Skip to main content
sharethis

ภาพจากwww.tourthai.com
----------------------------------

บทความพิเศษ

การดำหัว มีความหมายโดยทั่วไปหมายถึง "การสระผม" คือชำระสิ่งสกปรกออกจากศีรษะ ทว่ายังมีอีกความหมายหนึ่ง ซึ่งเป็นความหมายเชิงความเชื่อ โดยเฉพาะชาวล้านนาเชื่อว่าเป็นการชำระสิ่งอัปมงคลได้ด้วย การดำหัวโดยทั่วไปแต่โบราณมักใช้ น้ำผสมน้ำจากผลมะกรูดและเมือกจากใบหมี่ แต่การดำหัวเพื่อชำระสิ่งอัปมงคลจะใช้ น้ำขมิ้นส้มป่อย

ในช่วงปีใหม่หรือเทศกาลสงกรานต์ ชาวล้านนาจะนิยมดำหัวเพื่อชำระสิ่งอัปมงคลให้ตกไปตามปีเก่า และการดำหัวนี้พบว่ามีการขยายเป็นวงกว้างยิ่งขึ้น กล่าวคือนอกจากจะดำหัวตนเองแล้วยังเผื่อแผ่ไปยังสมาชิกในครอบครัวด้วยความอาทรห่วงใย ขยายไปสู่สิ่งที่ควรเคารพนับถือทั้งวัตถุ วิญญาณและตัวบุคคลในที่สุด และกิจกรรมการดำหัวนี้จะมีความสัมพันธ์กับสิ่งที่ใกล้ตัวขยายออกไปพร้อมกับระยะเวลาก่อนหลัง ดังจะได้กล่าวเป็นลำดับต่อไป

เริ่มจากการดำหัวตนเอง พิธีนี้จะทำใน "วันสังขานต์ล่อง" ซึ่งตรงกับภาคกลางคือวันมหาสงกรานต์ ถือกันว่าเป็นวันสิ้นปี ในส่วนของพิธีในปฏิทินบัตรที่ใช้ประเภทสงกรานต์ของล้านนาที่เรียกว่า "หนังสือปีใหม่" ความตอนหนึ่งกล่าวว่า "ในวันสังขานต์ล่องนั้น หื้อไปสู่สระน้ำใหญ่ แม่น้ำใหญ่ หนทางใฅว่สี่เส้นหรือต้นไม้ใหญ่ กระทำการสระสรง สระเกล้าดำหัวเสียจิ่งดี การสระเกล้าดำหัว หื้อเบ่นหน้าเฉพาะหน… แล้วหื้อนุ่งผ้าใหม่ เหน็บดอก… อันเปนพระญาดอกประจำปี จักวุฒิจำเริญแล" หมายความว่าในวันสังขานต์ล่อง ให้ไปสู่สระน้ำใหญ่ แม่น้ำใหญ่ สี่แยกหรือต้นไม้ใหญ่แล้วดำหัวโดยผินหน้าไปตามทิศที่โบราณกำหนดในแต่ละปี เสร็จแล้วให้สวมเสื้อผ้าใหม่ ทัดดอกไม้ประจำปี ซึ่งเรื่องนี้มีรายละเอียดทั้งข้อปฏิบัติทางพิธีกรรม ทิศทางที่ควรผินหน้าและ ดอกไม้อันเป็นนามปี กล่าวคือ

การดำหัว ในทางปฏิบัติต้องทำสะตวง (กระทง) บัดพลีด้วย ดอกไม้ธูปเทียน อาหาร ขนม หมากพลู บุหรี่ อย่างละ ๔ ชิ้น โดยจะมีส่วนประกอบสำคัญเป็นเศษไม้ รูปปั้นอมนุษย์ รูปปั้นสัตว์ ตามปีเกิดของตน ดังนี้
ปีเกิด - เศษไม้ - รูปปั้น
ไจ้ (ชวด) โพธิ์ ผีอารักษ์ อีแร้ง กวาง
เป้า (ฉลู) บุนนาค สุนัข
ยี (ขาล) ไผ่ ผีอารักษ์ งู
เหม้า (เถาะ) หว้า ไก่ งู
สี (มะโรง) ต้นข้าว ไก่ หมู
ใส้ (มะเส็ง) หาด ผีอารักษ์
สะง้า (มะเมีย) แค สุนัข
เม็ด (มะแม) แค สุนัข
สัน (วอก) กระเชา สุนัข
เร้า (ระกา) ก่อ เสือโคร่ง
เส็ด (จอ) ยอ เสือแผ้ว
ใก๊ (กุน) กอบัว ยักษ์

