Skip to main content
sharethis

ประชาธรรม- 9 มี.ค.48 เวลา 14.00 น. ห้องประชุมคำชะโนด ชั้น 2 ศาลากลาง จ.อุดรธานี คณะทำงานศึกษาผลกระทบและประชาสัมพันธ์โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี จำนวน 55 คน มีมติเห็นชอบร่วมกันให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อศึกษาและเผยแพร่ข้อมูลของโครงการเหมืองแร่โปแตชแก่ประชาชนอย่างรอบด้าน อันจะนำไปสู่การหาทางออกของปัญหาความขัดแย้งภายในพื้นที่ต่อไป

ทั้งนี้คณะทำงานฯ ดังกล่าวซึ่งประกอบไปด้วยตัวแทนจากทุกภาคส่วน อาทิเช่น อุตสาหกรรมจังหวัด ทรัพยากรจังหวัด สิ่งแวดล้อมภาค 9 สาธารณสุขจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สภาทนายความ ตัวแทนจากบริษัท เอเชีย แปซิกฟิก โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (เอพีพีซี) ตัวแทนจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี องค์กรพัฒนาเอกชน และตัวแทนจากกลุ่มชาวบ้านทั้งคัดค้านและสนับสนุนโครงการ โดยได้เปิดประชุมนัดแรกเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการอย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งวางกรอบการศึกษาร่วมกัน ซึ่งในที่ประชุมเห็นชอบร่วมกันแต่งตั้ง ว่าที่ร.ต.ดุสิต พรหมสิทธิ์ ประธานสภาทนายความจังหวัดอุดรธานีเป็นประธานคณะทำงาน

โดยที่ประชุมได้วางกรอบการทำงานร่วมกันโดยตั้งประเด็นคำถามต่อผลกระทบทั้งด้านดี และด้านเสีย หลังจากนั้นจะมีการศึกษา ค้นหาข้อมูลร่วมกัน เพื่อได้คำตอบ ข้อเท็จจริง และนำไปเผยแพร่สู่ประชาชนคนอุดรธานีเพื่อให้มีความเข้าใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันต่อไป

ว่าที่ร.ต.ดุสิต พรหมสิทธิ์ ประธานสภาทนายความ ในฐานะประธานคณะทำงานศึกษาผลกระทบและประชาสัมพันธ์โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี กล่าวว่า ที่ผ่านมาคนอุดรฯ มีความเข้า
ใจเกี่ยวกับเหมืองแร่โปแตชไม่ตรงกัน เนื่องจากว่าไม่มีองค์กรหรือหน่วยงานใดทำหน้าที่ให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง จะมีก็แต่ฝ่ายบริษัทฯ ที่ให้ข้อมูลในส่วนของตนเองเพื่อนำไปสู่การดำเนินการ และฝ่ายที่คัดค้านก็บอกว่ามันไม่จริง ไม่ถูกต้อง

"ฉะนั้นแล้ว คณะทำงานชุดนี้จึงเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้มีศึกษาหาข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง แล้วนำมาเผยแพร่ให้คนอุดรฯ ได้รับทราบและตัดสินใจร่วมกัน ทั้งนี้ในส่วนของวิธีการก็จะให้แต่ละท่านที่เป็นคณะทำงานได้มีส่วนร่วมโดยการตั้งประเด็นที่เห็นว่าควรจะมีการศึกษา ส่งมาทางฝ่ายเลขาฯ รวบรวม แล้วคณะทำงานก็จะนำประเด็นที่ได้มาศึกษา หาข้อเท็จจริงต่อไป ซึ่งในเบื้องต้นก็คงดำเนินการได้ประมาณนี้" นายดุสิตกล่าว

นายประยูร ฮมภิรมย์ รองประธานสภาอุตสาหกรรม หนึ่งในคณะทำงานฯ กล่าวว่า ในส่วนของกรอบการทำงานนั้นเห็นว่า ต้องมีการศึกษาอย่างรอบด้านให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดความกระจ่างชัด ทั้งในข้อกฎหมาย สัญญา รายงานอีไอเอ ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม สุขภาพ ตลอดจนผลประโยชน์ของประเทศชาติ โดยคณะทำงานจะต้องมีการประเมินกันอย่างต่อเนื่องเพื่อจะได้รู้ว่าการดำเนินงานถึงจุดใดแล้ว และควรมีอำนาจที่สามารถดำเนินการได้

"เป็นต้นว่า หากมีหน่วยงานใดที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งบริษัทฯ เองก็ต้องเชิญมาให้ข้อมูลหรือขอเอกสารได้ ซึ่งแล้วแต่กรณี เพราะถ้าหากว่ามีหน้าที่ศึกษาแล้ว แต่ไม่มีอำนาจก็คงไม่มีความหมาย หรือดำเนินการไปแล้วไม่ได้อะไรขึ้นมา" นายประยูรกล่าว

นางมณี บุญรอด รองประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี หนึ่งในคณะทำงานฯ กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่จะนำไปสู่การหาทางออกร่วมกันของคนอุดรฯ ในประเด็นปัญหาของเหมืองแร่โปแตช และเป็นเรื่องที่ดีที่ได้เห็นหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งตัวแทนจากทุกภาคส่วนของคนในเมืองอุดรฯ ที่มีความตั้งใจจริงที่อยากจะมาร่วมกันศึกษาข้อมูลกรณีเหมืองแร่โปแตช

เพราะที่ผ่านมานั้นฝ่ายชาวบ้านได้ร่วมกันติดตามข้อมูล และผลักดันเรียกร้องมาโดยตลอด ซึ่งตนก็เคยคิดว่าอยากจะเห็นคนในเมืองลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับสิ่งเหล่านี้บ้าง

"อย่างเช่น ที่บริษัทฯ โฆษณาว่าปุ๋ยจะถูกหากมีเหมืองแร่มันจริงไหม ผลกระทบที่ชาวบ้านเป็นกังวลจะมีมาตรการแก้ไขอย่างไร ก็จะได้มีการศึกษา หาคำตอบร่วมกัน แล้วมีการเผยแพร่ข้อเท็จจริง เพื่อให้คนอุดรทั้งหมดได้ร่วมกันตัดสินใจด้วย" นางมณีกล่าว

บรรยากาศในห้องประชุมมีชาวบ้านเข้าร่วมรับฟังทั้งจากกลุ่มคัดค้านและสนับสนุน โดยดำเนินไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่มีเหตุการณ์วุ่นวาย หรือโต้เถียงกันแต่อย่างใด ซึ่งนัดประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 29 มี.ค.48 นี้

เดชา คำเบ้าเมือง สำนักข่าวประชาธรรมอุดรธานี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net