Skip to main content
sharethis

"พีรยศ ราฮิมมูลา" เป็นที่รู้จักกันในฐานะนักวิชาการจากรั้วมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่มีบทบาทในการออกมาวิพากษ์วิจารณ์การแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างต่อเนื่อง

วันนี้ภายใต้สีเสื้อตัวใหม่ ในฐานะ "สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์" อดีตนักวิชาการผู้นี้ ยังคงมีมุมมองต่อปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เหมือนเดิมหรือไม่ บทสัมภาษณ์พิเศษโดย "มูฮัมหมัด ดือราแม" ที่ถอดออกมาจากแถบบันทึกเสียงคำต่อคำ ซึ่งจะนำเสนอต่อไปนี้ คือ บทพิสูจน์

ภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากพรรคมีอะไรบ้าง
ตอนนี้ทางพรรคประชาธิปัต์ยังไม่ได้กำหนดชัดเจนว่า จะให้ผมรับผิดชอบอะไรบ้าง ตอนนี้ผมเก็บข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวบรวมส่งให้พรรคพิจารณาเป็นแนวทางแก้ปัญหานำเสนอต่อรัฐบาล

ข้อมูลและข้อเสนอแนะที่ได้มา เกิดจากการระดมความเห็นจากประชาชนทุกภาคส่วน ทั้งผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน นักการเมือง พ่อค้า นักธุรกิจ เป็นแนวทางการแก้ปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ดังที่ปรากฏอยู่ในคำประกาศปัตตานี นั่นคือ แนวทางการแก้ปัญหาระยะยาว ที่พรรคประชาธิปัตย์ยึดเป็นหลักการสำคัญ

สำหรับการแก้ปัญหาในระยะสั้น คือ ยุติปัญหาความไม่สงบลงทันที รวมทั้งปัญหาความแตกแยก ความขัดแย้งของประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ ซึ่งเราทราบดีว่า นับตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืน เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 เป็นต้นมา เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง โดยเฉพาะจังหวัดนราธิวาส กิจการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโรงแรม การท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบทั้งหมด โรงแรมในอำเภอสุไหงโก - ลก ถึงกับปิดไปแล้วหลายแห่ง พ่อค้าแม่ค้าในตลาดได้รับผลกระทบหมด นี่คือ สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นห่วง

เพราะฉะนั้น พรรคจึงมีแนวทางแก้ไข ทั้งที่เป็นแนวทางแก้ปัญหาในระยะสั้น และระยะยาว ข้อมูลเหล่านี้เราจะรวบรวมนำเสนอต่อรัฐบาล อีกส่วนหนึ่งก็จะนำเสนอไปสู่คณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติ ซึ่งเราก็ยินดีที่จะทำงานร่วมกับทุกฝ่าย ในการที่จะนำสันติสุขกลับมาสู่ชายแดนภาคใต้

อะไรที่ทำได้ก่อน ก็ทำไปเลย อะไรที่ต้องใช้เวลาก็ต้องอดทน ปัญหาบางอย่างต้องไม่ยืดเยื้อ เช่น การช่วยเหลือเรื่องภาษี คือ ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบมาก อันเนื่องมาจากสถานการณ์ ในขณะเดียวกันเขาก็จะต้องเสียภาษี เราก็จะนำเสนอต่อรัฐบาล รัฐยังเก็บภาษีเหมือเดิม ในขณะที่รายได้ลดลง อาจจะมีการชดเชยความสูญเสียในเชิงธุรกิจ ที่รัฐบาลสามารถทำได้ เช่น มาตรการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลนก็เป็นอันหนึ่งที่เราจะต้องนำมาใช้

คำประกาศปัตตานีในช่วงหาเสียงมาจากไหน
คือที่ผ่านมา ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่มีนักการเมืองที่มาจากนักวิชาการเลย เมื่อเข้าไปอยู่ในพรรคประชาธิปัตย์ ผมจึงมีส่วนร่วมในการร่างนโยบายการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับดร.อเนก เหล่าธรรมทัศน์ สมัยยังอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ โดยการระดมความเห็นจากประชาชนทุกฝ่ายในพื้นที่

เมื่อคุณอเนกออกไปเป็นหัวหน้าพรรคมหาชน เลยเอานโยบายนี้ไปด้วย ออกเป็นปฏิญญายะลา ทางพรรคเลยให้ร่างนโยบายออกมาใหม่ คือ คำประกาศปัตตานี นายบัญญัติ บรรทัดฐาน อดีตหัวหน้าพรรค เป็นผู้ประกาศนโยบายนี้ที่จังหวัดปัตตานี

ได้เตรียมข้อมูลอะไรให้กับพรรค
ข้อมูลตรงนี้มีบ้างแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นข้อมูลด้านความมั่นคง ผมทำงานตรงนี้มาตลอดตั้งแต่สมัยที่เป็นนักวิชาการ รวมทั้ง จากการระดมความคิดเห็นจากนักวิชาการในพื้นที่ ประชาชนแต่ละสาขาอาชีพ ผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น เยาวชน ที่พรรคได้จัดเวทีขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ข้อมูลทั้งหมดจะรวบรวมส่งให้พรรคพิจารณา รวบรวมทำเป็นรูปเล่ม แล้วนำเสนอต่อรัฐบาลไปใช้แก้ปัญหา โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค จะเป็นคนนำเสนอในเร็วๆ นี้

แล้วในการเปิดประชุม 2 สภาว่าด้วยเรื่องภาคใต้ เตรียมที่จะนำเสนอประเด็นไหนบ้าง
ผมคงจะพูดเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก โดยเฉพาะกรณีปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหามีความเป็นมา ความเป็นไปอย่างไร และแนวทางการแก้ปัญหาควรเป็นอย่างไร ผมเตรียมข้อมูลไว้แล้ว แต่ก่อนจะเอาไปอภิปรายในสภา พรรคจะนำข้อมูลทั้งหมดไปแบ่งกันว่า ใครจะอภิปรายประเด็นไหนในสภา ใครถนัดอะไรก็อภิปรายเรื่องนั้น

มองการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาลที่ผ่านมาเป็นอย่างไร
มีอีกหลายประเด็นที่รัฐบาลทำไม่ตรงจุด เช่น การตัดสินใจยุบศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และกองกำลังผสมพลเรือนตำรวจทหารที่ 43 แล้วมอบหมายให้หน่วยงานอื่นเป็นหลักในการแก้ไขปัญหา

ตัวอย่างการตั้งกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีผู้อำนวยการเป็นทหาร ต่างกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับกองกำลังผสมพลเรือนตำรวจทหารที่ 43 ที่มีรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ฝ่ายกิจการพิเศษ ซึ่งเป็นพลเรือนเป็นผู้อำนวยการ ประการที่สอง กองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีที่ตั้งอยู่ในค่ายทหาร ส่วนศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ได้ตั้งอยู่ในรั้วของค่ายทหาร เพราะฉะนั้นปัญหา คือ ความรู้สึกของประชาชน

เพราะความรู้สึกของประชาชน ไม่ใช่รังเกียจทหาร แต่โดยปกติคนทั่วไปไม่กล้าเข้าไปในค่ายทหาร และดูเหมือนว่าเป็นการนำการทหารมาแก้ปัญหา มากกว่านำการเมืองมาแก้ปัญหา มันจะส่งผลต่อการแก้ปัญหาในระยะยาวในเชิงของสังคมจิตวิทยา แต่ถ้าเป็นพลเรือน ประชาชนจะรู้สึกว่าเป็นกันเอง เพราะไม่มีอาวุธอยู่ในมือ ไม่มีอะไรและสามารถเข้าออกได้ไม่รู้สึกอึดอัด ไม่มีความเกรงกลัว

คิดว่ามีความจำเป็นจะต้องตั้งกองพลทหารราบที่ 15 หรือไม่
ถามว่าจำเป็นมั้ย ถึงแม้เปลี่ยนชื่อเป็นทหารพัฒนา แต่ยังไงก็ยังใช้การทหารนำอยู่ดี ทหารขาดไม่ได้ แต่มันจะสอดคล้องกับพื้นที่มากกว่า ถ้าเราใช้การเมืองนำการทหาร การปกครองในระบอบประชาธิปไตย เราต้องยอมรับว่าประชาชน คือ ศูนย์กลาง คือ เจ้าของอำนาจ เราต้องระมัดระวังความรู้สึกของประชาชน

บทบาทที่ผ่านมา ต่อปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
ผมได้นำเสนอแนวคิด เสนอแนะ ทัศนะต่างๆ ข้อคิดเห็นในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มาตลอด 20 ปี ของการเป็นนักวิชาการ ผมเขียนบทความ ร่วมอภิปรายในหลายๆ เวที วันนี้ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผมจะนำความรู้ความสามารถในฐานะคนที่อยู่ในพื้นที่ตั้งแต่เกิด นำข้อมูลและแนวทางการแก้ไขปัญหาเสนอต่อรัฐบาล ผ่านกรรมสมานฉันท์แห่งชาติ ผ่านพรรคประชาธิปัตย์ และการอภิปรายในสภา

แสดงว่าพรรควางตัวให้เป็นประสานงานกับคณะกรรมการสมานฉันท์
ผมยังไม่ได้ถูกวางตัวให้ทำหน้าที่นั้น แต่ถ้าขอความร่วมมือมาก็ยินดี ผมพร้อมให้ความร่วมมือ

การตั้งกรรมการสมานฉันท์จะมีผลต่อการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร
เห็นว่าประธานคณะกรรมการสมานฉันท์ นายอานันท์ ปันยารชุน ให้สัมภาษณ์ว่า ท่านมีแนวคิดที่จะระดมความเห็นจากประชาชนทุกกลุ่มอาชีพ และจะวางแผนแก้ปัญหาระยะสั้น ระยะยาว

ถ้าเป็นการจัดเวทีระดมความเห็น มันจะซ้ำซากเกินไปหรือไม่
ซ้ำซากซ้ำซ้อนแน่ แต่ต้องดูโครงสร้างของกรรมการสมานฉันท์ว่า เป็นอย่างไร ตอนนี้ยังไม่ชัดเจน ถ้าออกมาเหมือนกับหลายหน่วยงานที่ลงมาก่อนหน้านี้ มันก็ไม่แตกต่างอะไรเลย

ชาวบ้านหลายคนบ่นว่า เวทีมันมากเหลือเกิน เสนอไปก็หลายครั้งแล้ว ไม่เห็นนำไปปฏิบัติ โดยเฉพาะข้อเสนอของนายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี มันจะส่งผลไปถึงการทำงานของคณะกรรมการสมานฉัท์หรือเปล่า
อันนี้ ใช่ แต่ตอนนี้จะไปวิพากวิจารณ์ไม่ได้ ต้องดูโครงสร้างก่อนว่าจะมีรูปแบบอย่างไร แต่ถ้าออกมาเหมือนเดิมก็น่าเสียดาย เพราะมันช่วยอะไรได้ไม่มาก ตอนนี้ต้องให้กำลังใจก่อน ซึ่งทางพรรคเองยินดีให้ความร่วมมือ

ที่ผ่านมาข้อเสนอแนะต่างๆ ถูกนำไปใช้มีมากน้อยอย่างไรบ้าง
จะตอบว่ามีมั้ย คงตอบไม่ได้ คือ รัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะเชื่อข้อมูลข่าวกรองมากกว่าจะฟังข้อมูลจากฝ่ายอื่นๆ มีหลายครั้งที่ข้อมูลข่าวกรองก็ไม่ตรงกับความจริง นำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาด ต้องขอความกรุณานายกฯ ทักษิณ ชินวัตร รับฟังข้อมูลจากหลายฝ่าย เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อนายกฯ เอง ในการตัดสินใจ ได้ข้อมูลมาแล้วก็ต้องมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ให้ชัดเจน ตัวอย่างง่าย ๆ เรื่องการแบ่งโซน มันสะท้อนอะไรบางอย่าง

การแบ่งโซนพื้นที่เป็นเรื่องปกติทางยุทธวิธีที่ทหารนำมาใช้ แต่นายกฯ เอาเรื่องงบประมาณมาเป็นเกณฑ์ ทำให้เกิดความผิดพลาดขึ้นมา จนเกิดวิพากวิจารณ์ตามมา สุดท้ายนายกฯ ก็ยกเลิกไป กองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็เลยแก้ไขด้วยการให้เงินตำบลละ 1 ล้านแทน ตรงนี้เป็นการยืนยันได้ว่า การเปลี่ยนแปลงทุกอย่างมาจากกระแสสังคม

อย่าคิดว่า เรื่องการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง จะเป็นเรื่องของการเสียหน้า ความสงบร่มเย็นของบ้านเมือง คือ หัวใจสำคัญ ถ้าทุกฝ่ายต้องการเห็นความสงบ เห็นสันติสุขเกิดขึ้นในบ้านเมือง แม้บางครั้งต้องกลืนเลือดก็ต้องยอม

แนวโน้มของสถานการณ์การก่อความไม่สงบต่อไปจะเป็นอย่างไร
มีทั้งบวกและลบในตัว เราต้องมองปัจจัยภายในก่อน คือ เราทราบว่าปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นปัญหาระดับท้องถิ่น บางครั้งการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่อิงมหาอำนาจมากเกินไป อาจจะทำให้ปัญหาในท้องถิ่น กลายเป็นปัญหาระดับชาติและระดับนานาชาติได้ เช่น กรณีรัฐบาลไทยส่งทหารไปที่อิรัก ตามคำขอร้องของมหาอำนาจ ย่อมต่างกับการส่งทหารไปติมอร์ตะวันออก ตามที่รัฐบาลติมอร์ตะวันออกและสหประชาชาติร้องขอ

เพราะฉะนั้น การดำเนินนโยบายต่างประเทศ ในทัศนะผม ต้องแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศมุสลิม และความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม

การดำเนินนโยบายต่างประเทศกับประเทศเพื่อนบ้าน ต้องถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน การอยู่ร่วมกันต้องระมัดระวัง เรามีชายแดนติดกับหลายประเทศ ต้องไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สนับสนุนชนกลุ่มน้อยบางกลุ่ม ที่ต่อต้านรัฐบาลประเทศเขา ไม่ใช้นโยบายที่สร้างรัฐกันชน เหมือนกับในอดีต

ในระดับกลุ่มประเทศมุสลิม ต้องวางตัวเป็นกลางให้มากที่สุด และกับประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจ เราต้องระมัดระวังไม่เดินตามหลังเขาเทิ่งๆ เพราะมันมีผลกระทบไปถึงประเทศมุสลิมกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีทั้งประเทศมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม

สรุป คือ เราดำเนินนโยบายเป็นกลางจะดีที่สุด เราคบกับทุกประเทศ ตอนนี้โลกกำลังเผชิญอยู่กับการก่อการร้าย ไทยต้องปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศ ปัจจุบันนี้ ไทยยังไม่ใช่เป้าหมาย แต่เป็นทางผ่าน จากทางผ่าน เราจะกลายเป็นเป้าหมายได้ ถ้าดำเนินนโยบายผิดพลาด

ส่วนปัจจัยภายนอก คือ ความเห็นอกเห็นใจจากสังคมมุสลิมต่างประเทศ โดยเฉพาะกรณีตากใบ ถือว่าเป็นไฮไลท์ องค์กรที่ประชุมกลุ่มประเทศมุสลิม(โอไอซี) ก็มีแนวโน้มว่า จะหยิบยกประเด็นนี้ เข้าสู่ที่ประชุมในเดือนพฤษภาคม 2548 ขณะที่ไทยก็พยายามล็อบบี้ไม่ให้นำประเด็นนี้เข้าที่ประชุม เรื่องนี้ ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด ประธานโอไอซีไม่พอใจมาก เขาดูวีซีดีแล้วรับไม่ได้

แล้วมองกรณีโอไอซีไม่พอใจไทย กรณีใช้ความรุนแรงในภาคใต้อย่างไร
รัฐบาลส่งตัวแทนไปชี้แจงกับเลขาธิการโอไอซีแล้ว ตรงนี้ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่เราไปชี้แจงว่า เขาพอใจมากน้อยแค่ไหน คือ ในยุคข้อมูลข่าวสารเราต้องไม่ลืมว่า ต่างคนต่างก็มีข้อมูลข่าวสารอยู่มือ เพราะฉะนั้น ทางที่ดีที่สุดเรามีข้อมูลอะไร ที่สามารถเปิดเผยได้ก็ให้เปิดออกมา เราควรทำให้ชัดเจน อย่าปิดบัง เพราะถ้าเราปิดบังมันก็จะเกิดผลเสียต่อเราเอง

อย่าลืมว่า ถึงแม้จะมีมุสลิมเป็นชนส่วนน้อยของประเทศ โอไอซีเขาก็ติดตามดูการเคลื่อนไหวอยู่ รัฐบาลต้องระวังอย่าคิดว่าไม่มีอะไร เพราะมุสลิมยึดหลักคำสอนอิสลามที่ว่า แท้จริงผู้ศรัทธาเป็นพี่น้องกัน จึงเป็นภาระหน้าที่ของกลุ่มมุสลิมที่จะต้องดูแลกันและกัน เขาจึงมีองค์กรหลายๆ องค์กร คอยดูแลมุสลิม

กลุ่มประเทศมุสลิมกำลังจับตามองเราอยู่ การที่เราจะส่งคุณสุรเกียรติ เสถียรไทย เป็นเลขาธิการสหประชาชาตินั้น ถ้าประเทศมุสลิม หรือประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ไม่พอใจเขาอาจจะล็อบบี้ประเทศมุสลิมอีก 50 ประเทศ ไม่ให้เลือกคุณสุรเกียรติก็ได้ เราจะเสียโอกาสตรงนั้น

การลงโทษปรับย้าย 3 นายพลที่เกี่ยวข้องการเหตุการณ์ตากใบ เป็นบทลงโทษที่เหมาะสมหรือไม่
รัฐบาลต้องดำเนินการเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา เพื่อไม่ให้เกิดกระแสต่อต้านว่า เวลาเจ้าหน้าที่หรือผู้ใหญ่ทำผิดแล้วรัฐไม่ลงโทษ คนทำผิดต้องได้รับการลงโทษเช่นเดียวกับคนทั่วไป กระทำผิดทางวินัยว่าอย่างไร กระทำผิดทางทางอาญาด้วยหรือไม่ ก็ต้องดำเนินไปตามกระบวนการ อย่าเลือกปฏิบัติ ต้องชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจว่า รัฐดำเนินการอะไรไปบ้างแล้ว

การแก้ปัญหาภาคใต้ควรเป็นอย่างไร
ปัญหาความไม่สงบเกิดจากความรู้สึกคับแค้น ต้องใช้เวลาแก้ปัญหา ต้องยอมรับความจริง ถึงจะแกปัญหาได้ ต้องยอมรับว่าพื้นที่ตรงนี้มีความเป็นมาอย่างไร ในทางประวัติศาสตร์ การใช้เงินอย่างเดียว ไม่สามารถแก้ปัญหาหลักๆ ได้ เพราะสิ่งที่ประชาชนที่นี่ต้องการ คือ สิทธิเสรีภาพ ทั้งในเรื่องศาสนา วิถีชีวิต ความเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรี รัฐบาลต้องปฏิบัติกับคนที่นี่เหมือนปฏิบัติกับมนุษย์ด้วยกัน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเอง ก็ให้ความสำคัญเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์สูงมาก แนวทางการแก้ปัญหา ก็คือ ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญนั่นเอง

จะแก้ปัญหาได้อย่างไรในเมื่อยังไม่รู้ว่ากำลังสู้รบอยู่กับใคร
ไม่รู้สู้อยู่กับใคร เป็นประเด็นที่สอง ประเด็นแรก คือ ตัวนายกรัฐมนตรีเอง ที่ก่อให้เกิดความรุนแรง จากบางคำพูดของนายกรัฐมนตรีเอง ประเด็นที่สองคือรบกับใคร ผมจะพูดว่ารบกับผู้ที่ถูกกระทำ ครอบครัวที่ถูกกระทำ เพราะฉะนั้น การก่อความไม่สงบอาจเกิดจากคนหลายกลุ่มที่ถูกกระทำ เขาไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวเองออกมาว่า ทำในนามกลุ่มหรือขบวนการอะไร

กลุ่มขบวนการเก่าก็ยังคงมีอยู่ แต่เขาทำอะไรไม่ได้แล้ว กลุ่มที่ก่อความไม่สงบขณะนี้ ไม่ได้มีฐานะเป็นขบวนการ พวกนี้เลียนแบบกระบวนการก่อความไม่สงบ จากขบวนการต่างๆ ในอดีต สิ่งที่แตกต่าง ก็คือ เขาไม่จะเป็นต้องบอกว่า เขาคือกลุ่มไหน ทำให้ยากที่เราจะเข้าไปเจรจาพูดคุยด้วย แน่นอนว่า เขาต้องมีผู้นำ แต่ไม่มีใครรู้ว่า ผู้นำของเขาเป็นใคร มันไม่มีองค์กร แต่มันมีตัวตน

แล้วคนที่ถูกจับกุม ซึ่งรัฐอ้างว่าอยู่ในขบวนการบีอาร์เอ็นบ้าง อะไรบ้าง
นั่นเป็นข้อสันนิษฐานของราชการ บางคนเขามาแก้แค้นแทนญาติเขา บางคนเป็นญาติของคนในขบวนการพูโลมาก่อน อาจจะได้รับการสืบทอดวิธีการทำงาน แต่เขาก็ไม่ได้ยอมรับพูโล เพียงแต่เลียนแบบ ตรงนี้ยากที่จะแก้ไข