เมื่อเตรียมสิ่งของไว้พร้อมแล้ว ก็เริ่มประกอบพิธีโดยหันหน้าเฉพาะทิศทางที่กำหนด เรื่องทิศนี้ โบราณกล่าวไว้ว่า สังขานต์ล่องวันไหน ก็ให้บ่ายหน้าสู่ทิศนั้น ๆ ดังนี้
สังขานต์ล่องวันอาทิตย์ หันหน้าไปทิศ ตะวันตกเฉียงเหนือ
สังขานต์ล่องวันจันทร์ หันหน้าไปทิศ ตะวันตก
สังขานต์ล่องวันอังคาร หันหน้าไปทิศ ใต้
สังขานต์ล่องวันพุธ หันหน้าไปทิศ ใต้
สังขานต์ล่องวันพฤหัสบดี หันหน้าไปทิศ ตะวันออกเฉียงเหนือ
สังขานต์ล่องวันศุกร์ หันหน้าไปทิศ ตะวันออก
สังขานต์ล่องวันเสาร์ หันหน้าไปทิศ ตะวันตกเฉียงใต้

จากนั้นจึงกล่าวคำโอกาสว่า "ดูราเจ้ากู เราอยู่จิ่มกันบ่ได้ ภัยยะอันใหญ่ จักเกิดมีมาชะแล ขอเจ้ากูจุ่งมารับเอาเครื่องสักการะปูชามวลฝูงนี้ แล้วจุ่งมาพิทักษ์รักษาผู้ข้าหื้ออยู่สุขสวัสดี นั้นจุ่งจักมี เที่ยงแท้ดีหลีเทอะ" ว่าจบให้ตัดเล็บ ตัดเศษผมใส่ในสะตวง แล้วเสกเป่าน้ำขมิ้นส้มป่อยด้วยคาถาว่า "โอม สิริมา มหาสิริมา เตชะยะสะลาภา อายุวัณณา ภะวันตุ เม" แล้วสระเกล้าดำหัวด้วยน้ำขมิ้นส้มป่อยให้น้ำตกลงในสะตวง กระทำดังนี้แล้วให้ผลัดผ้าเก่า นุ่งห่มด้วยเสื้อผ้าชุดใหม่ พร้อมทัดทรงด้วย ดอกไม้อันเป็นนามปี ที่ถือว่าเป็น พระญาดอกไม้ ประจำปีนั้น ๆ เรื่องนี้ก็มีตำราไว้ว่าให้เอาตัวเลขจุลศักราชปีใหม่นั้นตั้ง หารด้วย ๘ เศษ
เท่าไหร่ ดูตามนี้
เศษ ๑ ดอกเอื้อง
เศษ ๒ ดอกแก้ว
เศษ ๓ ดอกซ้อน (มะลิ)
เศษ ๔ ดอกประดู่
เศษ ๕ ดอกบัว
เศษ ๖ ดอกส้มสุก (อโศก)
เศษ ๗ ดอกบุนนาค
เศษ ๐ ดอกลิลา (ซ่อนกลิ่น)

หลังจากทัดดอกไม้มงคลประจำปีแล้ว ให้ยกสะตวงขึ้นเวียนรอบศีรษะ ๓ รอบ สุดท้ายนำสะตวงไปลอยน้ำหรือวางในที่อันควร แล้วหันหลังกลับบ้านทันที โดยไม่ให้เหลียวหลังไปมองสะตวงนั้นอีก

พิธีกรรมที่กล่าวมาเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งยังมิได้กล่าวรวมไปถึงพิธีที่อิงศาสนาอาศัยกุสโลบายทางเมตตา คือพึ่งพาสัตว์เป็นพาหนะ นำสิ่งอัปมงคลออกจากร่างกาย โดยหมายฝากกับสัตว์ผ่านการปลดปล่อย ลอยไปกับน้ำ ย่ำไปกับดินหรือบินไปสู่อากาศที่นิยมปฏิบัติในปัจจุบันคือ นำน้ำขมิ้นส้มป่อยมาเสกด้วยคาถาว่า "สัพพะทุกขา สัพพะภะยา สัพพะโรคา วินาสันตุ อะเสสะโต" แล้วเอาน้ำนั้นลูบศีรษะ สลัดใส่สัตว์แล้วปล่อยไป

กิจกรรมที่กล่าวมาโดยลำดับนับเป็นพิธีกรรมเพื่อดำหัวตนเอง เมื่อเสร็จภาระในส่วนนี้ การดำหัวภายในบ้านยังต้องมีต่อ คือต้องมาจัดน้ำขมิ้นส้มป่อยอีกอย่างน้อยสองส่วน ส่วนหนึ่งเสกเป่าด้วยมงคลคาถา แล้วเรียกภรรยาหรือบุตรธิดาสมาชิกในครอบครัวมาดำหัว โดยที่หัวหน้าครอบครัวอาจใช้น้ำขมิ้นส้มป่อยประพรมหรือลูบศีรษะทุกคนพร้อมกล่าวคำอวยชัยให้พร และอีกส่วนหนึ่งจะเอาสระสรงวัตถุมงคล เช่น พระพุทธรูป รูปเคารพ พระเครื่องตลอดจนเครื่องรางต่าง ๆ เป็นการชำระล้างจัญไรและคงไว้แต่สิ่งที่ดีงาม สิ่งนี้ล้วนเป็นกิจกรรมเฉพาะที่เป็นการปฏิบัติกับสิ่งที่ใกล้ตัวและกระทำในช่วงเวลาเริ่มต้นของเทศกาลคือวันสังขานต์ล่อง

รุ่งขึ้นอีกวันถือเป็นวันสุกดิบ ล้านนาเรียก "วันเน่า" ในวันนี้ทุกครัวเรือนจะจัดเตรียมสิ่งของที่จะทำบุญและของที่จะนำไปดำหัวในวันถัดไป คือ "วันพระญาวัน" และในวันพระญาวันจะมีการทำบุญที่วัดเรียกว่า "ทานขันข้าว" (อ่าน - ตานขันเข้า) คือทำบุญด้วยอาหารเป็นสำรับเหมือนทำบุญเทศกาลทั่วไป แปลกแต่ในโอกาสนี้ ในสำรับนอกจากจะมีอาหาร น้ำหยาด (น้ำสำหรับกรวด) แล้วมักจะมีน้ำส้มป่อยด้วย

ทั้งนี้ก็ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อดำหัวบรรพบุรุษและวิญญาณผู้ที่จากไปผ่านกุศลพิธีทางพุทธศาสนา นอกจากนี้บางคนถือโอกาสสรงน้ำพระพุทธรูป พระพุทธบาท พระธาตุเจดีย์ และสรงน้ำพระครูบามหาเถระผู้ทรงศีล ครั้นเวลาสายหลายคนทำพิธีดำหัวกระดูกบรรพบุรุษ หอผีปู่ย่า หอเจ้าที่ เทวดาเรือน เป็นต้น ในขณะที่หลายคนไปดำหัวบิดามารดา และเครือญาติที่เคารพนับถือ

กล่าวมาถึงตรงนี้ มีข้อที่ควรสังเกตคือ จากความหมายเดิมที่เป็นการดำหัวตนเองและครอบครัวเพื่อชำระสิ่งอัปมงคลเริ่มเพิ่มความหมายไปในเชิงเคารพสักการะเป็นการนำน้ำขมิ้นส้มป่อยและเครื่องสักการะเผื่อแผ่ไปยังผู้ควรสักการะ โดยอาการอันนอบน้อม แต่ก็ยังอยู่ในฐานะที่ยังไม่ไกลตัว กาลก็ยังเป็นช่วง
กลาง ๆ ของเทศกาล คือวันพระญาวันโดยเฉพาะในช่วงเช้า

ช่วงบ่ายของวันพระญาวันเป็นต้นไป การดำหัวจะขยายไปสู่ผู้มีพระคุณต่อคนในวงกว้างหรือผู้มีอำนาจในการบังคับบัญชา อาทิ พระสงฆ์ผู้ทรงคุณเป็นอเนก กษัตริย์และราชวงศ์ชั้นสูง ขุนนาง ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรต่าง ๆ เช่น อธิการบดี ผู้อำนวยการ เป็นต้น การดำหัวระดับนี้เป็นเรื่องของคนจำนวนมาก เครื่องสักการะจะเพิ่มปริมาณมากขึ้น เช่น น้ำส้มป่อยจะบรรจุในขันหรือสลุงขนาดใหญ่ ขันหรือพานดอกไม้ธูปเทียนขนาดใหญ่ ดอกไม้จัดเป็นพุ่มที่เรียก "ต้นดอก" ขี้ผึ้งประดับบนโครงไม้ที่เรียกว่า "ต้นเผิ้ง" เทียนแขวนประดับบนโครงไม้ทรงพุ่มที่เรียก "ต้นเทียน" หมากแห้งทำเป็นสาย ๆ แล้วรวมกันสิบสายเป็นหนึ่งพวงใช้จำนวนสิบพวง (หมากหมื่น) มัดให้เป็นตั้งที่เรียก "หมากสุ่ม" หมากดิบเป็นลูก ๆ ประดับบนโครงไม้ทรงพุ่มที่เรียก "หมากเบ็ง" ใบพลูจัดเรียงเย็บเข้ากับโครงไม้แล้วจัดเป็นพุ่มที่เรียก "พลูสุ่ม" เมี่ยง บุหรี่ จัดให้เป็นพุ่มสวยงามและมีขนาดพออุ้มหรือถือได้

จัด "จองอ้อย" คือแคร่คานหามที่มีกระบะและมีขาสูงระดับเอวมีคานหาม ภายในบรรจุเครื่องอุปโภคบริโภคเช่น ผ้าห่ม ผ้าขะม้า ผ้าขนหนู หัวหอม กระเทียม กล้วยทั้งเครือ มะพร้าวอ่อนทั้งทะลาย มะม่วง มะปราง ฟัก แฟง แตง และพืชผักตามฤดูกาล เครื่องสักการะต่าง ๆ เมื่อมีปริมาณมาก ก็ต้องใช้คนเป็นจำนวนมากเป็นกลุ่มใหญ่ ซึ่งอาจมีการจัดขบวนแห่ มีเครื่องดนตรีประโคมและมีการแสดงหรือฟ้อนรำประกอบอย่างครึกครื้น

เมื่อขบวนแห่ไปถึงสถานที่ที่เป็นที่อยู่อาศัยบุคคลที่จะดำหัว หรือสถานที่ที่จัดไว้ ก็จะวางสิ่งสักการะต่าง ๆ ลงเฉพาะหน้าท่านเหล่านั้น และเมื่อถึงเวลาอันควร จะจัดให้บุคคลอาจเป็นผู้อาวุโสในกลุ่มหรือหัวหน้างานถือพานดอกไม้ธูปเทียนคนหนึ่ง ถือขันน้ำส้มป่อยคนหนึ่ง อีกคนหนึ่งเป็นผู้นำกล่าวคำสักการะพร้อมขอขมาลาโทษ และขอพรปีใหม่ตามลำดับด้วยสุนทรวาจาว่า

"อัชชะ ในวันนี้ ก็เปนวันดี ปีเก่าข้ามล่วงพ้นไปแล้ว ปีใหม่แก้วก็มารอดมาเถิง ผู้ข้าทังหลายก็มาร่ำเพิงยังคุณูปการะอันมากนานา จิ่งน้อมนำมายังมธุบุปผาลาชาดวงดอก เข้าตอกดอกไม้ลำเทียน เพื่อมาสักการะคารวะยังท่าน กาละพร่ำนี้ ผู้ข้าก็ได้ตกแต่งแปลงพร้อมน้อมนำมายังน้ำคัมภีโรทกะ สุคันโธทกะ คือว่าน้ำน้ำขมิ้นส้มป่อย เพื่อจักมาขอสู่มาคารวะ สระเกล้าดำหัว เหตุว่าได้เมามัวประมาทลาสามวลมาก ผู้ข้าก็หากกลัวเปนบาปกัมม์ ขอท่านจุ่งเมตตาธัมม์ผายโผดลดโทษมวลมี ลวดปันพรดี เปนสิริศรีมังคละใน
กาละบัดนี้ แด่เต๊อะ"

กล่าวจบ ผู้ถือพานดอกไม้ธูปเทียนและน้ำส้มป่อยทำการมอบคล้ายอาการประเคนสิ่งของแด่พระสงฆ์ ส่วนผู้ได้รับการดำหัวก็ยื่นมือทั้งสองข้างรับไว้ แล้วเอามือจุ่มน้ำส้มป่อยลูบศีรษะตนเอง ทั้งนี้อาจสลัดน้ำส้มป่อยใส่ผู้มาดำหัวพร้อมกล่าวคำอันเป็นสิริมงคล ก่อนจะให้พรตามโวหารดังเช่น

