Skip to main content
sharethis

"เอฟทีเอไทย-สหรัฐ" เรื่องร้อนที่ควร(รีบ)รู้ : ความเป็นมา

หากสังเกตตามหน้าหนังสือพิมพ์สักเล็กน้อย จะเห็นว่าหมู่นี้กระแสคัดค้าน "เอฟทีเอ" ปรากฏอย่างค่อนข้างคึกคัก นั่นเพราะการเจรจาครั้งที่ 3 ระหว่างคณะผู้แทนเจรจาไทย - สหรัฐ ได้จัดขึ้นที่พัทยา ระหว่างวันที่ 4-8 เมษายนนี้ (ไทยเป็นเจ้าภาพครั้งแรก)

ท่ามกลางข้อวิตกกังวลมากมายในการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอกับสหรัฐนั้น หลายคนอาจยังไม่ค่อยเข้าใจที่มาที่ไปมากนัก ทั้งๆ ที่เขาเจรจากันไปแล้ว 2 ครั้ง อีกทั้งมีการทำเอฟทีเอระหว่างไทยกับอีกหลายประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการพร้อมกัน เช่น จีน ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ อินเดีย เปรู บาเรนห์ ส่วนที่มีผลบังคับสมบูรณ์แล้วคือ ออสเตรเลีย

แต่กรณีของสหรัฐนั้น ถูกจับตามองเป็นพิเศษ ด้วยความที่เป็น "มหาอำนาจ" ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง

หากจะเข้าใจเอฟทีเอ หรือ Free Trade Agreement ให้ง่ายที่สุดก็คือ การจัดทำเขตการค้าเสรี โดยมีการต่อรองกันเพื่อมุ่งลดอุปสรรคทางการค้าที่ดำรงอยู่ในประเทศคู่เจรจาให้มากที่สุด ซึ่งสหรัฐน่าจะเรียกได้ว่าเป็นต้นตำหรับในการสร้างข้อตกลงแบบ "ทวิภาคี" หรือเจรจาเป็นคู่ๆ กับประเทศหรือกลุ่มประเทศต่างๆ มาตั้งแต่พ.ศ. 2527

เหตุผลประการสำคัญที่ต้องคุยกันเป็นคู่ๆ เป็นเพราะเวทีเจรจาการค้าแบบ "พหุภาคี" หรือเจรจารวมหมู่ขององค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) มีการต่อรองกันสูงและเป็นไปอย่างล่าช้า โดยเฉพาะในรอบโดฮา (ประเทศการ์ตา-2544) ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายเริ่มรวมกลุ่มกันต่อรองแข็งกร้าวในหลายเรื่อง ซึ่งรังแต่จะทำให้ประเทศที่เคยได้เปรียบเสียประโยชน์

กรณีของสหรัฐนั้น จุดเปลี่ยนสำคัญที่นักวิชาการหรือ "คอการค้าระหว่างประเทศ" ให้ความสนใจเป็นพิเศษคือ กฎหมายส่งเสริมการค้า พ.ศ.2545 (Bipartisan Trade Promotion Authrority Act of 2oo2) หรือที่รู้จักกันในนาม fast track ได้ให้อำนาจ "ฝ่ายบริหาร" ในการทำข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศได้อย่างเต็มที่เต็มอัตราเร่ง

แม้อำนาจจะมากล้นคล้ายๆ คนแถวนี้ แต่ถึงที่สุดฝ่ายบริหารของสหรัฐก็ยังต้องรายงานต่อสภาล่างและสภาบนของตน ทั้งก่อนเจรจา 90 วัน เพื่อระบุเป้าหมายการเจรจา และเมื่อได้ข้อสรุปก็ต้องแจ้งก่อนลงนามข้อตกลง 90 วัน เพื่อให้รัฐสภาพิจารณารับหรือไม่รับ (แต่ปรับปรุงแก้ไขไม่ได้)

นี่เป็นข้อต่างสำคัญระหว่างสหรัฐและไทย ซึ่งในกรณีของไทยทั้งเอ็นจีโอ นักวิชาการ รวมถึงส.ว.ได้ออกมาเรียกร้องกันวุ่นวาย ให้รัฐบาลนำเรื่อง "เอฟทีเอ" เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาบ้าง

"กฎหมายของเราแตกต่างจากเขา"
"การเจรจาการค้าระหว่างประเทศเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร ถ้าไม่ได้มีการแก้กฎหมายเพิ่มเติม ก็ไม่ต้องนำเข้าสภา"

คำตอบของหัวขบวนตั้งแต่ระดับนายกรัฐมนตรี จนถึงระดับหัวหน้าคณะผู้แทนเจรจา "นิตย์ พิบูลสงคราม"

ถึงตรงนี้ถ้าใครอยากรู้ถึงวัตถุประสงค์หรือผลประโยชน์แบบกว้างๆ ที่สหรัฐต้องการจากไทย ก็ต้องไปดูในจดหมายชี้แจงต่อรัฐสภาที่นายโรเบิร์ต บี. โซลลิค (Robert B. Zoellick) ผู้แทนการค้าสหรัฐแสดงเจตจำนงของรัฐบาลอเมริกันในการทำเขตการค้าเสรีกับไทย เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2547

ในจดหมายดังกล่าวชี้แจงว่าการทำข้อตกลงครั้งนี้ภาคส่วนต่างๆ ทั้งเกษตรกร ธุรกิจ อุตสาหกรรม ของสหรัฐจะได้อะไรบ้าง มีประเด็นใดบ้างที่ต้องเจรจากับไทย ประเด็นใดควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษเพราะเป็นตัวกีดขวางผลประโยชน์ที่สำคัญ ฯลฯ

ส่วนข้อมูลของประเทศไทยนั้น รับรู้กันทางคำให้สัมภาษณ์ของผู้หลักผู้ใหญ่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาเป็นหลัก โดยข้อมูลส่วนใหญ่ไม่เป็นที่เปิดเผยมากนัก นอกจากคำรับประกันถึงผลประโยชน์สูงสุดของประเทศจากหัวหน้าทีมเจรจาและหัวหน้าประเทศ

อย่างไรก็ตาม การเจรจาในกรอบกว้าง (Comprehensive) ที่ครอบคลุมทุกประเด็นดังที่ดำเนินการกับสหรัฐนี้ มีความละเอียดซับซ้อนสูง ซึ่งนิตย์ พิบูลย์สงครามก็ยอมรับว่าคงต้องมีการเจรจากันต่อไปเรื่อยๆ พร้อมทั้งรับรองว่าไม่มีแรงกดดันให้ต้องรีบร้อนตกลงจนกว่าไทยจะมีความพร้อม

อย่างไรก็ตาม แม้จะออกมารับประกันการันตรีความมั่นใจแล้ว ข้อถกเถียงก็ยังมีต่อไปไม่ขาดสาย ว่า "ความพร้อม" ที่ว่านั้นเป็นความพร้อมของใคร และใครจะเป็นผู้ตัดสินว่าพร้อมหรือไม่

ที่สำคัญ หากดูตัวอย่างเอฟทีเอสหรัฐ-สิงคโปร์ ซึ่งรัฐบาลอเมริกันใช้เป็นต้นแบบในการเจรจากับประเทศต่างๆ ในอาเซียนแล้วพบว่าใช้เวลาเจรจาราว 2 ปี เท่านั้น หากเปรียบเทียบในกรณีของไทยที่เริ่มเจรจาครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายน 2547 ก็ถือว่ามาถึงครึ่งทางแล้ว

ไม่ต้องถามขนาดว่าเราจะเจรจาต่อรองอะไรกับเขาบ้าง แค่คำถามเบื้องต้นที่สุดว่า "เรารู้จักสหรัฐแค่ไหน" ก็ดูเหมือนสังคมไทยยังไม่ได้รับคำอธิบายให้ใจชื้นเท่าใดนัก…

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net