ตามหลักของพระพทุธเจ้าบอกว่า เวณย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร ของเรานี่ต้องใช้ว่า ความรุนแรงต้องระงับด้วยการไม่ใช้ความรุนแรง ในอดีตเรามีขบวนการ แต่คนในสังคมยังอยู่ร่วมกันได้ นั่นคือ เรามีกติกาการอยู่ร่วมกันภายใต้ความขัดแย้ง ถึงจะขัดแย้งกันแต่ยังอยู่กันได้

เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร ภายใต้ความขัดแย้ง คือ ทางการต้องสะกดพวกนี้ให้ได้ แต่วันนี้สะกดไม่ได้ มันเกินเลยขีดของมันไปแล้ว กลุ่มพวกนี้ปฏิบัติการตอบโต้รัฐด้วยความแค้นอย่างเดียว ไม่ได้ต่อสู้ภายใต้มีอุดมการณ์ แต่สู้เพราะแค้นที่ญาติถูกกระทำ ไม่สนใจแล้วว่าคนที่เขากระทำ เป็นคนบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ ต้องการทำให้บ้านเมืองปั่นป่วนอย่างเดียว

ดูเหมือนว่าปัญหามันใหญ่เกินกว่าจะเป็นความแค้นส่วนตัว
ใช่ แต่บางเรื่องผมพูดไม่ได้ มันอันตราย

วางอนาคตทางการเมืองไว้อย่างไร
ถ้าสามารถอยู่ช่วยแก่ปัญหาของบ้านเมืองได้ ก็จะทำต่อไป แต่ถ้าไม่ได้ก็ต้องเลิก

จะชวนอาจารย์ชิดชนก ราฮิมมูลา มาเล่นการเมืองด้วยหรือไม่
อาจารย์ชิดชนก คือ ผู้อยู่เบื้องหลัง ช่วยผมในเชิงของข้อมูล เพราะผมมีภารกิจมากขึ้น ผมตั้งความหวังไว้กับปัญญาชนกับนักวิชาการในพื้นที่ว่า จะเข้ามาร่วมกันแก้ปัญหามากกว่า อยากจะเชิญชวนให้เขามาแสดงความเห็น แสดงทัศนะ แสดงข้อมูล เพื่อเราจะได้นำไปแก้ปัญหาบ้านเมือง ผมต้องการสร้างเครือข่ายกลุ่มคนที่มีจิตวิญญาณเสียสละ เพื่อให้เกิดสันติสุขในบ้านเมือง โดยเปิดรับประชาชนทุกฝ่าย ที่พร้อมจะให้ความร่วมมือ

กลุ่มการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามกับพรรคประชาธิปัตย์ในอดีต ผมก็จะเชิญชวนมาร่วมกันแก้ปัญหา จะไม่แบ่งฝ่ายแบ่งขั้ว ผมจะสลายตรงนั้นให้ได้

คิดอย่างไรกับข้อกล่าวหาว่า นักการเมืองในพื้นที่อยู่เบื้องหลังก่อความไม่สงบ
น่าเห็นใจ ขนาดไม่มีหลักฐานชัดเจนก็ยังถูกกล่าวหา ตัวผมเองก็ถูกกล่าวหาเป็นโจรบ้าง พวกขบวนการบ้าง พวกจบตะวันออกกลางบ้าง เราต้องยอมรับว่า การเป็นนักการเมืองมุสลิม และไม่ใช่มุสลิมในพื้นที่ตรงนี้ ถ้ายังมีสิ่งน้ำเน่าแบบนี้ยอยู่ การแก้ไขปัญหาบ้านเมืองจะลำบาก

คงไม่มีนักการเมืองระดับชาติคนไหนในขณะนี้ เข้าไปยุ่งกับกลุ่มก่อความไม่สงบ เขาถูกใส่ร้าย เขาต้องแสดงความบริสุทธิ์ออกมา โดยยึดมั่นในกระบวนการยุติธรรมของบ้านเมือง เราอยู่ในสังคมประชาธิปไตย มีความคิดเห็นแตกต่างกันได้ ความแตกต่างไม่ได้หมายความว่าแตกแยกกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net