Skip to main content
sharethis

รายงานย่อสำหรับผู้บริหาร

1. บทนำ : ระบอบทักษิณกับภูมิทัศน์การเมืองโลก

ในรอบปี 2547 มีสัญญาณแสดงว่าภูมิทัศน์การเมืองโลกกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ โดยอำนาจและอิทธิพลของสหรัฐที่เป็นอภิมหาอำนาจแต่เพียงหนึ่งเดียวลดถอยลง เปิดให้ภูมิภาคอื่น ได้แก่ ยุโรป ญี่ปุ่น จีน และอินเดียขึ้นมาแข่งอำนาจและอิทธิพล ภายในประเทศระบอบทักษิณก็ได้ทำให้ภูมิทัศน์การเมืองไทยเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ในบางด้าน เช่น ระบบราชการแบบเดิมอาจไม่หวนกลับ

สถานการณ์ในประเทศ

ตลอดช่วง 2547 ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับระบอบทักษิณอย่างกว้างขวาง ทั้งด้านบวกและด้านลบ โดยในประวัติศาสตร์ระยะใกล้ยังไม่มีผู้นำใดที่ก่อการเปลี่ยนแปลงและการวิพากษ์วิจารณ์ได้มากเท่า ระบอบทักษิณโดยพื้นฐานเป็นการสืบทอดเจตนารมณ์เดิม ได้แก่ การพัฒนาระบบทุน หรือการไล่ทันตะวันตกหรือชาติพัฒนาแล้ว รวมทั้งรับเอามรดกทางวัฒนธรรมการเมืองการปกครองของไทยบางอย่าง ได้แก่ ลัทธิอุปถัมภ์ ลัทธิอำนาจนิยม และลัทธิพ่อบ้าน เป็นการแหวกทางตัน (Breakthrough) จากระบบเดิม อันเป็นการบริหารการปกครองโดยมีระบบราชการเป็นแกน ผู้นำสำคัญ ได้แก่ ขุนนางราชการและขุนนางนักวิชาการ รอบแกนนำนี้ได้แก่ พรรคและนักการเมือง กลุ่มธุรกิจ รวมถึงผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นทีฟั่นกันเป็นเกลียว ทั้งร่วมกันและขัดแย้งผลประโยชน์กันอย่างหนัก

ระบอบทักษิณก่อปรากฏการณ์ใหม่บางอย่าง

ทางการเมือง ได้แก่ มีการเมืองที่รวมศูนย์อำนาจจากการเลือกตั้งค่อนข้างเด็ดขาด มีนโยบายการบริหารประเทศของตนอย่างเด่นชัด การปฏิรูประบบราชการ การเดินนโยบายประชานิยม (ทางการัฐบาลเรียกว่านโยบายที่ถือประชาชนเป็นศูนย์กลาง - People-centered Policy) เข้าถึงประชาชนฐานรากโดยตรง แสดงบทบาทบนเวทีโลกชัดเจน

ทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การก้าวสู่ระดับภูมิภาคและระดับโลกอย่างได้ผล การขยายการลงทุนอย่างทั่วด้าน การนำการผลิตระบบตลาดและจิตใจผู้ประกอบการกระจายไปทั่วประเทศ การเร่งทำสัญญาเขตการค้าเสรี และการปฏิรูปสถาบันการเงิน

ในด้านชุมชน ได้แก่ การขยายฐานระบบทุนนิยมสู่ประชาชนรากหญ้า การขจัดผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นและการสร้างประชาสังคมใหม่ ที่เป็นมิตรกับระบบทุนมากขึ้น เร่รัดพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

การวิพากษ์วิจารณ์ระบอบทักษิณ

อาจใช้ชื่อกลางๆ ว่า "รู้ทันทักษิณ" เกิดจาเหตุปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่ ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ความไม่พอใจส่วนตัว และความไม่พอใจด้านทัศนะและแนวทางการพัฒนา พลังที่ออกมาจากนักวิชาการและเอ็นจีโอบางกลุ่ม แต่พลังที่เป็นแกน ได้แก่ กลุ่มที่เรียกกันว่า "นายทุนผู้ดีเก่า" เนื่องจากการสืบเนื่องจากของเดิม ความเรียกร้องทางสถานการณ์ปัจจุบัน และการเติบโตของชนชั้นนายทุนไทย คาดหมายว่าระบอบทักษิณน่าจะดำเนินต่อไปอีก

ผลกระทบบางประการต่อการเมืองในภูมิภาค
1) ทำให้ประเทศไทยมีบทบาทที่สูงขึ้น
2) เป็นตัวเร่งสำนึกทางภูมิภาคขึ้น
3) เป็นแบบอย่างให้แก่ประเทศอื่นบางประเทศ

สถานการณ์ในต่างประเทศ

มีความขัดแย้งใหญ่ภายในโลก 3 ประการ ได้แก่ 1) ความขัดแย้งในศูนย์กลาง โดยสหรัฐมีสัญญาณอ่อนพลังลง 2) ความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจกับประเทศกำลังพัฒนา 3) ความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจทุนนิยมและเครือข่ายกับขบวนการขององค์กรที่ต่ำกว่ารัฐ ซึ่งมีทั้งที่ใช้การก่อความสยดสยอง เช่น กลุ่มก่อการร้าย และการเคลื่อนไหวทางสังคม เช่น สมัชชาสังคมโลก

สถานการณ์ในประเทศและภูมิภาคต่างๆ

1) ประเทศจีน ทำให้ภูมิทัศน์ทางการเมืองเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด คาดหมายว่าจีนจะก้าวขึ้นสู่การเป็นประเทศมหาอำนาจอย่างปราศจากข้อกังขา จีนก้าวสู่การเป็นประเทศมหาอำนาจด้วยเหตุปัจจัยหลายประการ ได้แก่ (1) เป็นประเทศใหญ่ประชากรมากและขยันขันแข็ง (2) ผ่านการปฏิวัติประชาธิปไตยแผนใหม่ รวมทั้งการปฏิวัติใหญ่ทางวัฒนธรรมของชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่งก่อผลสำคัญ เช่น การปฏิรูปที่ดินได้อย่างถึงราก การก่อความเป็นปึกแผ่นและรักปิตุภูมิในหมู่ชาวจีน ทำลายความเชื่อและลัทธิประเพณีต่างๆ ที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ มีชุมชนท้องถิ่นที่ค่อนข้างเข้มแข็ง มีเงินออมภายในสูง มีกองทัพแรงงานสำรองจำนวนมหาศาล มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีระดับที่แน่นอนก่อนการเปิดประเทศ

(3) มีแนวทางการพัฒนาและจังหวะก้าวที่เหมาะสมของพรรคและรัฐบาลจีน (4) ความอ่อนแอลงเองของทุนนิยมเก่า -ปัญหาการเคลื่อนไหวบางประการ เช่น สถาบันการเงินยังอ่อนแอ ช่องว่างทางสังคมขยายตัว การลงทุนที่มากเกินไปในบางสาขา และการพัฒนาที่ยั่งยืน ความขัดแย้งบริเวณช่องแคบไต้หวัน และที่สำคัญ ได้แก่ การแก้ปัญหาความโปร่งใสในการบริหารประเทศ เป็นที่สังเกตว่า มีการกระชับพันธมิตรจีน - รัสเซียขึ้น และประเทศจีนกำลังออกไปลงทุนทั่วโลก โดยเฉพาะในด้านกิจการน้ำมัน

2) กลุ่มประเทศอาหรับและโลกมุสลิม ชาวมุสลิมได้ก้าวขึ้นมีบทบาทใหญ่บนเวทีโลก โดยมีแกนหลักในระดับระหว่างประเทศ 2 แกน ได้แก่ สันนิบาตอาหรับ และ องค์กรการประชุมอิสลาม

ในปี 2547 มีการเคลื่อนไหวน่าจับตา ได้แก่ (1) สถานการณ์การเคลื่อนไหวท้าทายสหรัฐ นั่นคือ การลอบสังหารขับไล่ผู้นำที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐ และโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน (2) สงครามอิรักที่ยกระดับความรุนแรงอย่างเห็นได้ชัด (3) สถานการณ์ความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ซึ่งเข้มข้นจนรู้สึกว่าจำต้องหาทางออก (4) การเกิดขบวนการต่อต้านชาวยิวในยุโรป (5) ความเป็นเอกภาพในกลุ่มอาหรับและโลกมุสลิมยังมีน้อย

คาดหมาว่าขบวนการมุสลิมมีแนวโน้มขยายตัว เนื่องจากกระแสความไม่พอใจและความคับแค้นอย่างสูง โดยเฉพาะจากการถูกยึดครอง และการเป็นชนส่วนน้อยในดินแดนต่างๆ กระแสความต้องการที่กลับมามีบทบาทระดับโลกอีกครั้งหนึ่งของโลกอาหรับและมุสลิม จุดอ่อนของระบบทุนนิยม และกระบวนการโลกาภิวัตน์ นโยบายที่ผิดพลาดของสหรัฐและพันธมิตร พร้อมกันนั้นปรากฏกระแสเผยแพร่ข่าวสารและการเคลื่อนไหวเชิงบวกมากขึ้น

3) สหรัฐ ได้เลื่อนไหลไปสู่การเป็นจักรวรรดิอย่างโจ่งแจ้ง ทำให้ถูกต่อต้านจากประชาชนทั้งภายในและภายนอกประเทศ สถานการณ์ในปี 2547 สหรัฐมีการเลือกตั้งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในหลายแง่มุม การไม่สามารถปฏิบัตินโยบายสร้างความมั่นคงสมบูรณ์ได้ ความเปราะบางทางเศรษฐกิจ ช่องว่างทางสังคมขยายตัว มีแนวโน้มที่จะเกิดความขัดแย้งทางวัฒนธรรมในสังคมอเมริกา การเป็นแบบอย่างประชาธิปไตยด่างพร้อย

4) สหภาพยุโรป ได้ขยายสมาชิกเพิ่มขึ้นอีก 10 ประเทศ มีการร่างรัฐธรรมนูญสำเร็จในเบื้องต้น การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในสเปนที่ออกห่างจากสหรัฐ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐไม่ราบรื่น โดยสหรัฐดูเหมือนไม่รู้ว่าจะจัดการกับสหภาพยุโรปในแง่เป็นองค์กรรวมอย่างไร

5) อินเดีย ได้เปิดประเทศมากขึ้นในระยะ 10 กว่าปีมานี้ มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ กลายเป็นตลาดเกิดใหม่ที่สำคัญของโลกทุนนิยม กล่าวกันว่า จะขึ้นมามีบทบาทบนเวทีโลกมากขึ้นคล้ายกับจีน แต่ยังมีจดอ่อนในการทำประเทศให้ทันสมัยหรือแบบทุนนิยมหลายประการ มีประเด็นน่าศึกษาที่เกี่ยวกับโลกาภิวัตน์กับลักษณะท้องถิ่นและวัฒนธรรมที่สูงยิ่งในประเทศนี้ อินเดียต้องการมีบทบาทมากขึ้น พยายามสงบศึกกับแคว้นแคชเมียร์ และมุ่งสู่ตะวันออกในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์มากขึ้น

6) กลุ่มอาเชียน มีการผนึกกำลังกัน ขณะเดียวกันก็มีการแตกตัวภายใน เช่น จากเรื่องศาสนา และอื่นๆ แม้ว่าการเมืองมีการเปลี่ยนแปลงแต่ก็มีความต่อเนื่อง การก่อการร้ายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย เป็นประเด็นร้อนของภูมิภาค

7) ละตินอเมริกา เอียงไปทางซ้ายมากขึ้น และมีกรณีเคลื่อนไหวและสงครามกลางเมืองหลายที่ ซึ่งเกี่ยวพันกับทางการสหรัฐ มีความพยายามที่จะตั้งประชาชมแห่งอเมริกาใต้ทำนองเดียวกับสหภาพยุโรป

8) แอฟริกา โดยเฉพาะตอนใต้ทะเลทรายสะฮารา กำลังกลายเป็นจุดเดือดทางภูมิศาสตร์การเมืองสำคัญเนื่องจากมีทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอยู่มาก

การปฏิรูปองค์การสหประชาชาติและองค์กรระหว่างประเทศอื่น

ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับและเข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป การเปลี่ยนแปลงเน้นไปที่การปรับปรุงแกนการบริหาร เช่น คณะมนตรีความมั่นคงถาวรของสหประชาชาติ ความเป็นประชาธิปไตย และความโปร่งใสในการปฏิบัติงาน

2. เศรษฐกิจ : ผลสำเร็จท่ามกลางข่าวร้าย

เศรษฐกิจของประเทศยังคงเติบโตสูงแต่ในอัตราที่ลดลง สวนทางกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีอัตราการเติบโตสูงขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากผลกระทบจากข่าวร้ายหลายประการ ได้แก่ การระบาดของไข้หวัดนก กรณีความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ น้ำมันราคาแพง ความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นนำ และในช่วงปลายปี เกิดกรณีธรณีพิบัติภัยคลื่นยักษ์สึนามิ การที่ประเทศยังคงสามารถรักษาการเติบโตได้สูงส่วนหนึ่งเกิดจากการเพิ่มขึ้นของการส่งออกมากเป็นประวัติการณ์ และการบริโภคในประเทศก็สูงขึ้นด้วย เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศมีพื้นฐานที่ค่อนข้างมั่นคง แต่ก็มีสิ่งที่ต้องติดตามหลายประการ เช่น การได้เปรียบดุลการค้าที่ลดลง อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น แนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น ความผันผวนของค่าเงินดอลล่าร์ การทำความตกลงการค้าเสรี เป็นต้น

ภาครัฐยังคงเป็นแกนนำในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมี 3 ยุทธศาสตร์ใหญ่ ได้แก่ การสร้างความเข้มแข็งและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน และการพัฒนามนุษย์และสังคม มีสัญญาณว่าชนชั้นนำมีความเห็นพ้องกันในบางเรื่อง ได้แก่ การเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และการพัฒนาแบบยั่งยืน คาดหมายว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจน่าจะลดลงในปี 2548 ตามภาวะเศรษฐกิจโลก

3. การเมือง : ความขัดแย้งและปรากฏการณ์ใหม่

สถานการณ์การเมืองสำคัญในปี 2547 ได้แก่ เกิดปรากฏข่าวความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นนำอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการเคลื่อนไหว เช่น เกิดชมรมคนรู้ทันทักษิณ วิเคราะห์กันว่าเป็นการขัดแย้งหลักระหว่าง 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มทุนเก่า/ผู้ดีเก่าที่พึ่งพิงระบบราชการและมีลักษณะท้องถิ่น กับกลุ่มทุนใหม่ที่มีลักษณะเป็นผู้ปฏิรูปและบริหารระบบราชการและเป็นแบบโลกาภิวัตน์ ความขัดแย้งดังกล่าว มีด้านดีทำให้เกิดความสนใจในนโยบายสาธารณะ ทิศทางการพัฒนาและปัญหาคอร์รัปชั่นมากขึ้น ทางฝ่ายรัฐบาลได้พยายามพลิกสถานการณ์ และในเดือนพฤศจิกายน เหตุการณ์ได้คลี่คลายไปในทางเป็นผลดีแก่ฝ่ายรัฐบาล

การปฏิรูประบบราชการ ที่ก่อผลสูง ได้แก่ การปรับโครงสร้างวิธีการทำงานระบบงบประมาณใหม่ บางกรณี เช่น ผู้ว่าซีอีโอและทูตซีอีโอผลยังไม่ชัดเจน โดยรวมทำให้ระบบราชการเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ แต่ยังไม่ถึงขั้นเป็นระบบรัฐใหม่

กรณีสามจังหวัดภาคใต้ เป็นการท้าทายต่ออำนาจรัฐและกลุ่มผู้ปกครองของไทยครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง กรณีกรือเซะ และตากใบ ทำให้ทางการตกเป็นฝ่ายรับทางการเมือง และอาจส่งผลกระทบให้เกิดการทบทวนแนวคิดและบทบาทของรัฐใหม่ในยุคหลังสมัยใหม่ และน่าจะเก็บบทเรียนทั้งจากในอดีตและในพื้นที่ต่างๆ เพื่อที่จะได้เข้าใจและแก้ปัญหาเหตุร้ายดังกล่าวได้ดีขึ้น

ปรากฏการณ์ใหม่ทางการเมือง ที่น่าสนใจ ได้แก่ 1) เกิดระบบพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรคขึ้นไป 2) รัฐบาลจากการเลือกตั้งสามารถอยู่จนครบวาระได้ 3) บทบาทของพรรคการเมืองเข้มแข็งขึ้น ดาวสภาลดลง 4) การปรับคณะรัฐมนตรีหลายครั้งโดยไม่กระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาล 5) การเลือกตั้งทั่วไปเดือนกุมภาพันธ์ 2548 พรรคไทยรักไทยได้รับคะแนนเสียงท่วมท้นจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้สำเร็จ

