Skip to main content
sharethis

พ.ต.อ.ไพจิตร ศรีคง สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสงขลา กลายเป็นพยานปากเอกในเรื่องมืออุ้มฆ่าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทันที เมื่อนายชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หยิบยกคำกล่าวของอดีตรองผู้บังคับการตำรวจภูธร จังหวัดสงขลาท่านนี้ ขึ้นมาอ้างอิงในการอภิปรายทั่วไปในปัญหาเกี่ยวกับความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้วันสุดท้าย

เพื่อให้เกิดความกระจ่างในเรื่องนี้ "ประชาไท" ได้นัดสัมภาษณ์พิเศษ พ.ต.อ.ไพจิตร เพื่อไขปริศนาการอุ้มฆ่าประชาชน ซึ่งเป็นความลับอันดำมืดมาปีกว่า นับแต่เหตุการณ์ปล้นปืนที่กองพันพัฒนา ที่ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส

------------------

ตอนนี้เจ้าหน้าที่ที่ลงไปในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีทำงานสายสืบสวน สอบสวน ทั้งตำรวจและทหาร ทหารก็ทำในด้านการสืบสวนสอบสวน ใครทำงานในลักษณะอย่างไร แบบไหน ในวงการเป็นที่รู้กัน

บางอย่างอาจจะใช้ความรุนแรงหน่อย บางอย่างอาจจะนุ่มนวล เป็นวิธีการของแต่ละคน แต่ถ้าผมพูดถึงบุคคลที่ลงไปทำงาน มันจะเป็นการกล่าวหาไปรายตัว ถ้าอยากรู้ ไปเช็คดูรายชื่อเจ้าหน้าที่ที่ถูกส่งลงไปในพื้นที่ได้เลย

ส่วนสาเหตุที่มีการส่งหน่วยพิเศษลงไป ก็เพื่อทำหน้าที่สืบสวนสอบสวน ทั้งสายของทหารและตำรวจ เกิดมาจากหลังจากเกิดเหตุปล้นปืนที่ค่ายทหารกองพันพัฒนาที่4 อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส

ทางราชการส่งกำลังลงไปเสริมในพื้นที่ เพราะประเมินแล้วว่ามีกำลังไม่เพียงพอ เลยมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ทั้งหลายหน่วยงานจากทั้งกองปราบปรามและจากหน่วยงานอื่นๆ รวมทั้งสายหาข่าวของกองทหาร หลายต่อหลายชุด ก็เดินสายลงไปปฏิบัติการในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้

เจ้าหน้าที่ที่ลงไปนั้น ประกอบกันขึ้นเป็นกองกำลังเฉพาะกิจ ทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนคดี หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ความรุนแรงภาคใต้โดยตรง บางทีเขาก็จับผู้ต้องหามาได้ ส่วนผู้ต้องหาจะทำจริงหรือไม่รู้

แต่ที่รู้แน่ๆ คือ การทำร้ายร่างกายผู้ต้องหากรณีที่ชัดเจน คือ ลูกความของทนายสมชาย(นายสมชาย นีละไพจิตร) ทนายสมชายจึงต้องหายไป

หน่วยงานที่ลงไปสอบสวนเรื่องคดี จะทำหน้าที่แทนหน่วยงานในพื้นที่ การมอบหมายอำนาจสอบ
สวนส่วนใหญ่อยู่ที่ผู้บังคับบัญชาการตำรวจ ซึ่งมีอำนาจการมอบหมายแต่งตั้งให้ใครทำหน้าที่ก็ได้

หน่วยงานที่ถูกส่งลงไป เท่าที่ผมได้ฟังข่าวมีการอุ้มคนหาย รวมถึงการทำร้ายร่างกายด้วย โดย
เฉพาะผู้ต้องหาทั้ง 5 คนที่ทนายสมชายดูแล หลังจากที่ทนายสมชายหายไปแล้วผมก็เข้ามาสัมผัส เข้ามาดูเรื่องนี้ ผู้ต้องหา 5 คนที่ทนายสมชายให้การช่วยเหลือเล่าให้ฟังว่าขณะที่ถูกควบคุมตัว และอยู่ในระหว่างการสอบสวนเขาโดนซ้อม

กรณีการอุ้มหายไปที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ผมไม่มีข้อมูล แต่คนทั่วไปเขารู้กันว่าใครหายไปไหน ถูกใครทำให้หายไป เขาบอกลักษณะได้ว่าคนที่ทำให้หายไป เป็นลักษณะของเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐหรือฝ่ายไหน แต่โดยมากหายไปเพราะฝ่ายรัฐทั้งนั้น

ผมเสนอทางออกของปัญหาความรุนแรงในตอนนี้ว่า ต้องเข้าใจว่าเดิมปัตตานีไม่ใช่ของประเทศไทย ประเทศไทยไปเอาแผ่นดินเขามา แต่แผ่นดินของเขาวัฒนธรรมของเขา

เราต้องยอมรับวัฒนธรรมของเขา เราต้องถือว่านั่นเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมของประเทศไทยที่มีความหลากหลายและเดี๋ยวนี้ของไทยแท้ๆหาไม่ได้ด้วยซ้ำไป คุณนึกออกไหมว่าวัฒนธรรมของไทยเป็นยังไง เพราะฉะนั้นเราก็ต้องยอมรับวัฒนธรรมและส่งเสริมให้เขาอยู่อย่างวัฒนธรรมที่เขามีอยู่ อย่าพยายามดึงเขามาหลอมรวม ต้องรักษาความแตกต่างเอาไว้

สมัยที่ผมเป็นตำรวจกับสมัยนี้ต่างกัน ถามว่ารุนแรงไหม มันก็รุนแรง แต่เป็นความรุนแรงที่ต่างกัน พวกเขาจับกลุ่มกันในป่า มีกองกำลัง มีอาวุธ ถือปืนเดินในป่า เราไปเจอกันในป่าก็มีการปะทะกัน มีการต่อสู้กัน ทั้งเราทั้งเขาตายกันบ้าง รอดกันบ้าง แต่นั่นมันมีความชัดเจน แต่พอมาช่วงหลังมันเปลี่ยนไปแล้ว จากกองกำลังถือปืน ชุดเขียวที่เคยอยู่ในป่า ตอนนี้มาอยู่ในหมู่บ้านแล้ว

แต่ก่อนก็มีบ่อยที่มีการอุ้มหาย หรืออุ้มฆ่า ปัญหาเรื่องนี้เป็นปัญหาเรื่องอุดมการณ์ เพราะถ้าเป็นปัญหาที่บุคคล เช่น หากบุคคลคนนี้ยังอยู่แล้ว จะเป็นปัญหาในเรื่องอุดมการณ์ หรือคนนี้ร้ายจะเอาอย่างไรก็เอาไม่อยู่ เอามาได้แล้วแต่ไม่มีหลักฐานในการดำเนินคดี ก็มีการอุ้มไป คนอุ้มก็ผิดแต่ว่าปัญหาการก่อกวนอาจจะหมดเพราะคนๆนั้นหายไป ไม่มีโอกาสได้กลับมาก่อกวนอีก

แต่ต่อมามันก็เป็นบทเรียน โดยเพราะบทเรียนเรื่องตอนที่ปะทะกับคอมมิวนิสต์ อย่างเช่น เริ่มแรกมีการบอกว่าคอมมิวนิสต์มี 5 คน ฆ่าทั้ง 5 คนแล้วคอมมิวนิสต์ก็หายไป แต่ความจริงมันไม่ใช่ ฆ่าเขาแต่ตายปั๊บญาติผุดขึ้นมาอีก 20 พอฆ่าเขาอีกญาติก็ผุดขึ้นมาอีก จนเป็นร้อยเป็นหมื่น

การกระทำแบบอุดมการณ์ถ้าใครไปทำร้าย ไปฆ่า มันไม่จบ มันไม่หมดหรอก กลับเป็นการสืบต่อเนื่องอุดมการณ์ไปโดยปริยายด้วยซ้ำ

แต่จะให้เจ้าหน้าที่ยอมรับว่าอุ้มฆ่ามันไม่ได้หรอก อย่างเวลาเราบอกให้เขาเลิก เขาก็บอกว่าเขาไม่ได้ทำ ปัญหาจึงเกิดขึ้น เพราะไม่มีใครยอมรับได้หรอกว่าตัวเองอุ้มฆ่า

การอุ้มฆ่าจึงกลายเป็นเรื่องที่รู้ๆกันอยู่ แต่ตำรวจก็มีทั้งที่ทำและไม่ได้ทำนะ ตำรวจบางคนในพื้นที่ก็เข้ากับชาวบ้านได้ดี แต่ที่ขัดแย้งก็มีอยู่ มันเลยเกิดปัญหา คนที่ดีๆไปอยู่ในพื้นที่ก็ใช่ว่าจะไม่เกิดปัญหา เพราะไม่ได้รู้ขนบ ธรรมเนียมประเพณี เลยกลายเป็นตัวสร้างปัญหา ทั้งที่เจตนาการทำงานอาจจะดี แต่สื่อสารไม่เข้าใจก็เกิดปัญหา

เพราะฉะนั้นคนไปทำงานที่ภาคใต้แต่ก่อนสมัยที่มีศอ.บต. เขาจะมีการปฐมนิเทศกันเรื่องขนบ ธรรมเนียมประเพณี แต่ปัจจุบันข้าราชการทั่วไปที่ลงไป ไม่ได้ฝึกขนบธรรมเนียมประเพณี ทั้งผู้ว่า นายอำเภอ คนใหญ่ๆเขาไม่ได้ปฐมนิเทศ คงถือว่าเป็นผู้ใหญ่แล้ว น่าจะเข้าใจปัญหา แต่ความจริงไม่ใช่ ผู้ใหญ่ไม่เข้าใจปัญหา และยิ่งก่อปัญหาให้บานปลายก็ยังมี

ปัจจุบันแม้ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่กับคนในพื้นที่อาจจะดีขึ้นเล็กน้อย แต่อย่าลืมว่าคนที่เขาโดนทำร้าย คนที่ญาติเขาหาย คนของเขาตายไป เขาก็ยังจำได้อยู่ การมีความรู้ ความเข้าใจในขนบธรรมเนียมประเพณีจึงเป็นเรื่องสำคัญของหน่วยงานราชการ

ผมยอมรับว่าเจ้าหน้าที่ทำงานอย่างน่าเห็นใจมาก เพราะฝ่ายตรงข้ามพยายามรุกตลอด เราไม่มีโอกาสเป็นฝ่ายรุก มีแต่ฝ่ายตรงข้ามรุกเข้ามาสร้างปัญหา ก่อกวน ตั้งโจทย์ให้แก้ เราจึงต้องเปลี่ยนยุทธวิธีการต่อสู้ ซึ่งเป็นเรื่องยาก เพราะ แม้แต่การข่าวเรายังเจาะเข้าไม่ถึง

ถ้าเริ่มต้นแพ้เรื่องการข่าวแล้ว อย่างอื่นก็ไม่ต้องพูดถึงกัน ไม่รู้เขาก็ไม่รู้จะทำอะไร ทำตรงไหน สิ่งที่ต้องยอมรับคือ การข่าวของเรายังอยู่ในเกณฑ์ใช้ไม่ได้เลย

ตัวเร่งอีกอย่างคือ เจ้าหน้าที่ของเราทำพลาดเอง ทั้งกรณีกรือแซะ และตากใบ ทำให้มวลชนเขาเพิ่มขึ้น กรณีตากใบ คนที่มาไม่ใช่ลักษณะนักรบ เขามาธรรมดาแต่กลายเป็นว่าเขามาเพื่อตายกันแท้ๆ เขากลายเป็นนักรบเพราะเราประเมินพลาด ถ้าคนเป็นนักรบจริง เขามา 10 คนก็ต้องมีปืนมาทั้งสิบคน แต่นี่ไม่ใช่เลย

รัฐต้องเร่งแก้ปัญหาทั้งเรื่องท่าทีของเจ้าหน้าที่ และยุทธวิธีการต่อสู้ การให้การศึกษา การแก้
ปัญหาทั้งหมดคงต้องใช้เวลาพอสมควร อาจต้องทอดระยะเวลาเป็นะ 2 ปี 3 ปี แล้วแต่ท่าทีของการแก้ปัญหา

คนตั้งล้านกว่าคนใน 3 จังหวัดภาคใต้ จึงเป็นเรื่องไม่แปลกที่เขาจะคิดแตกต่างจากรัฐไปบ้าง ผมว่ามันเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ถ้าคนล้านคนในภาคใต้คิดเหมือนกันหมด ผมว่าเป็นเรื่องน่าแปลกมากกว่า

ที่ผ่านมานโยบายของรัฐกับการปฏิบัติไม่สอดคล้องกัน อีกทั้งขาดการพัฒนาและเข้าถึงประชาชนในพื้นที่ หากเอาใจเข้าไปหาเขา ไปเยี่ยมเยียนเขาบ่อยๆเราก็จะได้ใจเขามา ถ้าใครคิดจะทำอะไรก็ทำได้ไม่สะดวกเพราะเราซื้อใจชาวบ้านได้

พื้นฐานสำคัญอีกอย่าง คือ การคิดเรื่องชาติมลายูปัตตานี เมื่อเขาจะแยกดินแดน เขาชูความแตกต่างทางศาสนา ยิ่งถ้าเจ้าหน้าที่ที่ลงไปในพื้นที่ลงไปไม่ดีก็จะยิ่งเป็นตัวเพิ่มแรงเสริมผู้ก่อการ ยิ่งเจ้าหน้าที่ประพฤติไม่ดีเขาก็อ้างได้ว่าเจ้าหน้าที่ทำร้ายผู้บริสุทธิ์ กลายเป็นว่าเขาจะทำอะไรก็ทำได้หมด

การส่งคนลงไปเพื่อคุ้มครองคนในพื้นที่ เป็นเรื่องจำเป็น แต่วิธีการต้องไม่ใช่การส่งคนลงไปแล้วกลายเป็นว่าเสริมแรงของฝ่ายผู้ก่อการ การคุ้มครองชีวิตเป็นเรื่องดี แต่การสร้างบรรยากาศอย่างล้อมรั้วลวดหนาม เอารถถังวิ่งในเมืองมันเป็นการสร้างบรรยากาศสงคราม ส่งไปตอบโต้กัน ส่งไปปะทะกันมากกว่า

สถานการณ์ตอนนี้มันรุนแรงเพราะคนที่ทำ ทำแบบไม่เป็นระเบียบ ไม่เป็นขบวน ยิ่งเราหาจุดยืนไม่ได้เราก็ตามเขาไม่ทัน เราก็เปะปะไปตามเขา วุ่นวายไปตามเขา กลายเป็นว่ารัฐก็คุ้มครองไม่ได้ เขาก่อกวนได้ผล เราออกข่าวหลอกตัวเองว่าเราได้เปรียบ แต่ความจริงไม่ใช่

ยุทธวิธีที่เคยใช้แต่เดิมกับกองกำลังที่เป็นกลุ่มเป็นก้อน ตอนนี้มันนำมาให้กับสถานการณ์แบบนี้ไม่ได้ เขาเปลี่ยนวิธีการรบ ในขณะที่เรายังคงใช้แต่ยุทธวิธีเดิม มันก็ตามเขาอยู่ตลอดเพราะปล่อยให้เขาเป็นฝ่ายเริ่ม ปล่อยให้เขาเป็นฝ่ายรุก

เราต้องเปลี่ยนท่าที ที่ไม่ใช่แค่ตั้งรับด้วยกำลัง แต่ต้องด้วยสมอง ยุทธวิธีการป้องกันหรือตรวจค้นต้องมากกว่านี้ ผมก็เห็นใจเจ้าหน้าที่เหมือนกัน เขาทำงานกันหัวหมุน แต่มันต้องทำให้มากยิ่งกว่า เพราะตอนนี้เรายังตามเขาไม่ทัน

การแก้ปัญหาจึงต้องแก้พร้อมกันทั้งระบบและตัวบุคคล รัฐบาลแต่งตั้งหน่วยงานขึ้นมาหลายชุด มอบภารกิจให้แต่ละชุดไปทำแบบเดียวกัน แต่มันเป็นลักษณะลงแล้วกลับมารายงานมากกว่า เราควรจะทำให้ภาพมันกว้างขึ้น ลงไปให้ถึงชาวบ้าน ไปศึกษาอย่างจริงจังว่า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ควรมีวิธีการปกครองอย่างไรให้สอดคล้องกับหลักตามขนบธรรมเนียมประเพณีในท้องถิ่น

การที่มีคนพูดว่าเมืองไทยจะมีการปกครองแบบ 2 ลักษณะไม่ได้นั้น ความจริงมันไม่เห็นผิดเลย การปกครองแบบพิเศษเดี๋ยวนี้ ที่พัทยาก็ปกครองแบบพิเศษ กรุงเทพฯก็ปกครองแบบพิเศษ

ผมไม่ได้หมายถึงให้ปล่อยจนเป็นการเปลี่ยนการปกครอง แต่ มันควรจะหาวิธีที่สามารถปกครองให้สอดคล้องต่อความเป็นไทยในแบบความเป็นมลายูของ 3 จังหวัดภาคใต้ สอดคล้องกับเอกลักษณ์ของเขา การจะมาถามหาความเป็นชาติไทยตอนนี้มันหาไม่เจอหรอก ไม่รู้อยู่อย่างไหน

สิ่งที่รัฐบาลควรอย่างแรกเลยคือ ต้องเปิดใจให้กว้าง ผมไม่อยากให้คนมองว่าคนที่นั่นแบ่งแยกดินแดนทั้งหมด ต้องคิดในภาพกว้าง ผู้นำประเทศต้องเปิดใจ เพราะถ้าผู้นำไม่เปิดใจแล้ว ต่อให้แต่งตั้งชุดไหนลงไป ก็แก้ปัญหาภาคใต้ไม่ได้

ศิริรัตน์ อนันต์รัตน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net