คลื่นอิทธิพล...มหันตภัยรอบสองของชาวมอแกน

ที่มา โครงการนำร่องอันดามัน : นฤมล อรุโณทัย ถ่ายภาพ
====================================

ประชาไท หลังจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์ซึนามิ สาดโถมทับกลืนกินชีวิตผู้คนและทรัพย์
สินในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้ชายฝั่งทะเลอันดามัน เสียหายไปมากมายนั้น หลายพื้นที่กำลังได้รับการฟื้นฟู แต่สำหรับชาวมอแกนซึ่งเป็นชนเผ่าในภาคใต้ คลื่นลูกใหม่กำลังถาโถมเข้ากระหน่ำคนที่นั่นอีกครั้ง

บ้านทุ่งหว้า ต.คึกคัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงาเป็นอีกพื้นที่ที่กำลังประสบปัญหาหนักในเรื่องที่ดิน ในพื้นที่ปัญหาขนาด 29 ไร่ที่ทุ่งหว้า เดิมเป็นชุมชนของชาวมอแกนที่อาศัยอยู่กันมาหลายชั่วอายุคน แต่หลังจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์ซัดเข้ามาทางองค์กรบริหารส่วนตำบลในท้องถิ่นมีโครงการจะย้ายชาวมอแกนไปอยู่ที่อื่น และมีโครงการจัดสรรที่ดินดังกล่าวเป็นสำนักงานบริหารส่วนตำบลคึกคัก สร้างโรงพยาบาลและสร้างศูนย์สินค้าโอท็อป ทำให้ชาวมอแกนที่เหลือรอดจากคลื่นยักษ์ 281 คนประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย

นายจุฬา เทียนทบ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)คึกคักกล่าวว่า ชาวบ้านไทยใหม่ บ้านทุ่งหว้า ได้บุกรุกที่ดินสาธารณะ ทางอบต.จึงต้องหาวิธีจัดการปัญหา เพราะหากไม่สามารถจัดการย้ายชาวบ้านออกจากบ้านทุ่งหว้าได้ ที่อื่นๆก็จะดื้อแพ่งบุกรุกที่ดินสาธารณะได้เช่นกัน ส่งผลให้มีปัญหาต่อไปในระยะยาว

นายธวัชชัย สุขดี เลขาสภาอบต.คึกคักกล่าวว่า หลังเกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ พล.อ.เชาวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งให้แบ่งที่ดินสาธารณะจำนวน 10 ไร่จาก 29 ไร่เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของชาวมอแกนบ้านทุ่งหว้า แต่เมื่อสร้างบ้านพักถาวรจริง ชาวมอแกนกลับสร้างบ้านพักถาวรเหนือพื้นที่ทั้ง 29 ไร่ ซึ่งเป็นการบุกรุกที่ดิน อีกทั้งเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมาได้มีเจ้าหน้าที่จากจังหวัดพังงามารังวัดที่ดินจำนวน 10 ไร่ไว้แล้ว แต่ชาวมอแกนก็ยังคงปักหลักเหนือที่ดินสาธารณะทั้ง 29 ไร่ ทำให้ทางอบต.มีความหนักใจมาก และพยายามเร่งหาวิธีการจัดการปัญหาเรื่องที่ดินต่อไป

ด้านนายประสิทธิ์ เกตุไกล อายุ 31 ปี หนึ่งในชาวมอแกนที่ประสบปัญหาเรื่องที่ดิน บ้านทุ่งหว้า กล่าวว่า ความจริงแล้วที่ทั้งหมดมี 26 ไร่ 3 งานไม่ใช่ 29 ไร่ตามที่ทางอบต.กล่าวอ้าง และพื้นที่ดังกล่าวชาวบ้านอาศัยอยู่มาเป็นร้อยๆ ปี แต่อบต.พึ่งมาตั้งทีหลัง คนที่บุกรุกที่ดินไม่ใช่ชาวบ้าน หน่วยงานราชการต่างหากที่บุกรุกที่ดิน

นายประสิทธิ์กล่าวต่อว่า เมื่อไม่นานมานี้มีการตกลงกับทางส่วนจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องที่ดินที่ทุ้งหว้าโดยมีข้อสรุปว่า จะแบ่งที่ดิน จาก 26 ไร่ 3 งาน ออก 10 ไร่ให้กับทางอบต.คึกคัก เพื่อยุติปัญหา ที่ดินที่เหลืออีก 16 ไร่ 3 งาน ชาวมอแกนจะสร้างเป็นบ้านพักถาวรเหนือพื้นที่เดิมที่ตนเคยอยู่

"เราสร้างบ้านทั้งหมด 70 หลังเหนือที่ดิน 10 ไร่ ส่วนที่เหลืออีก 6 ไร่ 3 งานจะกันไว้เป็นที่สาธารณะเพื่อสร้างโรงเรียนและสร้างศูนย์อาชีพของพวกเรา"นายประสิทธิ์กล่าว

นายประสิทธิ์กล่าวอีกว่าขณะนี้ทางชาวบ้านกำลังร่วมมือกันสร้างบ้าน โดยช่วยกันสร้างรวมกันทั้งหมด 70 หลัง และคาดว่าในอีก 2 เดือนข้างหน้าจะเสร็จสิ้นทั้งหมด และแม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการข่มขู่คุกคามจากอิทธิพลท้องถิ่นอยู่เสมอ แต่ชาวบ้านยังคงสามัคคีและช่วยเหลือกันสร้างบ้านต่อไป

"เมียผมหายไปกับคลื่น เหลือแต่ผมที่หนีรอดมาได้ ผมไม่นึกหวาดกลัวอะไรอีกแล้ว ตอนนี้ขอเพียงสร้างบ้านให้เสร็จ อยู่บนที่ดินของพวกเราก็พอแล้ว เราอยู่ที่นี่มาหลายชั่วคน หากจะต้องตายก็ขอตายที่นี่"นายประสิทธิ์กล่าว

นายโกเมศร์ ทองบุญชู ผู้ประสานงานองค์กรชุมชนงานเครือข่ายแผ่นแม่บทสนับสนุนชุมชนพึ่งตนเองภาคใต้ กล่าวว่า ที่ผ่านมาบ้านทุ่งหว้าถูกข่มขู่คุกคามจากเจ้าหน้าที่ตำรวจยศพันโทนายหนึ่ง ซึ่งขู่ให้ชาวบ้านออกนอกพื้นที่ และปัจจุบันเมื่อชาวบ้านยังคงปักหลักสร้างบ้าน ก็มีวัยรุ่นขี่จักรยานยนต์เข้ามาก่อความวุ่นวายในหมู่บ้านบ่อยๆ อีกทั้งตนยังได้ถูกขู่หมายเอาชีวิตทางโทรศัพท์อีกด้วย

"เคยมีโทรศัพท์มาขู่บ่อยๆ เขาไม่บอกว่าเป็นใครเขาขู่แต่ว่าให้ผมออกนอกพื้นที่บ้านทุ่งหว้า ไม่อย่างนั้นจะเป็นอันตรายถึงชีวิต"นายโกเมศร์กล่าว

นายโกเมศร์กล่าวอีกว่า ไม่ว่าจะมีการข่มขู่คุกคามอย่างไร ตนยังยืนยันที่จะอยู่ช่วยสนับสนุนชาวบ้านมอแกนสร้างชุมชนต่อไป และเชื่อว่าทางหน่วยงานราชการไม่น่าจะนิ่งนอนใจต่อการคุกคามชาวบ้านจากผู้มีอิทธิพลในหน่วยงานท้องถิ่น

บ้านทุ่งหว้าเป็นอีกพื้นที่หนึ่ง ในหลายๆพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากคลื่นอิทธิพล ที่กำลังโถมซัดเข้ามาในท้องถิ่น ปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดินและการกดดันชาวบ้านออกนอกพื้นที่ด้วยวิธีการข่มขู่คุกคาม หมายขวัญเอาชีวิตกำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้มาตรการการแก้ไขปัญหาอิทธิพลในท้องถิ่นจึงเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ก่อนที่จะมีการสูญเสียเกิดขึ้นเหมือนกรณีอื่นๆที่ผ่านมา

ศิริรัตน์ อนันต์รัตน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท