Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 19 เม.ย.48 ตัวแทนเครือข่ายป่าชุมชน 4 ภาค เดินหน้าเตรียมแผนปฏิบัติการพื้นที่นำร่องป่าชุมชนทั่วประเทศ ตามคำมั่นของรมว.ทรัพยากรฯ หวังเป็นภาคปฏิบัติคู่ขนานระหว่างรอพ.ร.บ.ป่าชุมชน

นายเดโช ไชยทัพ ผู้ประสานงานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หนึ่งในตัวแทนร่วมหารือเรื่องร่างกฎหมายป่าชุมชนกับนายยงยุทธ ติยะไพรัช รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เมื่อวันที่ 6 เม.ย.และ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา กล่าวว่า การหารือได้ข้อสรุปว่าจะมีการเดินหน้ากฎหมายนี้ต่อ โดยรัฐบาลจะทำการยืนยันกับรัฐสภาและตั้งกรรมาธิการร่วม 2 สภามาพิจารณาเรื่องนี้ นอกจากนี้นายยงยุทธยังได้มอบหมายให้กรมป่าไม้และผู้เกี่ยวข้องยกร่างแผนยุทธศาสตร์และโครงการนำร่องป่าชุมชนทั้ง 4 ภาคระหว่างรอกระบวนการนิติบัญญัติด้วย

"โครงการนี้จะทำคู่ขนานกับการผลักดันกฎหมาย ซึ่งถือเป็นการรุกในทางบริหารให้รัฐมนตรีรับรองว่าเป็นโครงการที่ทำร่วมกับรัฐ โดยยกรูปธรรมที่มีอยู่ให้ชัดเจนขึ้นมา อย่างน้อยเพื่อเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับพี่น้องที่ทำป่าชุมชนอยู่แล้ว ไม่ให้ถูกรบกวนโดยอะไรก็ตาม และนี่จะเป็นการพิสูจน์รัฐอีกครั้ง" นายเดโชกล่าว

นายเดโช กล่าวต่อว่า ขั้นตอนต่อจากนี้จะให้ตัวแทนเครือข่ายป่าชุมชนทุกภาคไปหารือในพื้นที่ เพื่อนำเสนอพื้นที่นำร่องและจะหารือในรายละเอียดร่วมกับกรมป่าไม้อีกครั้งในวันที่ 27 เม.ย.ที่จะถึงนี้ พร้อมกันนี้จะมีการรณรงค์สาธารณะให้ประชาชนร่วมลงชื่อ 1,000,000 รายชื่อ หากเห็นด้วยว่าควรเปลี่ยนการจัดการป่าจากรัฐมาสู่ประชาชน

นายไพโรจน์ พลเพชร ผู้อำนวยการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน กล่าวว่า ในเบื้องต้นจะคัดเลือกพื้นที่นำร่องในพื้นที่ล่อแหลม คือ พื้นที่ที่ประชาชนมีการจัดการป่าชุมชนแต่ไม่มั่นใจกลัวเจ้าหน้าที่จะมาจัดการ โดยเฉพาะพื้นที่อนุรักษ์ซึ่งถือเป็นพื้นที่สำคัญ และขณะเดียวกันจะเป็นการต่อรองเนื้อหาของกฎหมายป่าชุมชนที่กำลังถกเถียงว่าจะให้ตั้งป่าชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์หรือไม่ด้วย

นอกจากนี้นายไพโรจน์ยังเสนอว่า หากรัฐบาลยืนยันกฎหมายนี้ต่อสภาในวันพฤหัสบดีนี้ (21 เม.ย.48) จะมีการตั้งกรรมาธิการร่วมระหว่างสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ฝ่ายละ 12 คนมาพิจารณาเรื่องนี้ต่อ ซึ่งเครือข่ายป่าชุมชนทั่วประเทศขอยืนยันร่างของกรรมาธิการ วุฒิสภาสมัยที่แล้วซึ่งกำหนดให้มีการจัดตั้งป่าชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ได้ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องดูแลรักษาป่ามาอย่างน้อย 5 ปีก่อนประกาศใช้กฎหมาย เพราะปัจจุบันพบว่ามีการประกาศพื้นที่อนุรักษ์ครอบคลุมพื้นที่ป่าแทบทั้งหมดของประเทศอยู่แล้ว

"ในส่วนของกรรมาธิการร่วมก็เป็นเรื่องสำคัญที่เครือข่ายได้ยื่นหนังสือแก่นายโภคิน พลกุล ประธานรัฐสภาแล้วว่าควรจะมีตัวแทนของประชาชนที่ร่วมลงชื่อเสนอกฎหมายป่าชุมชน 50,000 ชื่อสัก 4-5 คนเพื่อร่วมพิจารณาด้วยให้เป็นบรรทัดฐานว่าประชาชนน่าจะมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน ไม่ใช่ลงชื่อเสนอกฎหมายแล้วก็ให้เป็นเรื่องของส.ส. ส.ว. เท่านั้น" นายไพโรจน์กล่าว

ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน เป็นกฎหมายฉบับหนึ่งใน 41 ฉบับที่รัฐบาลจะยืนยันกับรัฐสภาในวันพฤหัสบดีนี้ (19 เม.ย.) โดยสำนักนายกรัฐมนตรีได้ทำหนังสือที่ นร.๐๔๐๓/๔๘๒๔ ถึงนายโภคิน ประธานรัฐสภา ระบุจะยืนยันร่างพ.ร.บ.ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรีจำนวน 41 ฉบับซึ่งยังค้างพิจารณาอยู่ในขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้มีการดำเนินการต่อ

มาตรา 178 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกำหนดว่าในกรณีที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง ให้คณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งร้องขอให้สภาเห็นชอบภายใน 60 วัน วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรจึงจะมีการพิจารณากฎหมายที่ค้างอยู่ต่อไปได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net