Skip to main content
sharethis

ในช่วงอาทิตย์นี้ (4-8 เมษายน2548) มีการเจรจาที่มีผลต่ออนาคตของประเทศชาติเป็นอย่างมากที่พัทยา การเจรจาที่ว่านี้คือ การเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Agreement-FTA) ระหว่างมหาอำนาจผู้รักการกดดัน และตรวจสอบประเทศต่างๆ ไปทั่วโลกกับประเทศที่ไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งชาติใด

การเจรจาระหว่างผู้แทนของประเทศไทยและสหรัฐอเมริกาครั้งนี้เป็นครั้งที่3 ที่ได้มีการเลื่อนจากช่วงเลือกตั้งมาเป็นช่วงก่อนสงกรานต์ ส่งหนึ่งนักวิเคราะห์บอกว่าเพื่อความแน่นอนในการเลือกตั้ง ที่รัฐบาลต้องเลื่อนการเจรจามาเป็นช่วงนี้ เพราะไม่ต้องการให้มีการต่อต้านที่จะส่งผลต่อการเลือกตั้งทั่วไปที่เพิ่งผ่านมา

ทั้งนี้เพราะเนื้อหามากมายที่ปรากฏอยู่ในข้อตกลงเขตการค้าเสรีนั้น เป็นสิ่งอันไม่พึงประสงค์สำหรับประเทศไทยเรา แต่ในบรรดาประเด็นเหล่านี้รัฐบาลกลับเห็นด้วยกับฝรั่ง ส่วนหลายสิ่งหลายอย่างที่ฝรั่งเสนอมาแล้วจะเป็นประโยชน์กับคนไทยเรา เช่น การเปิดเสรีด้านโทรคมนาคม รัฐบาลกลับเห็นค้านกับฝรั่ง เลยไม่รู้ว่าเอาไปเอามาแล้วรัฐบาลทักษิณ1 และ 2 นี่เป็นพวกใคร

ในบรรดาเรื่องที่ผู้รู้และผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายเห็นว่าเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ ถึงขั้นที่ไม่น่าจะเอามาบรรจุรวมไว้ในการเจรจาเลย คือ เรื่องการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งประเทศอย่างไทยเราเสียเปรียบและโดนสหรัฐกดดันให้ต้องมีความคุ้มครองที่เข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ โดยที่พัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีที่เราจะต้องสร้างคามคุ้มครองมารองรับนั้นยังไปไม่ถึงขั้นที่จะต้องมีกฎบทกฎหมายที่เข้มข้นขนาดที่อเมริกาต้องการ

แต่บรรดาผู้เจรจาชาวอเมริกันทั้งหลาย กลับมองว่ายิ่งคุ้มครองเข้มงวดเท่าไร ประเทศไทยเราก็จะพัฒนาได้เร็วขึ้นเท่านั้น เลยไม่รู้ว่าตกลงใครเป็นเจ้าของประเทศกันแน่

โชคดีของพวกเราอยู่สักหน่อยที่ผู้เจรจาชาวไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการนั้นมีความเข้าใจประเด็นทางด้านทรัพย์สินทางปัญญา และพร้อมที่จะดำเนินการเพื่อประโยชน์ของคนไทยอยู่พอสมควร จึงคาดว่าเราน่าจะสามารถต้านกระแสฝรั่งได้ในระดับหนึ่ง หากว่ารัฐบาลไม่เตะสกัดพวกเดียวกันเสียก่อน

ทรัพย์สินทางปัญญานี่ไม่ใช่ว่าไม่ดีแต่ถ้ามากเกินไป มันก็จะไปกีดกันการสร้างสรรค์ ซึ่งฝรั่งมะกันไม่ค่อยเข้าใจ จะเอาแต่ใจตัวเอง ไม่นึกย้อนบ้างว่าในวันที่เริ่มพัฒนาพวกเขาก็ลอกเลียนแบบยุโรปมาเหมือนกัน แล้วพอตั้งตัวเป็นเจ้าของเทคโนโลยีได้ ก็ไม่ให้โอกาสชาติอื่นในการพัฒนาตนเองบ้าง

พวกเราก็พอกันเอาแต่จะลอกท่าเดียว ดูอย่างญี่ปุ่น เกาหลี ที่เขาเริ่มจากการลอกเลียนแบบจนกระทั่งเดี๋ยวนี้เขามีเทคโนโลยีหลายอย่างล้ำหน้าฝรั่งไปแล้ว เราคงต้องเรียนรู้ที่จะใช้ทรัพย์สินทางปัญญาให้เป็น จะมามัวหมกมุ่นอยู่กับการลอกเลียนแบบอย่างเดียว โดยไม่คิดพัฒนาตนเองไปสู่การเป็นเจ้าของเทคโนโลยีและผลงานต่างๆ เองคงไม่ได้แล้ว

ไม่รู้ว่าจะคลาดแคล้วหรือไม่ สิ่งที่ผู้ห่วงใยทั้งหลายพยายามส่งสัญญาณถึงสหรัฐ แม้กระทั่งผ่านการพูดคุยกับผู้เจรจาอเมริกันนั้น มีหลายเรื่องมากจนแทบจะสาธยายไม่จบ

โดยสังเขปก็มีเรื่องการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา และข้อตกลงระหว่างประเทศต่างๆ เรื่องลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า และการบังคับใช้กฎหมายทั้งส่วนแพ่งและส่วนอาญา แต่ท่าทีที่เห็นจากผู้เจรจาชาวมะกน ภาษาไทยแบบลุ่นๆ เขาเรียกว่า "ไม่ยี่หระ" ต่อความเป็นไปของคนไทย คงยืนยันแต่ว่าสิ่งที่พวกเขาทำนั้นเพื่อประโยชน์ของพวกเราคนไทย

ข้อเสนอที่ทางสหรัฐจะยื่นมานั้นคาดว่า จะมีการกำหนดให้ประเทศไทยต้องเข้าเป็นภาคี อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (The International Convention for the Protection of New Varieties of Plants (1991) -UPOV Convention) ซึ่งจะเป็นการสร้างมาตรฐานการคุ้มครองพันธุ์พืชที่เป็นประโยชน์ต่อบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการเกษตรเป็นอย่างมาก และบรรดานักปรับปรุงพันธุ์รายย่อยคงได้แต่หวังว่าจะมีโอกาสลืมตาอ้าปากมีความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญากับเขาบ้าง

นอกจากนั้น ก็คงเรียกร้องแกมบังคับให้เราเข้าเป็นภาคีของข้อตกลงระหว่างประเทศอีก 5 ฉบับ ประกอบไปด้วย อนุสัญญาบรัสเซลส์ที่เกี่ยวกับการถ่ายทอดรายการ โดยการส่งสัญญาณผ่านดาวเทียม ฉบับปี 1974 (The Brussels Convention Relating to the Distribution of Programme-Carrying Signals Transmitted by Sattellite (1974)) เป็นอันดับแรก

ตามมาด้วย สนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ฉบับปี 1996 (The WIPO Copyright Treaty (1996)) สนธิสัญญาว่าด้วยการแสดงและสิ่งบันทึกเสียงขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ฉบับปี 1996 (The WIPO Performances and Phonograms Treaty (1996)) และ สนธิสัญญาว่าด้วยความร่วมมือเรื่องสิทธิบัตรฉบับปี 1984 (The Patant Cooperation Treaty (1984)) ที่เราคุ้นกันดีในชื่อ PCT แถมยังมีข้อตกลงอื่นๆ ที่เราจะต้องพยายามเข้าเป็นภาคี และมีบทบัญญัติในข้อแนะนำอะไรอีกบางประการที่เราจะต้องถือปฏิบัติ

จากนั้นก็คงจะยื่นข้อเสนอเรื่องการกำหนดให้ความคุ้มครองในเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ โดยให้ครอบคลุมไปถึงสิทธิในอันที่จะห้ามบุคคลที่สาม ที่ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่จะใช้แม้กระทั่งสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ หากว่าการใช้ดงกล่าวอาจเป็นเหตุที่น่าจะก่อให้เกิดความสับสนขึ้นได้

ยกตัวอย่างเช่น เรามี ข้าวสาวไห้ ซึ่งเราอาจถือว่าเป็นชื่อที่ได้รับการคุ้มครองภายใต้กรอบของกฎหมายสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ แต่ถ้าหากมีคนจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าว่า "ข้าวสาวไห้" ไว้แล้วเกิดเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า "ข้าวสาวไห้" ร้องขึ้นมาว่าชาวบ้านที่ใช้ชื่อข้าวสาวไห้ทำให้เกิดความสับสนหลงผิดในชื่อเครื่องหมายการค้าของเขา อย่างนี้ชาวบ้านสาวไห้ก็อาจจะต้องเลิกใช้ชื่อข้าวสาวไห้ไป เพราะไปขัดกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น

ประเด็นต่อมาก็คงจะเป็น เรื่องลิขสิทธิ์ที่ได้มีการกำหนดให้ขยายอายุการคุ้มครอง จากเดิมซึ่งให้ความคุ้มครองตลอดอายุขัยของเจ้าของลิขสิทธิ์และอีก 50 ปีนับจากที่เจ้าของลิขสิทธิ์ถึงแก่ความตาย เป็นตลอดอายุขัยของเจ้าของลิขสิทธิ์และอีก 70 ปีนับจากที่เจ้าของลิขสิทธิ์ถึงแก่ความตาย

