"พ่อบอกอยู่เสมอว่า เราเป็นคนที่มีอาชีพรับจ้างนำเอาความยุติธรรมคืนให้กับประชาชน" *

*นางสาวประทับจิตร นีละไพจิตร บุตรสาวนายสมชาย นีละไพจิตร กล่าวในงานเสวนาเรื่องความยุติธรรมบนพื้นฐานสังคมพหุวัฒนธรรม : ก่อนจะครบรอบ 1 ปี ทนายสมชาติ นีละไพจิตร หายตัวไป วานนี้ จัดโดยคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับคณะสหเวชศาสตร์ สถาบันเอเชียศึกษา สภาทนายความ และชมรมนักกฎหมายมุสลิม

==================================

นับตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคมปีที่แล้ว ณ วันนี้นับว่าครบรอบหนึ่งปีพอดีทนายสมชาย นีละไพจิตร หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นอุบัติเหตุทางชีวิตที่ร้ายแรงที่สุดสำหรับครอบครัวนีละไพจิตร นางสาวประทับจิต นีละไพจิตร บุตรสาวของทนายสมชาย พูดเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้นำมาซึ่งความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมาน และความเจ็บปวดนั้นก็ไม่ได้เป็นความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะเดียว แต่ยังคงอยู่ในฐานะที่นายสมชายเป็นสมาชิกของครอบครัวนีละไพจิตร

การจัดสัมมนาในครั้งนี้ถือเป็นความเมตตาของสังคม ยังคอยเป็นห่วงและให้ความกรุณาแก่ครอบครัวและคุณพ่อ เพราะหลายครั้งที่สังคมเองพยายามที่จะเรียกร้องหรือทำหน้าที่ถามหา หรือติดตามตัวทนายสมชาย นีละไพจิตร มาตลอด แน่เหนือสิ่งอื่นใดที่เราสามารถพึ่งพาได้นอกจากสังคมก็คือศาสนา คือพระเจ้าของเราที่เรานับถือ ในส่วนนี้ทำให้เราเข้มแข็งมากขึ้น พร้อมที่จะมาบอกเล่าประสบการณ์ให้สังคมได้รับทราบ

ที่ดิฉันออกมาบอกเล่าถึงประสบการณ์ในครั้งนี้ ไม่ได้มาเป็นตัวแทนของผู้ใด แต่มิได้หมายความว่าจะไม่ยอมรับในหน้าที่การเป็นตัวแทนของทุก ๆ คนในสังคม เพราะตัวดิฉันเองมองว่าความช่วยเหลือของคนรุ่นพ่อของเรานั้นจะเป็นการช่วยเหลือในแบบตัวแทน หรือเป็นการช่วยเหลือแบบประชาสงเคราะห์ ซึ่งการช่วยในรูปแบบนี้ไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้ประชาชนโดยรวมแบบยั่งยืน

เราตั้งใจจะเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งในการที่จะเป็นกำลังใจให้กับทุกๆ คน ไม่ใช่เฉพาะคนที่ได้รับการสูญเสีย หรือได้รับความอยุติธรรม ให้รู้จักสิทธิ รู้จักการปกป้องตนเอง เพราะ "ถ้าทุกคนรู้จักรักษาระดับความปลอดภัยของตนเองได้ วันหนึ่งการแก้ปัญหาโดยการใช้ความรุนแรงหรือลักษณะอุ้มหายคงหมดลง และรัฐคงจะต้องแบกรับภาระหนักในการที่จะวางแผนที่จะอุ้มคน 60 ล้านคนในแต่ละวัน"

และคงต้องยอมรับว่า ปรากฏการณ์ที่แปลกประหลาดอันหนึ่งในสังคมปัจจุบันก็คือ ความเคลือบแคลงใจในสังคมยังมีสูงต่อตัวบุคคลที่เป็นคนชายขอบแต่มาช่วยเหลือผู้อื่น "คุณพ่อพูดเสมอว่า เราเป็นคนจน แต่อย่ารอจนเรารวยแล้วค่อยคิดจะช่วยผู้อื่น เพราะเราอาจจะไม่โอกาสที่จะช่วย เหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพราะหลายคนจะสับสนคำว่ารวยกับคำว่าพอ"

ความอยุติธรรมที่ก่อให้เกิดความเคลือบแคลงใจในสังคมที่ได้กล่าวมานั้น มันเกิดขึ้นและสั่งสมมานานจากอดีต ผู้สูญหายหลายๆ คนที่ถูกกระทำที่ใช้ความรุนแรงหรือถูกอุ้มหายในปีนี้มีประมาณ 2,400 คน อย่านึกว่าเป็นแค่คนหนึ่งคนที่อยากจะทำอะไรก็ได้ ลองคิดดูว่าผู้ที่อยู่ข้างหลัง ผู้ที่ได้รับผลกระทบที่เป็นลูกหลานจะมีเท่าไร

การสร้างความเข้าใจในสังคมต่อบุคคลต่างๆ ที่ออกมาทำเพื่อสังคมนั้น ตรงจุดนี้คิดว่าเป็นประ เด็นที่สำคัญที่สุดที่ควรเร่งให้มี เพราะสิ่งที่ครอบครัวดิฉันเผชิญมาในตอนแรกๆ ก็คือ คนไม่ค่อยรู้จักทนายสมชายว่ามีความเป็นมาอย่างไร และกล่าวหาว่าคุณพ่อเป็น ทนายของผู้กระทำความผิด เป็นทนายโจร อาจจะเป็นอย่างที่คุณพ่อบอกว่า เราเป็นคนจน เราจะมีสิทธิ์แค่ไหนที่จะไปช่วยเหลือผู้คนในสังคม

"ที่มาพูดในวันนี้ ไม่ได้ต้องการจะมากล่าวโทษใคร แต่ต้องการทราบคำตอบว่าพ่อหายไปไหน"

และในฐานะที่เป็นเยาวชนคนหนึ่งในสังคมที่อยากจะทำอะไร เพื่อส่งไปยังกระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยวอยู่ในสังคมปัจจุบัน อาจจะเริ่มต้นจากการพูดความจริงเพื่อเป็นการปูทางไปสู่อนาคต.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท