Skip to main content
sharethis

กรุงเทพฯ- 28 มี.ค.48 เมื่อเช้าวันที่ 28 มีนาคม 2548 นายอะห์มัด ฮาซิม มูซาดี ประธานองค์กรนะดะตุล อูลามา จากประเทศอินโดนีเซีย ได้เดินทางเข้าพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยนายกันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวภายหลังการเข้าพบว่า นายอะห์มัด ฮาซิม มูซาดี ตั้งใจจะมาศึกษาปัญหาภาคใต้ โดยมองว่าเรื่องทั้งหมดเป็นความเข้าใจผิด จากการกระทำของกลุ่มที่สาม ที่ต้องการจะได้ประโยชน์จากความวุ่นวายนี้ โดยใช้ศาสนาเป็นข้ออ้าง เพื่อแปรสภาพให้เป็นความขัดแย้งทางศาสนา

นายกันตธีร์ กล่าวว่า นายอะห์มัด ฮาซิม มูซาดี เห็นว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาความรุนปแรงในภาคใต้ จะต้องให้ความสำคัญ โดยเน้นด้านการศึกษา การพัฒนาเศรษฐกิจ และการให้ความยุติธรรม ทั้งหมดนี้ตรงกับแนวทางการแก้ปัญหาของรัฐบาล ที่ต้องการให้จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข โดยหลังจากนี้ประธานองค์การทางศาสนาอินโดนีเซีย จะเดินทางลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้สถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น สำหรับรัฐบาลเปิดกว้างพร้อมรับฟังข้อแนะนำทั้งหมด

ขณะที่สถานีวิทยุบีบีซี ภาคภาษาไทย ระบุว่า การเดินทางมาเยือนไทยของอะห์มัด ฮาซิม มูซาดีเป็นที่จับตากันว่า จากนี้ไปอินโดนีเซียจะเข้ามามีบทบาทสำคัญ ในการดับไฟใต้หรือไม่ เพราะนอกจากจะเข้าพบนายกรัฐมนตรีแล้ว นายอะห์มัด ฮาซิม มูซาดี ยังเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในตอนเย็นวันเดียวกันด้วย และมีกำหนดการพบปะบุคคลสำคัญในรัฐบาล รวมทั้งลงพื้นที่ภาคใต้ เพราะฉะนั้น หากดูจากตารางกำหนดการนัดหมายของนายอาห์หมัด ฮาชิม มูซาดี แล้ว บ่งบอกได้ว่า การเยือนประเทศไทยครั้งนี้ มีความสำคัญและควรจับตาอย่างยิ่ง

ในอินโดนีเซีย องค์กรนะดะตุล อูลามา หรือเอ็นยู อ้างตัวเองเป็นองค์กรมุสลิมที่ใหญ่ที่สุด และเป็นมุสลิมสายกลางที่มีบทบาททางการเมืองด้วย กระทรวงต่างประเทศของไทย ซึ่งเป็นผู้เชิญไม่ได้บอกชัดเจนว่า ต้องการให้อินโดนีเซียทำอะไร ขณะที่นายอะห์มัด ฮาซิม มูซาดี ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอเอฟพีก่อนจะเดินทางมาไทยว่า จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมคู่ขัดแย้งสองฝ่ายในภาคใต้

ขณะที่ดร.อัสยูมารดี อัสรา ผู้อำนวยการสถาบันอิสลามศึกษา ในกรุงจาการ์ตาบอกว่า บทบาทแบบนี้องค์กรนะดะตุล อูลามา หรือเอ็นยูทำได้ เพราะเคยมีประสบการณ์ทำหน้าที่เชื่อมความสัมพันธ์ ระหว่างทางการกับชาวบ้านระดับรากหญ้าในอินโดนีเซียมาแล้ว
ดร.อัสยูมารดี อัสรา ย้ำว่า การสื่อสารระหว่างรัฐบาลกับชาวบ้านเป็นสิ่งสำคัญ จะต้องสื่อสารกันให้ได้ เพราะไม่เช่นนั้นแก้ปัญหาไม่ได้ ส่วนบทบาทขององค์กรนะดะตุล อูลามา จะไปไกลถึงขั้นเป็นตัวกลางไกล่กลี่ยอย่างที่ให้สัมภาษณ์หรือไม่ ยังไม่ชัดเจน

ดร.วรวิทย์ บารู รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและชุมชน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และประธานเครือข่ายองค์กรมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อสันติสุข กล่าวว่า ตนไม่เข้าใจ ทำไมกระทรวงการต่างประเทศ ถึงได้เชิญนายอะห์มัด ฮาซิม มูซาดี พร้อมคณะ เดินทางมาเยือนไทย และจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อหารือกับประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา ขณะนี้ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนนักวิชาการ หรือองค์กรภาคประชาชนต่างๆ ยังไม่ทราบเรื่องนี้

ดร.วรวิทย์ กล่าวต่อไปว่า เท่าที่ทราบมา วันที่ 29 มีนาคม 2548 จะมีเจ้าหน้าที่จากสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เดินทางเข้ามาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย ไม่ทราบว่า ลงมาในพื้นที่นี้ช่วงนี้ทำไม ตนกำลังมองว่า การเชิญประธานองค์กรนะดะตุล อูลามา มาเยือนไทย แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลไทยกำลังเชื่อมโยงปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการต่างๆ ในอินโดนีเซีย โดยอาจจะพุ่งเป้าไปที่กลุ่มนักเรียนศาสนาในพื้นที่ ซึ่งจำนวนมากจบการศึกษาจากอินโดนีเซีย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net