันออกผลติดดกไม่มีปัญหาส้มร่วงแต่อย่างใด

ประมาณการณ์ว่าส้มเขียวหวานของจังหวัดแพร่ในปลายเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคมนี้จะมีผลผลิตไม่ต่ำกว่า 17,000 ตันเลยทีเดียว แต่ใช่ว่ากระบวนการแก้ไขปัญหาทั้งหมดจะช่วยระงับบรรเทาปัญหาของชาวสวนส้มอำเภอวังชิ้น และอำเภอลองได้ เพราะประเด็นปัญหาที่ประสบกลับกลายมาเป็นเรื่องของความต้องการของตลาดที่ให้ความสนใจ ให้ความสำคัญกับส้มชนิดอื่น โดยเฉพาะ "ส้มสายน้ำผึ้ง" ที่เป็นคู่แข่งสำคัญมากกว่า เพราะรสชาติที่หวานถูกใจผู้บริโภคมากกว่า

ที่ว่าชาวส่วนสวนสายน้ำผึ้งเจอกับปัญหา แต่เกษตรกรที่ปลูกส้มเขียวหวานกับเจอปัญหารุมเร้ามากกว่า ส้มสายน้ำผึ้งที่ว่าคุณภาพแย่ที่สุดกลับได้ราคาที่สูงกว่าส้มเขียวหวาน ไม่นับรวมกับการประกันราคาของทางรัฐบาล

ตลาดรับซื้อส้มเขียวหวานหลายแห่งใน กทม.ไม่ว่าจะเป็น ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดไทย ต่างปฏิเสธส้มเขียวหวานที่มาจากจังหวัดแพร่ ด้วยปัญหาส้มด้วยคุณภาพมีน้ำน้อย เปลือกแข็ง กากหนา แม้ว่ารสชาตินั้นหวานแหลม และปลอดสารเคมี แต่ตลาดไม่ได้มองในสองประเด็นหลัง จึงถูกกดราคา

เบอร์ใหญ่สุดคือ 00 และ 0 ทั้งสองเกรดนี้ราคา8-10 บาท เดิมมีราคาจากสวนถึง 20 บาท เบอร์ 1 และเบอร์ 2 ขนาดย่อมลงมาเคยขายได้ 10 บาทจากสวนวันนี้เหลือเพียง 6-7 บาท และเบอร์ 3เบอร์ 4 เป็นส้มส่วนใหญ่จะมีราคาเพียง 4 บาทหรือไม่มีคนรับซื้อเลยแม้แต่จะเสนอขาย กก.ละ 50 สตางค์ก็ตาม

จากสถิติดังกล่าวถือว่าสถานการณ์ส้มในจังหวัดแพร่วิกฤตหนักในขณะที่ส้มสายน้ำผึ้งมีปัญหาเรื่องของการใช้สารเคมีอย่างหนักในกระบวนการผลิต ตามที่เราได้เคยเห็นในสื่อต่าง ๆ แต่ส้มสายน้ำผึ้งกลับได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ถึงแม้ว่าส้มสายน้ำผึ้งที่มีราคาต่ำลงเนื่องจากกระแสการใช้สารเคมีก็ตาม ในขณะที่ชาวสวนส้มวังชิ้นเองก็ได้พยายามปรับตัว โดยการใช้ส้มปลอดสาร พิษเป็นจุดขาย ก็ไม่สามารถที่จะบังอาจไปเทียบรัศมีของส้มสายน้ำผึ้งได้ เพราะคุณภาพสู้ไม่ได้แม้ตามสายพันธุ์ก็สู้กันไม่ได้อยู่แล้ว ส่งผลให้ราคายังไม่สามารถถีบตัวให้สูงขึ้นได้

ส้มขนาดใหญ่ที่เคยมีราคากก.ละ 20 ปัจจุบันลดต่ำลงเหลือไม่ถึงครึ่งด้วยซ้ำ ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาเกษตรกรสวนส้มวังชิ้นขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ยิ่งปีนี้รุนแรงกว่าเดิมส้มติดดกทุกสวน 27,000 ไร่ ผลส้มเหลืองอร่ามห้อยระย้า

แต่ขายไม่ได้ใหญ่สุดขายได้เพียง 10 บาท / กก. เล็กสุดกก.ละ 50 สตางค์ยังไม่มีคนซื้อแทบไม่ต้องพูดถึงส้มขนาดเล็กที่มีมากชนิดที่เรียกว่า "มหาศาล" ตรงนี้ไม่มีทางออกเกษตรกรอาจต้องทิ้งส้มไป

นี่เป็นวิกฤตปัญหาชาวสวนส้มเขียวหวาน ส้มสายพันธุ์ดั้งเดิม ที่ถูกตีตลาดจากส้มสายพันธุ์ใหม่
เงื่อนไขคงมิใช่เพียงแค่ความต้องการของตลาดและผู้บริโภคเท่านั้นที่ทำให้ส้มเขียวหวานขายไม่ได้
แต่ประเด็นสำคัญของปัญหาเกษตรกรสวนส้มทั้งหมดคือ กระบวนการพัฒนาสายพันธุ์พืชที่ต้อง
การพัฒนาไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง แล้วละทิ้งสายพันธุ์พืชพื้นถิ่น จนก่อให้เกิดผลกระทบตามมาอย่างต่อเนื่องเช่นทุกวันนี้

ไม่แปลกที่นักวิชาการต้องมีบทบาทในการคิดค้นพัฒนาสายพันธุ์พืชให้ไปข้างหน้าเพื่อให้ผู้บริโภคได้บริโภคอาหารที่ดีมีคุณภาพ แต่ขณะที่คิดค้น ตัดต่อพันธุ์พืชใหม่ ๆ ขึ้นมานั้นอาจต้องมองย้อนหลังว่าต้นทุนการผลิตพืชแต่ละชนิดที่ผ่านมามันคุ้มทุนกับการลงทุนของชาวบ้านหรือไม่

ต้นทุนที่ลงไปแล้วกระทบต่อเศรษฐกิจระดับจุลภาค ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศมหาศาลเพียงใด

อนาคตทางเลือกที่เกษตรกรสวนส้ม คงหลีกเลี่ยงไม่ได้กับการนำผลส้มจำนวนมหาศาลเหล่านั้นมาทั้งที่หน้าอำเภอเพื่อเรียกร้อง (ประท้วง) ให้รัฐบาลช่วยเหลือประกันราคาต่อไป หรือการลงทุนตัดต้นส้มทิ้งอาจเป็นทางออกสุดท้าย เพื่อที่จะเริ่มต้นลงทุนใหม่แล้วเกิดวงจรแห่งปัญหาต่อไป ซึ่งนับเป็นพืชเศรษฐกิจอีกตัวที่มีปัญหาซ้ำซาก และทางออกก็ดูจะตีบตันลงไปทุกที

สมโรจน์ / แพร่-รายงาน
โครงการความร่วมมือข่าวภูมิภาคพลเมืองเหนือ-ประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท