คนลุ่มน้ำโขงกระทบหนักหลังจีนปิด-เปิดเขื่อนน้ำโขง

ศูนย์ข่าวภาคเหนือ-28 มี.ค.48 เผยคนลุ่มน้ำโขงได้รับผลกระทบหนักหลังจากที่จีนเปิด-ปิดเขื่อนกั้นน้ำโขงตอนบน ทำให้ระบบนิเวศสูญเสีย ปริมาณน้ำในฤดูแล้งที่ลดลงและการผันผวนของระดับน้ำขึ้นลงผิดปกติ ชาวบ้านไม่สามารถหาปลาได้ดังเดิม

นายสุมาตร์ ภูลายยาว ผู้ประสานงานเครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เปิดเผยว่า หลังจากที่ทางจีนได้ทำการเปิดเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตอนบนเป็นเวลา 3 วัน เพื่อให้เรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่เรือขนาด 300 ตัน จากประเทศจีนลงมาที่เชียงแสน ก่อนจะทำการปิดเขื่อนเพื่อกักเก็บน้ำไว้เป็นเวลา 1 วัน จากการเปิด-ปิดเขื่อนเช่นนี้ ทำให้ระบบนิเวศของแม่น้ำโขงสูญเสียเป็นอย่างมาก

"สังเกตได้ว่า ในช่วงนี้ ชาวบ้านไม่สามารถทำการหาปลาได้เหมือนแต่ก่อน อีกทั้งพืชไกที่ต้องอาศัยความสมดุลทางธรรมชาติกลับลดลง จนทำให้ชาวบ้านในเขตลุ่มน้ำโขงตอนล่างต้องได้รับผล
กระทบต่อวิถีการดำรงชีวิตมาโดยตลอด" นายสุมาตร์ กล่าว

นายสุมาตร์ กล่าวอีกว่า ล่าสุด เมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา ทางกลุ่มรักษ์เชียงของได้เชิญเจ้าหน้าที่จากสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) มาร่วมเวทีเสวนา เรื่องผลกระทบที่เกิดจากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตอนบนของจีน ซึ่งได้เสนอปัญหาจากการวิจัยว่าส่งผลกระทบต่อคนลุ่มน้ำโขงอย่างไรบ้าง ซึ่งทาง สมช. รับปากว่า จะนำเรื่องดังกล่าวไปประสานงานกับทางจีนต่อไป

รายงานแจ้งว่า ปริมาณน้ำในฤดูแล้งที่ลดลงและการผันผวนของระดับน้ำขึ้นลงผิดปกติ ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศน์และชุมชนสองฝั่งแม่น้ำโขงทางตอนล่าง นับตั้งแต่แม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนพม่า-ไทย แม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนไทย-ลาว และแม่น้ำโขงทางตอนล่างลงไป รวมทั้งแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง ซึ่งทำให้คนหาปลาหลายพื้นที่ในลุ่มแม่น้ำโขง ระบุตรงกันว่า นอกจากน้ำลดต่ำผิดปกติแล้ว น้ำยังขึ้นลงไม่ปกติด้วย ทำให้ปลาไม่เคลื่อนย้าย หรืออพยพจากแม่น้ำโขงตอนล่าง ขึ้นไปหากินหรือวางไข่ทางตอนบนได้ และได้ส่งผลกระทบต่อคนหาปลา เพราะเป็นแหล่งรายได้หลักของครอบครัว

ทั้งนี้ ปัจจุบัน จีนได้สร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงเสร็จไปแล้ว 2 เขื่อน โดยเขื่อนแรก คือ เขื่อนมานวาน สร้างเสร็จเมื่อปี 2539 และกำลังก่อสร้างอีก 2 เขื่อน คือ เขื่อนเชี่ยวหลานและเขื่อนจิงหง ซึ่งโครง
การพัฒนาแม่น้ำโขงตอนบนทั้ง 2 โครงการ ได้สะท้อนให้เห็นว่า การพัฒนาในลุ่มน้ำนานาชาติ ได้ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศน์แม่น้ำ ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรส่วนรวมที่ชุมชนสองฝั่งโขงใช้ร่วมกันมานาน

องอาจ เดชา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท