Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 22 มี.ค.48 นายเจริญ คัมภีรภาพ รองอธิการบดีฝ่ายทรัพย์สินทางปัญญาและภูมิปัญญาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวในเวทีสัมมนาเรื่อง " "ชำแหละร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษและข้อตกลงเขตการค้าเสรี" ว่า กฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นการทำให้โลกทั้งโลกเป็นไปตามกติกาที่สหรัฐอเมริกาต้องการ เป็นการจัดระเบียบโลกใหม่ ร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษไม่ได้อยู่ในพื้นฐานของสังคมไทย และขัดต่อรัฐธรรมนูญของไทย

"ในฐานะที่เป็นนักกฎหมายผมรู้สึกอับอายมากที่นักนิติศาสตร์ร่างพระราชบัญญัตินี้ขึ้นมา นี่คือการบิดเบือนและเป็นการคอรัปชั่นทางอำนาจอย่างโจ่งแจ้ง เพราะนอกจากจะการสร้างเขตเศรษฐกิจแล้วยังเป็นการเพิกถอนกฎหมายตามรัฐธรรมนูญของประเทศอีกด้วย" นายเจริญกล่าว

นายเจริญ กล่าวอีกว่า การร่างกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าวคือ การรัฐประหารเงียบ เปลี่ยนแปลงอำนาจจากระบบราชการให้อยู่ภายใต้คณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษ และนำไปสู่การอุ้มชูนายทุนไว้ใต้กฎหมาย ปัญหาเรื่องร่างกฎหมายดังกล่าวจึงไม่ได้อยู่ที่สาระ หรือแก่นสาร แต่เป็นปัญหาในเรื่องหลักการ เพราะไม่ได้เกิดขึ้นมาจากความต้องการของเศรษฐกิจไทย

ดร.อรทัย ก๊กผล อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนั้นเป็นรัฐธรรมนูญที่เปิดกระจายอำนาจสู่ภาคประชาชนและชุมชน แต่ร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ กลับเป็นแม่บทกฎหมายที่ขัดขวางไม่ให้ชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ยิ่งในส่วนของการบริหารพื้นที่ด้วยแล้ว อำนาจของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจะมีเพียงแค่รับฟังคำสั่งจากผู้ว่าการเขตเศรษฐกิจพิเศษเท่านั้น

นายณรงค์ เพ็ชรประเสิรฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขณะนี้สังคมไทยมาถึงทางแพร่งที่จะเป็นระบบทุนนิยมเต็มตัว โดยส่วนตัวแล้วไม่ได้ปฏิเสธระบบดังกล่าว แต่อยากให้เป็นทุนนิยมในแบบสมานฉันท์ ไม่ใช่เป็นระบบทุนนิยมแบบสามานย์ และถ้าจะเป็นประเทศที่บริหารด้วยทุนนิยม ก็ควรจะทำให้ดีอย่างประเทศแถบสแกนดีเนเวีย ที่มีการเก็บภาษีมาช่วยคนจน มิใช่มาเก็บภาษีที่ชนชั้นกลาง แต่คนรวยกลับมีการลดหย่อนภาษี

"ระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่ระบบที่ดีที่สุด แต่เป็นระบบที่เลวน้อยที่สุด เพราะมีการถ่วงดุลและคานอำนาจกัน แต่ระบบประชาธิปไตยในบ้านเราประชาชนกลับท้วงติงไม่ได้" อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์กล่าว

นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตน์ จากโครงการยุทธศาสตร์นโยบายฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษและเอฟทีเอว่า การผลักดันให้เกิดข้อตกลงเขตค้าเสรี หรือเอฟทีเอ เป็นการจัดระเบียบเศรษฐกิจโลกจากประเทศมหาอำนาจ เพื่อเปิดโอกาสให้ทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนได้โดยไม่มีขีดจำกัด ขณะที่รัฐบาลไทยนอกจากจะเดินตามแนวทางดังกล่าวแล้ว ยังเตรียมเปิดประตู เปิดช่องให้ทุนต่างชาติเข้ามา เพื่อนำไปสู่การเชื่อมต่อระบบทุนโลก ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ของรัฐบาลไทย

นอกจากนี้ในวงสัมมนายังมีข้อเสนอด้วยว่า ในเบื้องต้นควรมีการระดมรายชื่อของผู้ที่คัดค้าน ทั้งนักวิชาการและประชาชนทั่วไปที่ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าวเพื่อยื่นต่อนายกรัฐมนตรี

ศิริรัตน์ อนันต์รัตน์, สิรินภา อิ่มศิริ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net