Skip to main content
sharethis

เป็นหัวหน้าคณะพากลุ่มนักวิชาการสมานฉันท์เข้าพบนายกรัฐมนตรี แล้วกลับออกด้วยคำสัญญาว่า จะตั้ง "กรรมการสมานฉันท์แห่งชาติ" แต่ดูเหมือนว่า รัฐบาลจะชอบแนวคิด "นกสันติภาพ" มากกว่า จึงกลายเป็นที่มาของนกกระดาษหลายล้านตัวที่ถูกนำไปโปรยในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้

แต่โอกาสยังลอยกลับมาอีกครั้ง เมื่อนายกรัฐมนตรีหลุดวาทะแห่งปี "แม่ง" ทำให้ต้องแก้ภาพ ลักษณ์ด้วยการเชิญ" สุริชัย" พร้อม "อานันท์ ปันยารชุน" อดีตนายกรัฐมนตรี กินข้าวกลางวันก่อนขอให้เป็นแม่งาน จัดตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติของจริง

ต่อไปนี้ เป็นคำสัมภาษณ์ของ "สุริชัย หวันแก้ว" ก่อนที่หน้าตาของกรรมการสมานฉันท์ฯ จะปรากฏสู่สายตาสาธารณะ

-------
ประชาไท ช่วยเล่าถึงที่มาของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ
สุริชัย เรื่องการตั้งกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติ เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่ผมพากลุ่มอาจารย์มหาวิทยาลัยไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ถ้าจำได้ครั้งนั้น นายกฯ นัดให้ไปพบที่ทำเนียบรัฐ
บาลเมื่อวันที่ 14 พ.ย. ปีที่แล้ว โดยทางอาจารย์ยื่นข้อเสนอไป ซึ่งนอกจากการพับนกสันติภาพแล้ว อีกข้อเสนอของพวกเราก็คือ การตั้งกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติ ซึ่งนายกฯ แสดงความสนใจในเรื่องนี้ และมอบหมายให้ อ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นผู้ติดตามความคืบหน้า

คิดอย่างไรถึงเสนอให้ตั้งกรรมการสมานฉันท์ฯ

กลุ่มอาจารย์ที่ไปพบนายกฯ ในวันนั้น ก่อนหน้าได้หารือกันแล้วเห็นว่า น่าจะมีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม โดยถกกันและยอมรับกับว่า นโยบายเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาในภาคใต้ที่ผ่านมาประมาณปีกว่า ยิ่งเวลาผ่านไปแสดงให้เห็นว่า นโยบายไปเน้นเรื่องความมั่นคง ใช้กำลังทหาร
และตำรวจ เน้นการแบ่งเขาแบ่งเรา ซึ่งโดยรวมไม่เอื้อกับความสงบสุขของชาวบ้านในพื้นที่

แม้ว่าสิ่งที่รัฐกระทำจะพอเข้าใจได้ แต่ปัญหาในพื้นที่ดังกล่าว ไม่อยู่ในการควบคุมโดยวิธีเหล่านี้เลย พวกเราคิดว่า วิธีการแก้ปัญหาภาคใต้ที่เหมาะสมถูกต้อง ควรมีช่องทางส่วนร่วมของภาคประ ชาสังคม ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ทำให้นโยบายแก้ปัญหามีมิติที่กว้างกว่านี้ พูดง่ายๆ พัฒนานโยบายให้มีการคิดทั้งระยะสั้นและระยะยาวมากกว่าที่เป็นอยู่ มากกว่าแค่การไล่จับโจร มองหาผู้ร้าย ขึ้นค่าหัว ทำให้เป็นเหมือนเกมไล่จับคน

ดังนั้นเราเสนอให้มีกลไกที่จะถกกันทางนโยบาย ทำให้เกิดกระบวนการการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม โดยเฉพาะคนในพื้นที่ ซึ่งประเด็นนี้นอกจากปัญหาในพื้นที่แล้ว ยังพบว่า สังคมไทยโดยรวมยังขาดความเข้าใจร่วมกันในรากเหง้าของปัญหา เพราะเรายังมองคนมุสลิมในพื้นที่ 3 จังหวัดว่า ทำไมเขาไม่ยอมพูดไทยซักที แต่เราลืมไปว่า ในทางประวัติศาสตร์ของเขา เขาเป็นอย่างนี้มานานนับร้อยปี เพราะฉะนั้นหากจะแก้ปัญหา เราคงต้องทำความเข้าใจปัญหาในเชิงลึกมากขึ้น

โดยสรุปก็คือ สังคมต้องการกลไกที่จะพัฒนานโยบายให้มีมิติใหม่ๆ โดยเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วม อีกส่วนหนึ่งก็คือ ต้องสนใจระดมความรู้ความเข้าใจในเชิงลึกว่า เหตุใดความรุนแรงเกิดขึ้นมากในขณะที่แต่ก่อนไม่ได้เป็นเช่นปัจจุบัน

ความเข้าใจเชิงลึกหมายถึงเรื่องอื่นๆ เช่น มิติทางวัฒนธรรม

ที่ผมพูดคือ มิติทางวัฒนธรรม ซึ่งมีความแตกต่าง และไม่ได้หมายความว่า แตกต่างแล้วต้องการแบ่งแยกดินแดนเสมอไป ก็เหมือนกันกับชาวเขา หรือคนจีนในกรุงเทพฯ เพียงแต่ที่นี่เขามีประวัติ ศาสตร์ที่ยาวนาน และศาสนาเขาก็แตกต่างจากเราด้วย เพราะฉะนั้นก็ต้องการความเข้าใจมากขึ้น หน้าที่ของคณะกรรมการฯ คือ เอื้อให้พื้นที่การแลกเปลี่ยนเหล่านี้กว้างมากขึ้น จะดี ไม่ฉะนั้นก็จะกลายเป็นการทำลาย เช่น ถ้ามีใครพูดเช่นนี้ ต้องการแบ่งแยกดินแดนหรือเปล่า

หน้าตาของกรรมการสมานฉันท์เป็นอย่างไร

เราอยากให้กรรมการสมานฉันท์แห่งชาติ เป็นกรรมการอิสระ คือ ได้อำนาจและมีงบประมาณจากภาครัฐ สามารถทำงานกับภาครัฐและภาคประชาสังคมได้อย่างอิสระ และที่สำคัญสามารถใช้สื่อรัฐได้ด้วย เพื่อให้กรรมการฯ สามารถโยงกับสาธารณะด้วย ทำยังไงไม่ให้กรรมการสมานฉันท์ เป็นแค่กรรมการที่ปรึกษาส่วนตัว

ได้ตัวบุคคลที่เหมาะสมเป็นกรรมการฯ แล้วหรือยัง

ส่วนของบุคคลที่จะมาเป็นกรรมการประมาณ 35 คน นั้น ท่านอานันท์เป็นผู้กำหนด เข้าใจว่า ท่านเป็นผู้หารือพูดคุยกับบุคคลที่จะชวนมาเป็นกรรมการฯ โดยบุคคลที่เข้ามาเป็นกรรมการจะทำหน้า ที่พัฒนานโยบายแก้ปัญหาระยะยาว อีกทั้งระดมความรู้ระดมสติปัญญาเพื่อแก้ปัญหาเชิงลึก และสื่อสารกับสาธารณะเพื่อทำความเข้าใจ

โดยองค์ประกอบของคณะกรรมการฯ ที่กำหนดไว้นั้น กว่า 50% มาจากภาคประชาสังคม ซึ่งจะรวมคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย ส่วน40% เป็นภาคการเมืองทั้งจากฝ่ายรัฐบาล และส่วนอื่นๆ ส่วนความมั่นคง ซึ่งหลังจากได้กรรมการแล้วจะใช้เวลาหารือกันประมาณ 3 เดือนเพื่อทำข้อเสนอ

จันทร์สวย จันทร์เป็ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net