ควรจับตา 1) ชนชั้นนายทุนไทยจะมีวุฒิภาวะพอที่จะออกหน้าเป็นผู้ปกครองแท้จริงหรือไม่ 2) บาทบาทของรัฐสภาในการเมืองมิติใหม่

การเคลื่อนไหวด้านการปกครองส่วนท้องถิ่น มีทั้งด้านที่คืบหน้า เช่น มีการเลือกตั้งนายกอบจ.โดยตรง ด้านที่คืบหน้าแบบมีอุปสรรค เช่น การถ่ายโอนอำนาจ และด้านที่ต้องปรับปรุงส่งเสริม เช่น การฝึกอบรมบุคลากรท้องถิ่นทุกระดับ และการมีส่วนร่วมของประชาชน

ปัญหาสิทธิมนุษยชน เป็นประเด็นที่พูดถึงมาก บางด้านเป็นเรื่องละเอียดอ่อนเกี่ยวกับเรื่องการก่อการร้าย บางด้านเป็นเรื่องเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ในทรัพยากรธรรมชาติ บางด้านเกี่ยวกับความเคยชินของเจ้าพนักงาน และบางด้านเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออก ปัญหานี้มักต้องต่อสู้กันอย่างยืดเยื้อหาข้อยุติไม่ได้

การเมืองภาคประชาชน มีแนวโน้มหลากหลายมากขึ้น โดยเดิมมีนักวิชาการและเอ็นจีโอเป็นส่วนสำคัญ ผู้ที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น คือ ภาคประชาชนเองที่บางส่วนเข้มแข็งขึ้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐบาลมีการปฏิรูประบบราชการแล้ว รวมทั้งองค์กรเอกชน การเมืองภาคประชาชนที่มีความหลากหลายนี้ เป็นภูมิทัศน์ใหม่ทางการเมืองไทยอีกประการหนึ่ง

4.ประชากร สิ่งแวดล้อม และพลังงาน : ปัจจัยชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ด้านประชากร
มีสถานการณ์น่าสนใจดังนี้ 1) การออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองเยาวชน สตรี และผู้สูงอายุ ตลอดจนการจัดทำแผนแม่บทระบบสวัสดิการสังคม เป็นหลักไมล์ในการสร้างความมั่นคงของมนุษย์ ควรให้ความสนใจในทางปฏิบัติและแก้ไขปรับปรุง 2) ด้านแรงงาน มีข่าวการขาดแคลนแรงงานบางระดับ ซึ่งอาจขยายไปทุกระดับหากเศรษฐกิจมีการเติบโตต่อเนื่อง แรงงานไทยยังมีการศึกษาน้อย ที่น่าสนใจ ได้แก่ การย้ายแรงงานจากภาคเกษตรสู่อุตสาหกรรม โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมบริการ อาจมีผลต่อวัฒนธรรมชาวนาในสังคมไทย 3) ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการลดอัตราคนยากจนมาก ปัญหาช่องว่างในสังคมยังรุนแรงและอาจขยายตัว

ด้านสิ่งแวดล้อม
โดยทั่วไปอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วงและต้องปรับปรุงแก้ไข กรณีขัดแย้งเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ปรากฏเป็นข่าวตลอดปี ทั้งนี้เนื่องจากการพัฒนาเศรษฐกิจมักมีผลกระทบดานลบต่อสิ่งแวดล้อม อนึ่ง ได้ปรากฏภัยธรรมชาติรุนแรงทั่วโลกที่รุนแรงที่สุด ได้แก่ ธรณีพิบัติภัยสึนามิ อย่างอื่นได้แก่ พายุแรง อากาศหนาวจัด ร้อนจัด ซึ่งคาดว่าสืบเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน แรงกดดันจากสิ่งแวดล้อมรวมทั้งปัญหาราคาน้ำมันแพง

ด้านพลังงาน
มีประเด็นสำคัญเรื่อง 1) ความมั่นคงด้านพลังงาน ที่กลายเป็นประเด็นร้อน เมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ มีการริเริ่ม เช่น โครงการศูนย์กลางพลังงานแห่งภูมิภาค ซึ่งใช้เรื่องทางการตลาดหรือการพาณิชย์เป็นตัวนำ ควรจะได้อาศัยชุมชนเพิ่มขึ้นด้วย 2) ราคาน้ำมันแพงเป็นประวัติการณ์ในปี 2547 เนื่องจากความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากความพยายามพัฒนาเศรษฐกจประเทศต่างๆ โดยเฉพาะจีนและอินเดีย คาดหมายว่าน้ำมันราคาถูกจบสิ้นแล้ว

5.อาหารและสาธารณสุข : ความปลอดภัยและการคุมคาม

สถานการณ์ด้านอาหาร
1) ความมั่นคงด้านอาหาร โลกยังคงถูกคุกคามจากความมั่นคงด้านอาหาร อันเกิด
จากวิธีการผลิตและการค้าอาหาร 2) ความปลอดภัยทางอาหาร เกิดจากการปนเปื้อนในอาหารเป็นสำคัญ ในประเทศไทยมีการรณรงค์เพ่อการนี้และได้ผลในระดับที่แน่นอน ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายการเป็นครัวโลก แต่ก็มีงานให้ต้องทำอีกมกา ควรมีนโยบายอาหารแห่งชาติที่ครอบคลุมมากกว่า 3) อาหารกับไข้หวัดนก สะท้อนปัญหาการผลิตอาหารของไทยและภูมิภาคนี้และยิ่งทำให้เห็นว่าความปลอดภัยทางด้านอาหารนั้นสร้างได้ยากกว่าที่คิด 4) อาหารดัดแปรยีน เป็นประเด็นปัญหาที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ ทางการและบรรษัทมีความโน้มเอียงที่จะรับเทคโนโลยีนี้ แต่สาธารณชนยังข้องใจ 5) การเป็นครัวโลก เป็นนโยบายที่ค่อนข้างก่อผลข้างเคียงด้านดี เช่น การตื่นตัวในอาหารไทย และการสร้างความปลอดภัยทางอาหาร แต่ในเชิงพาณิชย์ยังไม่ประสบผลดีมากนัก เนื่องจากการกีดกัน เป็นต้น

สถานการณ์ด้านสาธารณสุข
1) สถานการณ์ทั่วไป สิ่งที่ทำไปแล้วและประสบความสำเร็จจนมีความมั่นคงระดับหนึ่งได้แก่ ระบบประกันสุขภาพ สิ่งที่ยังค้างและควรทำให้เสร็จโดยเร็ว ได้แก่ การออกพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ นอกจากนี้ยังพบการเมืองในวงการสาธารณสุข เกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายการเมืองและบุคลากรฝ่ายปฏิบัติที่มีคุณภาพสูง คาดหมายว่าความขัดแย้งนี้จะยังคงดำรงอยู่ต่อไป 2) กระแสตื่นสุขภาพ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการกระตุ้นเชิงพาณิชย์ 3) ปัญหาสุขภาพที่สำคัญ ได้แก่ โรคเอชไอวี/เอดส์ การติดสุราและบุหรี่ และความปลอดภัยทางยา

6.การศึกษา : ความชะงักงันและการก้าวเดิน

การศึกษาไทยในรอบปี 2547 ปรากฏความชะงักงันหลายประการ ขณะเดียวกันก็มีความพยายามในการเดินไป มีประเด็นน่าสนใจ ดังนี้

ภาพรวมการศึกษาไทย
มองเฉพาะด้านหลักสูตรการเรียนการสอนที่เกี่ยวกับครู ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นหัวใจของการปฏิรูปการศึกษา พบปัญหาและจุดอ่อนไม่น้อย ต้องแก้ด้วยการกระจายอำนาจ ซึ่งต้องทำยอย่างมีจังหวะก้าว และการฝึกอบรม ยกมาตรฐานและความมั่นใจของครู ภาพรวมการศึกษาที่มองจากจุดเป็นเครื่องมือ เช่น การสร้างความรู้ และการแก้ไขความยากจนของประเทศ ในกรณีแรกมีความสำนึกพอสมควร แต่มีการดำเนินการและความพร้อมน้อย ในกรณีหลังมีความไม่พร้อมค่อนข้างสูง นอกจากนี้ ยังมี ภาพรวมการศึกษาที่มองจากจุดของการเป็นจุดหมายปลายทางในตัวเอง เช่น การเข้าใจและพัฒนาศักยภาพของตนเองสู่ขั้นสูง อันเกี่ยวกับเรื่องจริยธรรม

เกิดปัญหาและอุปสรรคจำนวนหนึ่ง เช่น ความล่าช้าในการออกกฎหมาย และกรณีข้อสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยรั่ว แต่ก็ได้มีการแก้ไขปัญหาไป

ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจของรัฐบาล

ในช่วงปี 2547 ภาครัฐมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ได้แก่ 1) การจัดตั้งองค์กรเพื่อเร่งการพัฒนาการเรียนรู้ของเยาวชนและการปฏิรูปการศึกษา 2) การขยายโอกาสทางการศึกษาโดยเฉพาะการให้ทุน 3) การจัดตั้งโรงเรียนพิเศษต่างๆ

ปัญหาการโอนการศึกษาไปท้องถิ่น ซึ่งเกิดการต่อต้านจากกลุ่มครูอย่างรุนแรง จนกระทั่งต้องชะลอออกไป การโอนการศึกษานี้แม้เป็นเรื่องสำคัญจำเป็นเพื่อการปฏิรูปการศึกษา และการจัดการศึกษาที่ดี แต่ก็ไม่ใช่ต้องกระทำอย่างเร่งรีบ ควรกระทำอย่างเหมาะสมมีจังหวะก้าว ตามความรพร้อมของท้องถิ่นที่มีการมีส่วนร่วมของประชาชนสูง ซึ่งรัฐบาลควรจะได้สนับสุนน พร้อมกับมีกลไกดูแลในระยะผ่าน

สถาบันราชภัฏและวิทยาลัยชุมชน การยกสถาบันราชภัฏเป็นมหาวิทยาลัย และการสร้างวิทยาลัยชุมชนทำให้ประเทศไทยมีสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาครอบคลุมพื้นที่อย่างทั่วถึง การท้าท้ายสำคัญคือ การทำให้สถาบันทั้งสองแบบมีบทบาทในการพัฒนาชุมชน

โรงเรียนนานาชาติ มีวามคิดที่จะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาของภูมิภาค ขณะเดียวกันก็พบว่ามีโรงเรียนนานาชาติเปิดสอนมากขึ้น โรงเรียนเหล่านี้ดูเหมือนเป็นผู้กำหนดมาตรฐานของโรงเรียนในประเทศ แทน

ข้อสังเกตเกี่ยวกับค่านิยมการเรียนจบมหาวิทยาลัย

ค่านิยมนี้ยังคงมีอย่างเข้มข้นในสังคมไทย จนกระทั่งปัจจุบัน ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยต้องการให้ลูกหลานเรียนถึงปริญญาโท อันเป็นภาระหนักที่ยากจะปฏิบัติสำหรับครัวเรือนส่วนใหญ่ การปฏิรูปการศึกษาน่าจะมีเป้าหมายในการ ลดเวลา ลดพลังงาน และลดค่าใช้จ่ายทางการศึกษาลง โดยเน้นการศึกษาระดับพื้นฐานทำให้ผู้จบการศึกษามีวุฒิภาวะที่จะทำงาน และศึกษาต่อด้วยตนเองได้

7.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี : ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

สถานการณ์ทั่วไปทางสากล การวิจัยและการพัฒนาเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ทั้งยังค้ำจุนฐานะความเป็นประเทศมหาอำนาจ พบว่า ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ของสหรัฐ กำลังถูกท้าทายจากศูนย์ทุนเก่า ได้แก่ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น และตลาดเกิดใหม่ เช่น จีนและอินเดีย

สถานการณ์ทั่วไปในประเทศ รัฐบาลปัจจุบันให้ความสำคัญแก่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างสูง โดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีความคิดเรื่องรัฐบาลอิเลกทรอนิกส์ เทคโนโลยีชีวภาพ และนาโนเทคโนโลยี และมีการกระจายคอมพิวเตอร์สู่ชนบท

ข้อควรคำนึง การใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสังคมไทยยังมีน้อย ควรส่งเสริมให้มากขึ้นทุกระดับ และคำนึงถึงผลกระทบด้วย

8.ท่วงทำนองดำเนินชีวิต : การบริโภคและวัฒนธรรมบริการ

สถานการณ์ทั่วไป การบริโภคมากขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เมื่ออุตสาหกรรมบริการมีมูลค่าสูงกว่าอุตสาหกรรมการผลิตในโรงงาน ก็อาจสร้างวัฒนธรรมการบริการที่มีลักษณะ 1) ออกแบบโลกเสมือนจริงขึ้นมา 2) การกลบโลกความจริงที่เป็นทุกข์และน่าเบื่อ 3) การกระตุ้นการบริโภคเชิงพาณิชย์

การโฆษณา มีงบโฆษณากว่า 8 หมื่นล้านบาท สูกกว่าปี 2546 ราวร้อยละ 17 เป็นที่สังเกตว่าการโฆษณาผ่านสื่อสิ่งพิมพ์เพิ่มขึ้นมาก โทรทัศน์และวิทยุ มีการแข่งขันสูงที่สำคัญยังเป็นเรื่องละครโทรทัศน์ ที่พบว่ามีการสะท้อนความจริงของสังคมมากขึ้น ภาพยนตร์และดนตรี ไม่ใช่ปีทองเหมือน 2546 จับตาการเข้ามาของภาพยนตร์เกาหลีใต้ รัฐบาลได้พยายามจัดระเบียบภาพยนตร์ใหม่ มีการเคลื่อนไหวสู่สากล ส่วนดนตรีก็มีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ วรรณกรรม หนังสือแปลและพ็อกเก็ตบุกส์ยังครองตลาด มีสำนักพิมพ์ใหญ่ไม่มาก หนังสือทำมือคลายความซู่ซ่าลง มีนิตยสารทั้งหัวในหัวนอกออกใหม่จำนวนมาก ประมาณว่าอยู่ระหว่าง 30-40 หัว ควรจับตาเว็บลอก (weblog) ซึ่งนิยมในสหรัฐ การท่องเที่ยวและชีวิตสมัยใหม่ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยยังเติบโต แม้เกิดไข้หวัดนก ปัญหาภาคใต้ สึนามิ แต่ธุรกิจสปาเฟื่องขึ้น มีการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันในประเทศพัฒนาแล้วหลายแห่ง การกีฬา รัฐบาลมีบาทบาทสูงในการกีฬาของชาติ และคงเป็นเช่นนี้ต่อไปในระยะอันใกล้ การกีฬาอาชีพเป็นที่ยอมรับกันมากขึ้น ศาสนาและลัทธิความเชื่อ พบว่ามีอิทธิพลและบทบาทมากขึ้น ส่งผลต่อการเมือง ในด้านพระพุทธศาสนา พบความขัดแย้งในหมู่สงฆ์เรื่องการปกครองสงฆ์ ขณะเดียวกันมีการฟื้นฟูและเผยแพร่ศาสนาอย่างจริงจัง

9.บทลงท้าย : รุดหน้าด้วยความระมัดระวัง

ความรวดเร็วฉับไวในการบริหารจัดการ และการปรับตัว เป็นความจำเป็นในโลกที่มีการแข่งขันแลความเสี่ยงสูง ประเทศยังมีโอกาสในการพัฒนาและเติบโตในระยะใกล้นี้ ส่วนหนึ่งเนื่องจากอยู่ในภูมิภาคที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง การวิเทศสัมพันธ์จะมีบทบาทสูวมากต่อความเป็นไปของชาติ จำเป็นต้องรุดหน้าไปบนฐานความปรองดองและเปิดใจกว้าง ควรมีสำนักกลางติดตามสถานการณ์ต่างๆ เพื่อแจ้งเตือน ควรผนวกรูปแบบเศรษฐกิจที่หลากหลายเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันควรเพิ่มความสำคัญกับนโยบายด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

ในภาวะแห่งการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางการเมือง และความไม่แน่นอนของโลก การหยุดอยู่กับที่ เกือบเป็นไปไม่ได้ สำหรับประเทศไทยที่เปิดประเทศมานาน การก้าวไปอย่างช้าๆ ก็อาจถูกประเทศอื่นวิ่งแซง ไม่ต้องกล่าวถึงการไล่ทันประเทศที่อยู่ข้างหน้า แต่การเร่งรุดไปก็มีความเสี่ยงสูง จังเป็นสถานการณ์ที่ไม่น่าพึงใจนัก จำต้องก้าวหน้าไปด้วยความรอบคอบ และพึงระลึกว่า ความสำเร็จต่างๆ ที่สำคัญเกิดจากการทำงานหนักด้วยสติปัญญาและคุณธรรม

------------------------------
รายงานฉบับที่ 20
ประเทศไทย 2547 : ภูมิทัศน์การเมืองโลกที่เปลี่ยนไป

จัดทำโดย โครงการข่าวสารทิศทางประเทศไทย
โดยการอุดหนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
กุมภาพันธ์ 2548

อนุช อาภาภิรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net