การขยายอายุความคุ้มครองเช่นนี้ แน่นอนย่อมเป็นประโยชน์ต่อเจ้าของลิขสิทธิ์ ซึ่งถ้ามองในเรื่องงานวรรณกรรม ศิลปกรรม นาฏกรรม ดนตรีกรรม ทั่วไปก็จะเห็นว่าประโยชน์ต่อคนไทยและต่างชาติก็คงจะพอๆ กัน แต่ถ้ามองในแง่ของซอฟแวร์ หรือลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์ หรือโสตทัศนวัสดุบางอย่าง ประโยชน์ต่างๆ ก็จะตกอยู่กับต่างชาติ ซึ่งเรื่องนี้นักวิชาการที่ทำการวิจัยมาเป็นอย่างดีก็พยายามบอกกับทางสหรัฐว่าเราพอใจอยู่ที่ 50 ปี แต่สหรัฐก็ยังคงยืนยันว่า 70 ปีนี่แหละจะเป็นประโยชน์กับคนไทยมากกว่า ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่ารัฐบาลจะฟังใคร

ประเด็นต่อมา สหรัฐก็คงขอให้เรายกเลิกการใช้ข้อยกเว้นมาตรา 27.3 (b) ของข้อตกลงว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวเนื่องกับการค้า (The Agreement on Trade Related Aspects of Intellectual Property Rights-TRIPs) ที่ให้สิทธิแก่ภาคีสมาชิกในอันจะที่จะงดเว้นการให้ความคุ้มครองสิทธิบัตรแก่พืชและสัตว์ที่ไม่ใช่จุลินทรีย์ และกรรมวิธีที่จำเป็นทางชีววิทยาสำหรับการผลิตพืชหรือสัตว์ นอกเหนือจากกรรมวิธีที่ไม่ใช่ชีววิทยา และจุลชีววิทยา แต่ภาคีสมาชิกต้องให้ความคุ้มครองแก่พันธุ์พืช ไม่ว่าจะโดยสิทธิบัตร หรือระบบกฎหมายเฉพาะ (sui generic system) หรือโดยทั้งสองระบบร่วมกัน

นี่ก็เท่ากับว่าประเทศไทยต้องให้การคุ้มครองสิทธิบัตรแก่สิ่งมีชีวิตจำพวกพืชและสัตว์ทั้งหลาย วันหนึ่งในอนาคตอันใกล้บรรดาพืชเศรษฐกิจต่าง ก็อาจจะมีสิทธิบัตรไปเสียหมด

เมล็ดพันธุ์พืชที่เกษตรกรเคยเก็บไว้ปลูกต่อได้ หรือสามารถนำไปเป็นปัจจัยในการทำพันธุ์เก็บไว้ใช้งานต่อ หรือกระทั่งพืชที่นักปรับปรุงพันธุ์ที่อาจจะเป็นทั้งนักวิชาการ ชาวบ้าน เกษตรกร หรือมืออาชีพ มือสมัครเล่นทั้งหลายได้อาศัยเป็นตัวช่วย หรือสร้างฐานในการสร้างพืชที่มีคุณสมบัติที่ดีต่อไปก็จะเอามาใช้ไม่ได้ต่อไป เพราะถูกห้ามไว้โดยระบบสิทธิบัตร

พืชอย่างเดียวก็ว่าหนักพออยู่แล้ว ถ้าต้องเปิดให้การคุ้มครองสิทธิบัตรแก่สัตว์เข้าไปอีกก็คงย่ำแย่ เพราะถ้าวัดกันจริงๆ แล้ว การทำวิจัยและพัฒนาด้านพืชในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นระดับท้องไร่ ท้องนา แปลงราษฎร์ แปลงหลวง หรือกระทั่งในห้องปฏิบัติการ นักปรับปรุงพันธุ์ชาวไทยก็พอจะสู้ใครๆ เขาได้อยู่ แต่ถ้าเป็นการวิจัยและพัฒนาในเรื่องสัตว์อันเป็นสิ่งที่ต้องใช้เงินทุนมาก และยังไม่สามารถดำเนินการกันเป็นระดับอุตสาหกรรมได้ เรายังคงต้องพึ่งพางานวิจัยและพัฒนา รวมถึงพวกพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์จากต่างประเทศเป็นอันมาก

เอาแค่ตลาดที่ไม่ถูกผูกขาดโดยสิทธิบัตรเราก็แทบจะขยับไม่ได้อยู่แล้ว เพราะเทคโนโลยีที่เรามีกับที่เขามีมันต่างกัน ต้องมีการวางข้อกำหนดที่เป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่จะเอากฎหมายเขามาบังคับใช้ที่บ้านเราเลย มันไม่เหมาะไม่ควร

อย่างที่ว่าทรัพย์สินทางปัญญามันไม่ได้มีอันตรายร้ายแรงในตัวมันเอง มันอยู่ที่ใครพร้อมที่จะรับมันมากน้อยแค่ไหน ก็ต้องวางมันไว้ให้เหมาะแก่ตนเอง ช่วยกันคิดให้ดีจะได้ไม่ต้องมานั่งเล่นเพลงพญาโศกให้มันช้ำใจ จับตาดูเอฟทีเอ
เจษฎ์ โทณะวณิก
จากหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 7 เมษายน 2548

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net