Skip to main content
sharethis

พื้นที่เผาเตรียมทำไร่ข้าวบริเวณบ้านกองม่องทะ
--------------------------------------------------------

"กระเหรี่ยงไม่ได้ดูแลป่า คนไทยก็ไม่ได้ดูแลป่า ประเพณีต่างหากที่ดูแลป่า เพราะมีประเพณีของปู่ย่าตายายคิด คอยควบคุม ถ้าไม่มีเลยทุกอย่างก็จะเสียหมด" เนเส่ง ธาราวรารักษ์ ปราชญ์ชาวกระเหรี่ยง บ้านกองม่องทะ กล่าว

เมื่อวันที่ 8-10 เม.ย. ที่ผ่านมา มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร นำสื่อมวลชนส่วนกลางจำนวนหนึ่งลงพื้นที่ บ้านสะเนพ่อง บ้านกองม่องทะ และบ้านเกาะสะเดิ่ง ต.ไล่โว่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี เพื่อศึกษาวิถีการทำไร่ข้าวของชาวกะเหรี่ยง

นายศศิน เฉลิมลาภ รองเลขาธิการ มูลนิธิสืบฯ กล่าวว่า อยากให้เข้าใจว่า การทำไร่หมุนเวียนแตก
ต่างจากการทำไร่เลื่อนลอย และการทำลายป่าโดยสิ้นเชิง เป็นการเกษตรแบบประณีต กะเหรี่ยงมักจะตั้งถิ่นฐานใกล้แหล่งน้ำและที่สูง ข้าวเป็นหลักสำคัญของวิถีชีวิต พริกคือเงินใช้ทั้งกินและขาย ยาสูบคือความบันเทิง ทั้งหมดปลูกบนพื้นที่เดียวกันเป็นไร่ข้าวแบบกะเหรี่ยง จะไม่มีการยกคันดินขังน้ำแบบนาที่ราบ พื้นที่ทำไร่ เรียก "ไร่ซาก" ซึ่งก็คือ พื้นที่ไร่เดิมที่เคยทำและทิ้งไว้ให้ดินกลับมาสมบูรณ์จนกลายเป็น "ป่า" และจะหมุนเวียนลักษณะนี้ไปเรื่อยๆ การจะหมุนเวียนมาที่เดิมครั้งหนึ่งบางพื้นที่ทิ้งไว้ราว 5-7 ปี และเชื่อว่าทิ้งไว้นานยิ่งดี

แต่ปัญหาไร่หมุนเวียนคือกฎหมายมติ ครม. 30 มิ.ย. 2541 ที่ระบุว่า ถ้าเป็นคนที่เคยทำกินบนพื้นที่
เดิมในป่ามาก่อนอนุญาตให้ทำกินได้ แต่ต้องทำกินต่อเนื่องทุกปี ซึ่งไร่หมุนเวียนของกะเหรี่ยงที่ต้องเปลี่ยนไปเรื่อยๆขาดความต่อเนื่องในการใช้พื้นที่จึงขัดกับหลักกฎหมาย

"เป็นเพราะป่าที่ชุมชนเคยอยู่ถูกประกาศทับเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จึงทำให้การทำไร่หมุนเวียนถูกมองว่าเป็นการทำลายป่า" นายอานนท์ ชะแล กำนัน ต.ไล่โว่ กล่าว และแสดงความเห็นแย้งว่าไร่ข้าวกะเหรี่ยงเป็นการอนุรักษ์ เพราะไร่ซากพอทิ้งไว้นานก็กลายเป็นป่านอกจากนี้กะเหรี่ยงก็มีระบบประเพณีและวัฒนธรรมคุมอยู่แล้ว มีการกำหนดข้อห้ามต่างๆ เช่น ไม่ทำบนพื้นที่ตาน้ำ หรือไม่นิยมการตัดต้นไม้ใหญ่ ที่อยู่อาศัยก็มักทำด้วยไม้ไผ่ ไร่ซากที่เผาทำไร่ก็เป็นป่าไผ่
ส่วนสัตว์ป่าหลายชนิดก็เป็นที่นับถือห้ามฆ่า เช่น ชะนี หรือนกเงือก ในลำห้วยก็ห้ามถ่ายอุจจาระ ลักษณะนี้ นายศศินก็มองว่าเข้ากับหลักการอนุรักษ์ พร้อมตั้งคำถามทิ้งท้ายว่าการที่รัฐจะจัดการแบบให้ชาวบ้านครอบครองพื้นที่ ปลูกพืชเชิงเดี่ยว แม้ไม่ขัดหลักกฎหมายแต่จะนำมาซึ่งการครอบครองกรรมสิทธิ์ ในขณะที่รัฐเองก็ยังไม่ได้ให้ความรู้ในการทำการเกษตรแบบพืชเชิงเดี่ยวมากพอ ชาวบ้านก็ทำไม่เป็น นายทุนก็มาซื้อพื้นที่ ชาวบ้านก็กลับไปถางไร่เหมือนเดิม ป่าก็โดนรุกมากขึ้น ป่าไร่ซากก็กลายเป็นสวนหรือไร่ข้าวโพด หรือบ้านพักตากอากาศของนายทุน ลักษณะดังกล่าวเริ่มเห็นบ้างแล้ว บริเวณข้างทางก่อนเข้าหมู่บ้านกองม่องทะ ซึ่งมีสวนส้มโอขนาดใหญ่

นายเอิบ เชิงสะอาด หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรเขตตะวันตกกล่าวว่า" ยอมรับว่าเป็นวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงและเข้าใจ ครั้งก่อนมีการบินตรวจพื้นที่ 30 กว่าแปลง จึงตรวจยึดและห้ามชาวบ้านเข้าแต่ชาวบ้านจะเข้าจึงเกิดปัญหา พื้นที่ที่ตรวจยึดแล้วฝ่าฝืนกฎหมายจะแรงมาก ปรับไร่ละ 150,000 บาท และฟ้องคดีแพ่งด้วย ชาวบ้านก็รับไม่ไหว ก็พยายามชี้แจงข้างบนแล้วว่าเป็นไร่หมุนเวียน แต่เขาไม่ยอม ถ้าเราไม่ทำตามก็โดนเพ่งเล็ง"

คืนวันที่ 10 เม.ย. มูลนิธิสืบฯ เชิญชาวกะเหรี่ยง บ้านเกาะสะเดิ่ง ร่วมแสดงความคิดเห็นและชี้ปัญหาและแนวทางการจัดการของหมู่บ้านกับผู้สื่อข่าว นายอภิวันท์ ไทรสังขะสินธิติ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเกาะสะเดิ่ง ฝ่ายปกครอง จึงกล่าวว่าขณะนี้ในหมู่บ้านมีกรรมการดูแลป่าอยู่แล้ว ตรวจดูแลเสมอ ถึงแผนบินของป่าไม้มาก็ต้องทำใจไม่สนเพราะต้องทำกิน คณะกรรมการเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในหมู่บ้านรู้ว่าอะไรควรหรือไม่ควร ถ้าจะจับก็ต้องปล่อยให้จับ

"ป่าไม่จำเป็นต้องปลูก อยู่ที่ว่าจะดูแลอย่างไร กะเหรี่ยงมีกฎระเบียบอยู่แล้วในการดูแล การทำไร่ข้าวในไร่จะมี ทั้งพริก มะเขือ ยาสูบหรืออย่างอื่น หากเหลือก็กินก็ขายได้ ทำครั้งหนึ่งก็กินได้ทั้งปี ถ้าทำนาอย่างเดียวจะหาเงินอย่างไร เด็กในหมู่บ้านก็จะออกไปหางานข้างนอก รับความคิดแบบข้างนอก ประเพณีจะจางลง ที่ป่าก็จะกลายเป็นที่นา เป็นไร่ข้าวโพด ปลูกต้นไม้ไม่ได้ ปัญหาที่ชาวบ้านต้องการจริงๆคือตอนนี้มีแต่โรงเรียน ไม่มีครูมาปีกว่าแล้ว ชาวบ้านต้องสอนกันเอง เด็กก็ไม่มีวุฒิรับรอง " นายอภิวันท์ กล่าว

ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net