"เอวัง โหนตุ ดีและ อัชชะในวันนี้ก็เปนวันดี สะหรี ศุภะมังคละอันวิเศษ เหตุว่าระวิสังขานต์ ปีเก่าก็ได้ข้ามล่วงล้นพ้นไปแล้ว ปีใหม่แก้วพระญาวันก็มารอดเถิงเทิงยาม บัดนี้ท่านทังหลายได้ไหลหลามตกแต่ง แปลงพร้อมน้อมนำมายังมธุบุปผาลาชาดวงดอกเข้าตอกดอกไม้เทียนงาม มาแปลงห้างยังสิ่งคาระวะสระเกล้าดำหัว ยังตนตัวแห่งผู้ข้า บัดนี้ผู้ข้าก็มีธัมมเมตตาอว่ายหน้าปฏิคหะรับเอาแล้ว เพื่อหื้อแล้วเสียคำมักคำผาถนา แล้วจักลดโทสานุโทส โผดอโหสิกัมม์ ปันพรงามปีใหม่ หื้อมียศใหญ่วัยงาม โชคลาภตามบังเกิด
สุขะเลิศเพิงพาว อายุหมั้นยืนยาวร้อยซาวขวบเข้า นั้นจุ่งจักมีเที่ยงแท้ดีหลี
สัพพีติโย วิวัชชันตุ สัพพะโรโค วินัสสตุ
มา เต ภวัตวันตะราโย สุขี ทีฆายุโก ภะวะ
อะภิวาทะนะสีลิสสะ นิจจัง วุฑฒาปะจายิโน
จัตตาโร ธัมมา วัฑฒันติ อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง"

เสียงแห่งการให้พร จบลงด้วยสำเนียงล้านนาว่า "อายุ วัณโณ สุขัง ป๊ะลัง" เสียง "สาธุ" ของผู้รับพรตามมาโดยอัตโนมัติหลังสุดของพิธี อาจมีพรให้โอวาท ตามด้วยการผูกข้อมือแก่ผู้ที่มาดำหัว เพื่อเป็น
ศิริมงคลแถมท้าย หรือนอกเหนือจากนี้ อาจมีบางคนประสงค์ที่จะดำหัวอย่างใกล้ชิดเป็นกรณีพิเศษ ก็จะนำน้ำส้มป่อยไปทำการมอบให้ผู้ใหญ่เพื่อที่ท่านจะได้ดำหัวท่านเอง ทั้งนี้ไม่มีธรรมเนียมปฏิบัติที่ว่าเอาน้ำส้มป่อยไปรดที่มือท่าน เหมือนกับภาคอื่น ๆ ที่นิยมปฏิบัติกันเป็นปกติ

ดังที่ได้กล่าวทั้งหมด การดำหัวเป็นพิธีกรรมที่เป็นเรื่องเฉพาะของสูง เริ่มตั้งแต่ศีรษะของตนเอง ศีรษะของบุคคลอันเป็นที่รัก ทั้งที่อยู่ในระดับเสมอตนหรือด้อยอาวุโส ศีรษะของผู้อยู่ระดับอันควรสักการะ ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าเป็นพิธีกรรมที่มีวิธีปฏิบัติโดยตรงหรือโดยอ้อมคือผ่านกุศลกรรมได้แก่ การทำบุญอุทิศ หรือแม้กระทั่งการราดรด สระสรงด้วยน้ำขมิ้นส้มป่อยกับสิ่งควรเคารพ วัตถุ สถานที่ รูปเคารพ อาทิ วัตถุมงคล อัฐิบรรพบุรุษ อนุสรณ์สถาน เทวรูป พุทธรูป ซึ่งพิธีกรรมอาจมีความซับซ้อนในเชิงปฏิบัติตามสภาวะอันควร นั่นเป็น พิธีกรรม ที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อรับใช้สังคม และเป็นที่สังเกตว่าการรดน้ำสาดน้ำซึ่งกันและกันด้วยน้ำธรรมดาในช่วงกาลเวลาเดียว ซึ่งแม้จะมีสถานะเป็นเพียงกิจกรรม แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการกระทำในระบบคิดเดียวกัน แตกต่างกันเฉพาะกระบวนการและวิธีการเท่านั้น

การกระทำกับของสูงเป็นการแสดงความเคารพ มนุษย์หากรู้จักเคารพตนเอง เคารพผู้อื่นหรือสิ่งอื่นที่ควรเคารพ ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้มีคุณธรรมระดับสูงทั้งคารวธรรม กตเวทิตาธรรม และเมตตาธรรม การดำหัวจึงถือเป็นพิธีกรรมและกิจกรรมที่ผ่านการรินหลั่งน้ำที่ฉ่ำเย็น เป็นความหมายของชาวล้านนา อันจะนำพามาซึ่งความผาสุกร่วมกันตราบชั่วนิรันตกาล.

สนั่น ธรรมธิ
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net